3119 20 Sep 2018
“สิทธพล ชูประจง” หนุ่มอารมณ์ดีสม่ำเสมอจนเป็นคาแรกเตอร์เด่นที่ผมเห็นมาตั้งแต่เป็นน้องนักศึกษามหาวิทยาลัย จวบจนปัจจุบันที่อายุน่าจะย่างเข้า 40 ปีต้นๆ สิทธิพล สร้างความคุ้นให้กับสาธรณะด้วยงานดูแลคนข้างถนน ซึ่งก่อนหน้านี้สังคมไทยแทบไม่อยากจะมองหรือเดินผ่านคนเหล่านี้ การทำงานทุ่มเทและสื่อสารออกไปของกลุ่มองค์กรที่ทำงานกับคนเร่ร่อน คนข้างถนน สื่อสารเปิดเผยเรื่องราวชีวิต มุมมองเรื่องสิทธิ์ เรื่องวิถีคนไร้บ้าน ทำให้สังคมไทยค่อยๆ เปิดกว้าง ยอมรับและทำความเข้าใจ เกี่ยวกับชีวิตคนข้างถนน
สิทธิพล ชูประจง ปัจจุบันคือ หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา เป็นหนึ่งในหลายๆคนที่ทำงานทุ่มเทอย่างมากกับคนข้างถนนเพื่อยกระดับสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐจะต้องดูแล อาทิ การรักษาพยาบาล เป็นต้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ทำไมเด็กหนุ่มมากความสามารถและอารมณ์ดีจึงเลือกเดินทางบนเส้นทางนักพัฒนา ( NGOs) และทำงานกับคนไร้บ้าน
ThaiNGO : อะไรทำให้หันมาทำงานพัฒนา ทำแล้วมีทบทวน หรือไขว้เขวไหม
สิทธิพล ชูประจง : คิดว่าในตัวงานพัฒนามันมีความหลากหลายของรูปแบบการทำงานดีครับ มันให้เราได้ทำงานหลายอย่าง อย่างทำงานสื่อก็ได้ด้วย ทำงานคล้ายๆนักวิจัยก็ได้ ทำงานจัดตั้งก็มี ได้คุยกับคนเจอกับคนมากหลากหลาย สรุปคือทำให้ไปเห็นโลกที่กว้างขวางพอสมควร
ทำแล้วทบทวนหรือไขว้เขวไหม ช่วงปีแรกๆของการทำงานก็มีบ้าง อาจเกิดจากยังไม่เจอหน้างานองค์กรที่ตรงจริตสักเท่าไหร่ แต่พอมาช่วงนี้แทบไม่มีคำถามมากแล้ว เพราะอาจจัดการตัวเองได้วางตำแหน่งของงานกับชีวิตได้ก็เลยไม่ค่อยมีความรู้สึกไขว้เขว ถ้ามีคิดอยู่ลึกๆก็มีเรื่องเดียวคือเรื่องความมั่นคงของชีวิต แต่ก็อยู่ลึกๆจริงๆไม่ค่อยออกมาก่อกวนใจเท่าไหร่ครับ
ThaiNGO : 2 ได้แนวคิดอะไร หรือของใคร มาเป็นแรงบันดาลใจ หรือมาปรับใช้บ้าง และ ระหว่างการดำเนินชีวิต กับการทำงานพัฒนา ต่อสู้เคียงข้างพี่น้องชาวบ้าน มีบทเรียนอะไร ที่น่าสนใจ ต่อสังคม ต่อตัวเองบ้าง ไหม
สิทธิพล ชูประจง : จริงๆแล้วก็เก็บมาตลอดทางของการทำงานในสายนักพัฒนาครับ แต่ส่วนมากจะเป็นคนที่อยู่ในระดับคนดูแลกำกับเรา อย่างหัวหน้างาน พี่เลี้ยง แต่ถ้าถามถึงตัวบุคคลที่ชูเป็นไอดอลเลย ตอบเลยว่าไม่มีครับ
บทเรียนจากการทำงานที่ต่อตัวเอง มันคงเป็นเรื่องการเปิดรับเปิดกว้าง จากสถานการณ์ภายนอกได้มากขึ้น อย่างคำด่า คำวิจารณ์ หรือแม้แต่เห็นตัวเอง ตำหนิตัวเองได้ลึกขึ้น ก็เป็นส่วนหนึ่ง อยู่แบบเข้าใจคนเข้าใจโลกเข้าใจสังคมมากขึ้น มีคำอธิบายกับสิ่งเหล่านั้นได้มากขึ้น และมักเป็นคำอธิบายที่ไม่นำพาตัวเองไปพบกับความเครียดสักเท่าไหร่ด้วย มันได้ตรงนี้เท่าที่พอเห็นตัวเอง
ในส่วนของสังคม งานที่ทำมันพาให้ไปเห็นจุดที่เป็นฐานรากสุดของปัญหา คือเรื่องต้นทุนชีวิต ทำงานไปก็พบว่าที่คนต้องมาเป็นแบบนี้ มาเป็นคนไร้บ้านมันเป็นเรื่องต้นทุนชีวิตนี้เอง พอมันมองว่าเป็นเรื่องต้นทุนชีวิตสิ่งที่เป็นโจทย์คิดต่อไปก็คือ อะไรล่ะที่จะมาแก้ปัญหานี้ บทสรุปมันคือเรื่องของสวัสดิการที่มีคุณภาพจริงๆ สามารถสร้างหลักประกันให้ชีวิตคนหนี่งคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในระดับพื้นฐานได้ ซึ่งสิ่งนี้สังคมก็ต้องมาวางกันว่าอะไรคือคุณภาพชีวิตระดับพื้นฐานบ้าง ถ้าคนได้น้อยไปกว่านี้เราจะเรียกว่าคุณภาพชีวิตที่ดีไปไม่ได้
ThaiNGO : ปัญหา ชาวบ้าน ปัญหาสังคม ที่เราทำๆ เราต่อสู้มานานหลายปี ได้เปลี่ยนแปลง แก้ไข ไปอย่างไรบ้าง ประสบการณ์นี้ สร้างบทเรียนอะไรให้สังคมไทยได้บ้าง
สิทธิพล ชูประจง : ตอบแบบไม่ต้องคิดมากได้เลยว่า มันยังไปไม่ถึงไหนเลย มันไปได้เพียงมีคนรู้จักเรื่องนี้และมีคนเข้ามาช่วยทำเรื่องนี้ด้วยกันที่เกิดจากการกระตุ้นผ่านงานรณรงค์ ผ่านงานกิจกรรม ถ้าไกลกว่านั้นบอกได้เลยว่ายังไปไม่ถึงไหนครับ
ThaiNGO : อยากหยุดพักบ้างไหม ทำไม ? และ ถ้าอยากหยุด จะไปทำอะไรต่อ ?
สิทธิพล ชูประจง : ถ้าอยากหยุดพักอาจจะอยากหยุดพักในฐานะของสถานภาพคนทำงานออฟฟิศมากกว่า อยากทำงานแบบไม่ต้องมีออฟฟิศ ทำงานผ่านช่องทางเครื่องมือสื่อสารออนไลน์กัน ซึ่งรู้สึกว่าการทำงานออฟฟิศนี้แหละที่มันเป็นตัวดูดเวลาเราพอควร ทั้งการเดินทางบนถนน ทั้งเวลาการทำงานที่ถูกบีบในกรอบเวลา มันทำให้เราไม่สามารถหาอะไรใส่ตัวหรือทำอะไรในสิ่งที่ชอบสิ่งที่รักร่วมไปได้เลย เวลาของเรามันสูญเสียไปกับงานในกรอบของออฟฟิศมากเกิน หมดพลังงาน จัดสรรให้กับเรื่องอื่นๆที่รักที่ชอบได้ยากมาก แต่ก็เป็นความอึดอัดที่ต้องยอมรับครับ แต่ถ้าเลือกได้หยุดได้ก็จะหยุดครับ
อัฎธิชัย ศิริเทศ เขียน
05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม