937 10 Oct 2013
ชื่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบ: เหมืองทองเลยเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ 29 กันยายน 2556
ก่อนหน้าที่ตำรวจพร้อมกองกำลังผสมที่เป็นพนักงานบริษัท จำนวน 700 นาย ทำการปิดกั้นประชาชนผู้เห็นต่างในนาม ‘กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด’ ไม่ให้เข้าร่วมเวทีพับลิก สโคปปิ้ง เพื่อกำหนดขอบเขตในการจัดทำร่างรายงาน EHIA เพื่อประกอบการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ ทองแดงและเงิน แปลงที่ 76/2539 ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด (“ทุ่งคำ”) เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 โดยกองกำลังตำรวจผสมทหาร อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) และพนักงานบริษัท จำนวนมากกว่า 1,000 นาย ทำการปิดกั้นประชาชนผู้เห็นต่างในนามกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดไม่ให้เข้าร่วมเวทีพับลิก สโคปปิ้ง เพื่อกำหนดขอบเขตในการจัดทำร่างรายงาน EHIA เพื่อประกอบการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำและเงิน แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ของทุ่งคำเช่นเดียวกัน สิ่งที่กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดเห็นต่างและมีเหตุผลในการคัดค้านการขอประทานบัตร แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) พื้นที่ประมาณ 291 ไร่ โดยได้ทำจดหมายถึงหน่วยงานราชการทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นก่อนวันจัดเวทีดังกล่าว และเตรียมนำข้อมูลไปแสดงต่อที่ประชุมพับลิก สโคปปิง ในวันที่ 25 ธันวาคม 2555 ด้วย ก็คือว่า ณ บริเวณที่เป็นภูเหล็ก ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับแปลงประทานบัตรบนภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน ที่กำลังดำเนินการทำเหมืองและประกอบโลหกรรม (แต่งแร่และถลุงแร่) แร่ทองคำและทองแดง อยู่ในเวลานี้ มีลักษณะภูมินิเวศเป็นภูเขาลูกโดดชายขอบเทือกเขาเพชรบูรณ์ฝั่งตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 500 เมตร ถือว่าเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหรือป่าน้ำซับซึม ตามมาตรา 6 จัตวา(อ้างอิง 1 ) แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 (“กฎหมายแร่”) ดังนั้น การดำเนินการตามคำขอประทานบัตรที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) สมควรถูกยกเลิกหรือยุติลง เนื่องจากจะต้องคำนึงถึงการสงวนหวงห้ามเอาไว้ก่อนเป็นอันดับแรก มิใช่นำพื้นที่ที่เป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมดังกล่าวมาขอประทานบัตรเพื่อออกประทานบัตรได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวนหวงห้าม หรือใช้ประโยชน์อื่นใดในที่ดินในพื้นที่นั้น ประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 ว่าให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการขยายพื้นที่ใหม่หรือการขอประทานบัตรของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด แปลงที่ 104/2538 และแปลงอื่น ๆ ไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุปของ ‘สาเหตุการเกิดสารปนเปื้อน’ และให้จัดทำผลการประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ทั้งนี้ เนื่องจากข้อเท็จจริงในการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพน้ำบริเวณโดยรอบเหมืองดังกล่าวหลายครั้ง ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2547 – 2549 พบว่ามีสารหนู แคดเมียมและแมงกานีส เกินเกณฑ์มาตรฐาน และผลการตรวจวิเคราะห์ครั้งล่าสุดในปี พ.ศ.2553 พบว่ามีธาตุเหล็ก ตะกั่ว แคดเมียม ในบางจุดเกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่สารไซยาไนด์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยยังไม่มีข้อสรุปของแหล่งที่มาและสาเหตุของสารปนเปื้อนที่ชัดเจน ประกอบกับราษฎรในพื้นที่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะระงับการขอขยายพื้นที่ใหม่หรือการขอประทานบัตรของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด แปลงที่ 104/2538 และแปลงอื่น ๆ ไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุปในเรื่องต่าง ๆ ที่ชัดเจน แผนที่แสดงลำห้วย ลำราง ป่าน้ำซับซึม ในพื้นที่คำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขอขอบคุณแผนที่ฉบับนี้ โดย วัชราภรณ์ วัฒนขำ และประชาชนจากหลายหมู่บ้าน ในเขต ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ที่ร่วมกันจัดทำขึ้นมา. มีนาคม 2555 นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าวอีกว่า ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่ตรวจสอบสารปนเปื้อน ดำเนินการตรวจสอบสารปรอทด้วย เนื่องจากมีการพบว่ามีปริมาณสารปรอทสูงมากเมื่อเทียบกับหมู่บ้านอื่นในสภาพปกติ แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดทั้งส่วนราชการและผู้ประกอบการกระตือรือร้นที่จะหาข้อสรุปของแหล่งที่มาและสาเหตุการเกิดสารปนเปื้อนตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับมีการเล่นแร่แปรธาตุขึ้นมาแทน โดยเอาความทุกข์ร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่เผชิญกับปัญหาและผลกระทบมาหาผลประโยชน์ ด้วยการออกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 เพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้กับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถดำเนินการขอประทานบัตร แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) ในเวลานั้นได้ ด้วยการรายงานผลการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพน้ำผิวดิน น้ำบาดาลและดินในบริเวณทำเหมืองทองคำที่ภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน และบริเวณใกล้เคียงโดยรอบ ให้คณะรัฐมนตรีทราบว่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อที่จะเปิดทางให้ผู้ประกอบการดำเนินการขอประทานบัตร แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) ได้ ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ไม่ตรงประเด็น ไม่เพียงเท่านี้ ก่อนหน้านี้ มีกระบวนการ ‘ผีโม่แป้ง’ เพื่อที่จะทำให้พื้นที่บริเวณที่ยื่นคำขอประทานบัตร แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) ไม่เป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำลำธารหรือป่าน้ำซับซึม ตามมาตรา 6 จัตวา ของกฎหมายแร่ ด้วยการจัดทำรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตร โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญ ดังนี้ 1. รายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตร แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) พบว่ามีข้อความที่เป็นสาระสำคัญอันเป็นเท็จ กล่าวคือรายละเอียดที่ระบุไว้ในข้อ 2. – 5. ของรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรฯ ดังกล่าว ระบุว่าไม่พบทางน้ำสาธารณะ ในพื้นที่คำขอประทานบัตรแปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) และพื้นที่ในรัศมีระยะ 50 เมตร ซึ่งสวนทางกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ เนื่องจากว่า ในพื้นที่คำขอประทานบัตรแปลงดังกล่าว และพื้นที่ในรัศมีระยะ 50 เมตร พบทางน้ำสาธารณะหลายเส้นทางที่ประชาชนใช้สอยประโยชน์ร่วมกัน โดยทางน้ำสาธารณะมีลักษณะเป็นน้ำซับน้ำซึม ลำราง ลำห้วยสำคัญที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของประชาชนหลายชุมชนหมู่บ้าน โดยลำห้วยลำรางเหล่านี้ไหลลงห้วยเหล็กและลำน้ำฮวย ก่อนจะไหลลงแม่น้ำเลยต่อไป (ดูแผนที่แสดงลำห้วย ลำราง ป่าน้ำซับซึม ในพื้นที่คำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในบทความนี้ และเอกสารแนบ รายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตร ท้ายบทความนี้) 2. เนื่องจากรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรดังกล่าวเป็นเอกสารตั้งต้นของกระบวนการและขั้นตอนในการอนุญาตให้ประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ รวมทั้งเกี่ยวข้องโดยตรงต่อกระบวนการและขั้นตอนในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ดังนั้น เมื่อเอกสารสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการและขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดมีข้อความเป็นเท็จหรือผิดไปจากข้อเท็จจริง จึงทำให้กระบวนการและขั้นตอนเกี่ยวกับการอนุญาตให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ ตลอดจนกระบวนการและขั้นตอนของการจัดทำรายงาน EHIA เท็จหรือผิดตามไปด้วย แต่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ผู้ประกอบการและบริษัทที่ปรึกษา กลับละเลยเพิกเฉยหรือไม่ใส่ใจในเรื่องดังกล่าว โดยยังคงดื้อรั้นจัดเวทีพับลิก สโคปปิง เพื่อจัดทำรายงาน EHIA ประกอบการขอประทานบัตรแปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) ต่อไป แทนที่จะแก้ไขรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรให้ถูกต้องเสียก่อน 3. หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการและบริษัทที่ปรึกษา ที่ร่วมมือในการจัดเวทีพับลิก สโคปปิ้ง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 ดังกล่าว ไม่สามารถอ้างได้ว่าการจัดทำเวทีดังกล่าวนั้นเป็นคนละขั้นตอนกับการขออนุญาตประทานบัตร เพราะว่าในระเบียบของการอนุญาตประทานบัตรนั้นต้องมีการจัดทำรายงาน EHIA ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน เพื่อนำมาใช้เป็นเอกสาร/หลักฐานสำคัญในการที่จะได้รับอนุมัติ/อนุญาตประทานบัตร ซึ่งการจัดเวทีพับลิก สโคปปิง ดังกล่าวนั้น เป็นขั้นตอนแรกสุดของการจัดทำรายงาน EHIA ส่วนการจัดทำรายงาน EHIA ก็อยู่ในขั้นตอนที่ 2 ซึ่งเป็นขั้นตอนหลังจากที่ต้องจัดทำรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรซึ่งอยู่ในขั้นตอนที่ 1 ของทั้งหมด 8 ขั้นตอน ของขั้นตอนดำเนินการอนุญาตประทานบัตร กรณีโครงการที่อาจเกิดผลกระทบรุนแรง ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ (ดูภาพแผนผัง-ขั้นตอนดำเนินการอนุญาตประทานบัตร กรณีโครงการที่อาจเกิดผลกระทบรุนแรง ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ในบทความนี้) ดังนั้น ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการและบริษัทที่ปรึกษา หรือคณะผู้ร่วมจัดทำเวทีพับลิก สโคปปิง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 จะอ้างไม่ได้ว่าการจัดทำเวทีพับลิก สโคปปิง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 เพื่อจัดทำรายงาน EHIA กับขั้นตอนดำเนินการอนุญาตประทานบัตรไม่เกี่ยวข้องกัน อธิบายภาพแผนผัง ภาพแผนผังนี้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อขอประทานบัตรตามกฎหมายแร่ ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม จัดทำขึ้นมาเพื่อวางแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายแร่แก่เจ้าพนักงานและผู้ลงทุนในการยื่นขอสิทธิทำเหมืองแร่ เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เข้าถึงได้ที่ http://www.dpim.go.th/pr/article?catid=42&articleid+2377 ในภาพแผนผังนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า การรังวัดปักหมุดเขตเหมืองแร่ และการจัดทำรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตร (ในภาพแผนผังนี้ เขียนย่อว่า “รังวัด+ไต่สวนฯ”) อยู่ในขั้นตอนที่ 1. ส่วนการจัดทำเวที Public scoping เพื่อจัดทำรายงาน EHIA อยู่ในขั้นตอนที่ 2. ของทั้งหมด 8 ขั้นตอน ถึงแม้ในรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตร จะมีใบแทรกแนบท้ายใบไต่สวนฯ มาด้วย โดยทำการไต่สวนเพิ่มเติมว่าพื้นที่ที่ขอประทานบัตร แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) ประมาณ 291 ไร่ อยู่ในพื้นลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ และ 1 บี ก็ตาม ผลของมันก็ไม่สามารถหักล้างการไต่สวนเท็จที่ปรากฏอยู่ในข้อ 2. – 5. ในรายงานการไต่สวนฯ ตามที่กล่าวมาแล้วได้ เนื่องจากว่าแหล่งต้นน้ำลำธารหรือป่าน้ำซับซึม ตามมาตรา 6 จัตวา ของกฎหมายแร่ มีความหมายกว้างและแสดงให้เห็นถึงความหมายของระบบน้ำผิวดินและใต้ดินที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศป่าไม้มากกว่าคำว่าชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ที่มีความหมายในเรื่อง ‘การจัดการพื้นที่ลาดชัน’ เป็นหลัก ด้วยสมมติฐานอันคับแคบว่าพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงจะเป็นที่อยู่ของต้นน้ำเท่านั้น ซึ่งขัดกับหลักธรรมชาติที่กำเนิดต้นน้ำมาจากภูมินิเวศอันหลากหลาย เช่น ภาคเหนือของไทยต้นน้ำอาจจะมาจากภูเขาสูง แต่ในภาคอีสานของไทยต้นน้ำส่วนใหญ่มักเกิดจากบริเวณที่ราบลอนคลื่น หรือที่ราบสลับโคกเนิน ซึ่งเป็นภูเขาลูกเตี้ย ที่มีความลาดชันต่ำกว่าภูเขาสูงบริเวณภาคเหนือของไทย หรือบางท้องที่ในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทย ไม่จำเป็นต้องเกิดภูเขาสูง ในที่ราบลุ่มก็เป็นบ่อเกิดของต้นน้ำ โดยมีลักษณะตาน้ำ น้ำผุด น้ำออกรู น้ำซับซึม ฯลฯ ได้เช่นเดียวกัน นี่คือกระบวนการผีโม่แป้ง ด้วยการจัดทำรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำและเงิน แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) ให้เป็นเท็จ เพื่อทำลายความเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหรือป่าน้ำซับซึมให้ราบคาบ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการดำเนินการขอประทานบัตรได้ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงทีเดียวที่รายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ เงินและทองแดง แปลงที่ 76/2539 ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย จะมีผีไปรับจ้างโม่แป้งด้วยเช่นเดียวกัน ภาพที่หนึ่ง ภาพถ่ายแสดงลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของคำขอประทานบัตรที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) คัดลอกจากเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) โครงการเหมืองแร่ทองคำ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด คำขอประทานบัตร 104/2538 หน้า 6. 25 ธันวาคม 2555 บรรยายภาพที่หนึ่ง นอกจากเป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ตามมาตรา 6 จัตวา ของกฎหมายแร่แล้ว คำขอประทานบัตร แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) ยังเป็นพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ และ 1 บี ตามที่ระบุไว้ในรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรแปลงดังกล่าวอีกด้วย ภาพที่สอง ภาพถ่ายแสดงลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของพื้นที่คำขอประทานบัตรที่ 76/2539 คัดลอกจากเอกสารรายละเอียดโครงการเหมืองแร่ทองคำ ทองแดง และเงิน คำขอประทานบัตรที่ 76/2539 และขั้นตอนการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) หน้า 5. เอกสารประกอบเวทีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.1 หรือพับลิก สโคปปิง) โครงการเหมืองแร่ทองคำ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด คำขอประทานบัตร 76/2539. 8 กันยายน 2556 บรรยายภาพที่สอง บริเวณพื้นที่คำขอประทานบัตรที่ 76/2539 และ 77/2539 มีลักษณะเป็นเนินเขาลูกเตี้ยชายขอบเทือกเขาเพชรบูรณ์ฝั่งตะวันออก ที่แสดงถึงความเป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ตามมาตรา 6 จัตวา ของกฎหมายแร่ อย่างชัดเจน เพราะเป็นพื้นที่รับน้ำ มีลำห้วย ลำราง ทางน้ำ ไหลผ่าน นอกจากนั้น พื้นที่นี้ยังมีความสำคัญต่อระบบน้ำใต้ดิน เพราะเป็น Recharge Area หรือพื้นที่รับน้ำเพื่อเติมน้ำลงไปใต้ดิน เพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มต่ำต่อไป ........................................ อ้างอิง 1 มาตรา 6 จัตวา เพื่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดพื้นที่ใดที่มิใช่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ที่ได้ทำการสำรวจแล้วปรากฏว่ามีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อออกประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรได้เป็นอับดับแรกก่อนการสงวนหวงห้าม หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นในที่ดินในพื้นที่นั้น แต่ทั้งนี้ให้คำนึงถึงผลกระทบกระเทือนต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม