อดีต ปัจจุบันและอนาคตฟัรดูอีนจังหวัดสงขลา

1367 08 Jan 2014

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) รายงาน กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา Shukur2004@chaiyo.com http://www.oknation.net/blog/shukur "มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอาลา) ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความจำเริญและสันติจงประสบแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน" ผู้เขียนได้รับการขอร้องจากนายรอเส็ต เบ็ณแหละแหนะ นายกสมาคมตาดีกาจังหวัดสงขลาให้ช่วยเขียนบทความเรื่องอดีต ปัจจุบันและอนาคตฟัรดูอีนจังหวัดสงขลาเพื่อสะท้อนและข้อเสนอแนะต่อสถาบันที่เปิดสอนฟัรดูอีนในจังหวัดสงขลา ครับ....การศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชาติ เพราะการศึกษาเปรียบเสมือนดวงประทีปส่องนำชีวิต เป็นประตูของความสำเร็จ และเป็นกุญแจแห่งอารยธรรม ดังนั้นจึงไม่มีประชาชาติใดในโลกอันกว้างใหญ่นี้ที่ปฏิเสธความสำคัญของการศึกษา เพราะต่างตระหนักดีว่า พวกเขามิอาจจะดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างสงบสุขหากปราศจากการศึกษา ความจริงการศึกษานั้นไม่เพียงแต่จะมีความจำเป็นต่อมนุษย์เท่านั้น หากแต่ยังมีความสำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสรรพสิ่งทั้งมวลไม่ว่า สัตว์ สิ่งของรวมทั้งจักวาลด้วยเพราะอันเนื่องมาจากการศึกษาของมนุษย์นี้แหละทำให้โลกนี้สงบสุขหรือเกิดความหายนะ อัลลอฮฺได้ดำรัสความว่า “ความเสียหายได้เกิดขึ้นทั้งบนบกและในน้ำเป็นผลจากน้ำมือของมนุษย์ เพื่อพระองค์จะให้พวกเขาได้ลิ้มรสในบางส่วนที่พวกเขาได้ก่อไว้ โดยหวังที่จะให้พวกเขากลับเนื้อกลับตัว” (อัลกุรอาน ; 30 : 41) โองการแรกที่พระเจ้าประทานให้ศาสนฑูตมุฮัมัดก็ให้ความสำคัญกับการศึกษาในซูเราะห์อัลอะลักอัลลอฮฺได้โองการความว่า 1. จงอ่านด้วยพระนามแห่งพระเจ้าของเจ้าผู้ทรงบังเกิด 2. ทรงบังเกิดมนุษย์จากก้อนเลือด 3. จงอ่านเถิด และพระเจ้าของเจ้านั้นผู้ทรงใจบุญยิ่ง 4. ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา 5. ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้ (*1*) (1) ตั้งแต่อายะฮฺที่หนึ่งถึงอายะที่ห้าเป็นอายาตของอัลกุรอานที่ถูกประทานลงมาเป็นครั้งแรก ขณะที่ท่านศาสนฑูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม หลบเข้าไปอยู่ในอุโมงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการบูชาเจว็ดของผู้คนในขณะนั้นและเพื่อแสวงหาสัจธรรมในการค้นหาพระเจ้าที่แท้จริง ห้าอายาตของอัลกุรอานที่ถูกประทานลงมาเป็นครั้งแรกนี้นับได้ว่าเป็นความเมตตา และความโปรดปรานครั้งแรกที่อัลลอฮฺทรงประทานให้แก่ปวงบ่าวเป็นการเตือนให้ตระหนักว่ามนุษย์ถูกบังเกิดมาจากก้อนเลือด และด้วยการให้เกียรติโดยทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้และให้วิชาความรู้แก่เขา ซึ่งเป็นปมเด่นที่มนุษย์มีเหนือมะลาอิกะฮฺ(เทวทูตนามว่าญิบรีล) การศึกษาในทัศนะของอิสลามมีอยู่สองลักษณะด้วยกัน 1. การศึกษาเป็นหน้าที่บังคับสำหรับทุกคนต้องเรียนรู้ (หรือภาษาอาหรับหรือชาวบ้านมุสลิมเรียกว่าฟัรดูอีน) ภายใต้ สามหลักด้วยกันคือ หลักศรัทธา หลักปฏิบัติและเอียะห์ซาน หรือจริยธรรม 2. การศึกษาที่ไม่บังคับสำหรับมุสลิมทุกคน แต่เพียงพอถ้ามุสลิมคนหนึ่งได้ศึกษา (ภาษาอาหรับหรือชาวบ้านมุสลิมเรียกว่าฟัรดูกิฟายะห์) หากไม่มีผู้ใดในชุมชนศึกษาถือว่ามุสลิมทั้งชุมชบาป เช่นการศึกษาในอาชีพด้านต่างๆ ที่มนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพา แพทย์ พยาบาล ช่างต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมายที่จำเป็นต่อสังคม ดังนั้นความเข้าใจของผู้คนที่พยายามมาแยกความรู้ ในเรื่องศาสนาและความรู้ทางโลกออกจากกันเป็นความเข้าใจที่ผิด เนื่องจากความรู้ทุกอย่างที่เรียนแล้วสามารถนำประโยชน์ยังมวลมนุษย์ถือว่าเป็นความรู้ที่อิสลามส่งเสริม และถ้าผู้เรียนมีเจตนาเพื่อนำความรู้มาช่วยเหลือด้านศาสนาเขาก็มีผลบุญ แต่ความรู้ที่เกี่ยวกับหลักศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า และความรู้ที่เกี่ยวข้องกับหลักปฏิบัตินั้นเป็นความรู้ที่จำเป็นต้องเรียน ถ้ามุสลิมลำดับความสำคัญในการศึกษาแน่นอนความดีอีกมากมายจะเกิดในสังคมมุสลิม การจัดการศึกษาของชุมชนมุสลิมสงขลา ที่เรียกว่าฟัรดูอีนดังที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่มีมุสลิมจำนวนมากเช่นกันลำดับความสำคัญที่ผิดพลาด หลายคนมองข้ามเรื่องนี้ไป ในอดีตโรงเรียนของรัฐมิได้ให้ความสำคัญกับฟัรดูอีนทำให้ชุมชนมุสลิมโดยเฉพาะจังหวัดสงขลาได้ใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลางในการจัดการศึกษาดังกล่าวให้กับเด็กในชุมชนถ้าสังคมพูดไทยจะเรียนฟัรดูอีนผ่านหลักสูตรคุรุสัมพันธ์ แต่ถ้าสังคมที่พูดภาษามลายูก็จะใช้หลักสูตรตาดีกา เรียนในวันเสาร์ อาทิตย์ หรือบ้างแห่งเพิ่มตอนเย็นของทุกวัน ด้วยครูที่มีจิตวิญญาณสูงไม่ว่าวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่โดยมีอิหม่ามแต่ละมัสยิดเป็นแกนนำในการจัดการศึกษาและอยู่ที่อิหม่ามและบรรดาทีมงานถ้ามีความเข้มแข็งการจะสะท้อนกับผลสัมฤทธิ์เด็ก ปัจจุบันรัฐเริ่มให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาประเภทนี้เพราะหลายปัจจัยไม่ว่าปัจจัยด้านความมั่นคงหรือต้องการหนุนเสริมคุณธรรมจริยธรรมที่เด็กทุกศาสนาเริ่มห่างเหินศาสนา แต่ที่สำคัญที่สุดคือปัจจัยภายในเครือข่ายโรงเรียนของพวกเราเองที่เป็นแรงขับภายในทำให้รัฐเข้ามาหนุนเสริมผ่านสำนักงานการศึกษาเอกชน โดยมีการสนับสนุนงบประมาณครูผู้สอน พัฒนาบุคลากรในการสอนอิสลามศึกษา หลักสูตรสถานศึกษา มีการวัดประเมินผล I-NET ซึ่งแต่เดิมชุมชนช่วยเหลือกันเองโดยวิธีการต่างๆแล้วแต่ชุมชน ในขณะเดียวกันองค์บริหารส่วนท้องถิ่นไม่ว่า อบต. เทศบาลและอบจ. ก็เริ่มหนุนเสริมงบประมาณด้านต่างๆโดยเฉพาะสื่อการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมมหกรรมวิชาการของแต่ละปี การที่รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาหนุนเสริมดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ดีแต่ก็ควรระวังว่าหากองค์กรเหล่านี้ไม่สนับสนุนเมื่อไร ความเข้มแข็งของชุมชนอาจจะมาช่วยหนุนเสริมอยากขึ้นก็เป็นได้ ดังนั้นในอนาคต เครือข่ายหรือสมาคมฟัรดูอีนจึงมีความสำคัญมากในการสร้างความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจให้เป็นหนึ่งเพื่อรักษาการศึกษาฟัรดูอีนนี้ให้ยังคงอยู่กับชุมชนภายใต้ชายคามัสยิด ท้ายสุดอยากจะฝากในสี่อำเภอสงขลาคือจะนะ สะบ้าย้อย เทพาและนาทวีในพื้นที่พูดภาษามลายูและใช้หลักสูตรตาดีกา สมาคม หรือเครือข่ายโรงเรียนฟัรดูอีนต้องคิดอีกเรื่องคือเรื่องการให้ความรู้ด้านกฎหมายความมั่นคงเพื่อ ลดกรณีถูกคุกคามที่ไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม