2155 02 Aug 2013
สมศรี หาญอนันทสุข มีการกล่าวกันในกลุ่มนักวิชาการที่ศึกษาการเมืองเอเชียอาคเนย์ และในหมู่นักการเลือกตั้งที่ต่างก็ตั้งคำถามว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะหันมาดูแลระบอบประชาธิปไตย ทบทวนการเมืองใน 10 ประเทศ โดยข้ามพ้นข้อจำกัดในกฏบัตรอาเซียนที่กำหนดให้ชาติสมาชิกไม่ก้าวก่าย แทรกแซงกิจการภายในประเทศซึ่งกันและกัน ให้เคารพในความเสมอภาค อำนาจอธิปไตย และเอกภาพบนความหลากหลายของภูมิภาค การเลือกตั้งของประเทศกัมพูชาที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 กรกฏาคม 2556 เป็นอีกวาระหนึ่งที่สะท้อนจุดด่างทางการเมืองอาเซียน ที่ประเทศสมาชิกได้ใช้ช่องว่างของกระบวนการเลือกตั้ง และประชาธิปไตย มาลงหลักปักฐานให้กับกลุ่มอำนาจนิยม มีการตั้งคำถามถึงการได้มาซึ่งอำนาจเดิมที่ทำให้คนเดิมๆกลับมามีอำนาจต่อไป โดยนำเครือญาติพวกพ้องเข้ามาสร้างอิทธิพลท้องถิ่น ทำลายพัฒาการทางการเมือง บั่นทอนการเติบโตของภาคประชาสังคมอย่างเห็นได้ชัดเจน ทั้งนี้การตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกือบ 10 ล้านคนซึ่งส่วนใหญ่เลือกพรรคใหญ่อย่างพรรคประชาชน (CPP)[1] ของนายฮุนเซน กลายเป็นใบเบิกทางให้ผู้ทรงอิทธิพลใช้เป็นคัมภีร์ฟาดฟันผู้ไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศแบบเดิมๆไปได้อีก 5 ปี การกลับมาของ สม รังสีเมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม ท่ามกลางผู้คนที่ไปรับที่สนามบินกรุงพนมเปญนับหมื่นคนดูจะเป็นการสำแดงพลังอย่างหนึ่งแต่คงไม่กระทบคะแนนเสียงนายฮุนเซนมากนัก เพราะตนเองได้กุมอำนาจ กกต. เสียงส่วนใหญ่ ซึ่งมาจากโควต้าพรรค CPP ที่ล่าสุดปฏิเสธการขอสิทธิลงเลือกตั้งของ สม รังสี ไปได้เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงแค่ให้คนเขมรที่ไม่สนับสนุนนายฮุนเซน ลุ้นว่าจะมีผู้ไปกาบัตรเลือกพรรคใหม่คือพรรคกู้ชาติเขมร (CNRP)[2] ของนาย สม รังสี ได้มากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญหรือไม่ เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของ นาย กงกอม และนาย เขม โสขะ ที่ต้องทำศึกหนักในการชิงชัยที่นั่ง 123 ที่นั่งในสภา โดยทุกคนรู้ว่าเป็นการลำบากที่จะดึงคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในชนบทออกมากาบัตรให้ตน ในหน่วยเลือกตั้งซึ่งมีอยู่เกือบสองหมื่นหน่วยทั่วประเทศ สถานการร์เช่นนี้คงจะไม่มีนักสังเกตการณ์อิสระผู้ใดปฏิเสธความเป็นจริงว่าการเมืองเขมรยังเป็นวงจรการเมืองเก่าที่วนอยู่ในอ่าง ด้วยการชักใยของผู้ทรงอิทธิพลคนเดียว การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาองค์กรภาคประชาสังคม 10 องค์กร รวมตัวกันออกแถลงการณ์หลายฉบับเริ่มตั้งแต่ วันที่ 12 มิถุนายน 2556 เป็นต้นมา แสดงความคิดเห็น และความห่วงใยอย่างมากต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร และไม่พอใจพฤติกรรมเดิมๆของเจ้าหน้าที่เขมรที่ไม่เป็นกลาง คอยเอาใจผู้มีอำนาจ ด้วยการข่มขู่ คุกคามประชาชนและฝ่ายค้านและยังมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นคนละเมิดกฏหมายเลือกตั้งเสียเองด้วย องค์กรท้องถิ่น ที่เรียกว่า COMFREL และ NICFEC รวมถึงองค์กรสตรีเห็นว่าการข่มขู่คุกคามผู้สนับสนุนฝ่ายค้านมีอยู่ทั่วไปจนเป็นที่กล่าวขานไปถึงองค์กรต่างประเทศ รวมถึงสื่อต่างชาติ ซึ่งได้ประเมินสถานการณ์เป็นระยะด้วยความไม่มั่นใจว่า การเลือกตั้งจะดำเนินไปด้วยความบริสุทธิยุติธรรมได้อย่างไร หรือจะดำเนินไปด้วยความหวาดกลัวมากกว่า นักการทูตในกรุงพนมเปญทราบดีว่า การปล่อยให้นายสม รังสี เดินทางกลับประเทศได้ด้วยวิธีนำเรื่องขออภัยโทษต่อเจ้านโรดม สีหมุนีนั้น ดูจะเป็นเพียงการลดกระแสกดดันจากต่างชาติ และเป็นการสร้างภาพความชอบธรรมให้กับตัวนาย ฮุนเซนเท่านั้น แต่การขู่ใช้กฏหมายกับคนที่เห็นต่าง และบรรดาเสียงส่วนน้อยที่หัวแข็งจะยังดำเนินต่อไป ทุกคนทราบดีว่าการเล่นงานทางการเมือง ด้วยการใช้กฏหมายตามอำเภอใจกับ สส.ของพรรคสม รังสี หลายคน และกระทั่งการระงับการใช้สิทธิคุ้มครองนักการเมือง (Parliamentary Immunity) ในการพูดในสภาผู้แทนราษฏรเขมร เป็นการตัดแขนขานักการเมืองฝ่ายค้านที่กลไกของรัฐมักใช้วิธีนี้ในยุคหลังๆ มากกว่าการลอบสังหาร หรือใช้ความรุนแรงแบบเก่าโดยตรง ปัญหาเดิมๆที่ไม่เปลี่ยนแปลงยังเป็นเรื่องการเล่นแร่แปรธาตุบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่สามารถนำไปสู่คะแนนผีได้มากมาย ดูได้จากรายงานของ COMFREL เมื่อปีที่แล้ว ที่พูดถึงกรรมการการเลือกตั้งหรือ NEC กรณีที่แถลงจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากการลงทะเบียนใหม่ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 9.7 เปอร์เซ็นต์ แต่ทาง COMFREL ได้คำนวนด้วยตัวเองพบว่ายอดเพิ่มขึ้นเพียง 4.4 เปอร์เซ็นต์ โดย กกต. เขมร ไม่สามารถให้หลักประกันได้ว่าจะลบรายชื่อส่วนเกินออกได้ก่อนการเลือกตั้ง รายชื่อที่ไม่เป็นจริงนี้มาจากผู้ลงทะเบียนมากกว่าหนึ่งครั้ง และรายชื่อผู้ตายอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นจำนวนสั่งสมมาตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งทาง กกต.เขมร ยอมรับเฉพาะปัญหาเทคนิคว่า เมื่อคนทำการย้ายถิ่นฐานไปลงทะเบียนในที่ใหม่แล้วไม่แจ้งต่อทางการหรือไม่สามารถลบชื่อที่อยู่เก่าออกไปได้ เลยทำให้เกิดรายชื่อซ้ำซ้อน ที่ผู้มีสิทธิสามารถเดินทางไปเลือกได้มากกว่าหนึ่งที่ หรือมากกว่าหนึ่งหน่วยเลือกตั้ง ปัญหาที่เกิดจากบัญชีเลือกตั้งเป็นปัญหาใหญ่และจะนำมาสู่เหตุการณ์ซ้ำรอยกับที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งเมื่อปี 2551 และปี 2555 ที่มีบัญชีรายชื่อรองรับคะแนนผีไว้ก่อนวันเลือกตั้งแล้วนำคนมาสวมรอยลงเลือกตั้งในชื่อผู้อื่น หรือใช้เจ้าหน้าที่ทำการลงคะแนนแทนชื่อที่เกินมา รวมทั้งชื่อที่ไม่มีคนมาใช้สิทธิ จุดด่างของการเมืองเขมรอีกประการหนึ่งที่ทำให้นักสิทธิมนุษยชนในอาเซียนวิจารณ์ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในรอบ 15 ปี และใช้เรื่องดังกล่าวหาเสียงในครั้งนี้ด้วย คงไม่พ้นเรื่องการปลุกผีแบบเก่าๆให้คนกลัวและไม่ไปเลือกฝ่ายตรงข้าม ซึ่งใช้ได้ผลบ้าง ไม่ได้บ้าง กับคนรุ่นใหม่ เรื่องที่ว่านี้คือการปลุกผีเขมรแดงของ นาย ฮุนเซน ที่ชอบกล่าวถึงผู้ที่ไม่เลือกพรรค CPP ของตนแล้วหันไปเลือกฝ่ายค้าน ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้เขมรแดงกลับมามีอิทธิพลนำมาสู่การล้างแค้น เข่นฆ่า ประชาชน และไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างสันติสุข อีกต่อไป ขณะเดียวกันถ้าเลือกฝ่ายค้านจะนำมาซึ่งภัยสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองฝั่งด้วย ส่วนพรรคฝ่ายค้านก็ใช้กลยุทธเดิมๆไม่ต่างกัน ด้วยการพูดถึง อิทธิพลของเวียดนามต่อกัมพูชา ที่กำลังจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆหากใครไปเลือกพรรครัฐบาล อาจจะทำให้ประเทศต้องเสียดินแดนให้เวียดนาม หรือพวก ญวน ในพื้นที่พิพาทชายแดนก็ได้ เรื่องหลังนี้ได้มีการวิจารณ์ของผู้สังเกตการณ์นานาชาติว่าเป็นการเหยียดผิวหรือ Racist ทำให้คนเขมรเกลียดคนเวียดนามที่อยู่ในประเทศนานแล้ว โดยไม่จำเป็น ในครั้งนี้เรายังได้เห็นการกล่าวหาที่หวือหวาอย่างไม่เคยมีมาก่อนของผู้นำพรรคฝ่ายค้านที่กล่าวหากรณีเขมรแดงสังหารคนเขมรในอดีต และขังคนที่คุก Toul Sleng ในกรุงพนมเปญ ว่าเป็นการจัดฉากของเวียดนาม ไม่ใช่สถานการณ์จริง เป็นการแตะเรื่องที่อ่อนไหวที่ทำให้มิตรแท้ของเวียดนามอย่างนายฮุนเซน ยอมไม่ได้ จนต้องออกมาให้สัมภาษณ์ เตือนพวกที่พูดเช่นนี้ว่าจะโดยกฏหมายเล่นงานทั้งหมด ส่วนการเมืองแบบชนบทอุปถัมภ์ เป็นเรื่องปกติของกัมพูชาที่บรรดากำนันผู้ใหญ่บ้านส่วนใหญ่ใน 24 จังหวัดทำตัวเป็นหัวคะแนน เป็นกลไกสำคัญที่นำชัยชนะให้กับพรรครัฐบาลมาโดยตลอดระยะสิบปีที่ผ่านมา กลไกแบบนี้มีความสำคัญมากขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้งคอมมูน (Commune Election) ปีที่แล้ว และเป็นแนวโน้มที่ประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนจะใช้เป็นยุทธศาสตร์กุมอำนาจระยะยาวต่อไป ส่วนที่น่าหนักใจนอกจากนั้นยังเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่เขมรทำหน้าที่ direct sell แจกจ่ายสิ่งของ แทนสมาชิกพรรคของนายฮุนเซน หรือ CPP ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ถือว่าเป็นการหาเสียง ซื้อเสียง และเป็นวัฒนธรรมการเมืองการเลือกตั้งของเขมรไปเสียแล้ว เพราะเจ้าหน้าที่หรือประชาชนทราบดีว่าอำนาจเก่ายังจะคงอยู่ในสังคมเขมรอีกนาน จึงไม่มีใครอยากจะออกมาเปลืองตัว คัดค้าน หรือร้องเรียน ความได้เปรียบทางการเมืองของฝ่ายนายฮุนเซน ยังคงมีมากเมื่อสื่อเลือกข้าง ซึ่งสื่อส่วนใหญ่ ในประเทศ อย่างเช่น The Cambodian Television Network (CTN), National Television of Kampuchea (TVK), และ Bayon TV ยังทำหน้าที่คอยเชียร์พรรครัฐบาล และวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายค้านมาตลอด มีการวัดสถิติ การออกอากาศของวิทยุ FM105 ในช่วงรณรงค์การเลือกตั้งก่อนหน้านี้ วัดจำนวนครั้งที่พูดและอ้างอิงถึงนายกฮุนเซนในการออกอากาศจากที่ต่างๆได้เป็นจำนวนถึง 4000 ครั้ง ในขณะที่มีการพูดถึงนาย สม รังสี และนาย เขม โสขะ เพียงแค่ 1200 ครั้ง และนาย เนียก บุญชัย ผู้นำพรรคฟุนซินเปค แค่ 170 ครั้งเท่านั้น เมื่อสังคมเขมรยังขาดการถ่วงดุลกับอำนาจนายทุนการเมืองมาหลายปี ประชาชนยังขาดที่พึ่งทางการเมืองไม่ทราบจะหันไปหาใคร การกลับมาของนาย สม รังสี ดูจะเป็นที่พึ่งเดียวที่เหลืออยู่ และน่าจะทำให้เสียงเงียบทั้งหลายหันมาคิดเลือกฝ่ายค้านกันได้บ้าง เพราะที่ผ่านมาผู้ที่กล้าท้าทายอำนาจ นายก ฮุนเซน มาอย่างต่อเนื่องดูจะเป็นนาย สม รังสี เท่านั้น ซึ่งคนๆนี้เคยมีผลงานทางการเมือง และเคยตั้งข้อกล่าวหาหน่วยอารักขานายฮุนเซนหรือ body guard unit ที่ปาระเบิดฝูงชนของสม รังสี ขณะชุมนุมในปี 2540 หรือตั้งข้อหานาย ฮอ นัมฮง รมต.ต่างประเทศของรัฐบาลปัจจุบัน ว่าเป็นผู้ร่วมมือกับเขมรแดงในการคุมขังคนที่ค่ายหรือคุก Boeung Trabek (ซึ่งนายนัมฮง ปฏิเสธเรื่องนี้ตลอดแล้วบอกว่าตนเองก็เป็นนักโทษของเขมรแดงเหมือนกัน) หรือเมื่อหลายปีที่ผ่านมา สม รังสี ได้เคยกล่าวหาคนใกล้ชิดฮุนเซนเองก็คือภรรยา Bun Rany ที่กล่าวว่าเป็นผู้สังเก็บ สังหารดารานักร้องชื่อดัง หรือกิ๊กของฮุนเซนที่ชื่อ Piseth Pilika ส่วนพรรคสิทธิมนุษยชนตอนนั้น (ซึ่งรวมพรรคกับสม รังสีเป็นพรรค CNRP ขณะนี้) ก็ได้กล่าวหาระบอบฮุนเซนว่ามีการกระทำไม่ต่างจากเขมรแดงที่ผลักไสประชาชนออกจากถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อเวรคืนและเอาที่ดินไปให้คนอื่น เป็นต้น จากเหตุการณ์ที่กล่าวโดยสังเขปข้างต้น สร้างความหนักใจให้ภาคประชาสังคมในภูมิภาคเป็นอย่างยิ่ง ต่อคุณภาพประชาธิปไตยในเขมร การเลือกตั้งในลักษณะนี้ได้สร้างความชอบธรรมที่นำไปสู่เผด็จการรัฐสภาได้อย่างง่ายดายอีกประเทศหนึ่ง โดยที่ภาคประชาสังคมจะแตะต้องได้ยากขึ้น จึงไม่แปลกใจที่เห็นการออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประชาธิปไตย เพื่อ่ให้เกิดการถ่วงดุลย์ โปร่งใส มีการปกครองประเทศตามหลักธรรมาภิบาล และเพิ่มพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ส่วนนักการเลือกตั้งยังคงเรียกร้องให้รื้อโครงสร้างการเลือกตั้ง ขอให้เปลี่ยนแปลงการได้มาซึ่งกรรมการเลือกตั้งครั้งใหญ่ แก้กฏหมายเลือกตั้งทุกฉบับตามที่ได้มีการเสนอโดยภาคประชาสังคมกันเสียที ตัวอย่างปัญหาการเมืองประเทศเขมรดังกล่าวนี้มิได้เกิดในประเทศนี้เท่านั้น มันยังสะท้อนปัญหาที่เกิดกับประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ที่มีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน และได้นักการเมืองที่ไม่มีคุณภาพในลักษณะเดียวกัน จนในที่สุดต้องตั้งคำถามต่อสังคมอาเซียนว่าจะเป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยนักการเมืองที่ไม่มีประสิทธิภาพ บริหารประเทศด้วยการเลือกปฏิบัติ โกงกิน เล่นพรรคเล่นพวก หรือเรากำลังจะทำให้ประชาชนอาเซียนเกิดความชินชากับการเมืองแบบนี้ไปอีกนานเท่านาน จนกลายเป็นเรื่องปกติ ที่ยอมรับกันได้ -------------------------------------------------------- [1] CPP คือชื่อย่อของพรรค Cambodian People Party หัวหน้าพรรคคือนายฮุนเซน [2] พรรค สม รังสี รวมกับพรรคสิทธิมนุษยชน มาเป็นพรรคกู้ชาติกัมพูเชีย หรือ Cambodian National Rescue Party (CNRP) เมื่อปีที่แล้ว เป็นการรวมกันเพื่อต่อสู้กับ CPP ในสนามเลือกตั้งวันที่ 28 กรกฏาคม 2556 ก่อนรวมพรรคกัน พรรคสม รังสี ได้นำโดยนาย Kong Korm และภรรยานายสมรังสี คือนาง Tioulong Saumara ซึ่งดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค แต่พอเป็นพรรค CNRP นาย Kong Korm ก็ได้เป็นประธาน CNRP เต็มตัว โดยมีนาย Kem Sokha อดีตหัวหน้าพรรคสิทธิมนุษยชนเป็นรองหัวหน้าพรรคใหม่05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม