966 27 May 2013
ชื่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบ: ทั่วไป ใน สถานการณ์ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเหมืองแร่กำลังกลับมาเฟื่องฟูอย่างเงียยบๆ ก่อรายได้ที่ไม่เข้าภาครัฐมากมายมหาศาล แต่เนื่องจากรัฐพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้มาบริหารแผ่นดิน โดยไม่คำนึงถึงความคุ้มทุน ผลประโยชน์ที่แท้จริง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความเดือดร้อนในวิถีชุมชนที่ต้องได้รับผลกระทบจากมลพิษ จากความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ โดยไม่ที่ทางหลีกเลี่ยงได้และไม่มีหน่วยงานใดๆ รับผิดชอบดูแลฟื้นฟู ทำให้ขบวนการชาวบ้านที่ได้รับบทเรียน ได้รับผลกระทบรวมตัวกันลุกขึ้นมาต่อสู้เคลื่อนไหว เรียกร้อง และคัดค้าน ตั้งแต่ระดับนโยบายและการออกกฎหมาย การอนุญาต การลงพื้นที่ขุดเจาะสำรวจของกลุ่มนายทุน รวมถึงการให้สิทธิบัตรสัมปทาน การออกอาชญาบัตร ตลอดจนการศึกษาผลกระทบEIA EHIA แบบ เพียงปกปิดหมกเม็ดเพื่อให้ผ่านขั้นตอนการขอประทานบัตร ทั้งหมดนี้ ขบวนการคนรากหญ้าล้วนแต่เคยเผชิญแล้วทั้งสิ้น ดังนั้น ขบวนการภาคประชาชนคนรากหญ้าจึงรวมตัวกันจากการสรุปบทเรียนมาสู่การกำหนดกรอบ ทิศทางและนโยบายเพื่อนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณา โดยจำแนกออกเป็น 5 ทิศทาง คือ ทิศทางที่ 1 ปรับแก้โครงสร้างกฎหมายเหมืองแร่ทั้งระบบ เพราะว่า กฎหมายที่อนุญาตให้กลุ่มนายทุนได้อาชญาบัตรดำเนินกิจการเหมืองแร่ จะต้องคำนึงถึงการไม่ละเมิดสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน เป็นสาระสำคัญตาม หลักการผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย (Polluter pays principle: PPP) ดังนั้น บทลงโทษผู้ก่อมลพิษเหมืองแร่ให้เทียบเท่าการทำอาชญากรรม การฟื้นฟูเหมืองแร่ที่ประทานบัตรหมดอายุแล้ว กองทุนชดเชยชดใช้ผู้ได้รับผลกระทบ กองทุนฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ กองทุนเยียวยารักษาผู้ป่วย เป็นต้น ซึ่งเป็นหลักการที่ไม่มีอยู่ในกฎหมายแร่ของไทยฉบับที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือ อาจจะมีความเป็นไปได้ถึงขั้นยกระดับเป็นร่างกฎหมายว่าด้วยแร่ฉบับประชาชน ขึ้นมาเพื่อนำเสนอต่อรัฐเพื่อให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายแร่ใหม่ทั้ง ฉบับ ทิศทางที่ 2 ร่างกฎหมายแร่ฉบับฉบับประชาชนคนรากหญ้า นั้นมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์จากการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่และภาษี ให้มีความสอดคล้องกับความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของประชาชนที่สูญเสียไป เพราะปัจจุบันนโยบายแร่ของรัฐมุ่งเน้นแต่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นหลักภายใต้กรอบวัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบ GDP แต่ เพียงด้านเดียว นั่นแสดงว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐไทยเน้นให้สิทธิกลุ่มนายทุนในการตักตวง กอบโกย มากกว่าปกป้องเศรษฐกิจแบบปากท้องคนจน เป็นสำคัญ ทิศทางที่ 3 ปรับโครงสร้างกลไกการควบคุม ตรวจสอบ อาทิเช่น แก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA and EHIA) ใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีลู่ทางเรียกร้อง ยุติ หรือ ระงับได้ หากพิสูจน์ได้ว่ามีผลกระทบชัดเจน และเพื่อให้รัฐไทยมีธรรมาภิบาลและเป็นประชาธิปไตยมากกว่าที่เป็นอยู่ใน ปัจจุบันนี้ รวมทั้งผลักดันให้เกิดองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เป็นอิสระจาก การครอบงำจากรัฐมากกว่าที่เป็นอยู่นี้ ซึ่งองค์กรอิสระฯ ดังกล่าว จะต้องทำหน้าที่ติดตาม กำกับ ดูแล ควบคุมมลพิษต่าง ๆ รวมทั้งสามารถฟ้องร้องคดีเอาผิดจากรัฐและผู้ประกอบการต่อการปล่อยปละละเลย ให้เกิดผลกระทบขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชน ทิศทางที่ 4 รัฐต้องมีสถาบันให้ความดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษในอุตสาหกรรม เหมืองแร่อย่างดี เพราะที่ผ่านๆ มารัฐทอดทิ้ง ไม่ควบคุม ตรวจสอบ แถมบางพื้นกลับข่มขู่ชาวบ้านที่เดือดร้อนเสียด้วยซ้ำ และนอกจากนั้น รัฐ จะต้องมีกองทุนสนับสนุนผู้เสียหาย ฟื้นฟู รักษาเยียวยาทั้งระยะสั้น ระยะยาว โดยโครงสร้างองค์กรนี้นั้นจะต้องมีบุคลากรจากหลายภาคส่วน รวมถึงนักสิทธิมนุษยชนและตัวแทนชาวบ้านที่เดือดร้อนด้วย ทิศทางสุดท้าย คือทิศทางที่ 5 รัฐต้องพัฒนาองค์ความรู้ ศึกษาวิจัย แหล่งทรัพยากรแร่ของประเทศชาติประชาชนให้ชัดเจน โดยเฉพาะนโยบาย การกำหนดแหล่งหินแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมจะต้องให้สอดคล้อง กับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ และไม่ขัดกับหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เนื่องจากนโยบายดังกล่าวสร้างปัญหาและผลกระทบให้เกิดขึ้นกับชุมชนหลาย พื้นที่ สาเหตุเพียงแค่กำหนดแหล่งหินแหล่งแร่ไม่สอดคล้องต่อบริบท สังคม วัฒนธรรมและธรรมชาติทางระบบนิเวศ อาทิ บริเวณพื้นที่ป่าต้นน้ำ ที่สาธารณประโยชน์ ป่าใช้สอย แหล่งท่องเที่ยว แหล่งโบราณวัตถุ โบราณสถาน แหล่งอนุรักษ์ด้านศิลปวัฒนธรรมและโบราณคดี และแหล่งชีวธรณีวิทยาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เพื่อการศึกษา เป็นต้น ดังนั้น ขบวนการคนจนคนรากหญ้าจึงสรุปแนวความคิดทิศทางเบื้องต้นมา 5 ทิศ ทางเพื่อยื่นให้รัฐได้ทบทวนพิจารณา ทบทวนแก้ไขตามลำดับความสำคัญเพื่อให้การพัฒนาประเทศโดยรัฐนี้นั้นได้นำมาสู่ ความสุข เสมอภาคและเป็นธรรมในสังคมโดยทั่วกัน....05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม