1097 23 Sep 2013
อุสตาซอับดชชะกูร บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) กรรมการสภาศาสนิกสัมพันธ์จังหวัดสงขลา รายงาน คณะกรรมการศาสนิกสัมพันธ์จังหวัดสงขลาร่วมสำนักวัฒนธรรมจังหวัดสงขลาจัด ค่ายอบรมแกนนำศาสนิกสัมพันธ์ 3 ศาสนา พุทธ อิสลาม และคริสต์ จำนวน 30 คนเมื่อวันที่ 14-15 กันยายน 2556 ณ หาดแก้วรีสอร์ท จังหวัดสงขลา ซึ่งวันสุดท้าย แกนนำแต่ละศาสนา ได้สรุปสาระสำคัญดังนี้ 1. ทุกศาสนามีหลักการแต่แตกต่างด้านรายละเอียด เช่น1.1 ศาสนาพุทธ โครงสร้างของพุทธศาสนาสามารถสรุปได้ ๒ ประเภท คือ ๑. หลักสัจธรรม ๒. หลักจริยธรรม ตามหลักทางพระพุทธศาสนาได้แสดงกฎธรรมชาติ หรือนิยามไว้ ๕ ประการ คือ ๑. อุตุนิยาม เป็นกฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ฝ่ายวัตถุ โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ เช่น เรื่องลมฟ้าอากาศ ฤดูกาล ฝนตกฟ้าร้อง คนไอ หรือจาม สิ่งทั้งหลายผุพังเน่าเปื่อย เป็นต้น เป็นการมุ่งเอาความผันแปรที่เนื่องด้วยความร้อนหรืออุณหภูมิ ๒. พีชนิยาม เป็นกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต เกี่ยวกับการสืบพันธุ์ หรือเรียกว่า พันธุกรรม เช่น หลักความจริงที่ว่า พืชเช่นใดก็ให้ผลเช่นนั้น พืชมะม่วงก็ออกผลเป็นมะม่วง เป็นต้น ๓. จิตตนิยาม คือ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการทำงานของจิต ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบห้าส่วนที่ประกอบกันเข้าเป็นมนุษย์ การทำงานและการแสดงพฤติกรรมของจิตทางพระพุทธศาสนาเชื่อว่ามีความเป็นระเบียบและมีกฎเกณฑ์แน่นอน ๔. กรรมนิยาม คือ กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับกรรมและการให้ผลของกรรม เป็นพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น ทำกรรมดี มีผลดี ทำกรรมชั่ว มีผลชั่ว ๕. ธรรมนิยาม คือ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับสิ่งที่กล่าวมาทั้งสี่กฎนั้น รวมลงในธรรมนิยามนี้ คือ ความเป็นไปตามธรรมดา เช่น สิ่งทั้งหลายมีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเป็นธรรมดา ทุกคนย่อมมีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา เป็นต้น หลักจริยธรรม การที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสคำสั่งสอนต่างๆนั้น พระองค์ได้เอาความจริงของหลักสัจธรรมมาเป็นฐาน คือ สอนว่าเมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ จะทำชีวิตให้ดีงามได้อย่างไร สัจธรรมจึงเรียกร้องหรือบังคับอยู่ในตัวว่าถ้าจะเป็นอยู่ให้ดีจริงจะต้องดำเนินชีวิตอย่างไร ดังนั้น จึงเกิดหลักคำสอน ซึ่งเรียกว่า “จริยธรรม” ขึ้น จริยธรรมจึงเป็นข้อเรียกร้องของสัจธรรม หรือข้อเรียกร้องธรรมดาต่อมนุษย์ ว่าถ้าต้องการเป็นอยู่ให้ดีต้องทำอย่างนี้ ต้องปฏิบัติอย่างนี้ จริยธรรมเป็นเรื่องของความจริงภาคปฏิบัติ และการที่สืบเนื่องจากสัจธรรมนั้น ไม่ใช่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงตั้งขั้นมา และไม่ใช่คำสั่งของพระองค์ แต่ทรงนำหลักจริยธรรมมาสั่งสอนโดยอาศัยความรู้ในสัจธรรมนั้นเอง เหตุผลที่ทรงนำหลักจริยธรรมมาสั่งสอนก็เพื่อเป็นประโยชน์แก่การดับทุกข์และแก้ปัญหาในชีวิต จาการที่กล่าวมาข้างต้น สรุปได้ว่าระบบหรือองค์ประกอบของพุทธศาสนาต้องมีส่วนประกอบหลักๆด้วยกัน คือ ส่วนที่เป็นรากฐาน ได้แก่ สัจธรรม และส่วนที่เป็นจริยธรรมซึ่งวางอยู่บนรากฐานของสัจธรรม 1. 2 ศาสนาอิสลาม อิสลามเป็นคำภาษาอาหรับ แปลว่า การมอบ การยอมจำนน การยอมแพ้ และการยอมตาม สำหรับความหมายศัพท์ทางวิชาการ ได้ให้ความหมายของอิสลามไว้ว่า "อิสลามคือการยอมจำนนต่ออัลลอฮ (ซุบหานะฮูวตะอาลา) ในคำสั่งใช้และคำสั่งห้าม ผู้ใดที่ยอมจำนนทั้งกาย วาจา และใจในทุกๆ สิ่งต่ออัลลอฮ (ซุบหานะฮูวตะอาลา) เขาผู้นั้นคือ มุสลิม สำหรับสิ่งที่อิสลามถือว่าสำคัญที่สุดเป็นอันดับแรกและเป็นรากฐานคือ หลักการศรัทธา สำหรับหลักศรัทธาในศาสนาอิสลามนั้นประกอบด้วย ๖ ประการด้วยกัน ๑. การศรัทธาว่าอัลลอฮ์เป็นพระเจ้า ๒. การศรัทธาในบรรดามลาอิกะฮ์ ๓. การศรัทธาในบรรดาคัมภีร์ของพระองค์ ๔. การศรัทธาในบรรดาศาสนทูต(รอซูล)ของพระองค์ ๕. การศรัทธาในวันสิ้นโลก (อาคิเราะฮ์) หรือวันพิพากษา ๖. การศรัทธาในกฎกำหนดสภาวะการณ์ ว่ามาจากอัลลอฮ์ทั้งสิ้น นั่นคือศรัทธาว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นและดำเนินไปนั้นมาจากการกำหนด และอยู่ภายใต้การควบคุมของพระองค์ ในทางตรงกันข้ามหากพระองค์ไม่ประสงค์ในสิ่งใดหรือยับยั้งในสิ่งใด สิ่งนั้นก็จะไม่มีวันเกิดขึ้นเช่นกัน ในขณะที่หลักปฏิบัติประกอบด้วยหลักพื้นฐาน ๕ ประการ คือ ๑. การกล่าวคำปฏิญาณตนว่า “ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ. มุฮัมมัด รอซูลุลลอฮ.” ซึ่งแปลว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ถูกเคารพภักดีอย่างเที่ยงแท้นอกจากอัลลอฮ.และมุฮัมมัดเป็นศาสนฑูตของพระองค์. ๒. การนมาซหรือละหมาด วันละ 5 เวลา ๓. การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ๔. การจ่ายซะกาตหรือทานบังคับ ๕. การประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครมักกะฮสำหรับผู้ที่มีความสารถ หลักพื้นฐาน ๕ ประการเปรียบเสมือนเสาห้าต้นของอิสลาม ซึ่งเสหมือน “บ้าน” หรืออาคารที่ประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ ที่สำคัญบ้านจะต้องสร้างขึ้นมาจาก “เสา” โดยเสาทั้ง 5 ต้นได้เล่นบทบาทในการค้ำจุนสังคมมุสลิมในมิติที่แตกต่างกัน การปฏิญานตนนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่เข้ามาเล่นในบทบาทของอุดมการณ์ ตามด้วยการละหมาดวันละ 5 เวลา เข้ามาเล่นบทบาทในสองด้าน ด้านหนึ่งคือการสร้างสัมพันธ์เริ่มต้นกับอัลลอฮฺ ในอีกด้านหนึ่งเป็นการก่อร่างชุมชนมุสลิมพื้นฐานโดยมีมัสญิดเป็นศูนย์กลาง ส่วนการจ่ายซะกาตทุกปีเข้ามาเล่นบทบาทการกระจายความมั่งคั่งทางวัตถุและการสถาปนาพื้นฐานความยุติธรรมในสังคม และการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนได้เข้ามาเล่นบทบาทเป็นโรงเรียนของการฝึกอบรมผู้ศรัทธาในหลากหลายมิติ สำหรับฮัจญ์ที่กำหนดให้ผู้มีความสามารถกระทำอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิตได้ เข้ามาเล่นบทบาทชุมชนโลกของอุมมะฮฺอิสลามที่ยอมจำนนต่ออัลลอฮฺ องค์ประกอบหลักทั้งสองจะต้องสะท้อนจากความบริสุทธิใจซึ่งในศาสนาอิสลามเรียกว่า หลักคุณธรรม (อัลเอียะฮฺซาน) หลักทั้ง 3 ประการนี้ได้มาจากคำสอนของ ท่านนบีมุฮัมหมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้วัจนะไว้ ความว่า "ขณะที่เรากำลังอยู่กับท่านศาสนฑูตในวันหนึ่ง มีชายผู้หนึ่งได้ปรากฎกายขึ้น เขาใส่อาภรณ์ที่ขาวสะอาด มีผมดำขลับ โดยที่ไม่มีร่องรอยของการเดินทางปรากฏให้เห็น ไม่มีผู้ใดในหมู่เราที่รู้จักเขา จนกระทั่งเขาเข้ามานั่งเอาเข่าเกยกับเข่า ของท่านนบี และเอามือทั้งสองวางลงบนหน้าตักของท่านนบีแล้วกล่าวว่า"โอ้..มุฮัมหมัด โปรดบอกฉันเกี่ยวกับอัลอิสลาม" ท่านตอบว่า "คือการปฏิญาณตนว่า ลาอิลาฮ่าอิ้ลลัลลอฮฺ มูฮำหมัดรอซูลุ้ลลอฮฺ และการดำรงละหมาด การบริจาคซะกาต การถือศิลอดเดือนรอมฎอน และการทำฮัจญ์หากมีความสามารถจะไปได้" ชายผู้นั้นกล่าวว่า "ท่านพูดถูกแล้ว" (ท่านอุมัร) กล่าวว่า เราแปลกใจเหลือเกินที่เขาถามแล้วยืนยันในคำตอบเสียเองเขาถามต่อไปว่า "โปรดบอกฉันเกี่ยวอัลอีหม่าน" ท่านนบีตอบว่า "คือการศรัทธาต่ออัลลอฮฺ, ต่อมาลาอิกะฮฺ, ต่อคัมภีร์, บรรดาศาสนฑูตขอพระองค์, วันอวสาน และศรัทธาในเรื่องการกำหนดความดีและความชั่วของพระองค์" ชายผู้นั้นกล่าวว่า "ท่านพูดถูกแล้ว"เขายังถามต่อไปอีกว่า "โปรดบอกฉันเกี่ยวกับอัลเอียะฮฺซาน" ท่านนบีตอบว่า "คือการที่ท่านจะต้องสักการะต่ออัลลอฮฺประหนึ่งว่า ได้เห็นพระองค์ แม้ว่าท่านไม่เห็นพระองค์ก็ตาม แต่พระองค์ก็ทรงเห็นท่าน" หลักทั้ง 3 ประการดังที่กล่าวมา จะต้องสามารถบูรณาการกันได้และเชื่อมสัมพันธ์กันอย่างเชื่อมโยงกันมาตรแม้นผู้ใดผู้หนึ่งปฏิบัติตามหลักปฏิบัติ ได้อย่างครบถ้วนแต่หลักศรัทธาผิดเพี้ยน ฉะนั้นการปฏิบัติของเขาก็ไร้ผล หรือคนที่หลักศรัทธาถูกแต่ปฏิบัติไม่ถูก ก็ไร้ผลเช่นเดียวกัน หรือคนที่มีหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติสมบูรณ์ แต่ขาดความบริสุทธิ์ใจในความเชื่อหรือในการปฏิบัตินั้น งานของเขาก็ไร้ผลเช่นเดียวกัน 1.3 หลักศาสนาคริสต์ ศาสนิกชนต้องมีความศรัทธาในพระเยซูสูงสุดในชีวิต และจงรักเพื่อนบ้าน เพื่อนมนุษย์ เหมือนรักตัวเอง ตามหลักธรรมคำสอนดังต่อไปนี้ ๑.หลักบัญญัติ ๑๐ ประการ ๒.หลักตรีเอกานุภาพ เป็นหลักคำสอนที่ให้ศรัทธาในพระเจ้าพระองค์เดียว แต่มี ๓ สภาวะประกอบด้วย ๑. พระบิดา คือ องค์พระเจ้าผู้สร้างโลกและมนุษย์ ๒.พระบุตร คือ ผู้เกิดมาเพื่อช่วยไถ่บาปให้แก่มนุษย์ ๓.พระจิตร คือ พระวิญญาณอันบริสุทธ์เพื่อมอบความรักและบันดาลให้มนุษย์ประพฤติดี ๓.หลักความรัก คำสอนเรื่องความรักในศาสนาคริสต์ คือ การปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข มีความเมตตากรุณา ให้อภัยซึ่งกันและกัน และยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี หลักคำสอนเรื่องความรักในศาสนาคริสต์ มี ๒ ระดับ คือ ๑.ความรักระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า เปรียบเหมือนความรักระหว่างบิดากับบุตร ๒.ความรักระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ พระเยซูสอนให้รักเพื่อนบ้าน (มนุษย์ทั้งโลก) สอนให้รักศัตรู รู้จักการให้อภัยและเสียสละ ๔.หลักอาณาจักรพระเจ้า เป็นหลักคำสอนที่เน้นให้มนุษย์สร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นในจิตใจ รู้จักการเตรียมตัวรับฟังคำสั่งสอน เพื่อจะได้นำไปปฏิบัติได้ถูกต้อง ซึ่งอาณาจักรพระเจ้าแบ่งได้เป็น ๒ ส่วน คือ อาณาจักรบนโลกมนุษย์ ให้มนุษย์กระทำตนให้ดีที่สุด โดยการสวดมนต์ เพื่อเป็นการแสดงความศรัทธาในพระเจ้า และอาณาจักรสวรรค์ เมื่อมนุษย์ตายไป วิญญาณจะได้ไปเฝ้าพระเจ้าในสวรรค์มีชีวิตนิรันดร 2. ศาสนาเสวนา คือทางออก ในความแตกต่าง สานเสวนาจะต่างกับการสนทนาทั่วไปตรงที่ไม่มีการคุกคาม อัตลักษณ์ ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพราะมุ่งให้ผู้ร่วมสานเสวนารับฟังและเรียนรู้จุดยืนซึ่งกันละกัน บนพื้นฐานการให้เกียรติความแตกต่างโดยปราศจากการครอบงำ บีบ บังคับ โน้มน้าวหรือบังคับให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนแปลงความคิด ความศรัทธาของตนหากแต่เป็นการเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกัน สำหรับหลักการในการทำการเสวนาระหว่างศาสนาหรือวัฒนธรรมที่ต่างกัน 1.ยืนหยัดในความศรัทธาและรอบรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาและวัฒนธรรมของตน 2.เปิดใจกว้างสู่การเรียนรู้เกี่ยวกับประสบการณ์ ความเชื่อ ศาสนาและวัฒนธรรมของผู้อื่น 3.แสวงหาความจริง 4.มีจิตสำนึกลึกถึงความร่วมมือกันเพื่อดำรงซึ่งความดี การสานเสวนาระหว่างศาสนา 1.) ศาสนเสวนาในชีวิตชาวบ้าน(โดยเฉพาะเยาวชน) บทบาทการสร้างศาสนเสวนาในชีวิตจริงยังไม่บรรลุผลเท่าที่ควร จำเป็นต้องจัดให้มีการเสวนาและดำเนินชีวิตร่วมกับพี่น้องความเชื่ออื่นในทุกมิติ โดย 1. กระตุ้นเตือนให้ศาสนิกต่างๆโดยเฉพาะมุสลิมเปิดตัวและมีท่าทีความเป็นพี่น้องต่อผู้มีความเชื่ออื่น 2. ส่งเสริมให้ศึกษาเพื่อเห็นคุณค่าของหลักธรรมของแต่ละศาสนา 3. เตรียมประชาชนทุกระดับให้พร้อมที่จะร่วมกิจกรรมประเพณีต่างๆ(ในกรอบของแต่ละศาสนา) 4. ศึกษาปัญหาและอุปสรรคของกิจกรรมศาสนสัมพันธ์ไม่บรรลุวัตถุประสงค์และนำเสนอวิธีการแก้ปัญหา 5. ร่วมรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะศาสนิกที่ดี ด้วยการแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม