2598 24 Nov 2018
29 พฤศจิกายน เป็นวันนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงสากล กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติที่ตระหนักถึงความสำคัญของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงที่ต้องอยู่ภายใต้ความเสี่ยงต่อชีวิตและศักดิ์ศรียิ่งกว่านักปกป้องสิทธิที่เป็นเพศชายหรือรณรงค์ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเพศสภาพและการเจริญพันธุ์ โดยเสี่ยงตกเป็นเป้าการละเมิดสิทธิทั้งโดยทางการและประชาชน ด้วยการข่มขู่ทางกายภาพและลดทอนศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์
ข้อมูลจากองค์กร Protection International ตั้งแต่ปี 2557-2560 พบว่า ในประเทศไทยนอกจากความรุนแรงทางกายภาพแล้ว ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชนกว่า 170 คน ถูกกลั่นแกล้งโดยอาศัยกระบวนการยุติธรรมฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งจากเอกชนและรัฐ เนื่องมาจากการต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิในที่ดิน ที่อยู่อาศัย สิทธิในสิ่งแวดล้อมและสิทธิในการรักษาทรัพยากรในบ้านเกิดของตนเอง
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดเวทีพูดคุยในประเด็น “จากรายงานของยูเอ็นถึงแนวทางการทำงานเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของไทย” โดยมีเวทีเสวนา “เรื่องเล่าของเธอ: ความท้าทายที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงต้องเผชิญ”
อัญชนา หีมมิหน๊ะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง กล่าวว่า การทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนในภาคใต้กระทบกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเมื่อมีการกล่าวหาเรื่องละเมิดสิทธิเสรีภาพ ซ้อมทรมาน และการฆ่านอกระบบกฎหมาย จนถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีการไปเยี่ยมบ้าน ใช้ข้อมูลโจมตีบิดเบือนการทำงานและโจมตีตัวบุคคล จนไม่ได้ทำงานในพื้นที่เกือบหนึ่งปีเพราะต้องดำเนินการกับคดีที่ถูกฟ้องร้อง กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ก็กังวลว่าจะได้รับผลกระทบไปด้วย
“เราได้รับข้อร้องเรียนเรื่องการถูกบังคับให้เปลือยกายโดยมีทหารพรานหญิงไปสอบสวนหรือเข้าใกล้ผู้ต้องสงสัยที่ถูกเปลือยกาย ก็มีการคุกคามว่าเราไม่ปกป้องทหารพรานหญิง ดูหมิ่นศักดิ์ศรีผู้หญิง มีการเผยแพร่ภาพที่ส่อเรื่องเพศแล้วระบุชื่อเรา สิ่งที่เจอสร้างความกังวล จนกระทบการสร้างความเข้มแข็งให้ชาวบ้าน คล้ายเราเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนที่ถูกกระทำ เมื่อทำหน้าที่ไม่ได้ปัญหาก็ยิ่งขยายเป็นภูเขาน้ำแข็งที่ฐานข้างใต้กว้างใหญ่มากยังไม่สามารถคลี่คลายได้ ปัญหาภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสิทธิที่ถูกละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ อยากให้เปลี่ยนมุมมองมายอมรับและเคารพซึ่งกันและกันจะดีกว่าใช้วิธีปกครองแบบผู้มีอำนาจกับผู้ใต้อำนาจ เราต้องการความเท่าเทียมและให้เกียรติกันเท่านั้นเอง” อัญชนากล่าว
ด้าน นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ หลานสาวผู้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับน้าชายที่ถูกครูฝึกซ้อมและทรมานจนเสียชีวิตในค่ายทหาร กล่าวว่า กรณีพลทหารวิเชียร เผือกสม เธอต้องเดินเรื่องเองทุกขั้นตอน เพราะเชื่อว่ามีผู้กระทำผิดมากกว่าที่ปรากฏในตอนต้น จนมีลูกนายพลข่มขู่พยายามเจรจาให้ยุติเรื่อง ไม่ให้เอาผิดเหนือจากยศร้อยตรีขึ้นมา จากนั้นจึงแจ้งความพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และหมิ่นประมาท ทำให้เธอกลายมาเป็นผู้ต้องหาจากการเรียกร้องสิทธิและพบปัญหาหลายเรื่องในกระบวนการยุติธรรม
“ตั้งแต่แรกทุกคนบอกว่าสู้ไปก็เท่านั้น แต่ตราบใดที่ยังมีลมหายใจก็สามารถจะสู้ได้ถ้ามีข้อมูลหลักฐานถูกต้อง คดีนี้เราไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่พร้อมรับฟังทุกอย่าง กระทั่งผู้ต้องหา 1 ใน 10 ที่เข้ามาคุยพร้อมหลักฐานและเหตุผลว่าเขาไม่ได้ทำแต่กลายเป็นแพะ ต้องการให้ได้รับความยุติธรรมมากที่สุด ใครผิดหรือถูกให้ดำเนินการไปตามนั้น เข้าใจว่ารัฐว่ามีหน้าที่หลายอย่าง แต่ส่วนที่เกี่ยวข้องควรทำหน้าที่ให้เต็มที่ กองทัพหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้เห็นด้วยกับบุคคลที่ใช้อำนาจหรือระบบอุปถัมภ์สร้างปัญหา แต่เป็นอิทธิพลของคนหนึ่งที่ทำให้อีกคนกระทำผิดในหน้าที่ได้จนกระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยว” นริศราวัลย์กล่าว
รจนา กองแสน ตัวแทนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มเหมืองแร่เมืองเลย เผยว่า การเรียกร้องสิทธิเรื่องทรัพยากรในชุมชนทำให้คนในพื้นที่ถูกฟ้องร้องด้วยพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หลายสิบคดี มีทั้งการข่มขู่ วางระเบิดปลอม วางยาเบื่อสุนัข ส่งคนมาติดตาม
“เขาเอากฎหมายเอามาใช้เพื่อไม่ให้เราต่อสู้ ไปแจ้งความในจังหวัดไกลๆ เพื่อกลั่นแกล้ง บางคนที่ถูกฟ้องมีลูกอ่อนก็ต้องเอาลูกไปด้วยเพราะต้องให้นม ในพื้นที่จะมีผู้หญิงออกหน้าเยอะ แต่เบื้องหลังก็มีผู้ชายที่ร่วมกันต่อสู้ คนโดนคดีไม่ได้อยู่ทำกับข้าวเลี้ยงลูกก็เหมือนละเลยหน้าที่ แต่เขามีภาระที่ยิ่งใหญ่กว่า ถ้าครอบครัวไหนไม่เข้าใจก็เกิดปัญหา ผู้หญิงในชนบทถ้าไม่ดูแลครอบครัวจะเป็นประเด็นใหญ่มาก บั่นทอนจิตใจคนที่มีครอบครัว เวลามีอบรมนอกพื้นที่สายตาคนไม่เข้าใจก็มองว่าแต่งตัวไปไหนบ่อยๆ แต่ผู้ชายออกไปไหนก็ง่าย
“เราไม่ได้ไปฆ่าคน เราทำเพื่อดูแลทรัพยากร อยากให้รัฐยุติดำเนินคดีกับชาวบ้าน รัฐมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้ ไม่ใช่เอาชาวบ้านไปปรับทัศนคติ รัฐต้องคุ้มครองทรัพยากรและดูแลกฎหมายที่มาริดรอนสิทธิเราด้วย เราเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ชีวิตและชุมชนของเรา ไม่ได้ชุมนุมเพื่อความแตกแยก วันนี้แม้เหมืองปิดไปแล้วแต่อยากให้รัฐทำแผนฟื้นฟูอย่างจริงจังโดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม” รจนากล่าว
**********
เนาวรัตน์ เสือสอาด
ผู้ประสานงานฝ่ายสื่อสารองค์กร
Naowarat Suesa-ard
Media and Communication Coordinator
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
139/21 ซอยลาดพร้าว 5 แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
มือถือ 089-922-9585
www.amnesty.or.th
www.facebook.com/AmnestyThailand
www.twitter.com/AmnestyThailand
05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม