การศึกษาลำดับบ๊วย : ครูช่วยได้

902 29 Oct 2013

โดย พ่อลูกจันทน์ อันสืบเนื่องมาจากผลรายงานการจัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขันโลก ประจำปี 2555-2556 จากเวทีเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) ในด้านคุณภาพการศึกษา ปรากฏว่าคุณภาพการศึกษาไทยอยู่ในกลุ่มสุดท้ายอันดับที่ 8 เป็นกลุ่มที่มีคะแนนต่ำที่สุดในกลุ่มอาเซียน สำหรับอันดับที่จัดเรียงจากสูงไปหาต่ำมีดังนี้คือ 1) สิงคโปร์ 2) มาเลเซีย 3) บรูไน 4) ฟิลิปปินส์ 5) อินโดนีเซีย 6) กัมพูชา 7)เวียดนาม และ 8)ไทย ส่วนลาวกับพม่าไม่ได้รับการประเมิน จากรายงาน ดังกล่าวได้สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งวงการศึกษาตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้บริหารระดับสูงขงกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งต่างก็งุนงงสงสัยว่า จริงหรือ? ทำไม? เพราะอะไร?...และสุดท้ายก็ลงมาที่ แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร? หลาย ฝ่ายทั้งผู้ที่รับผิดชอบ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษา ต่างออกมาให้ความเห็นกันมากมาย บ้างก็ว่าผลการประเมินไม่รอบด้าน บ้างก็ว่าเพราะหลักสูตร บ้างก็ว่าเพราะครู บ้างก็ว่าเพราะการเมืองเลี่ยนแปลงบ่อย นโยบายเปลี่ยนบ่อย สารพัดที่จะหาสาเหตุ อีกทั้งหลายท่านยังแคลงใจถึงที่มาที่ไปของอันดับรั้งท้ายของอาเซียนนี้ว่า น่าเชื่อถือหรือไม่ อย่างไร แม้แต่ระดับรัฐมนตรี ศธ. แต่ก็ไม่ใช่องค์กรเดียวที่ระบุถึงความตกต่ำของคุณภาพการศึกษาไทย เพราะ สถาบันวิจัยของสำนักพิมพ์ตำรา Pearson ก็ เคยจัดอันดับการศึกษาของไทยอยู่ในกลุ่มสุดท้ายในอาเซียนเช่นกัน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีคะแนนต่ำที่สุด โดยในระดับอุดมศึกษา ถูกจัดอยู่อันดับ 8 ตามหลังกัมพูชาและฟิลิปปินส์ ในที่นี้ผมจะมองคุณภาพการศึกษาที่เป็นรากฐานที่สุดคือระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากรายงานฉบับเดียวกันของ WEF พบว่าในระดับประถมศึกษาไทยถูกจัดอยู่อันดับที่ 7 ในอาเซียน และอัตราเข้าเรียนประถมของไทยอยู่อันดับที่ 9 ในอาเซียน จากขอมูลดังกล่าวทำให้ผมหันไปดูข้อมูลอีกด้านที่มีส่วนสัมพันธ์กันกับข้อมูล ข้างต้นก็คือ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย เปิดเผยการจัดอันดับปัญหาสตรีตั้งครรภ์ในภาวะไม่พร้อม ว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 1 ของเอเชีย อันดับที่ 2 ของโลก และมีแนวโน้มว่าจะตัวเลขอายุจะน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากพบอายุต่ำสุดคือ 12 ปี ซึงเป็นเด็กที่อยู่ในวัยเรียนระดับประถมศึกษา ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจหากระดับคุณภาพการศึกษาและการตั้งครรภ์ในภาวะไม่พร้อมในวัยใสจะมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะนี่คือสาหตุที่สำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลให้เด็ก “ออกกลางคัน” / “ออกกลางครรภ์”เป็นจำนวนมาก อันมีส่วนกระทบต่อคุณภาพการศึกษาของประชาชนคนไทยโดยรวม ส่วน หนึ่งต้องยอมรับความเป็นจริงว่าสภาพแวดล้อมทางสังคมของเด็กในปัจจุบันมีสิ่ง ยั่วยุที่ขาดการควบคุมดูแลมากเกินไป อีกทั้งสภาพครอบครัวส่วนใหญ่มักมีปัญหาและแตกแยก เด็กต้องอยู่กับปู่ย่าตายายที่วิ่งตามยุคของเด็กไม่ทันอยู่แล้ว อีกทั้งระบบการศึกษาก็ไม่เอื้อให้เกิดทักษะการเรียนรู้ของเด็กได้เพียงพอ และที่สำคัญคือการขาดการเอาใจใส่ดูแลเด็กของสถานศึกษาอย่างเหมาะสม ครูไม่ได้มีเวลาทีจะอยู่ใกล้ชิดนักเรียนเหมือนเช่นในอดีตที่จะคอยตักเตือนดูแล เพราะ ภาระงานของครูที่มากเกินไป รวมทั้งการนำครูออกนอกโรงเรียนเพื่อไปอบรมพัฒนาหรืออื่น ๆมากเกินไป แทนที่ครูจะได้มีเวลาอยู่กับนักเรียนไอย่างเต็มที่ จาก การได้มีโอกาสพูดคุยกับครู ผู้บริหารโรงเรียน และการสังเกต พอประเมินได้ว่าในภาคเรียนหนึ่ง ๆ ครูน่าจะได้เข้าจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้นักเรียนจริง ๆ ไม่น่าจะเกิน ๖๐ เปอร์เซ็นต์ของเวลาเรียนทั้งหมด แล้วอย่างนี้คุณภาพการศึกษาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ใน ขณะที่ผู้รับผิดชอบในระดับนโยบาย หรือนักวิชาการด้านการศึกษา มักมองสาเหตุของคุณภาพการศึกษาและวิธีแก้ที่ค่อนข้างคล้ายกัน เป็นต้นว่า เป็นเพราะหลักสูตรไม่เหมาะสม จึงจะต้องรื้อหลักสูตรใหม่ (ทั้ง ๆ ที่หลักสูตรปัจจุบันก็เพิ่งใช้และยังไม่ได้มีการประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรม) เป็น เพราะคุณภาพผู้สอน จึงต้องมีการปฏิรูปวิธีการเรียนการสอน และปฏิรูปครู (ทั้ง ๆ ที่มีการอบรม พัฒนากันจนแทบเปลี่ยนที่ทำงานครูจากโรงเรียนเป็นโรงแรมหรือเขตพื้นที่การ ศึกษา) เป็นเพราะโรงเรียนขนาด เล็กมีมากเกินไป จึงต้องยุบ (ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยดูแลเรื่องคุณภาพและความเท่าเทียมทางการศึกษา) เป็นต้น และสุดท้ายนำไปสู่แนวคิดที่ดูยิ่งใหญ่ คือ “ปฏิรูปการศึกษา” ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว ๑ ทศวรรษ แต่ไม่เห็นมรรคผลให้ชื่นใจ มาสู่การขับเคลื่อนในทศวาษที่ 2 อีก ขณะนี้ก็ดูท่าว่ายังไปไม่ถึงไหน และหากสถานการณ์เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ก็คงจะมีรอบ ๓ รอบ ๔ และรอบต่อ ๆ ไป หากยังคิดปฏิรูปการศึกษาโดยใช้แต่แนวคิดทฤษฎีข้างบนของนักวิชาการห้องแอร์ ขาดการลงมาทำงานเชิงลึกในระดับภาคสนามของผู้ปฏิบัติ(ครูผู้สอน)อย่างเป็นรูปธรรมก็ยากยิ่งที่จะแก้ปัญหาได้แม้จะปฏิรูปสักกี่รอบก็ตาม การ ศึกษาไทย(ในระดับพื้นฐาน)เราปล่อยให้นักวิชาการส่วนกลาง นักวิชาการห้องแอร์ เข้ามาวุ่นวาย วางกรอบโน่น กำหนดนี่ มีตัวชี้วัด ตัวบ่งชี้ที่ออกแบบมาบนหน้ากระดาษจำนวนมหาศาลแล้วให้ครูมาดำเนินการจนเกิด เป็นงานเอกสารที่กองทับท่วมหัวครู   เราให้โอกาสบรรดานักวิชาการเหล่านี้มามากพอแล้วกระมัง แต่ระดับคุณภาพการศึกษาก็ไม่กระเตื้องขึ้น มีแต่ถอยหลังเข้าคลองลงทุกที หากถามว่าใครรู้ดีที่สุดว่าคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำเพราะอะไร ตอบได้เลยว่า”ครูผู้สอน” ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติการโดยตรงเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุด ทุกคนรู้ดีว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อคุณภาพนักเรียน และทำอย่างไรถึงให้นักเรียนมีคุณภาพเหมาะสมกับระดับ/วัยของเขา แต่ ในฐานะผู้ปฏิบัติการที่รู้เห็นปัญหา พร้อมทั้งมีวิธีแก้ไขที่มีคุณภาพ ไม่ใช่แบบมีผลสำรวจทีก็เต้นทีแบบปัจจุบัน กลับไม่ได้มีโอกาสสะท้อน หรือนำเสนอวิธีคิด วิธีการในการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม ลอง หันกลับไปที่ต้นทางสู่ผู้ปฏิบัติการที่อยู่กับสนาม และรู้จริง โดยการให้โอกาสครูผู้ปฏิบัติการเป็นผู้ออกแบบการจัดการศึกษาตามความรู้ ประสบการณ์อย่างเต็มที่ เต็มเวลา ถามว่าทำอย่างไร วิธีการก็ง่ายมาก คืออย่าขโมยเวลาครูไปจากเด็ก ให้ ครูได้ทำหน้าที่ของเขาในโรงเรียนให้เต็มที่ อย่านำเขาไปอยู่แต่โรงแรม(อบรม สัมมนา ประชุมเชิงปฏิบัติการ ฯลฯ) เพราะตอนนี้ความรู้ที่ได้จากการอบรมของครูมันแน่นจุกอกจนแทบทะลักออกมาแล้ว จากการออกแบบของนักวิชาการผู้ทรงภูมิรู้ ผม ท้าทายให้ลองทำดู โดยการหยุดคิดเรื่องใหม่ ๆ (ที่ไม่ทันได้ปฏิบัติก็เปลี่ยนเสียอีกแล้ว) เสียที แล้วให้ครูเขาได้ทำหน้าที่ของเขาให้เต็มที่ ฝ่ายนโยบายเพียงแต่ลงไปนิเทศ กำกับ ติดตามตามสมควร แต่ไม่ใช่สั่งให้ครูมารับการนิเทศตามเขตพื้นที่หรือโรงแรมอย่างที่เห็นและ เป็นอยู่) ขอเวลาสัก ๔ ปี แล้วเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่เชื่อผมก็ไม่เป็นไร แต่ลองไปถามครูที่ปฏิบัติการจริงดู แล้วจะรู้คำตอบ หาก ยังปล่อยให้ครูที่มีแทบไม่ครบชั้นอยู่แล้วในแต่ละโรงเรียน (ไม่นับโรงเรียนขนาดใหญ่) ออกไปรับการพัฒนาศักยภาพ(ที่ไม่มีโอกาส/เวลา ได้นำมาใช้) เราก็คงเห็นภาพครูได้รับการพัฒนา แต่เด็กนักเรียนกลับแย่ลง และถ้าหาก WEF หรือองค์กรทางการศึกษาอื่นใดมาประเมินกันทุกปี   เราก็อาจจะได้แต่ปลอบใจตัวเองว่า “....ตอนนี้ระดับการศึกษาของไทยอยู่ในลำดับที่ ๘ ของอาเซียน ยังมีเวลาอีกตั้ง ๒ ปี กว่าจะถึงลำดับที่ ๑๐” หรือจะเอาอย่างนั้น.

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม