2111 13 Oct 2018
( ขอบคุณภาพจาก https://themomentum.co/interview-lertsak-kamkongsak-the-commoner/ )
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์
๙ ตุลาคม ๒๕๖๑
.
งานมวลชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมคือการหลอมรวมความคิดความเชื่อแต่ละบุคคลในหมู่บ้าน ชุมชน ท้องถิ่น เมือง ซึ่งยึดโยงอยู่กับโครงสร้างทางสังคม ประเพณี วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง อำนาจ อิทธิพล ผลประโยชน์ จิตสำนึก อุดมคติ อุดมการณ์ ระบบกฎหมาย ระบบความคิดความเชื่อ ระบบราชการ ระบบรัฐ หลากหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน การหลอมรวมความแตกต่างหลากหลายดังกล่าวที่ยึดเหนี่ยวแต่ละบุคคลไว้ให้้เชื่อมร้อยประสานเข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในประเด็นร่วมกันได้นับว่าเป็นงานที่ท้าทายอย่างยิ่ง ต้องใช้ความอุตสาหะอย่างมาก ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะแต่ละบุคคลมีระบบความคิดความเชื่อที่ยึดโยงอยู่กับสิ่งเหล่านั้นแตกต่างกันไม่มากก็น้อย แต่กลับหลอมรวมเข้าด้วยกันได้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในประเด็นเดียวกัน เช่น การต่อต้านการสร้างเขื่อน หรือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ทำลายสังคม สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ การสร้างกลุ่มเกษตรอินทรีย์ การสร้างกลุ่มรัฐสวัสดิการ การเรียกร้องให้บ้านเมืองกลับสู่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง การสร้างพรรคการเมือง เป็นต้น
ด้วยบริบทดังกล่าว งานมวลชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมจึงต้องหลอมรวมสามส่วนประสานเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย ผู้ปฎิบัติงาน แกนนำและมวลชนในพื้นที่ ด้วยการทำงานร่วมกัน ถ่ายทอด ซึมซับรับบทเรียนระหว่างกัน ส่งผ่านความคิดทางปัญญา สั่งสมประสบการณ์การเรียนรู้ถูก-ผิดจากการต่อสู้ในชีวิตประจำวัน เพื่อความก้าวหน้าทางความคิดและการลงมือทำเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมร่วมกัน
สภาพความเป็นจริงที่ผู้ปฎิบัติงานต้องประสบพบเจอเมื่อลงไปทำงานกับมวลชน นั่นคือ มวลชนจะติดอยู่กับงานในชีวิตประจำวันที่่ต้องหาอยู่หากินตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นนอนมาตอนเช้าจนถึงการเข้าหลับนอนในค่ำคืนเพื่อพักเอาแรงเพื่อที่จะให้มีแรงตื่นขึ้นมาทำงานในชีวิตประจำวันได้ในวันต่อ ๆ ไป วันแล้ววันเล่า คืนแล้วคืนเล่า วนเวียนอยู่อย่างนี้ จนทำให้มวลชนเหล่านั้นไม่มีเวลาว่างมากพอที่จะคิดอ่านหรือวิเคราะห์สถานการณ์ใด ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างจริงจัง แค่เวลาหุงหาอาหาร ล้างถ้วยล้างชาม อาบน้ำแต่งตัว เดินทางไปทำงาน อยู่ในโรงงานแปดถึงสิบสองชั่วโมงต่อวัน อยู่ในไร่นาด้วยจำนวนชั่วโมงไล่เลี่ยกัน ทอผ้า จักสาน ทำความสะอาดบ้าน เลี้ยงดูลูกหลานและพ่อแม่พี่น้องที่เข้าสู่วัยชรา และกิจวัตรประจำวันอื่น ๆ ก็ทำให้เวลาในชีวิตประจำวันหมดไปแล้ว นี่จึงเป็นภารกิจสำคัญของผู้ปฎิบัติงานที่มีเวลาว่างจำต้องคิดอ่านและวิเคราะห์สถานการณ์ นำสิ่งที่คิดอ่านและวิเคราะห์สถานการณ์ได้นั้นไปย่อยให้กับมวลชน เพื่อทำให้มวลชนใช้เวลาว่างที่มีอยู่น้อยนิดคิดอ่านและวิเคราะห์สถานการณ์ร่วมไปกับผู้ปฎิบัติงาน
โดยธรรมชาติ, ทั้งสามส่วนจะมีปฎิกิริยา การรับรู้ ความเข้าใจและตอบสนองต่อสถานการณ์แตกต่างกัน แต่เกื้อกูลกัน ดังนี้ ผู้ปฎิบัติงาน, มักจะเรียนรู้สังคมจากการคิดอ่านหรือจากทฤษฎีก่อนเป็นอันดับแรก ตรงนี้เองจะแปรเปลี่ยนเป็นรูปการณ์จิตสำนึก แล้วนำไปทดลองปฎิิบัติ เมื่อปฎิบัติแล้วจึงได้รับประสบการณ์และบทเรียนมากขึ้น แกนนำ, คือมวลชนที่เสียสละเวลาและรายได้จากการงานในชีวิตประจำวัน บริหารจัดการเวลาว่างที่มีน้อยนิดในแต่ละวันได้ดีขึ้น และใช้เวลาว่างนั้นคิดอ่านหรือวิเคราะห์สถานการณ์มากขึ้นจนทำให้เกิดความตื่นตัวสูง แกนนำจะมีลำดับพัฒนาการทางความคิดและการลงมือทำโดยเรียนรู้สังคมจากประสบการณ์ก่อน ไม่ได้เรียนรู้จากการคิดอ่าน เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้นจึงก่อเกิดรูปการณ์จิตสำนึก แล้วจึงลงมือปฎิบัติตามมา ส่วนมวลชนนั้น, จะเรียนรู้สังคมจากการปฎิบัติหรือลงมือทำก่อน ต่อจากนั้นก็มีประสบการณ์และบทเรียนมากขึื้น แล้วจึงก่อเกิดรูปการณ์จิตสำนึกตามมาในภายหลัง
ความแตกต่างของผู้ปฎิบัติงาน แกนนำและมวลชนก็คือ ผู้ปฎิบัติงานส่วนใหญ่คือปัญญาชนผู้มีความคิดอ่าน กำหนดหรือวางบทบาทตัวเองให้มีเวลาเหลือนอกจากการทำงานหาเช้ากินค่ำในชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะใช้เวลาว่างคิดค้นทางปัญญาและปฎิบัติการนำไปสู่ขอบเขตองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในการเปลี่ยนแปลงสังคม
สิ่งเหล่านี้คือการจัดตั้ง จัดตั้งเพื่อให้เกิดความคิดอ่าน เปลี่ยนแปลงรูปการณ์จิตสำนึกเพื่อสร้างเชื้อไฟแห่งการเปลี่ยนแปลง วางแผน แบ่งงาน ลงมือทำ ปฎิบัติการเคลื่อนไหว นี่คือการจัดตั้งเพื่อผสาน สร้างสมดุลและสัมพันธ์สองส่วนระหว่าง “ความคิด” กับ “การกระทำ” ให้ลื่นไหลเข้าหากันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงสังคม
แต่การทำงานในพื้นที่ระยะหลังของผู้ปฎิบัติงานหรือปัญญาชนจำนวนหนึ่งได้ละเลย “งานจัดตั้ง” กับมวลชน การขาดหายไปของงานส่วนนี้ทำให้เกิดช่องว่างทางความคิดและการกระทำระหว่างผู้ปฎิบัติงานหรือปัญญาชนกับมวลชนในพื้นที่ จนทำให้พลังประชาชนอ่อนแอลง
ไม่เพียงแต่ช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างปัญญาชนกับมวลชน ในส่วนของร่างกายและจิตใจของปัญญาชนเองก็เกิดช่องว่างระหว่าง “ความคิด” และ “การกระทำ” ของตัวเองที่นับวันจะถ่างกว้างมากขึ้น ดังเราจะเห็นปัญญาชนจำนวนหนึ่งในยุคสมัยของเราใช้เครื่องมือสื่อสารทางเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นหลักเพื่อนำเสนอความคิดต่อสังคม พวกเขาหวังเปลี่ยนแปลงสังคมโดยใช้การส่งผ่านความคิดโดยเครื่องมือสื่อสารทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระยะไกล แม้เทคโนโลยีการสื่อสารในโลกปัจจุบันจะทำให้คนใกล้กันมากขึ้น แต่การสื่อสารกับมวลชนต้องการบทสนทนาแบบเห็นใบหน้า ประสานสายตา เห็นท่วงท่าและบุคลิกระหว่างกัน สัมผัสได้ถึงความรู้สึกนึกคิดต่อกัน รวมทั้งความสัมพันธ์ของการจัดตั้งไม่ใช่ความสัมพันธ์ด้านที่ปัญญาชนส่งผ่าน “ความคิด” สู่มวลชนด้านเดียว ในส่วนของ “การกระทำ” ต้องใช้ความสัมพันธ์อีกด้านที่ปัญญาชนผู้มีการศึกษาจากภายนอก อยู่ในถิ่นเจริญ ห่างไกลจากชนบท ยึดติดกับความรู้ในโลกสมัยใหม่ จะต้องดัดแปลง ฝึกฝนและเปลี่ยนแปลงรูปการณ์จิตสำนึกตนเองด้วยการใช้ชีวิตร่วมกับมวลชน เพื่อเปิดรับความรู้ความคิดในวิถีชีวิตของมวลชนที่แตกต่างไปจากปัญญาชนด้วย เพื่อที่จะทำให้การจัดตั้งในส่วนของการกระทำหรือปฎิบัติการสอดคล้องกับความต้องการร่วมกันของปัญญาชนและมวลชน เป็นการป้องกันการถูกชี้นำจากปัญญาชนฝ่ายเดียว
สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จะต้องไม่ใช้วิธีควบคุม สั่งการ วางแผนและสัมพันธ์จากระยะไกลด้วยความทันสมัยของเทคโนโลยีการสื่อสาร พึงตระหนักไว้อยู่เสมอว่าการทำงานความคิดและสร้างปฎิบัติการร่วมกับมวลชนจะต้องสร้างการมีส่วนร่วมกับบทสนทนาที่จับต้องได้เป็นพื้นฐาน ต้องระมัดระวังว่าการสืื่อสารแบบพบหน้ากับการสื่อสารทางโทรศัพท์และเครื่องมือสื่อสารทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ช่องทางต่าง ๆ มีความแตกต่างกันอย่างยิ่ง อาจกลายเป็นช่องว่างของความสัมพันธ์ระหว่างปัญญาชนกับมวลชนในพื้นที่ได้ ในบางสถานการณ์และบางเวลามันอาจถูกทำให้เข้าใจว่าเป็นการสั่งการจากข้างบนที่มีอำนาจและสถานะทางสังคมสูงกว่ามาเกี่ยวข้อง จึงควรเลือกใช้วิธีการสื่อสารอย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์และเวลา
เราจึงมักพบเห็นปัญญาชนจำนวนหนึ่งในยุคสมัยของเราอุดมไปด้วยความคิดเป็นส่วนใหญ่ ไร้ซึ่งการกระทำหรือปฎิบัติการเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมร่วมกับมวลชน หรืออาจจะมีปฎิบัติการบ้าง แต่ก็เป็นปฎิบัติการเพื่อตอบสนองความต้องการในความเป็นตัวเองหรือความปัจเจกชน หรือบางครั้งปฎิบัติการก็ขยายตัวมากไปกว่าความเป็นปัจเจกชน แต่ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในหมู่ปัญญาชนพรรคพวกของตนเท่านั้น
ยิ่งระยะหลัง ๆ การมีเครื่องมือสื่อสารทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ทำให้การแสดงบทบาทของปัญญาชนจำนวนหนึ่งในการส่งผ่านหรือถ่ายทอดพลังทาง “ความคิด” และ “การวิพากษ์วิจารณ์” ซึ่งเป็นอาวุธที่ทรงพลานุภาพที่ใช้ชี้นำชี้ทางส่องแสงสว่างทางปัญญาแก่สังคมอ่อนด้อยลงไปมาก เพราะมันได้บานปลายออกไปจากความคิดและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์มากเกินเหตุ จนกลายเป็นการแสดงความคิดเห็นแบบเย้ยหยัน เสียดสี กระแนะกระแหน ประชดประชัน ตำหนิติเตียน โจมตี ประจาน ประณาม กล่าวหา ด่าทอ ต่อว่า ไล่ล่า คาดหวังและกดดันคนอื่น สร้างลัทธิพรรคพวกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเพื่อสอดส่องจับผิดกันในหมู่ปัญญาชนบนโลกออนไลน์ เรียกร้อง กล่าวโทษ โจมตีและรุมประณามกันเกินกว่าเหตุ ซึ่งเป็นความคิดและการกระทำที่ไร้คุณค่าต่อการจัดตั้ง
ในงานมวลชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ปัญญาชนจำนวนหนึ่งมักให้ความสำคัญกับพลังปัจเจกชนของตนมากเสียจนไม่สนใจที่จะเสียเวลาทำงานจัดตั้งร่วมกับมวลชน พวกเขาอาจจะบอกว่า “ฉันไม่ได้ละเลยมวลชน ฉันอยากได้มวลชน” แต่สิ่งที่พวกเขาทำคือการจัดวางมวลชนเอาไว้เพื่อถ่ายทอดความคิดที่พวกเขาเป็นฝ่ายชี้นำให้ พวกเขาอาจจะคิดว่าสิ่งที่พวกเขาทำลงไปคือภารกิจของการจัดตั้ง (หรืออาจจะไม่ได้คิดอะไรเกี่ยวกับการจัดตั้งก็ได้ เพราะพวกเขาไม่ได้สนใจว่าการจัดตั้งจะเกี่ยวข้องอะไรด้วยกับงานมวลชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม) แต่การทำเช่นนี้บ่อยครั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่สนใจงานส่วนอื่น ๆ ของการจัดตั้งที่ต้องผสาน สร้างสมดุลและสัมพันธ์สองส่วนระหว่าง “ความคิด” กับ “การกระทำ” ให้ลื่นไหลเข้าหากันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงสังคมว่ามีความสำคัญอย่างไรนั้นจะส่งผลให้พวกเขายึดถือความคิดของตัวเองเป็นศูนย์กลางจนเคยชิน และยึดมั่นถือมั่นอยู่กับความคิดตัวเองเสียจนไม่ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ของคนอื่น ไม่สำรวจตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง มีพฤติกรรมคิดเยอะแต่ทำน้อย หรือวิพากษ์วิจารณ์เยอะแต่ลงมือทำน้อย เชื่อมต่อตัวเองอยู่กับโลกออนไลน์ตลอดเวลาจนไม่มีเวลาให้กับพื้นที่หรือสนามซึ่งเป็นตำแหน่งแห่งที่ที่มวลชนดำรงชีวิตอยู่ สนุกสนานและอ่อนไหวไปมาอยู่กับความคิดเห็นในโลกออนไลน์กับกลุ่มเพื่อนของตัวเองจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับมวลชนจำนวนมากกว่านอกโลกออนไลน์ที่รอคอยการสนทนากับปัญญาชนแบบเห็นใบหน้า
นี่คือวิถีของปัญญาชนจำนวนหนึ่งที่ “ความคิด” และ “การกระทำ” ไม่ยึดโยงกับมวลชน เป็นเรื่องแปลก, แม้เทคโนโลยีการสื่อสารและถนนหนทางไปสู่ถิ่นที่อยู่อาศัยของมวลชนสะดวกสบายขึ้นมากแล้วในยุคสมัยนี้ แต่หมู่บ้าน ชุมชน ท้องถิ่น ไม่เว้นแม้กระทั่งเมือง ยังเป็นพื้นที่ไกลปืนเที่ยงในงานจัดตั้งของปัญญาชนเสมอ จนทำให้ปัญญาชนมองเห็นมวลชนเป็น “ชายขอบความคิด” ของตนมาอย่างยาวนาน.
05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม