วิกฤต โอกาส และอริยวิถีการเมืองไทย: ข้อเสนอต่อประชาชนและขบวนการสหภาพแรงงาน

891 03 Dec 2013

โชคชัย สุทธาเวศ นับเป็นเหตุการณ์และบทเรียนอันสำคัญยิ่งของพลเมืองไทยในขณะนี้ เมื่อในประเทศของเรากำลังเกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนจำนวนมหาศาลภายใต้การนำและการเข้าร่วมของพรรคประชาธิปัตย์ในทางวิถีทางและพฤตินัย ทำการชุมนุม เดินขบวน และ ยึดที่ทำการของรัฐเพื่อขับไล่รัฐบาล มุ่งล้มล้างระบอบทักษิณ และเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการเมืองด้วยวิถีทางที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติตามแบบอนาธิปไตยที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคยทำมาแล้ว เราอาจพิจารณาการกระทำดังกล่าวเป็นสองแง่ คือ ในแง่บวกและแง่ลบได้ดังนี้ แง่บวก คือ การรวมตัวของประชาชนขับไล่รัฐบาลเป็นเครื่องยืนยันว่ามีคนไทยจำนวนมาก (แม้ว่าจะเป็นประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นสมาชิกและนิยมชมชอบพรรคประชาธิปัตย์ มวลชนภายใต้การนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเดิม และเครือข่ายข้างเคียง) แสดงออกถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยอย่างเร่งรีบราวปฏิวัติ หากมีเพียงการพยายามในรัฐสภาของนักการเมืองที่เข้าใจว่าตนเองได้อำนาจเด็ดขาด การเปลี่ยนแปลงนั้นก็อาจไม่เป็นไปตามความต้องการที่สอดคล้องกับหลักคุณธรรมและประชาธิปไตยเชิงคุณภาพตามการเสนอของแกนนำและประชาชนที่เข้าร่วม แง่ลบ คือ การเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงการเมืองนอกสภาหรือโดยภาคประชาชนที่ต้องการล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ (ที่พรรคการเมืองรัฐบาลประสบความสำเร็จเชิงปริมาณหรือยังทำได้แค่นั้น มากกว่าเชิงคุณภาพ) มิได้เกื้อหนุนแต่กำลังเป็นปฏิปักษ์กับการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐสภาเป็นใจกลางตามหลักสากล และตามรัฐธรรมนูญไทย 2550 (ที่มีจุดอ่อนในทางประชาธิปไตยภายใต้ผลพวงของการรัฐประหารให้ต้องแก้ไขใหม่) หากดำเนินต่อไปก็จะเกิดหายนะกับประเทศมากกว่าสร้างสรรค์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้สำเร็จ วิกฤตย่อมมาพร้อมกับโอกาสเสมอ การสร้างนวัตกรรมการเมืองไทยจึงต้องใช้โอกาสนี้ การเปลี่ยนแปลงต่อการเมืองไทยสมควรคิดถึงอนาคตระยะยาวเพื่อนำพาประเทศไปสู่ “อริยรัฐ” ก้าวให้ไกลไปกว่าประเด็นที่คู่ขัดแย้งกำลังรบเร้ากันอยู่ ไม่เช่นนั้นก็อาจตกเป็นเครื่องมือของผู้หลงผิดหรือการกระทำที่รับใช้ทฤษฎีที่ผิด รวมทั้งการประยุกต์ทฤษฎีอย่างผิดๆ แบบแผนการกระทำต่างๆที่เป็นปัญหาของทั้งสองฝ่ายหรือหลายฝ่าย และที่จะปรับเปลี่ยนอย่างใหม่จึงต้องผ่านการวิพากษ์อย่างสมเหตุสมผลและอย่างเป็นอริยวิถีด้วย การออกจากวิกฤตการเมืองไทยในคราวนี้ จึงขอเสนอเป็นเบื้องต้นคือ 1. จำเป็นต้องยึดหลักการประชาธิปไตยสากล โดยการเลือกตั้งเป็นหัวกระบวนหลัก รองรับด้วยหลักการรับรองเสียงข้างมากและการคำนึงถึงเสียงข้างน้อย และนำการทำประชามติมาให้ประกอบอย่างเหมาะสมแก่เรื่องและจังหวะ 2. ยืนยันที่จะสู้กันด้วยสันติวิธี การเลือกตั้งและการทำประชามติก็คือการจัดการความขัดแย้งอย่างสันติที่ใช้กันในประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก แต่ที่เราต้องพัฒนาให้มากขึ้นคือสันติวิธีแบบอริยะหรือ อริยสันติวิธีนั่นเอง ซึ่งหลักการพื้นฐานนอกจากจะไม่รุนแรงและยอมรับโทษตามกฎหมายแล้ว ยังต้องเป็นความสมัครใจทำกันอย่างแท้จริง มิใช่การบังคับหรือทำตามกันแบบเกรงกลัวหรือเกรงใจเพื่อน หากไม่ทำก็กลัวว่าเพื่อนๆจะไม่รับเราเป็นพวกอีกต่อไปทำนองนั้น (ฉะนั้น การบุกยึดที่ทำการรัฐเพื่อครอบครองพื้นที่ทางกายภาพและทำให้รัฐบาลบริหารงานไม่ได้ ไม่ใช่สันติวิธีอย่างแน่นอน แต่คือการยึดอำนาจแบบหนึ่ง และการยึดอำนาจด้วยการทำให้หน่วยงานรัฐบางส่วนหรือหลายๆส่วนเป็นอัมพาตแบบนี้เป็นเทคนิคการทำรัฐประหารที่ใช้ได้ดี ตามที่พรรคบอลเชวิคของเลนินและนักปฏิวัติมาร์กซิสต์ในบางประเทศในยุโรป รวมทั้งคณะราษฎรไทยเคยใช้ แต่ปัจจุบันล้าสมัยไปแล้ว เพราะอาจเป็นที่พอใจของฝ่ายอนุรักษ์นิยมแต่ไม่ชนะใจประชาชนฝ่ายก้าวหน้า) 3. การจัดตั้งกลไกกลางเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยที่มาจากตัวแทนของทุกฝ่าย โดยมีกฎหมายรองรับ ทั้งนี้รัฐบาลได้ริเริ่มสภาปฏิรูปการเมืองแล้วในระดับหนึ่ง ก็สมควรออกแบบสภานี้ให้สมบูรณ์โดยรับฟังความเห็นและการเข้าร่วมของฝ่ายผู้ชุมนุมทั้งหลายและกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆในสังคม หากสำเร็จการขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยจะไม่ร้อนรนและยัดเยียด แต่จะเชื่องช้าลง เป็นไปอย่างมีสติ รู้ตัวทั่วพร้อมมากขึ้น และได้คุณภาพสูง 4. การปฏิรูปประเทศส่วนรวมต้องกระทำอย่างจริงจังพร้อมกับการปฏิรูปตนเองของสถาบันและองค์การต่างๆในสังคมให้สอดรับกัน การเรียกร้องเฉพาะการปฏิรูปประเทศโดยรวมเท่านั้นไม่เพียงพอ 5. “สภาประชาชน” ในประเทศไทยในปัจจุบันมีอยู่แล้ว คือ สภาพัฒนาการเมือง ซึ่งเน้นการเมืองภาคพลเมือง ตามกฎหมายสภาพัฒนาการเมือง พ.ศ. 2551 แต่ยังมีจุดอ่อนในทางโครงสร้าง วัตถุประสงค์ อำนาจหน้าที่ และภารกิจหลายประการ จึงควรปรับปรุงให้สอดรับกับ “สภาประชาชน” ที่แกนนำผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาลเสนอให้มี แต่จะต้องมีขึ้นหรือมีไว้ต่อไปเพื่อพึ่งพากันและกันและเสริมสร้างองค์รวมของระบอบประชาธิปไตยไทยที่ประชาชนเป็นเจ้าของให้มั่นคง ไม่ใช่เพื่อแข่งขันกับรัฐสภาของประชาชนตามรัฐธรรมนูญหรือเป็นสิ่งแปลกปลอมในทางประชาธิปไตย 6. ออกกฎหมายใหม่เพื่อเสริมสร้างความมั่นคง มาตรฐาน และหลักประกันคุณภาพประชาธิปไตยที่ให้รายละเอียดขยายความจากรัฐธรรมนูญ อันจะส่งเสริมประชาธิปไตยภายในและภายนอกรัฐสภา และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนหรือประชาธิปไตยทางตรงที่ไม่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบรัฐสภา พร้อมกับทำให้องค์การด้านการเมืองและอิสระตามรัฐธรรมนูญต่างๆ มีค่านิยมใหม่เพื่อร่วมกันมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการพิทักษ์ประชาธิปไตยและผนึกการทำงานเข้าหากัน ไม่ใช่แตกแยก ถ่วงรั้งมากกว่าถ่วงดุล และจ้องจะล้มล้างกันแบบทุกวันนี้ 7. การกวาดล้างหรือขจัดการทุจริตครั้งใหญ่เพื่อประเทศชาติอย่างสูงส่งแท้จริงต้องครอบคลุมทั้ง (1) การทุจริตหรือการกระทำชั่วร้ายในทางศีลธรรม อุดมการณ์ หลักการ แนวทางประชาธิปไตย และการใช้อำนาจรัฐ และ (2) การคอร์รัปชั่นที่เป็นเงินทองหรือวัตถุ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การกวาดล้างการทุจริตของนักการเมืองจะต้องไม่เพียงเพ่งโทษไปที่ประเด็นการทุจริตเงินทองหรือทรัพย์สินเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงในแง่มุมอื่นๆที่ทุจริตหรือฉ้อฉลด้วย ซึ่งระบาดอยู่ทั้งในพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน นักการเมือง ข้าราชการ กรรมการและเจ้าหน้าทีรัฐในองค์การอิสระต่างๆ ฉะนั้นจึงต้องมีการสังคายนาครั้งใหญ่ระบบกฎหมาย ปปช. และ ปปท. และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลไกย่อยและในทางปฏิบัติจริงด้วย 8. ปฏิรูปการศึกษาประชาชนในเรื่องประชาธิปไตย โดยการจัดตั้งหรือปฏิรูปองค์กรกลางของรัฐสภาในการให้ความรู้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำหลักสูตรหรือระบบการสื่อสารที่เหมาะสมแก่ผู้บริหารและคณาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยที่จะไปสอนนักศึกษาและประชาชนต่อไป 9. เปิดพื้นที่สื่อทุกช่องทางให้ประชาชนที่มีความเห็นต่างมีโอกาสแลกเปลี่ยนกันอย่างเข้มข้น แต่สันติวิธี 10. กระตุ้นให้มวลชนที่ถูกสะกดจิตได้เปลี่ยนจิตสำนึก หันมาตรวจสอบและวิพากษ์แนวคิดและวิธีการของแกนนำอย่างเข้มข้น เพื่อปรับไปสู่อริยสันติวิธีให้ได้ สำหรับขบวนการสหภาพแรงงานแล้ว อย่างหลงทาง อย่าให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล อย่ายอมให้อุดมการณ์ประชาธิปไตยแปลกปลอมเข้าครองงำอุดมการณ์สังคมประชาธิปไตย และจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปตนเองให้ก้าวหน้าและเป็นขบวนการนำในสังคม มิใช่ผู้ตาม คือ ช่วยกันทำให้สหภาพแรงงานไทยมิใช่เพียงเป็นสหภาพแรงงานเพื่อสังคมเท่านั้น แต่ต้องเป็นสหภาพแรงงานของสังคม และโดยสังคมประชาธิปไตยด้วย ตามหลักที่ว่าสังคมไทยที่เป็นประชาธิปไตยตามหลักสากลนั้น สังคมประชาธิปไตยย่อมเป็นเจ้าของขบวนการแรงงานไทยอันเป็นหนึ่งเดียวกับขบวนการแรงงานสากล และสหภาพแรงงานจะตั้งอยู่ได้อย่างเป็นสถาบันที่มีคุณค่าของสังคมก็โดยการยอมรับและมีอยู่ของสังคมประชาธิปไตย ฉะนั้นในสถานการณ์ปัจจุบันสหภาพแรงงานไทยจำเป็นต้องเข้าร่วมสร้างสรรค์และค้ำจุนประชาธิปไตยของประเทศให้เติบโตก้าวหน้าเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม (อันจะให้โอกาสและส่งผลกลับมาให้สหภาพแรงงานเติบโตและเจริญรุ่งเรืองด้วย) ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามครรลองประชาธิปไตย (แม้ว่าการเลือกตั้งในแต่ละครั้งอาจมีจุดอ่อนในเชิงความบริสุทธิ์ยุติธรรมอยู่บ้างและยังไม่ได้ผลตามที่ต้องการ ซึ่งก็ต้องปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นได้) ต่อสู้กับการทุจริตแบบไม่เลือกปฏิบัติ ปฏิเสธการรัฐประหารหรือการเปลี่ยนแปลงนอกระบบ และเข้าร่วมหย่าศึกความขัดแย้งและร่วมปฏิรูปการเมืองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมใหม่จากพลังสร้างสรรค์ของขบวนการสหภาพแรงงานอิสระที่แท้จริง หากทำได้ขบวนการสหภาพแรงงานไทยจะเป็นขวัญใจของคนไทยหลายสิบล้านคน และในทุกเสื้อสี ไม่ว่าเหลือง แดง หรือ สีใดๆ และมิใช่เฉพาะจากมวลชนที่ต่อต้านรัฐบาลในขณะนี้เท่านั้น (ตัวอย่างการแสดงบทบาทที่ควร: สหภาพแรงงานเป็นองค์การประชาธิปไตยของสมาชิกที่ยึดหลักเสียข้างมากและคำนึงถึงเสียงข้างน้อยในการปกครองตนเองและในการต่อรองกับนายทุนผู้ประกอบการตามหลักสากล สหภาพแรงงานทั่วประเทศของเรามีอำนาจต่อรองในทางการเมืองตลอดมา คือ มีสมาชิกทั้งภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ และราชการบางส่วน ประมาณ 5 แสนคน และเครือญาติและกัลยาณมิตรรวมรายละ 10 คน เป็นประมาณ 5 ล้านคน ที่จะนำมาใช้ในห้วงเวลาปัจจุบันเพื่อต่อรองกับพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านสำหรับการเลือกตั้งในครั้งหน้า คะแนน 5 ล้านเสียง จึงต้องใช้เพื่อลงให้กับฝ่ายที่ถูกต้องกว่าหรืออาจไม่ให้ฝ่ายใดเลยหากไม่หันหน้ามาเจรากันอย่างสันติหรือไม่มีฝ่ายใดปรับปรุงตนเองในจุดที่บกพร่อง) [หมายเหตุปิดท้าย: ระบอบทักษิณที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลต้องการล้มล้าง หากเขียนให้เต็มน่าจะ คือระบอบประชานิยมตามอิทธิพลของทักษิณ ชินวัตร แต่แท้จริงแล้วมันคืออะไร นิยามออกมาได้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง และหากพิจารณาระบอบนี้ว่ามีอยู่จริง ระบอบเฉพาะส่วนที่เป็นกำลังคน ไม่รวมเรื่องอุดมการณ์ เป้าหมาย และวิธีการ และทรัพยากรอื่นๆ (นอกเรื่องคน) นั้น ปัจจุบันก็คงประกอบด้วยอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ครอบครัวชินวัตร นักการเมือง และครอบครัวนักการเมืองตระกูลอื่นๆ กรรมการบริหารและสมาชิกพรรคเพื่อไทย คนที่ลงคะแนนเลือกพรรคนี้ 15 ล้านคน และคนไทยที่ชื่นชอบอุดมการณ์ประชานิยมหรือได้ประโยชน์จากระบอบนี้อีกหลายล้านคน ฉะนั้น หากขจัดระบอบนี้ให้สิ้นซากเฉพาะตรงกำลังคนแล้ว จึงไม่สามารถขจัดอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร และ ตระกูลชินวัตร เท่านั้น แต่คงต้องฆ่าทิ้งคนอื่นๆเหล่านี้ให้หมดหรือไล่ไปให้พ้นประเทศไทยอย่างไร้มนุษยธรรม แต่หากจะสันติวิธีในทางเลือกหนึ่ง ก็คือการเปลี่ยนประเทศไทยที่ผ่านการทำประชามติให้เป็นสหพันธรัฐสยาม (ยังเป็นประเทศเดียวกันแต่มีรัฐย่อยๆ โดยรายละเอียดในการปกครองและการบริหารต้องใช้เวลาออกแบบ) คือ รัฐประชานิยมแบบของพรรคเพื่อไทยที่ให้คนที่ชอบระบอบนี้สักครึ่งประเทศหรือคงจะใช้พื้นที่มากที่สุดไปอยู่ได้ รองลงมาก็เป็นพื้นที่ของรัฐประชาภิวัตน์แบบของพรรคประชาธิปัตย์และผู้คนส่วนหนึ่งที่กำลังร่วมต่อต้านรัฐบาล และ ขอมีพื้นที่สักส่วนหนึ่งอันเป็นส่วนน้อยให้ผู้เขียนกับคนไทยจำนวนหนึ่งที่อยู่ทั้งสองรัฐนั้นไม่ได้หรือไม่อยากอยู่ ไปตั้งรัฐสวัสดิการสังคมประชาธิปไตย (อาทิ ตามแบบที่พรรคสังคมธิปไตยเคยเสนอ) เป็นรัฐที่สามด้วย! แต่หากแบ่งตามเสนอนี้ไม่ได้ก็ต้องยอมรับการอยู่ร่วมกันต่อไปภายใต้อุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน แต่ปรับปรุงกติกาการเมืองกันใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยที่ดียิ่งขึ้นตามความเห็นชอบของประชาชน ซึ่งก็หนีไม่พ้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง การออกกฎหมายใหม่และปฏิรูปกฎหมายที่มีอยู่เพื่อเสริมสร้างความมั่นคง มาตรฐาน และหลักประกันคุณภาพประชาธิปไตย และการทำประชามติเสริม ส่วนการขจัดระบอบประชานิยมตามอิทธิพลของทักษิณ ชินวัตร ในทางอุดมการณ์ เป้าหมาย วิธีการ และทรัพยากรอื่นๆ นั้นก็ไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ เพราะหลายอย่างก็เป็นของดีหรือของเดิมที่อยู่คู่กับคนไทยมาแต่โบราณกาลแล้ว นอกจากนี้ หากจะทำให้เกิดความยุติธรรมมากขึ้น และยกระดับสติปัญญาคนไทยร่วมกันยิ่งขึ้น เรา (มวลชนทั้งหลาย) น่าจะวิพากษ์วิจารณ์ด้วยว่าระบอบอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ของพรรคประชาธิปัตย์ มีอยู่หรือไม่ หากมีมันคืออะไร มีอยู่อย่างไร และจะขจัดสิ่งไม่ดีหรือปรับปรุงระบอบนี้กันอย่างไรให้เหลือสิ่งดีๆในบ้านเมือง หรือหากทำในทางตรงกันข้ามคือ มีการเสนอให้ล้มล้างระบอบอภิสิทธิ์ โดยให้คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และตระกูล (หรือเครือข่าย) ออกไปจากประเทศไทยหรือระบอบการเมืองไทยไปด้วย ควรหรือไม่ควรอย่างไร สุดท้าย สังคมเป็นอนิจจัง มีวิวัฒนาการไปสู่สังคมที่เจริญก้าวหน้ากว่าโดยทั่วไป (แต่ที่ล้มเหลวก็มีบ้าง) สิ่งไม่เหมาะสมในสังคมหรือในองค์การต่างๆย่อมค่อยๆหมดไปจากการปฏิสัมพันธ์กันในสังคม เราไม่สามารถหยุดกลไกที่เป็นอนัตตาไม่เข้าใครออกใครนั้นได้ ส่วนใดอยู่รอดก็แสดงว่าปรับตัวได้ ส่วนใดไปไม่รอดก็แสดงว่าปรับตัวไม่ได้ หากไม่ยึดมั่นกับตัวกูของกูว่าทุกอย่างต้องสำเร็จเดี่ยวนี้ (ก่อนที่ผู้กระทำจะถูกพันธนาการหรือไม่มีโอกาสทำด้วยตัวเอง หรือตัดโอกาสฝ่ายตรงข้ามไม่ให้ได้รับสถานภาพแห่งความชอบธรรมอันพึงมีพึงได้ที่จะเวียนมาถึง) ก็ให้คนรุ่นใหม่ๆรับผิดชอบจัดการแทนพวกเราต่อไปก็ได้ ความหมายของชีวิตเราในมิติอื่นๆยังมีที่ต้องเติมเต็มเพื่อส่วนรวมและเพื่อคนที่เรารักกันอีกหลายเรื่อง – โปรดเร่งเรียกเอาความเป็นพุทธะคือ ความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และ ผู้เบิกบานในธรรมาธิปไตย” ของเราแต่ละคนมาสร้างสรรค์สังคมแทนอวิชชากันดีกว่า]

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม