การเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเหมืองแร่โพแทชของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
1660 13 Dec 2012
การ ต่อสู้ของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี บนเส้นทางของการปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ปกป้องวิถีชีวิตชุมชน ตลอดจนปกป้องสิทธิตามธรรมชาติบนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ นับได้ว่าเป็นกระบวนการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนาน หลายฉาก หลายช่วงตอน กินเวลากว่าหนึ่งทศวรรษ ทั้งนี้ บนมิติของกาลเวลาดังกล่าว กลุ่มชาวบ้านได้ปะทะสังสรรค์ในหลายรูปแบบกับกลุ่มคน องค์กร และหน่วยงานที่หลากหลายทั้งฝ่ายเผชิญหน้า หรือเครือข่ายพันธมิตร จนส่งแรงสะเทือนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายมิติบนสนามการเมืองเรื่อง ทรัพยากรธรรมชาติ ที่เลื่อนไหลไปตามสถานการณ์และบริบทแวดล้อมอย่างไม่หยุดนิ่ง ดังนั้น จึงแบ่งช่วงเวลาการต่อสู้ของกลุ่มชาวบ้านออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้
ยุคขยายพื้นที่ทางการเมือง (พ.ศ. 2545-2547)
เป็น การต่อสู้ในช่วงเริ่มต้นซึ่งกลุ่มชาวบ้านมีการรวมตัวกันเป็นองค์กรชาวบ้าน เคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านโครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี โดยมีการชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดเมื่อกลางปี พ.ศ.2544 จนกระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจากโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี ขึ้นตามข้อเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้าน ดังนั้น น้ำหนักของการเคลื่อนไหวในช่วงนี้จึงมีด้วยกัน 3 ประเด็น ได้แก่
1.1) การยับยั้งกระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 ที่กำลังอยู่ในขั้นพิจารณาร่วมของกรรมาธิการสองสภา เนื่องจากกรมทรัพยากรธรณี (ปัจจุบันคือกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม) เป็นหน่วยงานที่นำเสนอร่างกฎหมายฉบับแก้ไขดังกล่าว มุ่งหวังจะปลดล็อคทางกฎหมายเพื่อให้สามารถทำเหมืองแร่ใต้ดินในแดนกรรมสิทธิ์ ของบุคคลอื่นได้ การต่อสู้ในสามประเด็นดังกล่าวได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทว่า สภาผู้แทนราษฎรก็ได้มีการลงมติ ในวันที่ 21 สิงหาคม 2545 ผ่านความเห็นชอบร่างกฎหมายแร่ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ที่แก้ไขจากกรรมมาธิการร่วมกัน และลงประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2545
1.2) ประเด็นเรื่องความไม่ชอบธรรมของกระบวนการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งความบกพร่องของรายงาน ก็เป็นอีกประเด็นในช่วงนั้นที่กลุ่มชาวบ้านได้หยิบยกขึ้นมาเคลื่อนไหวคัด ค้าน เมื่อไม่สามารถยับยั้งกระบวนการแก้ไขกฎหมายแร่ ปี 45ได้ ทำให้ในช่วงปลายปี 2545 คาบเกี่ยวถึงช่วงต้นปี 2546 กลุ่มชาวบ้านได้หันมาเน้นเคลื่อนไหวในเรื่องรายงาน EIA และ สัญญาสัมปทานอย่างเข้มข้น ทั้งการยื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์) ผลของการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ของกลุ่มชาวบ้านจำนวนกว่าหนึ่งพันชีวิต ที่ปักหลักชุมนุมประท้วงอยู่บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2546 ส่งผลให้ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องเดินทางลงพื้นที่เพื่อเจรจายุติปัญหากับกลุ่มชาวบ้านอย่างเร่งด่วน พร้อมกับยอมรับข้อเสนอ และทำเป็นบันทึกข้อตกลงร่วมกัน(ณัฐวุฒิ สิงห์กุล, 2550) ซึ่งในเวลาต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีคำสั่งที่ 72/2546 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2546 แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาร้องเรียนเกี่ยวกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ สิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่โพแทช ขึ้นเพื่อพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในทุกประเด็นใหม่อีกครั้งตาม ข้อตกลงที่ทำไว้กับกลุ่มชาวบ้าน
กระทั่งเข้าสู่ปี 2546 ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และกลุ่มชาวบ้าน ได้พยายามเคลื่อนไหวผลักดันให้รัฐบาลทบทวนและปรับปรุงกลไกการประเมินผลกระทบ ของโครงการเสียใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมในหลายมิติมากยิ่งขึ้นก่อนที่จะมีการตัดสินใจดำเนินโครงการ โดยเฉพาะการเสนอแนะให้รัฐบาลเพิ่มเติมกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ขณะ เดียวกันกลุ่มชาวบ้านยังได้อาศัยช่องทางที่กฎหมายรัฐธรรมนูญเปิดช่องรองรับ สิทธิเอาไว้ให้ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2546 ให้เข้ามาดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในชุมชนท้องถิ่นของโครงการ เหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี และกรมทรัพยากรธรณี (ปัจจุบันคือกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่)อย่างเร่งด่วน (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, 2550)
1.3) การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาสัมปทาน ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับบริษัทเอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) สัญชาติแคนนาดา โดยการชุมนุมครั้งใหญ่ที่หน้ากระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2547 เป็น ผลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในเวลานั้น (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาสัญญาขึ้น เพื่อพิจารณาเงื่อนไขในสัญญาทุกประเด็นใหม่ โดยให้มีตัวแทนของกลุ่มชาวบ้านร่วมเป็นคณะทำงานด้วย และมีผลสรุปว่าสัญญาไม่เป็นธรรม กล่าวคือต่างชาติถือหุ้นมากกว่าคนไทยในสัดส่วนร้อยละ 50 จนนำมาสู่การขายกิจการของบริษัท APPC ให้กับบริษัทอิตาเลี่ยนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด มหาชน (ITD) และมีการแก้ไขสัดส่วนผู้ถือหุ้นในเวลาต่อมา
- ยุคตรึงกำลังในพื้นที่ ปกป้องอู่ข้าวอู่น้ำจากการรุกราน (พ.ศ.2548-ปัจจุบัน)
หลังจากบริษัท APPC ได้ยื่นขอประทานบัตรการทำเหมืองแร่ (แหล่งอุดรใต้) เมื่อปี พ.ศ.2547 การเคลื่อนไหวของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและบริษัท ได้พุ่งเป้ามาที่กระบวนการรังวัดเขตคำขอประทานบัตร พื้นที่โครงการฯ เป็นหลักใหญ่ ในระยะนี้เองได้เกิดการเผชิญหน้าขึ้นบ่อยครั้งระหว่างขบวนการรังวัด (ที่มีฝ่ายข้าราชการ+เจ้าหน้าที่บริษัท+ชาวบ้านกลุ่มสนับสนุน) กับกลุ่มชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ จนเป็นเหตุให้แกนนำกลุ่มชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ รวม 5 คน ถูกบริษัทฟ้องดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ ในปีพ.ศ.2549 แต่ศาลจังหวัดอุดรธานีก็พิพากษายกฟ้องในเวลาต่อมา ด้วยเหตุผลว่ากลุ่มชาวบ้านได้กระทำการเพื่อปกป้องสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ
หลัง จากนั้น กลุ่มชาวบ้านได้เคลื่อนไหวเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และปัญหาความแตกแยกในพื้นที่ ให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมจากทุกภาคส่วนขึ้นใหม่อีกครั้ง เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่โครงการเหมืองแร่ โพแทชอุดรธานีอย่างรอบด้าน ส่งผลให้ระหว่างช่วงปี 2550-2552 รัฐได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นรวมสองชุดกับอีกหนึ่งคณะอนุกรรมการ ทว่าเมื่อมีการดำเนินงานกันไประยะหนึ่ง กลไกการมีส่วนร่วมดังกล่าว กลับถูกกลุ่มชาวบ้าน นักวิชาการ และนักพัฒนาเอกชน โจมตีว่าเป็นกลไกที่มุ่งผลักดันให้เกิดกระบวนการรังวัดปักหมุดระลอกใหม่ มากเสียกว่าการมุ่งแก้ไขปัญหา และแสวงหาทางออกให้เกิดการพัฒนาที่สร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ ชุมชน สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติอย่างแท้จริง และกลายเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่มีส่วนเติมเชื้อให้กับปัญหาความขัดแย้งใน พื้นที่ให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น จนเป็นที่มาของการเผชิญหน้าระหว่างคณะกรรมการชุดแรก กลุ่มผู้สนับสนุนโครงการ กับกลุ่มชาวบ้านในต้นปี 2550 หลังเกิดเหตุการณ์ในครั้งนั้นขบวนการรังวัดได้ทิ้งช่วงนานกว่าหนึ่งปี เมื่อรัฐกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งผ่านคณะกรรมการชุดที่สองในช่วงต้นปี 2552 ภาย ใต้ชื่อ “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการดำเนินโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี” โดยมีนายสมพร ใช้บางยาง รองปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น เป็นประธาน และได้มีคำสั่งลงวันที่ 30 มิถุนายน 2552 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาขึ้น โดยมีนายอำนาจ ผการัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีในขณะนั้น เป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่ชี้แจงข้อมูลโครงการและกระบวนการประทานบัตรให้แก่ประชาชนใน พื้นที่
หลัง รับมอบอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดได้เดินเครื่องภารกิจใหม่อย่างเร่งด่วน โดยเรียกประชุมคณะอนุกรรมการนัดแรกในอีกหนึ่งเดือนถัดมา (วันที่ 24 กรกฎาคม 2552 ) เป็น เหตุให้กลุ่มชาวบ้านตัดสินใจระดมมวลชนกว่าห้าร้อยคนเคลื่อนตัวเข้าชุมนุม ประท้วงกีดขวางเส้นทางคมนาคมสาย อุดรธานี-ขอนแก่น ขาออกตรงบริเวณสามแยกปากทางเข้าสู่อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี การชุมนุมที่ยืดเยื้อตลอดทั้งวัน จนผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมด้วยคณะต้องเดินทางมาขอเจรจากับกลุ่มชาวบ้านบน ท้องถนน ก่อนมีการทำบันทึกเป็นข้อตกลงร่วมกัน คือให้ผู้ว่าราชการจังหวัดยุติบทบาทของคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว และให้มีการศึกษาประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์การจัดการแร่โพแทชในจังหวัด อุดรธานี (Strategic Environmental Assessment: SEA) ก่อนที่จะมีการดำเนินใดๆในพื้นที่โครงการ
แต่ ฝ่ายกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) บริษัทเจ้าของโครงการ ตลอดจนกลุ่มผู้สนับสนุนในพื้นที่ กลับเมินต่อเสียงคัดค้าน และขยับตัวเดินเครื่องการรังวัดเขตคำขอประทานบัตรในระลอกใหม่กันอย่างเต็ม กำลัง จนกระทั่งในวันที่ 29 ตุลาคม 2553 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้จัดเวทีประชุมชี้แจง เรื่องการขออนุญาตประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ณ โรงแรมเซ็นทารา โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งกลุ่มชาวบ้านก็ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใน วันนั้นด้วยเช่นกัน
หนึ่ง วันให้หลังจากเวทีประชุมชี้แจงได้เสร็จสิ้นลง ได้มีหนังสือแจ้งเรื่องการลงพื้นที่เพื่อทำการปักหมุดรังวัดเขตคำขอประทาน บัตรโครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี ของเจ้าหน้าที่จาก กพร. ทำให้ตลอดทั้งวันของวันที่ 30 ตุลาคม 2553 กลุ่มชาวบ้านได้กระจายตัวแยกย้ายกันไปตามจุดต่างๆ ตามหัวไร่ปลายนาที่คาดว่าเจ้าหน้าที่ กพร. จะลงพื้นที่ทำการรังวัด เพื่อปักหลักสกัดกั้นขัดขวางและเฝ้าระวังไม่ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการได้ สำเร็จ แต่เจ้าหน้าที่ก็พยายามเข้าดำเนินการ โดยการระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยพลเรือน (อปพร.) เข้าเป็นแนวกันชนไม่ให้กลุ่มชาวบ้านขัดขวางการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ กพร. ขณะเดียวกันกลุ่มชาวบ้านผู้สนับสนุนโครงการที่ออกมาเคลื่อนไหวร่วมด้วย จึงเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุกระทบกระทั่งกันระหว่างกลุ่มชาวบ้าน ทั้งสองฝ่าย ทว่าในท้ายที่สุดกลุ่มชาวบ้านก็ไม่สามารถสกัดกั้นการดำเนินการของเจ้า หน้าที่ได้
ในส่วนความเคลื่อนไหวของบริษัท APPC ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 ที่บริษัทได้ทำหนังสือถึงอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี แจ้งผลเสร็จสิ้นการดำเนินการรังวัดปักหมุดเขตคำขอประทานบัตรโครงการเหมือง แร่ ที่ตำบลโนนสูง ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง ตำบลห้วยสามพาด ตำบลนาม่วง อำเภอประจักษ์ศิลปาคม รวมเนื้อที่ทั้งหมด 26, 446 ไร่ 1 งาน 48 ตารางวา ของเจ้าหน้าที่ กพร. และแสดงความประสงค์จะให้ค่าตอบแทนพิเศษต่อผู้มีที่ดินอยู่ในเขคำขอประทาน บัตร (ค่าลอดใต้ถุน) เป็นจำนวนเงินไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งหนึ่งวันให้หลัง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี โดยวิศวกรชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทน อุตสาหกรรมจังหวัด ได้ออกหนังสือแจ้งต่อไปยังนายอำเภอเมืองอุดรธานี และนายอำเภอประจักษ์ศิลปาคม ขอความร่วมมือให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านในพื้นที่ออกมาแจ้งความจำนง เพื่อขอรับค่าตอบแทนพิเศษลอดใต้ถุนจากทางบริษัทเจ้าของโครงการ