1138 05 Nov 2013
ชื่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบ: เหมืองทองเลยเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ 31 ตุลาคม 2556
“บริษัทผมเป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นสลับซับซ้อนมากที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ของไทย ทุกวันนี้ผมยังไม่รู้เลยว่าใครคือเจ้าของที่แท้จริงของบริษัท” คำกล่าวตอนหนึ่งของบัณฑิต แสงเสรีธรรม กรรมการบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) (“ทุ่งคาฮาเบอร์”) และกรรมการผู้จัดการบริษัท ทุ่งคำ จำกัด (“ทุ่งคำ”) ที่กล่าวถึงสถานภาพของทุ่งคาฮาเบอร์ต่อผู้เข้าร่วมสัมมนา ในงานสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น เรื่อง “ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตจากปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม : ศึกษากรณีจังหวัดเลย เหมืองทองคำ” เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา ณ สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หลังหมดยุคของพลเอกกิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ ที่ก้าวเข้ามาเป็นกรรมการและกรรมการบริหารทุ่งคาฮาเบอร์ และกรรมการผู้จัดการทุ่งคำ ในช่วงระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 ถึง 31 สิงหาคม 2552(อ้างอิง 1 ) ก็ยากจะหาใครในสองบริษัทดังกล่าวที่มีบทบาทโดดเด่นเทียบเท่า เหตุสำคัญก็เพราะช่วงที่พลเอกกิตติศักดิ์ดำรงตำแหน่งสามารถทำกำไรให้กับทุ่งคำถึง 111.8 ล้านบาท จนเป็นเหตุให้ทุ่งคาฮาเบอร์ซึ่งเป็นบริษัทแม่เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาได้ จากเดิมที่ประสบผลขาดทุนอย่างต่อเนื่อง กำไรของทุ่งคำที่ตกทอดมาถึงทุ่งคาฮาเบอร์นั้นต้องถือว่าเป็นปีแรกและปีเดียวของทุ่งคำที่สร้างกำไร ก่อนหน้าการเข้ามาและหลังจากการออกไปของพลเอกกิตติศักดิ์ทุ่งคำเผชิญภาวะขาดทุนมาโดยตลอด จนส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงทุ่งคาฮาเบอร์ในปัจจุบันที่ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 อันมีเหตุมาจากบริษัท สินธนาโฮลดิ้งส์ จำกัด กับบริษัท ซิโนแพ็ค ดีเวลอปเม้นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นฟ้องให้ตกเป็นผู้ล้มละลาย ซึ่งศาลได้รับคำร้องและกำหนดนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 27 มกราคม 2557 ปีหน้า รวมทั้งภาวะรุมเร้าจากหนี้สินก้อนอื่น และการขาดสภาพคล่องทางการเงินในการดำเนินกิจการ โดยเฉพาะหนี้สินของธนาคารดอยซ์แบงก์จากการกู้เงินก้อนที่สอง 35 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อปี 2551 (ก่อนหน้านี้เคยกู้ดอยซ์แบงก์ 25 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อปี 2549) ซึ่งยังเป็นคดีความต่อกัน โดยมีสัญญาชำระหนี้ด้วยทองคำเป็นเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2552 – 2555 โดยทุ่งคำเห็นว่าเป็นสัญญาเงินกู้ที่ไม่เป็นธรรมเพราะบังคับให้ชำระเงินกู้ด้วยทองคำที่ผลิตได้ในราคาที่กำหนดตายตัว ซึ่งต่ำกว่าราคาในตลาด และในปริมาณที่มากกว่าพึงชำระทั้งเงินต้นรวมดอกเบี้ยในแต่ละเดือนได้ ถึงแม้ว่าอนุญาโตตุลาการจะให้ดอยซ์แบงก์ชนะคดีเมื่อเดือนเมษายน 2556 โดยให้ทุ่งคำชำระเงินกู้ส่วนที่เหลือคืนพร้อมดอกเบี้ย และค่าปรับการยกเลิกสัญญาส่งมอบทองคำพร้อมดอกเบี้ย แต่ก็ไม่สามารถบังคับคดีได้เพราะทุ่งคำยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเอาไว้เพราะเห็นว่าเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันศาลทรัพย์สินฯยังไม่ตัดสินคดี ในขณะที่กระบวนการฟื้นฟูกิจการกำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้า ทุ่งคาฮาเบอร์ก็กำลังจะได้ดาวดวงใหม่ที่น่าจะโดดเด่นเทียบเท่า หรืออาจจะโดดเด่นกว่าพลเอกกิตติศักดิ์เสียอีก แผนกรกฎ : ความเข้าใจต่อเวที พับลิค สโคปปิง ของผู้การเสือ และใครอยู่เบื้องหลัง ? หลังปฏิบัติการตามแผนกรกฎครั้งที่สอง ของกองกำลังตำรวจซึ่งเป็นกำลังหลัก ผสมพนักงานทุ่งคำเป็นบางส่วน จำนวนรวมกัน 700 คน เพื่อปิดกั้นประชาชนที่เห็นต่างในนามกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดไม่ให้เข้าร่วมเวทีพับลิก สโคปปิ้ง เพื่อจัดทำรายงาน EHIA ประกอบการขอประทานบัตรแปลงที่ 76/2539 ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556 (ครั้งแรกใช้กองกำลังตำรวจเป็นกองกำลังหลัก ผสมทหาร อาสารักษาดินแดน และพนักงานทุ่งคำเป็นบางส่วน จำนวนรวมกัน 1,000 คน เพื่อสกัดกั้นประชาชนที่เห็นต่างในนามกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดไม่ให้เข้าร่วมเวทีพับลิก สโคปปิง เพื่อจัดทำรายงาน EHIA ประกอบการขอประทานบัตรแปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555) มีคำถามหนึ่งที่คนในพื้นที่จังหวัดเลยใคร่รู้อย่างมากว่า “เหตุใด ‘ผู้การเสือ’ หรือ พล.ต.ต.ศักดา วงศ์ศิริยานนท์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย ใช้แผนกรกฎปิดกั้นประชาชนไม่ให้เข้าร่วมเวทีพับลิก สโคปปิง ถึงสองครั้งสองครา ?” ทั้ง ๆ ที่ การใช้แผนกรกฎปิดกั้นประชาชนไม่ให้เข้าร่วมเวทีดังกล่าวในครั้งแรกน่าจะได้รับบทเรียนมากพออยู่แล้วถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสม ที่นำกองกำลังตำรวจไปปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเช่นนั้น ดังที่คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความเห็นในเชิงว่ากล่าวตักเตือนต่อหน้าผู้การเสือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้อง ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ เมื่อครั้งที่คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวเรียกหน่วยงานราชการระดับปฏิบัติการในพื้นที่และระดับนโยบายจากส่วนกลาง และทุ่งคำ รวมทั้งราษฎรกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด เข้ามาตรวจสอบเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จนถึงขั้นที่ผู้การเสือยังแสดงอาการสำนึกดีบางอย่างต่อที่ประชุมในวันนั้นด้วยว่า การกระทำของตนทำให้คนในพื้นที่เกลียดชังตนเองมากขึ้น จากที่คิดอยู่เสมอมาว่าตนเป็นที่รักใคร่ของคนในพื้นที่ หากต่อไปจะทำอะไรจะต้องระมัดระวังให้มากขึ้น เพราะเป็นเรื่องเปราะบางของสังคม โดยผู้การเสือกับปลัดจังหวัดเลยยังยอมรับต่อหน้าคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวอีกด้วยว่าค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและกองกำลังผสมที่ร่วมปฏิบัติการตามแผนกรกฎ ที่ปิดกั้นประชาชนไม่ให้เข้าร่วมเวทีดังกล่าวในครั้งแรก ทุ่งคำเป็นผู้รับผิดชอบจัดหามาให้ คำตอบต่อคำถามดังกล่าวก็เริ่มกระจ่างชัดขึ้น เมื่อเข้าไปค้นรายชื่อคณะกรรมการทุ่งคาฮาเบอร์ชุดปัจจุบัน ปรากฏว่ามีชื่อของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการอิสระและประธานกรรมการตรวจสอบร่วมอยู่ด้วย จึงไม่เป็นที่สงสัยอีกต่อไปว่าทำไมผู้การเสือถึงยอมให้คนในพื้นที่เกลียดชังตนเองมากยิ่งขึ้น จากการเป็นผู้วางแผนและบัญชาการตามแผนกรกฎเพื่อปิดกั้นประชาชนไม่ให้เข้าร่วมในเวทีพับลิก สโคปปิง ในครั้งที่สอง ด้วยตนเอง ปิคนิคแก๊ส ละครแห่งความขัดแย้ง ในช่วงระยะเวลา 2 – 3 ปี ที่ผ่านมา ข่าวหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือข่าวปมขัดแย้งคดีโอนหุ้น 101 ล้านบาท ของบริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด (“แอสเซ็ท”) ที่เชื่อมโยงไปยังบริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (“ปิคนิค”) และกลุ่มบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด (“เวิลด์แก๊ส”) ภายใต้การนำของนายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ช่วงเวลาสั้น ๆ 4 เดือน ระหว่างวันที่ 11 มีนาคม – 6 กรกฎาคม 2548 ที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเข้าซื้อกิจการหุ้นขนาดเล็กหลายกิจการที่อยู่ในกลุ่มฟื้นฟูกิจการหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 โดยปิคนิคเป็นหนึ่งในนั้น แล้วสร้างราคาชี้นำโยกกันไปมาระหว่างกลุ่มก๊วนเดียวกัน ผ่านอุบายสร้างข่าวคราวการเพิ่มทุนหลายรอบอย่างครึกโครม เพื่อหลอกล่อนักลงทุนประเภทแมลงเม่าเข้าไปเป็นเหยื่อ จนทำกำไรหลายพันล้านบาท แต่ในท้ายที่สุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กลับตรวจพบความผิดปกติของงบการเงินปี 2547 ของปิคนิคช่วงเดือนมีนาคม 2548 ที่กลายเป็นว่าก่อหนี้ไว้หลายพันล้านบาท จนต้องมีการเข้าแผนฟื้นฟูปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยนายสุริยาเป็นผู้มีอำนาจควบคุมการดำเนินกิจการของปิคนิคอย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเวิลด์แก๊สซึ่งเป็นบริษัทธุรกิจแก๊สเช่นเดียวกัน อีกทอดหนึ่งด้วย แต่ธุรกิจแก๊สซึ่งเป็นธุรกิจพลังงานสายหนึ่งยังคงเป็นขาขึ้น ปิคนิคและเวิลด์แก๊สจึงยังคงเป็นที่ต้องการของนักลงทุนอยู่เสมอ เรื่องราวต่อจากนั้นเริ่มมาจากความขัดแย้งระหว่างนางวิมลรัตน์ กุลดิลก หรือเลิศเสาวภาคย์ ภรรยาของ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยดำรงตำแหน่งทั้งสองในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม 2554 – มิถุนายน 2556 กับ พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ตำแหน่งปัจจุบันเป็น พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) เพื่อแย่งชิงหุ้นในแอสเซ็ทร้อยละ 51 มูลค่า 101 ล้านบาท (“หุ้นพิพาท”) ของนายสุริยา เนื่องจากในขณะที่เกิดเหตุวุ่นวายกับปิคนิค นายสุริยาได้ซื้อหุ้นของแอสเซ็ทมาดำเนินกิจการ จนในที่สุดแอสเซ็ทได้เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในเวิลด์แก๊สแทนปิคนิค ความขัดแย้งนี้ได้ทำให้นางวิมลรัตน์ยื่นฟ้องนายสุริยา พล.ต.ท.สมยศ กับพวกรวมสิบคน เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2553 เพื่อขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นพิพาทที่ พล.ต.ท.สมยศ ได้รับไป เนื่องจากว่าหุ้นจำนวนดังกล่าวนายสุริยาได้โอนให้กับนางวิมลรัตน์ก่อนแล้ว จากคำให้การของ พล.ต.ท.ชัจจ์ ต่อศาลแพ่ง ระบุว่าในช่วงปี 2549 ต่อเนื่องปี 2551 นายสุริยา และปิคนิค เกิดปัญหาทางการเงินและมีหนี้สินมากจนต้องมีการเข้าแผนฟื้นฟูปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จึงต้องมาขอยืมเงินนางวิมลรัตน์เพื่อนำไปใช้จ่ายในธุรกิจส่วนตัวมาโดยตลอด จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2551 นายสุริยามีหนี้สินคงค้างชำระกับนางวิมลรัตน์ประมาณ 232 ล้านบาท ซึ่ง พล.ต.ท.ชัจจ์ และนางวิมลรัตน์ได้ติดตามทวงถามให้นายสุริยาชำระหนี้มาโดยตลอด จึงได้เจรจาชำระหนี้กันโดยตกลงจะนำหุ้นพิพาทมาชำระหนี้แก่นางวิมลรัตน์ ซึ่งหุ้นดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของนายสุริยาแต่ให้ตัวแทนถือหุ้นไว้แทน แต่การถือหุ้นพิพาทของนายสุริยาก็ไม่ตรงไปตรงมา โดยให้นายธรรมนูญ ทองลือ เป็นตัวแทนถือหุ้นไว้แทน ซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหุ้นบริษัทว่าเป็นผู้ถือหุ้น(อ้างอิง 2) และนายสุริยาได้ให้นายธรรมนูญทำหนังสือโอนหุ้นจำนวนดังกล่าวให้นายสุวิทย์ สัจจวิทย์ ตัวแทนอีกคนหนึ่ง โดยทำเป็นหนังสือการโอนหุ้นลงลายมือชื่อนายธรรมนูญ ผู้โอน นายสุวิทย์ ผู้รับโอน มีนายสมบัติ สร้อยเงิน และนายสุริยาลงลายมือเป็นพยาน มีนายโดนัล เอียน แม็คเบน ลงลายมือชื่อฐานะนายทะเบียนบริษัท ลงนามรับทราบการโอน ปรากฏตามใบโอนหุ้นฉบับวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ดังนั้น หุ้นพิพาท หมายเลขที่ 00000001 - 10199600 จำนวน 10,199,600 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท เป็นเงินประมาณ 101 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของแอสเซ็ท ที่นายสุริยานำมาชำระหนี้บางส่วนแก่นางวิมลรัตน์เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 จึงเป็นหุ้นในชื่อของนายสุวิทย์ที่รับโอนมาจากนายธรรมนูญอีกทอดหนึ่ง หลังจากนายสุริยาชำระหนี้บางส่วนด้วยการโอนหุ้นพิพาทในชื่อของนายธรรมนูญและนายสุวิทย์ที่ตกทอดการเป็นผู้ถือหุ้นแทนมาตามลำดับให้กับนางวิมลรัตน์แล้ว ในเดือนธันวาคม 2551 นายสุริยาก็หลบหนีหายตัวไปอยู่ต่างประเทศ ไม่สามารถติดต่อได้ ทางด้าน พล.ต.ท. สมยศ ก็เป็นเจ้าหนี้อีกคนหนึ่งของนายสุริยา ทราบดีว่าทรัพย์สินของนายสุริยาที่ยังเหลืออยู่เพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้ให้แก่ตนเองได้ คือหุ้นพิพาทซึ่งเป็นหุ้นจำนวนเดียวกันที่นางวิมลรัตน์ได้รับโอนเพื่อชำระหนี้บางส่วนจากนายสุริยาไปแล้ว ในระหว่างนั้น เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2552 ก.ล.ต. ได้มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินผู้ที่ถูกกล่าวโทษกรณีทุจริต ยักยอกเงินและทรัพย์สินปิคนิค โดยมีผู้เกี่ยวข้องคือแอสเซท นายธรรมนูญ และนายทนงศักดิ์ ศรีทองคำ เป็นบุคคลที่ถูกกล่าวโทษและถูกอายัดทรัพย์ การเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของนายสุริยาที่ติดหนี้ไว้กับนางวิมลรัตน์และ พล.ต.ท.สมยศ ได้มีขึ้นหลายครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2552 และครอบครัวของนางวิมลรัตน์ได้ยืนยันให้ พล.ต.ท.สมยศ ทราบว่า ได้รับโอนหุ้นพิพาทของนายสุริยาที่ให้นายธรรมนูญซึ่งเป็นตัวแทนถือหุ้นไว้แทน มาถือครองไว้หมดแล้ว โดยมีหนังสือการโอนหุ้นลงลายมือชื่อพยานถูกต้องตามกฎหมาย แต่ยังไม่สามารถไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นได้เพราะนายธรรมนูญ ถูก ก.ล.ต. มีคำสั่งอายัดทรัพย์สิน แต่ในระหว่างที่มีการเจรจาตกลงกันนั้น นายพิศาล พุ่มพันธุ์ม่วง ได้เข้ามาเป็นกรรมการบริษัทแอสเซท ได้ร่วมมือกับนายทนงศักดิ์ ซึ่งเป็นกรรมการของแอสเซทอยู่ก่อนแล้ว ร่วมกันลงลายมือชื่อในเอกสาร แบบ บอจ.5 (บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น) ว่าขอเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นในส่วนที่เป็นหุ้นของนายธรรมนูญ ทั้งหมดมาเป็นชื่อ พล.ต.ท.สมยศ เป็นผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2552 โดยอ้างกับนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครว่า พล.ต.ท.สมยศ ได้รับโอนหุ้นมาจากนายธรรมนูญ และลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2552 แล้ว ซึ่งหุ้นพิพาทที่มีชื่อ พล.ต.ท.สมยศ ดังกล่าวนั้น เป็นหุ้นจำนวนเดียวกับที่นางวิมลรัตน์ได้รับโอนมาจากนายสุริยาที่ให้นายธรรมนูญและนายสุวิทย์ถือครองไว้แทนมาโดยลำดับ จึงเป็นเหตุให้ พล.ต.ท.ชัจจ์ และนางวิมลรัตน์เชื่อว่าสัญญาโอนหุ้นระหว่างนายธรรมนูญกับ พล.ต.ท.สมยศ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2552 นั้น มิได้ทำขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม 2552 จริง แต่เป็นเอกสารที่น่าจะทำขึ้นภายหลัง โดยลงวันที่ย้อนหลังเป็นวันที่ 11 มีนาคม 2552 ก่อนวันที่ 13 มีนาคม 2552 อันเป็นวันที่ ก.ล.ต. มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของนายธรรมนูญ เพื่อให้บุคคลเข้าใจว่าได้มีการซื้อขายโอนหุ้นกันก่อนมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินนายธรรมนูญ หลังจากนางวิมลรัตน์ยื่นฟ้องนายสุริยา พล.ต.ท.สมยศ กับพวกรวม 10 คน เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2553 การเอาคืนก็เริ่มขึ้น เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 พล.ต.ท.สมยศ ได้ยื่นเรื่องต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินของ พล.ต.ท.ชัจจ์ ตอนรับตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ปี 2551 กรณีไม่แจ้งว่ามีกู้ให้ยืมนายสุริยา จำนวน 232 ล้านบาท ว่า เข้าข่ายจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน ตามมาด้วยอีก 2 คดีอาญา หลังจากที่ พล.ต.ท.สมยศ ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของแอสเซ็ท ก็ได้ร่วมกับนายธรรมนูญยื่นฟ้องนางวิมลรัตน์กับพวกในข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอม คดีแรกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2554 แอสเซ็ทโดยนายพิศาลและนายสง่า รัตนชาติชูชัย กรรมการผู้มีอำนาจ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวิมลรัตน์และพวกในข้อหาความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอม โดยโจทย์กล่าวหาว่าสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของแอสเซ็ทตามใบโอนหุ้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ที่นายธรรมนูญโอนหุ้นพิพาทที่ถือหุ้นไว้แทนนายสุริยามาให้แก่นายสุวิทย์เพื่อนำมาชำระหนี้แก่นางวิมลรัตน์เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 เป็นเอกสารเท็จ ส่วนเอกสารการโอนหุ้นพิพาทที่แท้จริงเกิดขึ้นต่อจากนั้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2552 ซึ่งนายธรรมนูญที่เป็นเจ้าของหุ้นพิพาทตัวจริงได้โอนหุ้นดังกล่าวให้แก่ พล.ต.ท.สมยศ คดีที่สองเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554 นายธรรมนูญได้ยื่นฟ้องนางวิมลรัตน์และนายสุวิทย์ ในข้อหาปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอมเช่นเดียวกันกับคดีแรก โดยแก้ต่างว่านายธรรมนูญไม่เคยทำใบโอนหุ้นพิพาทเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ให้นายสุวิทย์ และไม่เคยได้รับเงินค่าหุ้นพิพาทจากนายสุวิทย์ ดังนั้น ใบโอนหุ้นพิพาทที่นำมาชำระหนี้แก่นางวิมลรัตน์เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 เป็นความเท็จ ดูเหมือนว่าแก่นของความขัดแย้งของผลประโยชน์คือการรักษาสถานภาพการต่อรองผลประโยชน์เอาไว้ ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแพ้ชนะกันอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปล่อยให้ความขัดแย้งดำรงอยู่เพื่อเอาไว้ต่อรองผลประโยชน์กันต่อไป ภายใต้ซากปรักหักพังและความชำรุดทรุดโทรมของชีวิตใครก็ตามที่เข้ามาเกี่ยวข้องในเส้นทางเดินของความขัดแย้งของผลประโยชน์ เป็นเรื่องนอกเหนือความสนใจของคนที่ร่วมสร้างสถานการณ์ความขัดแย้งของผลประโยชน์ขึ้นมา มีสองเหตุการณ์ที่เป็นการรักษาสถานภาพการต่อรองผลประโยชน์เอาไว้ นั่นคือ เหตุการณ์แรก - ก่อนที่นายธรรมนูญจะยื่นฟ้องคดีสองเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554 ต่อนางวิมลรัตน์และนายสุวิทย์นั้น ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2554 ให้นางวิมลรัตน์ได้กรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาทดังกล่าว เหตุการณ์ที่สอง - ระหว่างที่ พล.ต.ท.สมยศ และพวกยื่นอุทธรณ์คดีที่ศาลแพ่งพิพากษาให้นางวิมลรัตน์ได้กรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาทนั้น สำนักงานอัยการพิเศษได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2556 แจ้งคำสั่งไม่ฟ้อง พล.ต.ท.สมยศ และนายธรรมนูญกับพวก ตามที่นางวิมลรัตน์ได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีอาญา พล.ต.ท.สมยศ และนายธรรมนูญกับพวก ต่อ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา ตามคำสั่งไม่ฟ้องของสำนักงานอัยการพิเศษโดยสรุปก็คือ พล.ต.ท.สมยศ ได้หุ้นพิพาทของแอสเซ็ทมาจากนายธรรมนูญโดยถูกต้อง จึงฟังไม่ได้ว่า พล.ต.ท.สมยศ และนายธรรมนูญกับพวกร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร ความขัดแย้งของผลประโยชน์ ปิดตำนานอื้อฉาวของปิคนิคแก๊ส ไม่ว่าความขัดแย้งของผลประโยชน์ระหว่างนางวิมลรัตน์ และ พล.ต.ท.ชัจจ์ กับ พล.ต.ท.สมยศ และพวกยังดำรงอยู่ เพราะคดีความต่าง ๆ ที่ต่างฝ่ายต่างฟ้องกันยังไม่สิ้นสุด ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในวันนี้ก็คือ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นตำแหน่งในปัจจุบัน ได้เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของแอสเซ็ทเรียบร้อยแล้ว ซึ่งแอสเซ็ทเองก็เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเวิลด์แก๊สอีกทอดหนึ่งด้วย ผลของความขัดแย้งของผลประโยชน์ในกรณีนี้ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการปิคนิคของเวิลด์แก๊ส ที่ก่อนหน้าเกิดวิกฤติการณ์ความวุ่นวายกับปิคนิคเคยเป็นบริษัทลูกของปิคนิคมาก่อน แต่ตอนนี้เวิลด์แก๊สได้ย้อนกลับมาเข้ายึดกิจการของปิคนิคอย่างเบ็ดเสร็จ โดยควักจ่ายเงินเพิ่มทุนให้ปิคนิค 1,700 ล้านบาท เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่เพียงพอให้ปิคนิคนำไปชำระหนี้แก่ธนาคารกรุงไทย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา ถือเป็นการปิดตำนานอื้อฉาวมากว่า 5 ปี ของปิคนิคอย่างสวยหรูเพื่อรอวันกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นใหม่อีกครั้ง เชื้อร้ายกำลังลุกลามมาที่ทุ่งคาฮาเบอร์และทุ่งคำ รูปแบบการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นในปิคนิคและเวิลด์แก๊ส (ดูรูปแบบการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นเพื่อล้างวิกฤติการณ์ของปิคนิคในตลาดหุ้นไทย ช่วงปี 2548 – 2556 ท้ายบทความ) โดยดึงแอสเซ็ทเข้ามาเพื่อยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของปิคนิคไปแอสเซ็ท เพื่อให้แอสเซ็ทเข้ามาถือหุ้นใหญ่ของเวิลด์แก๊สแทนปิคนิค แล้วท้ายที่สุดก็ให้เวิลด์แก๊สย้อนกลับไปถือหุ้นปิคนิคเพื่อล้างมลทินเรื่องอื้อฉาวที่ปิคนิคก่อขึ้นมาให้หมดสิ้น โดยมีตัวละครเข้ามาเกี่ยวข้องมากหน้าหลายตา ถึงแม้ไม่อาจชี้ชัดลงไปได้ว่ามันเป็นละครหรือเกมตบตากรรมการ/องค์กรที่กำกับกติกา แมลงเม่าซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย สื่อมวลชน รวมทั้งสาธารณชนที่เฝ้าดูติดตามข่าวสารในช่องทางต่าง ๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทำให้นายสุริยาหลุดลอดไปจากความผิดและความรับผิดชอบที่ตนเองได้ก่อไว้ สถานภาพของทุ่งคาฮาเบอร์หลายปีมานี้มีลักษณะคล้าย ๆ กันกับปิคนิคในช่วงเกิดวิกฤติการณ์ ชื่อเสียงของหุ้นทุ่งคาฮาเบอร์ถูกวางอยู่ในตำแหน่ง ‘หุ้นปั่น’ มาแต่ไหนแต่ไร โดยมักมีผู้เล่นข่าวราคาทองคำเชื่อมโยงไปยังแหล่งแร่ทองคำที่ทุ่งคำถือสัมปทานอยู่ที่จังหวัดเลย ว่าเป็นสินค้าที่มีอนาคตสดใสของทุ่งคาฮาเบอร์ แต่ทุกครั้งที่หุ้นถูกจุดพลุขึ้นไปเร็วและแรง ก็จะตกลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงไม่แพ้กัน สุดท้ายผู้ถือหุ้นรายย่อยก็เจ็บกันถ้วนหน้า ผลของการเล่นหุ้นแบบนี้จึงทำให้ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สั่งหยุดซื้อขายหุ้นตัวนี้ และยังคงเครื่องหมาย SP (Trading Suspension : ห้ามซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนเป็นการชั่วคราว) และ NC (Non-Compliance : หลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน) หลักทรัพย์ของทุ่งคาฮาเบอร์เป็นปีที่สอง เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับปรุงฐานะการเงินและการดำเนินงานและยังไม่ได้นำส่งงบการเงินไตรมาสที่ 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2556 และไตรมาสที่ 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2556 ต่อ ตลท. หากยังไม่สามารถดำเนินการให้มีคุณสมบัติพ้นเหตุแห่งการเพิกถอนภายในระยะเวลา 4 ปี นับแต่ถูกเครื่องหมาย NC ในปีแรกเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2554 อาจทำให้หลักทรัพย์ของทุ่งคาฮาเบอร์ถูกเพิกถอนออกไปจากตลาดหุ้นได้ รวมถึงหนี้สินท่วมตัวกับเจ้าหนี้หลายแห่ง จนเป็นเหตุให้ทุ่งคาฮาเบอร์ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 ตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นกับทุ่งคาฮาเบอร์และทุ่งคำอาจจะกลายเป็นโอกาสอันงดงามของใครหลายคนก็เป็นได้ หากดูที่รูปแบบการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นเพื่อดำเนินธุรกิจของปิคนิค ที่สร้างความขัดแย้งของผลประโยชน์ขึ้นมา เพื่อรักษาสถานภาพการต่อรองผลประโยชน์ให้ดำรงอยู่ตราบนานเท่านาน ซึ่งเป็นรูปแบบที่กำลังลุกลามเข้ามาในทุ่งคาฮาเบอร์และทุ่งคำอยู่ในขณะนี้ ตราบใดที่ความทุกข์ยากและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ไม่ได้เกิดจากน้ำมือตัวเอง แต่ก่อเกิดจากความขัดแย้งของผลประโยชน์ในตลาดหุ้นที่บงการชีวิตเรา จึงไม่แปลกใจแต่อย่างใดและเป็นความชอบธรรมอย่างยิ่งที่ประชาชนในพื้นที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จะก่อกำแพงชุมชนปิดกั้นถนนเพื่อป้องกันสารเคมีมีพิษที่ขนใส่รถบรรทุกเข้ามายังโรงประกอบโลหกรรมเพื่อแต่งแร่และถลุงแร่ทองคำบนภูทับฟ้า แต่ผลตอบแทนที่ประชาชนในพื้นที่ได้รับก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ จากคดีความที่ทุ่งคำฟ้องอาญาและแพ่ง ในคดีแรกฟ้องให้ติดคุกและเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท บวก 10 ล้าน ทุกวันจนกว่ากำแพงชุมชนจะถูกพังทลายลงไป กับชาวบ้าน 14 คน คดีที่สองฟ้องให้ติดคุกและเรียกค่าเสียหาย 70 ล้านบาท กับชาวบ้าน 13 ราย จากการก่อกำแพงขึ้นใหม่เป็นครั้งที่สอง หลังจากของเดิมถูกผู้สวมไอ้โม่งปิดหน้าพังทลายลงไปในยามวิกาล ซึ่งรายชื่อส่วนใหญ่มีชื่อถูกฟ้องในคดีแรกด้วย และคดีที่สามกำลังจะตามมาจากการก่อกำแพงขึ้นใหม่เป็นครั้งที่สาม หลังจากกำแพงที่ถูกสร้างในครั้งที่สองถูกพังทลายลงไปโดย นายก อบต.เขาหลวง สั่งการ อ้างอิง1 พลเอกกิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการและกรรมการบริหารบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 และลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2552 ในส่วนของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2551 และลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 อ้างอิง 2 แอสเซ็ท หรือบริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด จดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ต่อมาในวันที่ 21 มกราคม 2551 แจ้งเพิ่มทุนเป็น 200 ล้านบาท โดยทะเบียนผู้ถือหุ้นบริษัทแจ้งว่านายธรรมนูญเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 19,999,940 หุ้น ๆ ละ 10 บาท เป็นจำนวนเงิน 199,999,400 บาท คิดเป็นร้อยละ 99.99 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2551 ทะเบียนผู้ถือหุ้นบริษัทแจ้งว่านายธรรมนูญได้ลดสัดส่วนหุ้นเหลือไว้เพียง 10,199,600 หุ้น เป็นจำนวนเงิน 101,996,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ซึ่งก็คือจำนวน ‘หุ้นพิพาท’ ระหว่างนางวิมลรัตน์กับ พล.ต.ท.สมยศ นั่นเอง เอกสารอ้างอิง (ทุกรายการสืบค้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2556) เปิดคำพิพากษาศาลสั่ง พล.ต.อ.สมยศ-พวก คืนหุ้น “เมียชัจจ์” 101 ล้าน. ข้อมูลออนไลน์ http://www.isranews.org/investigate/item/18755-คำพิพากษา.html ผ่าปมขัดแย้งคดีโอนหุ้น 101 ล้าน “ชัจจ์-สุริยา-สมยศ” เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด?. ข้อมูลออนไลน์ http://www.isranews.org/investigate/item/18016-ชัจจ์-สุริยา-สมยศ.html เปิดรายชื่อผู้ถือหุ้น “แอสเซ็ท มิลเลี่ยน” ชนวนแตกหัก “ชัจจ์-สมยศ-สุริยา”. ข้อมูลออนไลน์ http://www.isranews.org/investigate/item/18258-three-man.html “สมยศ” ซัด “ชัจจ์” ส่อซุกเมีย-เงินปล่อยกู้ 232 ล้าน ชงประธาน ป.ป.ช. สอบแจ้งเท็จ?. ข้อมูลออนไลน์ http://www.isranews.org/investigate/item/18059-“สมยศ”ซัด“ชัจจ์”ส่อซุกเมีย-เงินปล่อยกู้-232-ล้าน-ชงประธาน-ป-ป-ช-สอบแจ้งเท็จ.html แลกคนละหมัด! เมีย “ชัจจ์” เล่านาที “สมยศ” พาตำรวจ 30 คน บุกยึด “เวิลด์แก๊ส”. ข้อมูลออนไลน์ http://www.isranews.org/investigate/item/18073-แลกคนละหมัด-เล่านาที.html กลุ่ม พล.ต.อ.สมยศ ฟ้องอาญา “เมียชัจจ์-พวก” 2 คดีรวด ซัดปลอมใบโอนหุ้น 101 ล้าน. ข้อมูลออนไลน์ http://www.isranews.org/investigate/investigative-01/item/18287-สมยศฟ้องอาญา-เมียชัจจ์.html InfoQuest News – กลุ่มสมยศยึดปิกนิก. ข้อมูลออนไลน์ http://itrading.bualuang.co.th/th/list-tb.php?width=821&height=500&menuid=23&content=newtoday&contentid =1840236 “เวิลด์แก๊ส” ฮุบ “ปิคนิค” กรุงไทย-ยูโอบีไฟเขียวแผนฟื้นฟูกิจการ. ข้อมูลออนไลน์ http://www.thairath.co.th/content/eco/33551405 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม