SEA กับเหมืองโปแตซอุดรฯ สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์

979 13 Dec 2012

ส่วนใหญ่แล้วเราอาจเคยได้ยิน EIA (Environmental Impact Assessment) หรือ “การศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม” ซึ่งที่ผ่านมาก็ใช้เป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจหรือพิจารณาโครงการพัฒนา ต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชนมาโดยตลอด แต่ปัญหาที่สังคมไทยต้องเผชิญก็คือ EIA เป็น การวิเคราะห์ผลกระทบระดับโครงการ คือ คิดออกแบบโครงการมาเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้ว ว่าต้องทำอย่างนี้ ต้องสร้างที่นี่ มีเทคนิควิธีการผลิตแบบนี้ จะมีของเสียอะไรออกมาบ้าง จะผลิตอะไรมากน้อยเพียงใด ฯลฯ แล้วก็มาดูว่า โครงการที่ออกแบบมานี้ จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร มีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน แล้วพอที่จะแก้ไขได้หรือไม่ ถ้าจะแก้และลดผลกระทบ ต้องมีวิธีการหรือมาตรการอย่างไร อันนี้คือ EIA เช่น จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็ออกแบบมาแล้วว่าจะสร้างที่ไหน กำลังการผลิตเท่าไหร่ ใช้เตาปฏิกรณ์แบบไหน ก็เอามาดูว่าน่าจะมีผลกระทบอะไรบ้าง ก็ไปศึกษา แล้วก็คาดการณ์ตามหลักวิชาการว่าน่าจะเกิดอย่างนั้น อย่างนี้ แล้วก็เสนอวิธีการแก้ไขปัญหาผลกระทบกันไป แต่ถ้าจะถามว่า “ทำไมต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วย” หรือ มีทางเลือกอื่นๆ อีกบ้างไหมในการที่จะหาพลังงานไฟฟ้ามาโดยไม่ต้องทำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เช่น การผลิตจากเชื้อเพลิงชนิดอื่นที่น่าจะปลอดภัยมากกว่าและยุ่งยากในการจัดการ น้อยกว่า อันนี้ล่ะ คือ SEA ดังนั้น ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์จึงเสนอเรื่องนี้กับสาธารณะ เพื่อให้คนอุดรฯ ร่วมกันใช้ SEA เป็นเครื่องมือในการแสวงหาหนทางที่เหมาะสมในการพัฒนาเมืองอุดรฯ ก็เพราะ SEA (Strategic Environmental Assessment) เป็น การวิเคราะห์ผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ หรือการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม เป็นกระบวนการสำคัญในการดำเนินการให้การพัฒนาใดๆ ก็ตาม ได้มีขั้นตอนและกระบวนการที่เป็นธรรม โปร่งใส รอบคอบ มีส่วนร่วม พิจารณาถึงเหตุปัจจัยต่างๆ อย่างรอบด้าน ให้ได้คำตอบว่า “อะไรที่ควรจะทำให้สอดคล้องกับพื้นที่นั้นมากที่สุด บังเกิดความยั่งยืนที่สุด เป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด” โดยยังไม่ได้กำหนดว่า จะต้องทำโครงการอะไร แต่สิ่งที่จะออกมาหลังจากกระบวนการ SEA นี้ ล่ะ น่าจะเป็นโครงการที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เช่น ถ้าเรามีแร่โปแตซอยู่ใต้ดิน 300 ล้านตัน เราจะทำอย่างไรกับมันดี ที่ผ่านมานักลงทุน วิศวกร ส่วนราชการ ก็จะบอกว่า ขุดมันขึ้นมาขายสิ จะได้เงินเยอะๆ เก็บไว้ทำไม ก็ชวนนายทุนมาลงทุน เขาก็ไปออกแบบโครงการมา จะขุดที่ไหน ขุดอย่างไร ผลิตเท่าไหร่ เอาไปขายใคร แล้วก็ไปทำ EIA ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม พอรายงาน EIA ผ่าน ก็ดำเนินการ ก็จะมีรายได้เท่านั้นเท่านี้ หลวงได้เท่านี้ อบต. หรือ อบจ. ในพื้นที่ได้เงินเท่านี้ จะเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยรวมเท่านี้ แต่ชาวบ้านกำลังบอกว่า “ไม่ได้หรอก เพราะมีอีกตั้งหลายวิธีที่จะทำให้คนมีรายได้ มีงาน มีผลประโยชน์จากพื้นที่ หรือทำให้ทรัพยากรในท้องถิ่นของเขาถูกพัฒนาไปในแนวทางที่เหมาะสมที่สุด และเขาควรจะมีส่วนในการกำหนดทางเลือกเหล่านั้นด้วย โดยอาจจะขุดหรือไม่ขุดโปแตซก็ได้” ดังนั้น SEA จึงเป็นกระบวนการที่จำเป็นต้องดำเนินการก่อน EIA ส่วน กระบวนการนี้มันจะออกมาเป็นโครงการอะไรนั้น ก็ให้เป็นเรื่องของวิธีการที่หลากหลาย เพื่อให้หลายๆ ฝ่ายซึ่งต่างมีข้อมูล ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษา พูดคุย ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ เช่น ถ้าจะต้องทำโปแตซ แม้ว่าจะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาก แต่ต้องใช้น้ำเยอะ ใช้พลังงานเยอะ กากขี้เกลือก็เยอะ ฝุ่นเกลือก็เยอะ แล้วพอผลิตได้ก็ส่งไปขายเมืองนอก เอาไปทำปุ๋ยเคมี มันน่าจะมีทางอื่นอีกตั้งหลายทางที่คนอุดรฯ จะช่วยกันคิดอะไรที่มันยั่งยืนกว่านี้ ไม่ต้องเสี่ยงมาก ไม่มีผลกระทบมาก ซึ่งต้องดูตั้งแต่ศักยภาพและนิเวศวัฒนธรรมของพื้นที่ทั้งหมด รวมทั้งความเคลื่อนไหวและข้อมูลต่างๆ ในระดับโลกด้วย ไม่ใช่คิดแต่ว่าต้องขุดโปแตซ เอาไปทำปุ๋ยเคมี ปุ๋ยจะได้ถูก เพราะหากมีใครสวนขึ้นมาว่า “ก็ไม่เห็นจะต้องใช้ปุ๋ยเคมีกันก็ได้ ก็ทำเกษตรอินทรีย์กันทั้งบ้านทั้งเมืองสิ” เสียงนั้นก็ควรค่าแก่การรับฟังพอๆ กับเสียงที่บอกว่าขุดมันขึ้นมาขาย ส่วนใครจะมีข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผลมากกว่ากันนั้นก็ต้องวิเคราะห์ มันไม่ใช่การแพ้หรือชนะ แต่เป็นกระบวนการที่ทำให้คนได้คิดอ่านร่วมกันเพื่อหาทางออกที่ยั่งยืน และต้องเปิดใจกว้างที่จะยอมรับข้อมูลจากทุกๆ ส่วน ถ้า มีอยู่ครอบครัวหนึ่ง พ่อบอกกับแม่และลูกๆ ว่า นายทุนมาชวนลงทุนเลี้ยงหมู เราจะทำโครงการเลี้ยงหมู ดูซิว่าเราจะหารำ หาปลายข้าวที่ไหน ทำคอกที่ไหน น้ำขี้หมูจะจัดการอย่างไร ให้ลูกๆ ช่วยกันคิด แม้จะคิดดีแค่ไหน ก็ต้องเลี้ยงหมู อันนี้ คือ EIA แต่ ครอบครัวหนึ่ง สมาชิกในครอบครัวทั้ง พ่อ-แม่ และลูกๆ ช่วยกันคิดว่า บ้านเราควรจะทำอะไรกันดี ที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับแรงงานและทักษะที่มีอยู่ของแต่ละคน ไม่ทำให้เพื่อนบ้านเดือดร้อน และก็ไปช่วยกันคิด หาข้อมูล แล้วมาร่วมกันตัดสินใจ ซึ่งมันอาจจะเป็นโครงการเลี้ยงหมูหลุม เลี้ยงปลา หรือเพาะถั่วงอกก็ได้ อันนี้ คือ SEA แล้วค่อยมาดูว่า จะทำโครงการอย่างไรให้มีประสิทธิภาพที่สุด และไม่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม