3832 14 Sep 2018
คนหนุ่มสาวที่เคยฟุ้งไปด้วยไฟฝันการแสวงหาในยุคหนึ่ง น้อยคนนักที่ไม่รู้จัก “โครงการครูอาสา” ของ มูลนิธิกระจกเงา เชียงรายและแน่นอนรู้จักโครงการก็ต้องรู้จัก ครูแอน หรือ นางสาวอรกัญญา สุขรัตน์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รุ่นที่ 2 ที่สืบทอดงานครูดอยครูอาสามายาวนานตราบจนปีนี้ ที่ครูแอนผันบทบาทจากครูอาสา มาสู่ผู้ผลักดันโรงเรียนและสร้างแผนงานครูจริงๆ กับโครงการใหม่ในโลกการศึกษาทางเลือก “ศูนย์การเรียนรู้ไร่ส้มวิทยา” ซึ่งอยู่ที่ ต.แม่ข่า อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ไร่ส้มวิทยาเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเด็กต่างด้าวที่มาเกิดหรือที่ติดตามพ่อแม่มาเป็นแรงงานในไร่ส้ม เป็นโรงเรียนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเด็กด้อยโอกาสตามแนวตะเข็บชายแดน จริงๆ อีกโรงเรียนหนึ่ง ทีมงาน ไทยเอ็นจีโอ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ หญิงสาวนักพัฒนาอีกคนหนึ่ง
thaingo : อะไรทำให้หันมาสนใจ กิจกรรมศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา
ครูแอน : สิ่งที่ทำให้สนใจประเด็นการทำงานของศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา คือความไม่รู้ที่ทำให้เกิดการท้าทายในใจตัวเอง เริ่มจากการทำหลักสูตรและยื่นจดศูนย์การเรียน เราเริ่มกันจากศูนย์ คือ จากที่ไม่มีองค์ความรู้ด้านการทำหลักสูตรหรือแม้แต่การทำอะไรที่ข้องเกี่ยวกับการยื่นจดหลักสูตรการเรียน ยอมรับเลยว่าไม่มีประสบการณ์หรือความรู้ด้านนี้เลย แต่สิ่งหนึ่งคือใจที่ไม่ยอมแพ้แม้ว่าเราจะด้อยประสบการณ์ และการได้ทำอะไรใหม่ ๆ นั้นหมายถึงโจทย์ที่ท้าทายเรา ที่เราต้องทลายและทำมันให้สำเร็จ แม้ว่าระหว่างทางจะต้องพบเจออะไรมากหมาย แต่ถ้าธงเราคือความสำเร็จ มันก็จะเป็นแรงขับให้เราบรรลุเป้าหมายได้แบบไม่ยาก
และสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากความไม่รู้ คือเราต้องรู้ กว่าจะถึงวันที่ยื่นหลักสูตรผ่าน จดศูนย์การเรียนผ่าน ทำให้เราต้องฝึกตนเองในการค้นหาข้อมูลที่เรายังไม่รู้ ศึกษาจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้ได้รู้ ซึ่งเป็นผลดีมากเลยทีเดียว
Thaingo : จากโครงการครูบ้านนอกหรือครูอาสาได้แนวคิดอะไรมาปรับใช้กับกิจกรรมในโรงเรียน หรือกับชีวิตบ้าง
ครูแอน : จากกิจกรรมโครงการครูบ้านนอกหรือครูอาสานะหรอ ได้นะ ได้แนวคิดมาปรับใช้กับกิจกรรมในโรงเรียน คือจิตวิทยาเด็ก การทำงานกับเด็กที่เป็นกลุ่มเด็กข้ามชาติ กลุ่มลูกหลานแรงงานในสวนส้ม ซึ่งถ้าเรามองข้ามความเป็นรัฐชาติ มองว่าเขาเหล่านั้นคือเด็ก เขาเหล่านั้นต้องการครูต้องการการศึกษาที่มีคุณภาพ เราจะทำงานกับเด็กกลุ่มนี้ได้อย่างไม่มีอะไรปิดกั้น หลาย ๆ คนมีคำถามว่าทำไมไม่ช่วยเหลือคนไทยไม่ช่วยเด็กไทย ไปช่วยทำไมคนต่างด้าว บางครั้งคำถามเหล่านี้คนถามอาจจะไม่ต้องการคำตอบ แต่เราในฐานะคนทำงานอยากให้คนเหล่านั้นเปิดใจและเอาใจมาใส่ในงานที่เราทำ เขาถึงจะได้พบคำตอบว่าเพราะอะไร เพราะเด็กก็เท่ากับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเด็กชนชาติใด ภาษาใดก็ตามบนโลกใบนี้ อีกอย่างที่ได้นำความรู้มาปรับใช้คือการเข้าถึงชุมชน และการทำให้คนในชุมชนให้ใจเรา ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการทำงานอีกประการหนึ่ง ถ้าคนในชุมชนไม่ให้ความร่วมมือเราก็ไม่สามารถทำงานกับเด็ก ๆ ได้เช่นกัน เพราะไม่มีใครปล่อยให้ลูกหลานตนเองมาคลุกคลีกับคนแปลกหน้าที่พ่อแม่ไม่ไว้ใจหรอก
ส่วนการนำมาปรับใช้กับชีวิตหรือครอบครัว คือการสอนลูกเราไม่ให้ดูถูกคนที่ต่ำต้อยกว่า เราใช้วิธีการพาเขาไปเรียนรู้งานที่เราทำเพื่อให้เนื้องานหล่อหลอมให้เขาเข้าใจบริบทงานของแม่และเข้าใจสภาพชุมชนที่มีความหลากหลาย ความแตกต่างของคนในแต่ละพื้นที่ กว่าจะโตเขาจะต้องพบเจอสังคมอีกหลากหลายรูปแบบ ถ้าเขาเข้าใจความเป็นคนเขาจะไม่ดูถูกใครแน่นอน
thaingo : โรงเรียนเป็นโรงเรียนทางเลือก อยากรู้ว่า ทางเลือกนั้น เป็นอย่างไร เด็กๆจะได้อะไรหลังจากจบออกไป
ครูแอน : ปัจจุบันมีเด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ที่เป็นลูกของแรงงานข้ามชาติ ที่อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาเป็นแรงงานในไร่ส้มจำนวนมาก เด็กโตหลายคนไม่สามารถเข้าเรียนได้ตามเงื่อนไขอายุและเวลาเรียนที่ทางโรงเรียนรัฐทั่วไปกำหนดเนื่องเพราะบางช่วงเวลาเด็กโตต้องเป็นแรงงานเสริมช่วยครอบครัวในการทำงานในไร่ส้ม ในขณะที่เด็กวัยเรียนอีกหลายคนต้องทำหน้าที่ดูแลน้องแทนพ่อแม่ที่ต้องไปทำงานในไร่ ดังนั้นในพื้นที่สวนส้มส่วนใหญ่จึงมีกลุ่มเด็กที่เป็นลูกของแรงงานข้ามชาติ กลุ่มเด็กชาติพันธุ์ที่ไม่มีสัญชาติไทย รวมถึงกลุ่มเด็กพิเศษที่ยังไม่ได้รับการศึกษาและไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาของรัฐได้ ด้วยระบบการศึกษาของรัฐในปัจจุบันมีหลักเกณฑ์และข้อจำกัดที่ไม่เอื้อต่อเด็กกลุ่มเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเกณฑ์อายุ กรอบเวลา และวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ของเด็กและครอบครัว ส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ต่ำ เสี่ยงกับพิษภัยของสารเคมีที่เจ้าของไร่ให้ใช้เพื่อการดูแลสวนส้มเนื่องเพราะไม่สามารถอ่านข้อแนะนำหรือฉลากที่มีอยู่ตามตัวยาต่าง ๆ ที่ครอบครัวต้องคลุกคลีอยู่เป็นประจำ แน่นอนว่าความไม่รู้หนังสือจะทำให้เด็กและครอบครัวอยู่บนความไม่ปลอดภัย ขาดโอกาส และสร้างวัฎจักรของความยากจนแร้นแค้น ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกดขี่ และการละเมิดสิทธิไม่มีที่สิ้นสุด
มูลนิธิกระจกเงา ตระหนักว่า “เด็กทุกคนบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติ ชาติพันธุ์ใด ควรได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน อย่างเท่าเทียม และไม่เลือกปฏิบัติ” ดังเจตนารมณ์ของปฏิญญาสากล และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก “เด็กทุกคน ควรจะต้องได้รับการคุ้มครองและการพัฒนา” จึงมีแนวคิดในการดำเนินการจดทะเบียนการจัดการศึกษาขั้นฐาน ภายใต้กฎกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยสิทธิขององค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2555 และเมื่อวันที่ 23 เดือนมีนาคม พ.ศ.2561 โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3 พิจารณาอนุมัติเห็นชอบในการจัดตั้งศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2545 และฉบับที่ 3 พ.ศ.2553 และกฎกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยสิทธิองค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ.2555 ในนาม “ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา มูลนิธิกระจกเงา” โดยคาดหวังว่า
▪ เด็กจะได้รับการดูแลและพัฒนาทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย
▪ เด็กจะได้มีประสบการณ์ที่หลากหลายจากการเรียน การเล่น การเรียนรู้ มีแหล่งเรียนรู้ที่สร้างสรรค์และปลอดภัย เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ตามวัยของเด็ก
▪ เด็กจะได้รับการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและทักษะชีวิต เพื่อให้สามารถปรับตัวและดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในประเทศได้อย่างมีความสุข โดยสามารถดำรงอัตลักษณ์ของตนเองไว้ได้
▪ เด็กมีคุณธรรม จริยธรรม เป็นคนดี รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ ปฏิบัติและดำเนินชีวิตอย่างสอดคล้องตามหลักความเชื่อของศาสนาที่ตนนับถือ พร้อมทั้งเรียนรู้และเคารพความเชื่ออื่นที่แตกต่าง
▪ ผู้ปกครองจะมีทางเลือกในการดูแลเด็ก หรือสนับสนุนให้เด็กได้รับการศึกษา จะมีสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ และประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต
ส่วนวัตถุประสงค์ของโรงเรียนเราก็มี หนึ่ง เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ให้สามารถจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กได้อย่างเหมาะสม/สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิตของผู้เรียน ครอบครัว และชุมชน ผ่านการบูรณาการทักษะความรู้เชิงวิชาการ ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และทักษะทางสังคม อย่างมีประสิทธิภาพ สอง ) เพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวและชุมชน รวมถึงหน่วยงานในระดับท้องถิ่น ตระหนักถึงความสำคัญและมีส่วนร่วมต่อการจัดการศึกษาให้กับเด็ก ๆ ในทุกกลุ่ม และ สาม ) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้คนในสังคมได้ตระหนักและเป็นส่วนหนึ่งของการเกื้อหนุนและแบ่งปันโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็ก ๆ ชายขอบ
Thaingo : ทิศทางอนาคต คิดเห็น ว่าโรงเรียนไร่ส้มวิทยาจะเป็นอย่างไร
ครูแอน : ทิศทางในอนาคต ตามเป้าของเราเองที่วาดฝันกันไว้ คือ การพัฒนาตนเองของเด็ก คือเด็กสามารถพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพชีวิตได้ เรามีหลักสูตรที่เป็นต้นแบบการศึกษาทางเลือก เราฝันว่าเด็กๆ ต้องเติบโตอย่างสวยงามในอนาคต ค่ะ
Thaingo : งานแบบนี้ดูเหนื่อยนะ ถามจริงๆ เคยอยากหยุดพักบ้างไหม ทำไม ?
ครูแอน : ถามว่าอยากหยุดพักบ้างไหม ตอบว่าไม่มีเลยก็คงไม่ใช่ ก็มีบ้างที่อยากไปแสวงหาที่ใหม่ ๆ เพื่อเปิดประสบการณ์ให้ตนเอง แต่ไม่ใช่การลาออกนะ แต่เป็นการไปเติมพลังเพื่อแสวงหาความรู้ในประเด็นที่น่าสนใจในด้านต่าง ๆ จากที่ใหม่ ๆ หรือแหล่งความรู้ใหม่ ๆ เพื่อเป็นการเติมไฟเติมพลังให้เราเอง คนเราทำงานนาน ๆ ไฟในงานเริ่มมอด เราก็ต้องหาพลังมาเติมไฟในตัวเพื่อเก็บพลังเหล่านั้นมาปล่อยในงานที่เราทำ ถามว่าอยากหยุดไหม ตอนนี้ยังค่ะ กำลังสนุกเพราะงานที่เราทำบนพื้นฐานที่เราไม่ถนัดมันท้าทายดีค่ะ อะไรที่เข้ามาท้าทายและเราเอาชนะมันได้ถือว่าสุขสุดแล้ว แต่อนาคตไม่แน่นะอาจจะไปนั่งคุยกับต้นไม้เป็นเกษตรกร หรือทำธุรกิจเล็ก ๆ ก็อาจเป็นได้แต่ไม่ใช่เวลานี้เพราะไฟยังมีเหลือล้นกับงานด้านนี้ค่ะ
......................
ปัจจุบันครูแอน หรือ นางสาวสุขรัตน์ อรกัญญา เป็นเจ้าหน้าที่ในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มูลนิธิกระจกเงา และครูอาสาส่วนงานธุรการ ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา
.
อัฏธิชัย ศิริเทศ รายงาน
05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม