วิกฤตโรงเรียนขนาดเล็ก

1828 08 Oct 2013

ท่าม กลางการเปลี่ยนแปลงที่ไปสู่ความทันสมัย และในยุคของโลกาภิวัตน์ ส่งผลให้กระทรวงศึกษาต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และความเหลื่อมล้ำของโรงเรียนในเมือง และโรงเรียนในชนบท นอกจากนี้การคมนาคมที่สะดวกขึ้น พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีรายได้มีค่านิยมที่จะส่งบุตรหลานไปเรียนในเมือง ด้วยเหตุผลที่ว่า มีครู สถานที่และอุปกรณ์ที่ครบครัน ทำให้ปริมาณนักเรียนในชุมชนลดลง รวมถึงอัตราการเกิดที่ลดลง ซึ่งเป็นผลของการคุมกำเนิดทางการแพทย์ และการเติบโตแบบครอบครัวเดี่ยวในภาวะเศรษฐกิจที่เร่งรัด และกำหนดความสัมพันธ์แบบตัวใครตัวมัน ซึ่งส่งผลให้โรงเรียนมีจำนวนนักเรียนลดลง จนนำมาสู่ประเด็นความขัดแย้งทางสังคม ว่าควรที่จะมีโรงเรียนขนาดเล็กหรือไม่ จากการศึกษาเรื่องปัญหาการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ของสังคมไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการศึกษา เพื่อศึกษาความขัดแย้งภายใต้นโยบายยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก และเพื่อศึกษาแนวทางการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดย้งภายใต้นโยบายยุบควบรวม โรงเรียนขนาดเล็กที่ผ่านมา โดยศึกษาข้อมูลจากเอกสาร และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถสรุปผลการศึกษาออกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นแรกคือสิทธิทางการศึกษาของเด็กนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก ประเทศไทยได้ลงปฎิญญาสากล ซึ่งมีการรับรองสิทธิทางการศึกษาไว้อย่างชัดเจนในข้อที่ 26 ซึ่งกำหนดไว้ว่า “บุคคลมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะเป็นสิ่งที่ให้เปล่า โดยไม่คิดมูลค่า อย่างน้อยที่สุดในขั้นประถมศึกษาและขั้นพื้นฐาน” จาก ปฏิญญาดังกล่าวจะเห็นว่า เด็กๆทุกคนมีสิทธิในการได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงว่าจะเรียนที่ไหน ไม่ว่าจะโรงเรียนเล็กหรือใหญ่ และรัฐเองก็จะต้องทำหน้าที่ในการจัดสรรหรืออำนวยความสะดวกบริการสาธารณะนี้ ให้กับเด็กนักเรียนหรือชุมชน และด้วยแนวคิดของการจัดทำประโยชน์สาธารณะนั้น นโยบายหรือกิจกรรมที่รัฐเลือกกระทำจะต้องมีผลลัพธ์ในการจัดการแก้ไขปัญหาที่ สำคัญของสังคม ไม่ใช่เป็นการเพิ่มปัญหาหรือความขัดแย้งให้กับสังคม และจะต้องมุ่งเน้นการกระจายความเป็นธรรม (Redistributive Policies) ลด ช่องว่างหรือความเหลื่อมล้ำของสังคม โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณระหว่างโรงเรียนขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ และโรงเรียนในเมือง กับโรงเรียนในชนบท หรือในถิ่นทุรกันดารให้ได้รับความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งก่อนที่จะรัฐจะดำเนินนโยบายหรือโครงการใดๆก็แล้วแต่ซึ่งจะต้องกระทบ สิทธิของพลเมือง จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องตระหนักถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการนำ นโยบายไปปฏิบัติ และจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อกลุ่มเป้าหมาย และผู้ตัดสินใจนโยบายอย่างไรบ้าง และชุมชนหรือพลเมืองที่ได้รับผลกระทบควรที่จะมีบทบาทในการช่วยรัฐตัดสินใจ หรือกระบวนการนำนโยบายไปสู่การปฎิบัติมากน้อยเพียงใด และประเด็นสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด คือการจัดการการศึกษาที่เหมาะสมกับโรงเรียนขนาดเล็ก เมื่อ โรงเรียนมีขนาดเล็กหรือจำนวนนักเรียนลดลง สิ่งที่ตามมาคือรัฐก็จัดสรรงบประมาณลดน้อยลงตามไปด้วย รวมทั้งลดจำนวนครูอุปกรณ์ คุรุภัณฑ์ต่างๆและสิ่งก่อสร้าง และด้วยการบริหารภายใต้งบที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กถูกมองว่า ไม่มีความพร้อมในการจัดการเรียนการศึกษา และไม่มีคุณภาพ ซึ่งวัดจากการประเมินขปงสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา องค์การมหาชน (สมศ.) และมองว่าเป็นเรื่องของความไม่คุ้มค่าคุ้มทุน จากแนวคิดดังกล่าวจึงนำไปสู่แผนและนโยบายยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก (หรือโรงเรียนที่มีนร.ต่ำกว่า 120 คน) โดยมุ่งหวังว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยและพัฒนาคุณภาพ และการจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แล้ว ถ้าวันนี้ชุมชนคัดค้านและไม่ยอมให้โรงเรียนถูกยุบ สิ่งสำคัญที่จะต้องคิดร่วมกันคือ ถ้าหากไม่มีการยุบโรงเรียนแล้วมีทางออกที่ดีที่เหมาะสมกว่านี้หรือ ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กหลายโรงก็ได้พยายามจัดการกับระบบที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็น การสอนแบบรวมชั้น, การสอนแบบคละชั้น, หรือ เลือกใช้การศึกษาทางเลือกอื่น เช่น การสอนแบบบูรณาการ การสอนแบบผสมผสาน ที่นำเอาชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในหลักสูตรการเรียนการสอนของเด็กนักเรียน และการสร้างเครือข่าย ซึ่งรูปแบบการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กดังกล่าวสามารถสร้างความเข้มแข็ง และยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กให้สูงขึ้นได้โดยเฉพาะด้านการ บริหารจัดการ การจัดการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยกำหนดแนวทางการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กไว้ คือ บริหารจัดการ ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประสิทธิภาพและการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียน เป็นสำคัญ ซึ่งหากผู้เรียนได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพแล้ว ก็จะเกิดทักษะในการแสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายด้วยตนเอง และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปใช้ในชีวิตจริงได้ ซึ่งการให้บริการประโยชน์สาธารณะประเภทนี้รัฐอาจจะต้องมองข้ามถึงเรื่องของ ความคุ้มค่าคุ้มทุน เพราะว่านี่ไม่ใช่ธุรกิจ ที่จะต้องทำกำไร แต่เป็นการบ่มเพาะทรัพยากรมนุษย์อันมีค่าของชาติและประเทศ และไม่ควรมุ่งเน้นแต่วิชาการ การท่องจำ การสอบ และการประเมิน ควรที่จะมุ่งเน้นบ่มเพาะการเป็นพลเมืองที่ดี สามารถดูแลตนเองได้ ไม่เป็นภาระให้กับสังคม หรือสร้างปัญหาให้กับสังคม เพราะคนเก่งเราอาจจะสร้างได้ไม่นาน แต่ที่สำคัญคนดีต่างหากที่ต้องบ่มเพาะควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศ

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม