สุดอาลัย “พี่อ๋อย” พงษ์อนันต์ ช่วงธรรม

1136 13 Sep 2013

ไม่ ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรกับใครสักคนหนึ่งต้องจากไป แต่เรา, ในฐานะมนุษย์ตนหนึ่งที่มีสังคมอยู่ร่วมกับผู้อื่น, มีความผูกพัน, มีความเชื่อมั่นชื่นชมศรัทธา,และมีหัวใจ ก็มักจะสะท้านหวั่นไหว เพราะการจากไปของคนดีๆ มันทำให้แผ่นดินทรุดต่ำลงไปอีก ชีวิต ของนักพัฒนายังมีอีกมากที่มักละเลยการดูแลตัวเองดำเนินชีวิตไม่ถูกสุขภาวะ แถมยังทำงานหนักและพักผ่อนน้อยเพียงเพื่อหวังให้สังคมดีขึ้น ดั่งปณิธานรับใช้มวลชนคนยากไร้ สุขคติภพครับ “พี่อ๋อย” ของพี่น้องชาวสลัม นักสู้เพื่อสิทธิของคนจนเมือง ขอให้พี่หลับให้สบายที่เหลือและค้างอยู่คนรุ่นต่อไปจะสานต่อเอง ด้วยจิตคาราวะ ทีมงานไทยเอ็นจีโอ บันทึกก่อนสิ้นลมของพี่อ๋อย “ว่าด้วยเรื่องตัวตนของเรา” บทที่ 1 ด้วยชื่อบิดา มารดา ตั้งให้ตั้งแต่เกิด ตามชื่อในสูติบัตรว่า ด.ช.พงษ์อนันต์ ในสมัยเด็ก และนายพงษ์อนันต์ ตอนเติบใหญ่ ตามวันเดือนปีเกิด ในระบบสุริยะคติ หรือระบบสากล คือ 14 พฤษภาคม 2508 แต่ถ้าระบบจันทรคติ เราไม่ทราบได้แน่ชัดว่าอย่างไร เท่าที่รู้คือ วันศุกร์ เดือน 5 มี มะเส็ง (โดยความเชื่อของระบบจันทรคติ บอกว่า เราเป็นคนธาตุไฟ โดยนิสัยเป็นคนที่พูดจาไม่เข้าหูคนอื่น แต่ก็ตรงไปตรงมา รักความถูกต้อง ความเป็นธรรม) โดยไม่รู้ว่าพ่อเข้าใจเรื่องอย่างนี้หรือไม่ จึงตั้งชื่อจริงให้ว่าพงษ์อนันต์ ซึ่งโดยความหมาย พ่อบอกว่าหมายถึง คนที่มีญาติพี่น้อง เพื่อฝูงมาก และเป็นที่รักของคนที่ได้รู้จักมักคุ้น   บทที่ 2 ชีวิตในสมัยเด็ก ก็เป็นคนสนุกสนานร่าเริงเหมือนกับเด็กทั่วไป รัก การเรียนการอ่าน รักพ่อแม่ เพื่อนพ้อง ชอบการแสดง กีฬา (อันนี้อาจจะมาจากพ่อส่วนหนึ่ง เพราะเคยเล่นโขนกับคณะใหญ่ที่มีชื่อเสียง และเคยเป็นนักกีฬาตะกร้อให้กับสโมสรการรถไฟ และอีกหลายที่) แต่ด้วยความเป็นเด็ก ก็ยังไม่รู้อะไรมากนักของเรื่องระหว่างพ่อ กับแม่   บทที่ 3                 พอจะเริ่มขยับจากเด็กเล็กมาบ้าง พอเริ่มจับเค้ารางอะไรบางเรื่องได้ รู้ว่าพ่อ และแม่มีที่มาที่แตกต่าง พ่อเป็นลูกของคนที่พอมีฐานะ การศึกษา และเป็นคนกรุงเทพ และอยู่ในชนชั้นของข้าราชการขุนนางอำมาตย์ในอดีต ส่วนแม่เป็นชาวนาจากภาคอีสานที่ต้องเข้ามาขายแรงงานในเมืองหลวง ในยามว่างเว้นจากการทำนา ไม่รู้ด้วยเหตุผลกลใด พ่อและแม่จึงมาใช้ชีวิตร่วมกัน และมีเราที่เป็นทายาทของคนทั้งสอง ด้วยวัยที่เรายังเด็กไม่รู้อะไรมากมายนัก รู้แต่ว่า พ่อทำงานกับรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง (การรถไฟฯ) ใช้ชีวิตตามแบบมนุษย์เงินเดือนในปัจจุบัน โดยเฉพาะนิสัยชอบสุรา เจ้าชู้ การพนัน ส่วนแม่นั้นพ่อให้อยู่บ้าน ดูแลเรา และน้องผู้หญิงอีก 2 คน แต่ด้วยความที่แม่เป็นคนที่มาจากท้องไร่ท้องนา จึงไม่ค่อยอยู่สุขกับการรอเงินเดือนสามี จึงคิดหาทางทำอาชีพอื่นช่วยครอบครัวไปด้วย โดยการปลูกพืชผัก และหาเก็บผักไปขายยังตลาดใกล้เคียงกับบ้านที่อยู่ บทที่ 4 ขณะนั้นเริ่มเรียนอยู่ชั้น ป.5 แล้ว   น้องสาว 2 คน ก็เรียนมาไล่เลี่ยกัน แต่เรื่องการศึกษานั้นต้องบอกว่า ถึงแม้พ่อจะเป็นคนที่ชอบสุรา การพนัน แต่เรื่องการเอาใจใส่เรื่องการเรียนลูก หรือสนับสนุนต่าง ๆ พ่อทำได้ดีมาก เราจำได้ตั้งแต่เด็ก ๆ พ่อสอนให้อ่านเขียน เล่านิทาน เล่าวรรณคดี หรือแม้แต่เรื่องเล่าในอดีตหลายเรื่อง พ่อมักชอบเล่าให้พวกเราฟัง ซึ่งทำให้เราชอบและรู้สึกว่า เราจะได้รับประสบการณ์มาประกอบการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งสมัยนั้นยังมีอยู่ในหลักสูตรการศึกษาชั้นประถม – มัธยม จนทำให้เราได้คะแนนวิชานี้ในระดับแนวหน้าของชั้น และโรงเรียน หรือแม้แต่เรื่องกีฬา พ่อซึ่งเล่นกีฬาได้หลายชนิด ก็ทำให้เราเล่นกีฬาได้เกือบทุกชนิด ยกเว้นกีฬาสมัยใหม่ (หรือกีฬาผู้ดีเกินไป เช่น กอล์ฟ) ด้วย เรื่องราวเหล่านี้ ถึงแม้ว่าเราจะชื่นชมพ่อ แต่เราก็รู้สึกสงสารแม่ ที่ต้องรองรับอารมณ์ หรือภาระที่พ่อไม่ค่อยได้ช่วยแม่ตามที่ควร เรายังจำได้ว่าแม่ชวนเราลงไปเอาผักตบชวาออกจากคลองหน้าบ้าน เพื่อปลูกผักบุ้ง ผักกระเฉดขาย ซึ่งเราก็ว่ายน้ำเป็น และชอบเล่นน้ำอยู่แล้ว จึงลงไปช่วยแม่ด้วยความเต็มใจ   บทที่ 5 บทสุดท้าย ปรัชญาคำสอน จากพุทธศาสนาคำสวดของพระในพิธีสวดพระอภิธรรมศพของมนุษย์ทุกคนที่นับถือศาสนาพุทธ ที่พระสงฆ์พร้อมใจกันสวดด้วยภาษาบาลีว่า “เหตุ ปัจ.โย” ถ้าพุทธศาสนิกชน ที่นับถือพุทธอย่างเข้าใจลึกซึ้ง   ก็คงเข้าใจว่า ในคำสวดนั้น ท่านสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “เหตุการณ์ทุกเรื่องย่อมมีสาเหตุ และมีที่มาที่ไป” แต่ด้วยมนุษย์บางคนไม่เข้าใจในหลักคำสอนอันนี้ จึงยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตนเองคิด นั้นหมายถึงอัตตา ความเป็นตัวตนของตนเองมาก รักในสิ่งตัวเองผูกพัน สิ่งที่ตนใกล้ชิด ตามหลักของมาร์ก ( Karl Marx ) “ถ้าเราเอาตัวเองผูกพันกับความเป็นอยู่ของตัวเอง และครอบครัว   จะลืมว่าเรากำลังจะทำเรื่องที่สำคัญกว่า เรายิ่งจะเหินห่างจากคนอื่น ๆ และให้ความสำคัญกับตนเอง และคนรอบด้านที่ใกล้ชิด    โดยลืมหลักเหตุผล ของการอยู่ร่วมกันบนโลก โดยการพึ่งพาตนเอง และสังคมที่ดีงาม วาดหวัง วาดฝัน ตั้งใจไว้ แต่แล้วใจ ก็สิ้นหวัง ที่ตั้งใจ แล้วที่สุด โลกของเรา ก็เป็นไป ที่สุดท้าย ใจของตน ต้องเป็นเอง ชีวิตจริง มีจริง สิ่งที่คิด ด้วยจริต ต้องห้าม ก็ปรามมิได้ ใจจริง ชีวิตจริง ก็ต้องไป แต่สุดท้าย ไปได้ หรือมิได้ เพราะใจตัว โลกของคน ตัวตน ที่ตนคิด ถูกหรือผิด ชั่วดี อยู่ที่ผล บุญหรือกรรม กระทำ อยู่ที่ตน นี่แหละคน ทุกคน บนโลกเรา จะมีเศร้า มีโศก โลกปนทุกข์ จะสนุก สนาน กับความเขลา จะร่วมคิด ร่วมธรรม ร่วมกรรมเรา จะสุดเศร้า สุดโศก สุดโชคดี ............ ( หมายเหตุ : เป็นบันทึกที่อ๋อย (พงษ์อนันต์ ช่วงธรรม) ใช้ดินสอ เขียนด้วยตัวเอง ก่อนจะเสียชีวิต ซึ่งคิดว่ายังเขียนไม่เสร็จ และอ๋อยคงต้องการสื่อสารให้คนรอบข้างได้รับรู้เรื่องราวของตัวเขา ) ประวัติส่วนตัว ชื่อจริง   พงษ์อนันต์ ช่วงธรรม   ชื่อเล่น อ๋อย เกิดเมื่อ 14 พฤษภาคม 2508 ที่โรงพยาบาลหญิง หรือโรงพยาบาลราชวิถีในปัจจุบัน บิดา นายอำนวย ช่วงธรรม     มารดา นางพันธ์ ช่วงธรรม พี่น้องร่วมบิดามารดา 2 คน เป็นผู้หญิงทั้ง 2 คน คนรองจากเราคือ น.ส.อัมพร ช่วงธรรม     คนสุดท้ายคือ นางอรพินทร์ ช่วงธรรม (กรอบกสิกรรม) การศึกษา                ชั้นอนุบาล – ประถม (อนุบาล – ป. 7)   โรงเรียนนวลจันทร์วิทยา มัธยมต้น – มัธยมปลาย (ม.ศ.1 – ม.ศ. 5) โรงเรียนมักกะสันพิทยา เข้าศึกษาระดับปริญญาตรี ในคณะนิติศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง การทำงาน              เข้าทำงานในฐานะอาสาสมัครขององค์การอนุเคราะห์เด็กของเรดบาร์น่า เป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์รวมพัฒนาชุมชน (ปี 2534 – 2546) ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค (ปี 2547 – ปัจจุบัน) อาสาสมัครมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (ปี 2550 – ปัจจุบัน)   หน้าที่ ภารกิจที่เข้าไปเกี่ยวข้อง
  1. ประธานคณะกรรมการเยาวชน 7 เขต ของกรุงเทพมหานคร
  2. เจ้าหน้าที่ประสานงานนโยบายรัฐของศูนย์รวมพัฒนาชุมชน
  3. อนุกรรมการศึกษาวัฒนธรรม และสวัสดิการสังคม สภากรุงเทพมหานคร
  4. คณะกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (พชม.) หรือ พอช. ในปัจจุบัน
  5. คณะกรรมการแก้ปัญหาชุมชนแออัดระดับชาติ
  6. คณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน (ชุดชุมชนแออัด 2 ครั้ง)
  7. ที่ปรึกษากรรมาธิการ คณะสังคม และสวัสดิการสภาผู้แทนราษฎร
  8. คณะกรรมการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดของกรุงเทพมหานคร
  9. คณะกรรมการยกร่างระเบียบกรุงเทพมหานครชุด ดร.พิจิตร รัตตกุล
  10. คณะกรรมการพิจารณาช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติของเอเชียแปซิฟิก
  11. คณะทำงานองค์กรรณรงค์สิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีสากลของประเทศฝรั่งเศส
  12. ผู้ประสานงานศูนย์รวมพัฒนาชุมชน
  13. ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค
  14. คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
  15. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย และสินเชื่อ พม.
Attachment Size
thaingo130956-1.jpg 234.74 KB

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม