3 ปี กับการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

1136 09 Jan 2013

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) ฝ่ายวิชาการโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ Shukur2003@yahoo.co.uk ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิของพระองค์ผู้ทรงอภิบางแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน โครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นโครงการพัฒนาชุมชนด้วยการใช้กระบวนการชูรอในการออกแบบพัฒนาชุมชนโดยมีเครือข่ายจังหวัดชายแดนใต้เป็นเจ้าภาพในการดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 12 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2552 ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กระบวนการชูรอ หมายถึง การประชุมปรึกษาหารือเพื่อหามติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะในพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับศาสนบัญญัติ ในแต่ละตำบลที่เข้าร่วมโครงการจะมีคณะทำงานชุดหนึ่งเรียกว่าสภาชูรอตำบลสุขภาวะ โดย คณะทำงานชุดนี้จะได้รับการสรรหาจากหลากหลายองค์กร ในตำบลของตนเอง (ผู้นำศาสนา ท้องถิ่น ท้องที่ สตรี เยาวชน ข้าราชการและอื่นๆ ) โดยใช้กระบวนการชูรอในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะในพื้นที่เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังนี้ 1 เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเรียนรู้ที่ตอบสนอง ขบวนการพัฒนาของชุมชนท้องถิ่น 2 เพื่อสนับสนุนให้เกิดระบบการจัดการสุขภาวะชุมชนโดยชุมชน 3 เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดเครือข่ายตำบลสุขภาวะด้วยวิถีศาสนธรรมกับการพัฒนา 4 เพื่อสร้างองค์ความรู้การสร้างเสริมสุขภาวะที่เกิดจากการปฏิบัติการในพื้นที่ 5 เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะชุมชนท้องถิ่นที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน ซึ่งจากการได้ดำเนินโครงการตลอดสามปี คณะทำงานได้ดำเนินงานผ่านกิจกรรมตาม 4 แผนงานหลัก ดังนี้ แผนงานที่ 1 การพัฒนาศักยภาพพื้นที่ โครงการได้พัฒนาตำบลโล๊ะจูด ให้มีความสามารถในการเป็นตำบลต้นแบบในการถ่าย ทอดประสบการณ์ ให้กับตำบลสมาเครือข่าย โดย 1. รวบรวมองค์ความรู้การจัดการสุขภาวะชุมชน และการพัฒนาสุขภาวะในประเด็นต่างๆ จากการปฏิบัติจริง 2. พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม 3. จัดทำสื่อการเรียนรู้ ประกอบด้วย (1) แผ่นพับ (2) ไวนิล (3) หนังสือคู่มือการจัดอบรมของแหล่งเรียนรู้ 4. เสริมศักยภาพผู้นำการจัดการสุขภาวะชุมชน แผนงานที่ 2 แผนงานการพัฒนาเครือข่าย ได้มีการดำเนินกิจกรรมดังนี้ 1) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างตำบลต้นแบบ(ตำบลโล๊ะจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส) และตำบลเครือข่าย (20 ตำบล) ในประเด็นการขับเคลื่อนตำบลสุขภาวะด้วยกระบวนการชูรอ 2) 40 ตำบลที่เข้าร่วมโครงการศึกษาดูงานและเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงในตำบลสุขภาวะเทศบาลตำบลปริก 3.) ตำบลเครือข่ายออกแบบและขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะชุมชน 4.) การติดตาม นิเทศ และให้คำปรึกษาแก่ตำบลเครือข่ายเพื่อให้แต่ละตำบลสามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามแผนและแก้ปัญหาที่ได้เกิดขึ้น พร้อมทั้ง เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายตำบลสุขภาวะทั้ง 20 ตำบล แผนงานที่ 3 แผนงานการวิจัยเพื่อการพัฒนาชุมชนโดยชุมชน ได้มีการดำเนินกิจกรรมดังนี้ แผนงานที่ 3 แผนงานการวิจัยเพื่อพัฒนาชุมชนโดยชุมชน ได้มีการดำเนินกิจกรรมดังนี้ 1) การประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดการความรู้เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “กระบวนการชูรอกับการขับเคลื่อนตำบลสุขภาวะ” ปีละ3 ครั้ง 2). ถอดบทเรียนสภาชูรอตำบลสุขภาวะ กรณีศึกษา 20 ตำบลเครือข่าย แผนงานที่ 4 การสื่อสารต่อสังคม. ได้มีการจัดทำสื่อเผยแพร่กับสังคมทั้งภายในและนอกเครือข่าย โดยการจัดทำสื่อจัดทำสื่อพื้นบ้านที่เหมาะสมกับการใช้ในแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่ใช้ในกระบวนการเรียนรู้ เช่น จดหมายข่าวไทยมลายู ปฏิทินเดือนรอมฎอน PowerPoint ต่างๆ เช่น “กระบวนการชูรอกับการขับเคลื่อนตำบลสุขภาวะกรณีศึกษาตำบลโล๊ะจูด” , PowerPoint การจัดการความรู้เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “การถอดบทเรียนสภาชูรอกับการขับเคลื่อนตำบลสุขภาวะ” เว็ปไซด์ chaidentai.net นอกจากนี้ยังได้จัดทำและ เฟสบุคส์ นักวิจัยชุมชนhttp://www.facebook.com/#!/profile.php?id=100002030595757 บล็อก ฝ่ายวิชาการ http://www.oknation.net/blog/shukur แผ่นพับเรื่องต่างๆของ กระบวนการชูรอกับสร้างชุมชนสุขภาวะในตำบลต่างๆ, หนังสือวิชาการต่างๆของแต่ละตำบล ตลอดจนมีการจัดส่งข้อมูลการพัฒนาให้กับสื่อต่างๆ ได้เผยแพร่ให้กับสังคมได้รับรู้ เช่น เว็บไซด์ต่างๆ เช่น isranews.org thaingo.org โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ บทความวิชาการต่างๆเกี่ยวกับการขับเคลือนโครงการ ในเว็ปไซด์ประชาไท ศูนย์อินโดจีนศึกษา ในวารสารอินโดจีนศึกษาของมหาวิทยาลัยบูรพา สถาบันข่าวอิศรา เป็นต้น สำหรับการถอดบทเรียนการดำเนินงาน กรณีศึกษา 20 ตำบลเครือข่าย ได้ผลสรุปจากการถอดบทเรียนเป็นประเด็น พบว่า เงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้การดำเนินงานของสภาชูรอตำบลสุขภาวะ แต่ละตำบล ที่สามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้นั้น ปรากฏว่าองค์ประกอบที่สำคัญของการดำเนินต้องมีส่วนประกอบทั้งหมด 5 ส่วนด้วยกัน คือ องค์กรที่ทำงานร่วมประเด็นสภาชูรอตำบลสุขภาวะ กิจกรรมขับเคลื่อนการดำเนินงาน เครื่องมือและกลไกในการทำงาน กระบวนการทำงาน พื้นที่หรือกลุ่มเป้าหมาย สุดท้ายจึงจะ เกิดผลลัพธ์ที่กลายเป็นความภาคภูมิใจในการดำเนินงานของสภาชูรอตำบลสุขภาวะ โดยองค์กรร่วมขับเคลื่อนจะเป็นตัวหลักที่จะขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมการดำเนินงานของสภาชูรอตำบลสุขภาวะ โดยอาศัยเครื่องมือและกลไก กระบวนการทำงาน และพื้นที่หรือกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะทำให้เกิดผลลัพธ์ ดังภาพที่ปรากฏอยู่นี้ จากการดำเนินงาน 3 ปีที่ผ่าน ทางคณะวิจัยชุมชน คณะทำงานโครงการและตำบลเครือข่ายได้สรุปข้อเสนอนโยบายสาธารณะร่วมกันในเวทีระดับประเทศ 7 ข้อ คือ 1. ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อการบริหารจัดการและการมีส่วนร่วม 2. ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อการจัดสวัสดิการสังคมโดยชุมชน 3. ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อเด็กและเยาวชน 4.ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5.ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อเกษตรกรรมยั่งยืน 6.ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อระบบการดูแลสุขภาพชุมชน 7. ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อการจัดการภัยพิบัติ ในขณะที่ข้อเสนอนโยบายสาธารณะอันเนื่องมาจากผลของการขับเคลื่อนโครงการด้วยกระบวนการชูรอ สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้นมี 6 ข้อ ดังนี้ 1. ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อการบริหารจัดการแบบการมีส่วนร่วมด้วยกระบวนการชูรอ 2. การศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้และภาษามลายูสู่ประชาคมอาเซี่ยน 3. ศาสนทานและซะกาต : สวัสดิการสังคม โดยชุมชน 4. อาชีพที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน 5. การป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดด้วยวิถีศาสนธรรมโดยชุมชน 6. พลังงานทางเลือกและการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยชุมชน รายละเอียดพอสังเขป ข้อเสนอนโยบายสาธารณะอันเนื่องมาจากผลของการขับเคลื่อนโครงการด้วยกระบวนการชูรอ สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ข้อที่2-6) 2. การศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้และภาษามลายูสู่ประชาคมอาเซี่ยน การศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชาติ เพราะการศึกษาเปรียบเสมือนดวงประทีปส่องนำชีวิต เป็นประตูของความสำเร็จ และเป็นกุญแจแห่งอารยธรรม ดังนั้นจึงไม่มีประชาชาติใดในโลกอันกว้างใหญ่นี้ที่ปฏิเสธความสำคัญของการศึกษา เพราะต่างตระหนักดีว่า พวกเขามิอาจจะดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างสงบสุขหากปราศจากการศึกษา ความจริงการศึกษานั้นไม่เพียงแต่จะมีความจำเป็นต่อมนุษย์เท่านั้น หากแต่ยังมีความสำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสรรพสิ่งทั้งมวลไม่ว่า สัตว์ สิ่งของรวมทั้งจักวาลด้วยเพราะอันเนื่องมาจากการศึกษาของมนุษย์นี้แหละทำให้โลกนี้สงบสุขหรือเกิดความหายนะ อัลลอฮฺได้ดำรัส “ความเสียหายได้เกิดขึ้นทั้งบนบกและในน้ำเป็นผลจากน้ำมือของมนุษย์ เพื่อพระองค์จะให้พวกเขาได้ลิ้มรสในบางส่วนที่พวกเขาได้ก่อไว้ โดยหวังที่จะให้พวกเขากลับเนื้อกลับตัว” (อัลกุรอาน ; 30 : 41) สำหรับการศึกษาชายแดนใต้นั้นในการแก้ไขปัญหาการจัดการศึกษาในสถานการณ์ความไม่สงบที่กำลังยกระดับความรุนแรงอยู่อย่างต่อเนื่องในขณะนี้นั้น จำเป็นที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับงานการจัดการศึกษาในพื้นที่ จะต้องใช้สติ และความรอบคอบในการจัดการกับปัญหามากเป็นพิเศษและต้องเข้าใจ เข้าถึงวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ดังนั้นหากการจัดการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมและไม่ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่เป็นรากเหง้าของปัญหาไม่สงบในพื้นที่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น จาการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้แนวคิดสภาชูรอตำบลสุขภาวะพบว่าการศึกษาควรสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้และภาษามลายูคือกุญแจสู่ประชาคมอาเซี่ยนซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 1. การศึกษาบูรณาการอิสลามคือ การจัดการศึกษาที่นำเอาหลักการของศาสนาอิสลามมาใช้เป็นปรัชญาออกแบบการจัดการศึกษาและกำหนดวิธีการในกระบวนการจัดการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนเกิดศรัทธายึดมั่นและปฏิบัติตนตามหลักศาสนา โดยนำองค์ความรู้ต่างๆ ที่หลากหลาย มาหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน สอดคล้องตามหลักของศาสนาอิสลามในทุกสาระวิชาและนำไปสู่การดำรงชีวิตในพหุสังคมได้อย่างเหมาะสมเช่นการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนรุ่งโรจน์วิทยา ตำบลบ้านนาอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา การศึกษาปฐมวัยของศูนย์เด็กเล็กตำบลสะดาวา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอัลฟาตอนะ เทศบาลตำบลบุดี อำเภอเมืองจังหวัดยะลา 2. อิสลามศึกษาเพื่อวิถีชีวิตมุสลิม ของโรงเรียนในชมรมตาดีกาตำบลอาซ่อง อำเภอรามัน จังหวัดยะลาและชมรมตาดีกาเทศบาลตำบลบุดี 3. การศึกษาอัลกุรอานด้วยหลักสูตรกิรออาตีสำหรับเด็กเช่นของตำบลอาซ่อง อำเภอรามัน จังหวัดยะลาและการศึกษาอัลกุรอานด้วยหลักสูตรกิรอาตีสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ของเทศบาลตำบลบุดี การศึกษาอัลกุรอานด้วยหลักสูตรกอรี มุร๊อตัล และฮาฟิซ หรือ ท่องจำอัลกุรอานของศูนย์อัลกุรอานโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ (QLCC) การศึกษาศาสนาอิสลามสำหรับเยาวชนและผู้ใหญ่ประจำมัสยิดต่างๆและการศึกษาเพื่อผลิตผู้รู้ด้านศาสนาตามสถาบันปอเนาะต่างๆ 4. การถ่ายทอดความรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเรื่องปาตานีของมัคคุเทศก์ผู้ใหญ่และเด็กของตำบลบาราโหม อำเภอเมืองจังหวัดปัตตานี 5. การสอนภาษามลายูในหลักสูตรอิสลามศึกษาศูนย์อบรมประจำมัสยิด โรงเรียนตาดีกา ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนของรัฐและเอกชนสอนศาสนาอิสลาม อันเนื่องมาจากว่าประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกของสมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นประชาคมที่มีความหลากหลายทางภาษาและชาติพันธุ์ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับประชาคมอื่นในองค์การระหว่างประเทศด้วยกันที่มีอยู่ขณะนี้ แม้ว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการของประชาคมอาเซียนในการติดต่อสื่อสารอย่างเป็นทางการก็ตาม ประชากรส่วนใหญ่ของประชาคมก็เป็นกลุ่มประชากรที่มีภาษามลายูเป็นภาษาที่หนึ่งอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไนดารุสสลาม ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและพูดภาษามลายูเป็นภาษาที่หนึ่ง และบางส่วนในสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ พม่า กัมปงจามในเขมร และจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยซึ่งมีการใช้ภาษามลายูในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ภาษามลายูมีความสำคัญในประชาคมอาเซียนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในมิติของประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ากลุ่มประชากรที่ใช้ภาษามลายูในการสื่อสารในชีวิตประจำวันเหล่านี้มีรากเหง้าเดียวกันทางภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิตอันจะส่งผลต่อการเสริมสร้าง หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคมของอาเซียน ให้บรรลุตามเป้าหมายที่ได้วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป จะเห็นได้ว่า การดำเนินงานโครงการของสภาชูรอตำบลสุขภาวะ เป็นกระบวนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนโดยใช้กระบวนการชูรอตามวิถีศาสนธรรมเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนตำบลสุขภาวะในการจัดการกับปัญหาและพัฒนาชุมชน โดยมีแกนนำจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดพลังร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งอาจจะกล่าวได้หากผู้นำพร้อม ชุมชนพร้อมและมีการจัดการการความรู้ที่ดีก็จะเป็นกุญแจสู่ตำบลสุขภาวะที่น่าอยู่ด้วยการจัดการตนเอง และระเบิดจากภายใน ซึ่งสอดคล้องกับพระดำรัสของอัลลอฮฺ ซึ่งได้โองการไว้ “แท้จริงอัลลอฮฺจะมิทรงเปลี่ยนแปลงสภาพของชนกลุ่มใด จนกว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงสภาพของพวกเขาเอง ” (อัลกุรอาน ; 13 : 11) 3. ศาสนทานและซะกาต : สวัสดิการสังคม โดยชุมชน สวัสดิการสังคมโดยชุมชน คือ การสร้างหลักประกันเพื่อความมั่นคงของสังคมในชุมชนโดยชุมชน ซึ่งหมายรวมถึงทุกอย่างที่จะทำให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งในรูปของสิ่งของ เงินทุน น้ำใจ การช่วยเหลือเกื้อกูล เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย โครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะซึ่งใช้แนวคิดสภาชูรอในการสร้างสุขภาวะชุมชนพบว่า สังคมมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนหลากหลายรูปแบบในนามศาสนทานเช่น กองทุนสวัสดิการประจำมัสยิดประจำชุมชนซึ่งรายได้หลักมาจากการบริจาคทุกวันศุกร์ วันอีดทั้งสอง ค่ำคืนรอมฎอน กองทุนปากัตตันมัยยิต (กองทุนช่วยเหลือการจัดการศพประจำมัสยิดหรือชุมชน) กองทุนเด็กกำพร้าและอนาถา กองทุนการศึกษาของสถาบันการศึกษาต่างๆโดยเฉพาะกองทุนช่วยเหลือการสอนศาสนาให้กับเด็กๆในชุมชนที่เรียกว่าศูนย์อบรมประจำมัสยิดหรือตาดีกาของตำบลทุ่งพอ อำเภอสะบ้าย้อย ที่นำรายได้จากบ่อตกปลาของหมู่บ้านและเมื่อรายได้ไม่พอชาวบ้านร่วมจัดงานหารายได้เพื่อเป็นกองทุนแก่กองทุนดังกล่าว กองทุนสร้างศาสนสถาน (มัสยิด สถานที่ละหมาดและสถาบันสอนศาสนาอิสลาม) ซึ่งรายได้หลักมาจากการจัดงานหารายได้ในแต่ละครั้ง กองทุนผู้สูงอายุโดยเฉพาะตำบลมะรือโบออก ตำบลเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ที่ชุมชนร่วมกันบริจาคร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งสอดคล้องกับพระดำรัสของอัลลอฮฺ ในอัลกุรอานซูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮ อายะฮฺที่ 26 1 ความว่า “ อุปมาบรรดาผู้บริจาคทรัพย์ของพวกเขาในหนทางของอัลลอฮฺ นั้น ดังอุปมัยเมล็ดพืชเมล็ดหนึ่งที่งอกขึ้นเป็นเจ็ดรวงซึ่งแต่ละรวงนั้นมีร้อยเมล็ด และอัลลอฮฺ นั้นจะทรงเพิ่มพูนแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และพระองค์นั้นผู้ทรงกว้างขวางผู้ทรงรอบรู้ ” และที่สำคัญที่สุดอันเป็นทานบังคับคือ กองทุนซะกาตเพื่อสวัสดิการชุมชนของมัสยิดแต่ละชุมชน ซึ่งโองการที่ 103 ซูเราะห์ อัตเตาบะฮ กล่าวไว้ "จงรับเอาซะกาตจากสมบัติของพวกเขา เพื่อเจ้า (มุฮัมมัด) จะได้ชำระพวกเขาให้สะอาดและขัดเกลาพวกเขา (ด้วยทานนั้น)" มีการกล่าวถึง คำซะกาต ไว้ในอัลกรุอานถึง 30 ครั้ง กล่าวควบคุมกับคำนมาซไว้ในโองการเดียวกันถึง 27 ครั้ง กล่าวควบคู่กับคำนมาซไว้ในโองการเดียวกันถึง 27 ครั้ง จาก 30 ครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มออมทรัพย์ต่างๆที่ใช้แนวคิดศาสนทานและซะกาตเช่นกลุ่มออมทรัพย์อมานะ ของตำบลสะกอมซึ่งดำเนินกิจกรรมหลากหลายเช่น หนึ่งบริการเงินฝากเพื่อการลงทุน (มุฎอรอบะฮฺ) สอง บริการเป็นตัวแทนซื้อขายสัตว์พลีเพื่อทำกุรบาน ข้าวสารฟิตเราะหฮฺ และข้าวสาร ฟิดยะฮ์สาม บริการเงินยืมไม่คิดกำไรเพิ่ม(ก็อรฺดุลฮะซัน) เฉพาะสมาชิกเท่านั้น 1) เงินยืมเพื่อการศึกษา2) เงินยืมเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพครูสอนศาสนาอิสลาม 3) เงินยืมเพื่อการรักษาพยาบาล4) เงินยืมเพื่อครองเรือน5) เงินยืมฉุกเฉินเฉพาะหน้า เช่น ในกรณีน้ำท่วมไฟไหม้ เป็นต้น สิ่งเหล่านนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่เป็นศาสนทานและซะกาต สู่ สวัสดิการสังคม โดยชุมชน "และอันใดที่สูเจ้าจ่ายเป็นส่วนเกินก็คือดอกเบี้ย เพื่อมันจะได้เพิ่มแก่ทรัพย์สินของมนุษย์ ดังนั้นมันไม่เพิ่มในทรรศนะของอัลลอฮฺ แต่อันใดที่สูเจ้าจ่ายเป็นซะกาต (เงินบริจาค) โดยสูเจ้าหวังในความโปรดปรานแห่งอัลลอฮฺ ฉะนั้นพวกเขาคือผู้ได้รับ (การตอบแทน) ทวีคูณ” นี่คือความสำคัญของศาสนทานและซะกาตซึ่งจึงก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อส่วนบุคคลและสังคมส่วนรวม กล่าวคือ ประโยชน์ต่อตัวผู้ให้ ช่วยขัดเกลาจิตใจให้สะอาดหมดจดจากความตระหนี่ถี่เหนียว ซึ่งเป็นมลทินที่เกาะกินจิตใจให้สกปรกและหยาบกระด้าง ขณะเดียวกันก็เป็นการซักฟอกทรัพย์สินที่หามาได้ให้สะอาดบริสุทธิ์ ด้านประโยชน์ต่อสังคมเมื่อมีการจ่ายทานโดยเฉพาะจากผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีให้คนจน คนขัดสน หรือคนมีหนี้สิน ถือเป็นการจัดสรรทรัพยากรประการหนึ่ง เป็นการกระจายรายได้ประการหนึ่ง เพราะช่วยสร้างอำนาจการซื้อให้แก่คนที่ไม่มีอำนาจการซื้อ เมื่อคนในสังคมมีอำนาจซื้อ ก็จะส่งผลให้ร้านค้าสามารถรักษาการจ้างงาน เกิดการกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมได้ในระดับหนึ่ง ทั้งยังเป็นสิ่งชำระล้างสังคมให้บริสุทธิ์จากการขัดแย้งระหว่างคนรวยกับคนจน การที่ชุมชนชาวไทยมุสลิมหลายแห่งได้นำหลักการศาสนทานและซะกาตมาช่วยเหลือสังคมที่ตนดำรงอยู่ ทำให้ทรัพย์สินซึ่งเป็นศาสนทานและซะกาตได้ถูกแจกจ่ายไปเพื่อให้ความช่วยเหลือ แก่คนยากจน คนขัดสน และบุคคลผู้มีสิทธิได้รับตามศาสนบัญญัติได้อย่างแท้จริง เต็มที่และทั่วถึง ก่อให้เกิดสวัสดิการแบบพึ่งตนเอง ชุมชนช่วยเหลือคนภายในชุมชนตนเองตามหลักแนวคิดสวัสดิการชุมชน นำไปสู่การเป็นชุมชนเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ และอยู่ได้อย่างยั่งยืน 5. การป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดด้วยวิถีศาสนธรรมโดยชุมชน สำหรับวิกฤติยาเสพติดที่ระบาดอย่างหนักในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สารเสพติดที่ใช้เสพ ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำใบกระท่อม หรือที่รู้จักกันในนาม “สี่คูณร้อย” และยาบ้า ใครที่ติดตามข่าวสารจากภาคใต้อย่างเกาะติดจะทราบดีว่า มีการจับกุมใบกระท่อม ยาแก้ไอ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของ “สี่คูณร้อย” จำนวนมาก แทบไม่เว้นแต่ละวัน และยาบ้าก็นับล้านเม็ด ความรุนแรงของปัญหาถึงขนาดมีปรากฏใน “รายงานลับ” บนโต๊ะทำงานของนายตำรวจระดับสูงที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติในส่วนกลาง ที่ระบุถึงสถานการณ์ของปัญหา และเส้นทางการส่งวัตถุดิบทั้งใบกระท่อม ยาแก้ไอ ยาบ้า เข้าไปในพื้นที บางส่วนของเอกสารลับ เป็นรายงานการสืบสวนที่พบว่า วัตถุดิบเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกส่งเข้าไปจากนอกพื้นที่ในรูปแบบต่างๆ ปัญหาเหล่านี้ได้สร้างปัญหาเป็นอย่างมากต่อชุมชนเพราะได้ทำลายเยาวชนในหมู่บ้านอันจะเป็นบุคลากรที่จะมาทดแทนผู้ใหญ่ในอนาคตจึงทำให้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นบิดามารดาครูผู้ปกครององค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน ตลอดจน สื่อมวลชนต่างก็ให้ความสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วม ในการ ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด จากการดำเนินงานของสภาชูรอตำบลสุขภาวะในโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะในพื้นจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีมติของสภาชูรอที่ใช้วิธีที่หลากหลายโดยเฉพาะศาสนธรรมในการแก้ปัญหาเช่น บ้านลางา หมู่ที่ ๗ ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาได้ร่วมกันจัดแก้ปัญหายาเสพติดด้วยกระบวนการชูรอทำกฎของหมู่บ้านขึ้น ด้วยให้ภาครัฐเข้ามาร่วมมือด้วยกล่าวคือ เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๓ ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา นายประสิทธิ์ วิสุทธิ์ จินดาภรณ์ นายอำเภอจะนะ เป็นประธานอบรมคณะกรรมการประจำหมู่บ้าน และร่วมลงนามประกาศสัตยาบันร่วมกันใช้กฎเกณฑ์ของหมู่บ้าน ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่โดยองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านนาจัดขึ้นโดยได้ชี้แจงทำคามเข้าใจแก่แกนนำหมู่บ้าน ซึ่งประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อิหม่าม คณะกรรมการมัสยิด คณะกรรมการหมู่บ้าน ชรบ. และ อสม.ทุกหมู่บ้าน เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ผู้นำตระหนักถึงความสำคัญ และพิษภัยของยาเสพติดและนำเข้าสู่กระบวนการสืบค้นข้อมูลผู้ติดยาเสพติด กระบวนชูรอของพวกเรา จึงเป็นวิธีการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในชุมชนโดยการใช้ประชาคมมุสลิมเป็นพลังทางสังคมแล้วนำพลังทางสังคมเป็นกลไกในการสร้างกระแสต่อต้านยาเสพยติดโดยใช้หลักการของศาสนาที่ทุกคนนับถือยึดเหนี่ยวมาเป็นกฎเกณฑ์ของชุมชนในการบังคับใช้มีการไต่สวนมีมาตรการลงโทษทางสังคมเพื่อให้กลุ่มติดยาเสพติดเลิกยาเสพติดเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันซึ่งให้ชุมชนร่วมกันรับผิดชอบสังคมหรือชุมชนกันเองโดยคัดเลือกคณะกรรมการ ประจำหมู่บ้านๆ ละ ๒ คน จากนั้นจะจัดทำเอกสารพร้อมทั้งป้ายติดตั้งประจำมัสยิดและจัดพิธีประกาศเจตนารมณ์ต่อสู้กับยาเสพติดในลำดับต่อไป สำหรับผู้ติดยาบางท่านที่คิดกลับใจ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านนาจะส่งไปบำบัด ณ ศูนย์บำบัดร่วมกับการออกค่ายดะวะห์สัญจรเพื่อใช้ศาสนาในการเสริมจิตวิญญาณ สำหรับตำบลมะรือโบออก อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาสใช้กีฬาบูรณาการอิสลามแก้ปัญหายาเสพติดเยาวชน โดยผู้ที่จะเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาของตำบลต้องเข้าศาสนธรรมก่อนสามวัน ในขณะที่เทศบาลบุดีอำเภอเมืองจังหวัดยะลาใช้ค่ายดะหวะห์สัญจรแก่เยาวชนในการสร้างจิตสำนึก แต่ตำบลบาราโหมใช้อาชีพการแกะสลัก หรือฉลุไม้และหลักศาสนาเพื่อไม่ให้เยาวชนว่างงาอันจะนำไปสู่การรวมกลุ่มเสพยาเสพติด นี่เป็นส่วนหนึ่งของแต่ละตำบลที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหายาเสพติดด้วยวิถีศาสนธรรมผ่านกระบวนการชูรอหรือร่วมคิดของชุมชนอันเป็นก้าวแรกในการช่วยการแก้ปัญหายาเสพติดที่ยากแก้การแก้ปัญหา ซึ่งเป็นทุนทางสังคมในการร่วมกันแก้ปัญหาจากทุกฝ่ายทั้งป้องกัน ปราบปราม บำบัด 6. พลังงานทางเลือกและการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยชุมชน วิกฤตการณ์ธรรมชาติของประเทศไทยและจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมากมายเช่นผลกระทบต่อองค์ประกอบที่มีชีวิตของระบบนิเวศการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ในการผลิต การบริโภค ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังได้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลไปจำนวนมหาศาล สร้างผลกระทบต่อองค์ประกอบที่ไม่มีชีวิตของระบบนิเวศ เช่น (1)อุณหภูมิสูงขึ้น เนื่องจากการพัฒนาอุตสาหกรรม การใช้เชื้อเพลิงของยานพาหนะ การลดลงของพื้นที่ป่าไม้ (2) อากาศเป็นพิษ (3) ภูมิสภาพเปลี่ยนแปลง กิจกรรมการเกษตร การทำเหมืองแร่ การดูดทราย การปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การท่องเที่ยว การอยู่อาศัย ฯลฯ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ วิกฤตเหล่านี้มาจากน้ำมือของมนุษย์หรือคนในชุมชนทั้งสิ้นซึ่งพระเจ้าได้ย้ำเตือนไว้ “การบ่อนทำลาย ได้เกิดขึ้นทั้งทางบกและทางน้ำ เนื่องจากการกระทำด้วยน้ำมือของมนุษย์” ( อัลกุรอาน 30 : 41 ) จากการดำเนินงานโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้โดยใช้กระบวนการชูรอพยายามเข้ามาแก้ปัญหาซึ่งพบว่ามีหลายตำบลพยายามสร้างกิจกรรมในการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่นตำบลโล๊ะจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส มีการน้ำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เป็นพลังงานทดแทน การทำก๊าซชีวภาพ ตำบลสะกอมอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาและตำบลสุคีริน อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส มีการนำมูลวัวที่มีอยู่มากในชุมชนทำเป็นก๊าซชีวภาพ ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ทำปุ๋ยชีวภาพจากมูลไก่ การจัดการขยะในโรงเรียนและชุมชนของสภาชูรอตำบลอาซ่อง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ตำบลปะลุกาสาเม๊าะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ตำบลนาทวี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา และเกษตรอินทรีปลอดสารพิษของตำบลปะลุกาสาเม๊าะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส และตำบลบาราโหม อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของชุมชนในการนำพลังงานทดแทนต่างๆและจัดการสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นที่ยังต้องยังต้องการความช่วยเหลือจากทุกกภาคส่วนในการหนุนเสริมเพื่อสุขภาวะชุมชนอย่างยั่งยืน และขณะเดียวกันได้นำหลักการของศาสนาอิสลามเข้ามาเป็นหลักคิดใน สรรพสิ่งที่พระเจ้าได้สร้างไว้เพื่ออำนวย ประโยชน์แก่มวลมนุษย์หากรู้จักใช้สติปัญญาในการบริหารจัดการดั่งที่อัลลอฮ์ ได้โองการว่า ความ ว่า แท้จริงในการบันดาลชั้นฟ้าและแผ่นดิน และการสับเปลี่ยนกลางคืนและกลางวัน และนาวาที่วิ่งอยู่ในทะเลนำมาซึ่งสิ่งที่อำนวยคุณประโยชน์แก่มวลมนุษย์ และน้ำฝนที่หลั่งมาจากฟากฟ้าและพระองค์ได้ใช้มันชุบชีวิตแก่แผ่นดินภายหลัง จากมันได้ตายไปแล้ว และทรงบันดาลสัตว์ทุกชนิดให้แพร่กระจายหน้าแผ่นดิน และการผันแปรของลมและเมฆที่ถูกควบคุม(ให้พัดลอย) ระหว่างฟ้ากับดินเหล่านั้น ย่อมเป็นสัญลักษณ์สำหรับผู้ที่ใช้สติปัญญาตรึกตรอง ( อัลบะกอเราะห์ : 164) และมันยังเป็น ภารกิจหลักของมุสลิม และทุกคนคือการเอื้ออำนวยให้เกิดระบบและกระบวนการสันติสุขบนโลกนี้ที่สามารถสัมผัสได้ในชีวิตจริง ซึ่งถือเป็นเจตนารมณ์อันสูงส่งของศาสนธรรม ดังอัลกุรอานได้กล่าวไว้ “และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด นอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่สากลจักรวาล”( อัลกุรอาน21: 107) ---------------------------------------------------------- หมายเหตุ 1. ดูภาพประกอบการนำเสนอของผู้เขียนในเวทีสัมมนาวันที่3 พฤษภาคม 2555 ณ โรงแรมซีเอส ปัตตานีhttps://www.facebook.com/photo.php?fbid=431002903578445&set=a.263488950329842.73660.100000062169141&type=1&theater 2. ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ www.chaidentai.net 3. แผ่นพับกระบวนการชูรอ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=307670902643927&set=a.105699922841027.8168.100002030595757&type=1&ref=nf

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม