ความเป็นมาของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี

1555 13 Dec 2012

นับแต่ช่วงก่อนหน้าที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีจะถือกำเนิดขึ้นนั้น การเคลื่อนไหวเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานีทั้งในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการได้ถูกดำเนินการอย่างเงียบเชียบมาตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2516 บนฐานคิดในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติแบบรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจไว้ที่ส่วนกลางหรือรัฐบาล โดยไม่เคยเปิดช่องให้กับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและกระบวนการมีส่วนร่วมตัดสินใจของชาวบ้านผู้ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับทรัพยากรธรรมชาติบริเวณพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่โครงการเลยแม้แต่น้อย ในช่วงปี พ.ศ. 2516 จึงถือเป็นช่วงแรก ที่รัฐได้มีความพยายามที่จะเข้ามาสำรวจหาแหล่งแร่เพื่อนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง โดยมีเจ้าพนักงานของกรมทรัพยากรธรณีทำหน้าที่ออกสำรวจหาแหล่งแร่ทั่วภาคอีสาน จังหวัดอุดรธานีได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เป้าหมายแรก ก่อนที่จะกระจายการสำรวจออกไปยังจังหวัดอื่นๆในภายหลัง ซึ่งการเข้ามาสำรวจหาแหล่งแร่ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีในครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ภาคสนามชุดดังกล่าวได้อ้างกับชาวบ้านแต่เพียงว่า “หลวงเป็นผู้ให้มา” (ทางราชการเป็นผู้ส่งตัวมา) โดยมีการแสดงเอกสารทางราชให้ชาวบ้านดู แต่ไม่ได้มีการชี้แจงข้อมูล ใดๆ ให้ชาวบ้านได้รับรู้มากนัก เมื่อชาวบ้านได้ยินว่า “เป็นคำสั่งของหลวง” ก็ไม่มีชาวบ้านคนใดกล้าที่จะซักถามต่อหรือขัดขวางการปฏิบัติงาน เพราะกลัวจะมีความผิดทำให้ข้อมูลที่แท้จริงของโครงการสำรวจแหล่งแร่ถูกปกปิดเรื่อยมาโดยตลอด จนกระทั่งในปี 2536 ซึ่งถือเป็นช่วงที่สองของการลงพื้นที่สำรวจหาแหล่งแร่ โดยบริษัทเหมืองแร่โพแทชสัญชาติแคนาดา บริษัทฯผู้ได้รับสัมปทานโครงการจากกรมทรัพยากรธรณี ได้เริ่มส่งทีมงานสำรวจลงพื้นที่โครงการ และเร่งศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการอย่างต่อเนื่อง จนเข้าสู่ประมาณช่วงปี พ.ศ. 2539 จึงได้แบ่งพื้นที่สำรวจแหล่งแร่ออกเป็นสองส่วน คือ “แหล่งอุดรใต้” กับ “แหล่งอุดรเหนือ” จากคำบอกเล่าของพี่เนาวรัตน์ ดาวเรือง อายุ 31 ปี ชาวบ้านโนนสมบูรณ์คนหนึ่งได้เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า “ทีมงานของบริษัทมีเทิ่งฝรั่ง เทิ่งคนไทยมากับเจ้าหน้าที่ของหลวงหลายคน อ้างว่า หลวงให้มาสำรวจหาบ่อน้ำมันต่อไปสิมีความเจริญเข้ามาในหมู่บ้านหลายอย่า เฮาก็บ่ได้คิดว่ามันสิมีผลกระทบหรือบ่มี เพิ่นบ่ได้บอก แต่คิดว่าเฮาสิเป็นเจ้าของบ่น้ำมันแล้ว สิได้ขายที่นา แพงๆ สิรวยแล้ว ช่วงบริษัทเข้าขุดก็ขุดเหมิดมื้อ เทิ่งกลางเวน กลางคืน เสียงเครื่องเจาะนี่ดังหนวกหูไปเหมิดบ้าน แต่ไทบ้านหลายคนก็ให้เขาเจาะ เจาะแล้วเขาก็ซิให้เงินหลุมละ 3,000 บาท ขั่นไผโวยวายเสียงดังแน่ หัวหมอแน่ก็สิเรียกร้องเอาค่า เป็ดหนวกหู งัวหนวกหู ค่ารถเจาะเหยียบคันแถนาขาดนำ เขาก็สิให้เงินตื่มอีก บางคนได้เงินเป็นหมื่นก็มี แต่ก็มีไทบ้านหลายคนย่านว่าเป็นหลวงมาเฮ็ด ย่านเพิ่นจับ บ่กล้าขัดขวาง เลยให้เพิ่นเจาะโดยบ่เรียกร้องค่าเสียหายก็มีคือกัน พอเพิ่นเจาะเสร็จแล้วเพิ่นก็สิเอาปูนเทปิดปากหลุมไว้แล้วก็พากันกลับไป ยังแต่เศษน้ำมันเครื่อง เศษปูน บ่โดนพอเพิ่นกลับไปแล้วน้ำเกลือมันก็ไหลออกมาจากหลุมที่เพิ่นเจาะหญ้าหม่องใกล้กับหลุมก็สิตายหมดเลย อยู่วัดบ้านวังขอนใหญ่หม่องเพิ่นเอาดินอยู่หลุ่มเจาะสำรวจไปทิ่มไว้ใกล้กับสระน้ำก็คือกัน หญ้าหม่องเลาะกองขี้ดินมันก็ตายแล้วก็สิบ่เกิด น้ำก็เน่า หลังคาศาลาวัดขึ้นสนิมผุพังหมด ระฆังโบราณใบใหญ่ๆ ห้อยอยู่หอก็แตกจนใช้งานบ่ได้” (ทีมงานของบริษัทมีทั้งฝรั่ง ทั้งคนไทยมากับเจ้าหน้าที่ของทางราชการหลายคน อ้างว่า ราชการให้มาสำรวจหาบ่อน้ำมันต่อไปจะมีความเจริญเข้ามาในหมู่บ้านอีกหลายอย่าง เราก็ไม่ได้คิดว่ามันจะมีผลกระทบหรือไม่มี พวกเขาไม่ได้บอก แต่คิดว่าเราจะเป็นเจ้าของบ่น้ำมันกันแล้ว จะได้ขายที่นา แพงๆ จะรวยแล้ว ช่วงบริษัทเข้ขุดก็ขุดทั้งกลางทั้งกลางคืน เสียงเครื่องเจาะนี่ดังหนวกหูไปหมดบ้าน แต่ชาวบ้านหลายคนก็ให้พวกเขาเจาะ เจาะแล้วพวกเขาก็จะให้เงินหลุมละ 3,000 บาท ถ้าใครโวยวายเสียงดัง หัวหมอหน่อยก็จะเรียกร้องเอาค่า เป็ดหนวกหู วัวหนวกหู ค่ารถเจาะเหยียบคันแทนาขาดด้วย เขาก็จะให้เงินเพิ่มอีก บางคนได้เงินเป็นหมื่นก็มี แต่ก็มีชาวบ้านหลายคนกลัวว่าเป็นงานของทางราชการ กลัวถูกจับจับ เลยไม่กล้าขัดขวาง เลยให้พวกเขาเจาะโดยไม่เรียกร้องค่าเสียหายก็มีเหมือนกัน พอพวกเขาเจาะเสร็จแล้ว พวกเขาก็จะเอาปูนมาเทปิดปากหลุมเอาไว้แล้วก็หนีไป เหลือไว้แต่เศษน้ำมันเครื่อง เศษปูน ไม่นานนักพอพวกเขากลับไปแล้วน้ำเกลือมันก็ไหลออกมาจากหลุมที่พวกเขาเจาะ หญ้าบริเวณใกล้กับหลุมก็จะตายหมดเลย อยู่วัดบ้านวังขอนใหญ่ที่พวกเขาเอาดินอยู่หลุ่มเจาะสำรวจไปทิ้งไว้ใกล้กับสระน้ำก็เหมือนกัน ตรงบริเวณกองดินหญ้ามันก็ตาย น้ำก็เน่า หลังคาศาลาวัดขึ้นสนิมผุพังหมด ระฆังโบราณใบใหญ่ๆ ห้อยอยู่หอก็แตกจนใช้งานไม่ได้) อย่างไรก็ตาม ขณะที่การขุดเจาะได้ดำเนินไปเรื่อยๆ กลับไม่ปรากฏว่ามีหน่วยงานของรัฐหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการเข้ามาชี้แจงการดำเนินการ หรือให้ข้อมูลที่เป็นจริงแก่ชาวบ้านเหมือนเช่นครั้งที่เจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรธรณีได้เข้ามาสำรวจเมื่อปี 2516 แต่อย่างใด มีแต่เพียงกระแสข่าวลือออกมาจาก ต.หนองไผ่ เกี่ยวกับการเข้ามาของนายหน้าค้าที่ดินในตัวเมืองอุดร เพื่อจะกว้านซื้อที่ดินบริเวณบ้านหนองตะไก้ บ้านหนองนาเจริญ ต.หนองไผ่ จำนวนมากในราคาที่สูงกว่าราคาประเมินและมีแผนที่จะซื้อที่ดินอีกหลายหมู่บ้านในหลายตำบล ของกิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม ดังที่แม่จันทรา ชาวบ้านหนองตะไก้ ตำบลหนองไผ่ ได้เล่าว่า “ตอนนายหน้าสิมาซื้อที่ดินในหมู่บ้านแม่ ผู้มีอิทธิพลคนหนึ่งในหมู่บ้านมาบอกกับชาวบ้านว่า เขาสิมาซื้อนาเฮาไปเฮ็ดหมู่บ้านจัดสรร พอเขามาบอกว่าสิซื้อราคาแพงเลยพากันขายให้เขา ตอนขายบ่ฮู้ดอกว่าเขาสิหลอกซื้อไปเฮ็ดโรงงานเหมืองแร่โปแตช ที่เฮ็ดให้บ้านเฮาได้รับผลกระทบดอก ขั่นแม่ฮู้แม่สิบ่ขายให้หัวมันเด็ดขาด”(ตอนนายหน้าจะมาซื้อที่ดินในหมู่บ้านของแม่ ผู้มีอิทธิพลคนหนึ่งในหมู่บ้านได้มาบอกกับชาวบ้านว่า เขาจะมาซื้อที่นาเราไปสร้างหมู่บ้านจัดสรร พอเขามาบอกว่าจะซื้อที่นาในราคาแพงพวกแม่เลยพากันขายให้เขา ตอนขายไม่รู้หรอกว่าเขาจะหลอกซื้อไปสร้างโรงงานเหมืองแร่ ที่จะทำให้บ้านเราได้รับผลกระทบหรอก ถ้าแม่รู้แม่จะไม่ขายให้มันเด็ดขาด) พอเข้าสู่ช่วงปลายปี 2541บริษัทเหมืองแร่โพแทชสัญชาติแคนาดา จึงได้เปิดตัวโครงการขึ้นอย่างเป็นทางการและรุกงานประชาสัมพันธ์โครงการในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นหนักไปที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าพนักงานของส่วนราชการในพื้นที่ และหมู่บ้านไม่กี่แห่งในตำบลหนองไผ่ ด้วยการจัดงานเลี้ยงโต๊ะจีน ล้มวัวล้มควาย และจ้างหมอลำมาให้ความบันเทิงแก่ชาวบ้าน จัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์มามอบให้แก่โรงเรียนบ้านหนองตะไคร้ และบ้านห้วยไผ่ ด้านการให้ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ทางบริษัทได้นำมาชี้แจงนั้น ก็มักจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการ และความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการทำเหมืองใต้ดินเป็นหลัก ส่วนในพื้นที่ของตำบลอื่นบริษัทเองได้มีความพยายามจะเข้ามาประชาสัมพันธ์ที่หมู่บ้านโคกสมบูรณ์ ต.ห้วยสามพาด อยู่ครั้งหนึ่งเช่นกัน จากคำบอกเล่าของพ่อประจวบ อายุ 53 ปี อดีตประธานกลุ่มอนุรักษ์ฯ เกี่ยวกับการเข้ามาประชาสัมพันธ์ข้อมูลของบริษัทเจ้าของโครงการเหมืองแร่โพแทช ซึ่งในขณะนั้นเขามีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านโนนสมบูรณ์ หมู่ 3 ต.ห้วยสามพาด ว่า “พอเขาเข้ามา เขาก็เลยมีการนัดพ่อให้บอกชาวบ้าน เขาสิมาเว้าชี้แจงประชุมชาวบ้านอยู่วัด เขาก็เอาพวกโมเดลแผนผังเหมืองแร่มาให้คนเบิ่ง แล้วก็มีการเว้าโฆษณาแบบโฆษณาสิ่งของทั่วไปว่ามันสิเกิดแรงงาน สิเกิดรายได้แบบนั่นแบบนี้ แต่ในความคิดของพ่อตอนนั้นนี่มันสิดีบ่ดีเฮาบ่ฮู้ ขั่นบริษัทซิมาเฮ็ดแบบนี้ก็เลยบอกให้เขากลับไปก่อนอย่างพึ่งมาเว้า เพราะว่าชาวบ้านบ่มีความรู้เรื่องนี้ ผมเป็นผู้นำก็บ่มีความรู้คือกัน จู่ๆสิเอาโมเดลแผนผังของเหมืองมาให้เบิ่งเลยนี่มันบ่เหมาะสม ทางทีมงานบริษัทเว้าแบบบ่พอใจหาว่าบ่ให้ความร่วมมือ พ่อเลยให้วัยรุ่นในหมู่บ้านก่อกวนจนต้องล้มเลิกเวที พวกบริษัทเลยเก็บของกลับไปบ่สามารถเว้าต่อได้” (พอพวกเขาเข้ามา พวกเขาก็เลยนัดพ่อให้บอกชาวบ้าน เขาจะมาชี้แจงประชุมชาวบ้านที่วัด พวกเขาก็เอาพวกโมเดลแผนผังเหมืองแร่มาให้ชาวบ้านดู แล้วก็มีการพูดโฆษณาแบบโฆษณาสิ่งของทั่วไปว่ามันจะเกิดแรงงาน จะเกิดรายได้แบบนั่นแบบนี้ แต่ในความคิดของพ่อตอนนั้นมันจะดีไม่ดีเราไม่รู้ ถ้าบริษัทจะมาทำแบบนี้ พ่อก็เลยบอกให้พวกเขากลับไปก่อนอย่างพึ่งมาพูด เพราะว่าชาวบ้านไม่มีความรู้เรื่องนี้ ผมเป็นผู้นำก็ไม่มีความรู้เหมือนกัน จู่ๆจะเอาโมเดลแผนผังของเหมืองมาให้ดูเลยนี่มันไม่เหมาะสม ทางทีมงานบริษัทก็เลยพูดกับพ่อแบบไม่พอใจหาว่าไม่ให้ความร่วมมือ พ่อเลยให้วัยรุ่นในหมู่บ้านก่อกวนจนการประชุมต้องล้มเลิกไป พวกบริษัทเลยเก็บของกลับไปไม่สามารถพูดต่อได้) ต่อมาในช่วงวันเข้าพรรษา เดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2544 กลุ่มนักพัฒนาเอกชน จึงได้เริ่มเข้ามาให้ข้อมูลกับชาวบ้านในพื้นที่อย่างเป็นทางการ และจัดเวทีประชุมหมู่บ้านขึ้นที่วัดอรุณธรรมรังษี บ้านโนนสมบูรณ์ ตำบลห้วยสามพาด กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการกับผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้นำชุมชน นักการเมืองท้องถิ่นและชาวบ้านที่ร่วมทำบุญและเตรียมตัวจำศีลในวันนั้น ซึ่งมาจากหลายหมู่บ้านในละแวกบ้านโนนสมบูรณ์ เช่น บ้านสังคม บ้านอีทุย บ้านวังขอนกว้าง ฯลฯ ข้อมูลที่นักพัฒนาเอกชนได้นำเสนอให้แก่ชาวบ้านหลักๆนั้น ล้วนเป็นชุดข้อมูลที่ชาวบ้านไม่เคยได้รับรู้จากทางบริษัทต่างชาติและเจ้าหน้าที่ของรัฐมาก่อน ดังมีเนื้อหาเกี่ยวกับการให้ข้อมูลของนักพัฒนาเอกชนแก่ชาวบ้านในวันนั้น ดังนี้ ... พี่น้อง ตอนนี้บ้านของเรากำลังจะมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่ ก็คือโครงการเหมืองแร่โปแตซ อุดรธานี ของประเทศแคนนาดาเขาจะเข้ามาขุดอุโมงค์ใต้ดินในประเทศเราเป็นระยะเวลา 22 ปี โปแตซก็คือเกลือของเราที่เราบริโภคในครัวเรือน แต่เค็มกว่าถึง 1,000 เท่า รสชาติจะออกขมๆหน่อย วิธีการขุดเจาะเขาจะขุดอุโมงค์ลงไปใต้ดินลึก 250-300เมตร ความกว้างของอุโมงค์ 4-5เมตร ขนาดรถวิ่งสวนกันได้ เขาจะทำการขุดเป็นห้องเป็นห้อง เหมือนบ้าน เรา แล้วเอาเกลือ เอาโปแตซออกไป แล้วเหลือไว้นิดหน่อยเป็นเสาค้ำแผ่นดิน ใต้อุโมงค์จะมีห้องสำหรับเก็บเชื้อเพลิง ห้องพักคนงาน และมีรถลำเลียงแร่ขึ้นไปแต่งข้างบน เวลาแต่งแร่เขาจะบดแร่ให้มีขนาดเล็ก แล้วเอาแร่ไปละลายน้ำโดยเติมสารเคมีเพื่อแยกแร่ แล้วเอาน้ำไปอบแร่ ในการผลิตแต่ละวันจะได้โปแตซ 2,000 ตันต่อวัน สำหรับเกลือมีปริมาณ 5,000 ตันต่อวัน กากเกลือก็จะกองไว้บนลานกองเกลือที่จะสูง 40 เมตรประมาณตึก 10 ชั้น ไม่มีอะไรคลุม พอฝนตกลงมา เกิดพายุฝุ่นเกลือก็จะกระจายบนอากาศ น้ำเกลือก็จะไหลลงสู่พื้นที่ทางการเกษตร แม่น้ำ ฝุ่นเกลือที่เค็มก็จะตกลงบนหลังคา หลังคาก็ผุกร่อน เครื่องใช้ต่างๆ รถที่เป็นโลหะต่างๆก็จะเกิดสนิมและเสียหาย เหมือนนิคมอุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนสังกะสีทุกปี น้ำดื่มก็ต้องซื้อกิน เพราะกินไม่ได้ ที่บริษัทอ้างว่าจะได้ใช้ปุ๋ยราคาถูกจริงหรือไม่ ในเมื่อเราผลิตโปแตซส่งออกไปต่างประเทศ ไม่ได้นำปุ๋ยมาผลิตในประเทศ แล้วปุ๋ยโปแตซที่นำเข้ามาจะราคาถูกได้อย่างไร ในเรื่องของกฎหมายแร่ที่ออกก็ลิดรอนสิทธิของชุมชน เราจะมีสิทธิแค่ 50 เมตรลงไปใต้ผิวดิน กฎหมายเก่าไม่มีกำหนดไว้ สิทธิของเรามีเท่าไหร่ก็ได้บนฟ้าและใต้พื้นดิน ตอนนี้เขาจำกัดสิทธิเราให้เหลือ 50เมตร เกินกว่านั้นเขาก็ทำสัมปทานให้บริษัทจะขุดใต้บ้านใครก็ได้ ไม่ต้องบอกให้ทราบ พวกเราจะยอมหรือไม่หรือจะต่อสู้เพื่อปกป้องวิถีชีวิตของพวกเรา พี่น้องจะสู้ไหม ... (บันทึกการประชุมการให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านโครงการเหมืองแร่โพแทช อุดรธานี วันที่ 28 ตุลาคม 2545 ณ ศาลาวัดอรุณธรรมรังษี บ้านโนนสมบูรณ์ อ้างถึงใน นัฐวุฒิ สิงห์กุล, 2550 ) การประชุมวันนั้นชาวบ้านที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ และผู้นำชุมชนต่างห่วงใยที่จะซักถามข้อมูลจากนักพัฒนาเอกชนในเรื่องผลกระทบที่สัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่ของพวกตนหลายเรื่อง เช่น “บ้านจะทรุดบ่” “น้ำจะกินได้บ่” “สิเฮ็ดนาได้บ่” “ขั่นดินมันหล่มแล้วจะพากันไปอยู่ไส” เป็นต้น อย่างไรก็ตามชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ที่จะเชื่อข้อมูลที่นักพัฒนาเอกชนนำมาบอกเล่าอยู่ และเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับที่มาที่ไปของนักพัฒนาเอกชนไปต่างๆ นาๆ จากคำบอกเล่าของแม่พิกุลทอง อายุ 46 ปีชาวบ้านโนนสมบูรณ์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า “ตอนหัวหน้าเข้ามาให้ข้อมูลใหม่ๆ แม่ยังเฮ็ดงานอยู่ต่างจังหวัด แต่ช่วงนั่นกลับมายามบ้านพอดีไทบ้านก็บ่มีไผเซื่อเพิ่นดอก ไทบ้านพากันซาว่าหัวหน้าแต่งตัวคือขอทาน คือโจร สิมาลักของวัด ไทบ้านเลยบอกกันว่าอย่าไปเซื่อเพิ่น บ่ต้องไปฟังเพิ่น” (ตอนหัวหน้าเข้ามาให้ข้อมูลใหม่ๆ แม่ยังทำงานอยู่ต่างจังหวัด แต่ช่วงนั่นกลับมาเยี่ยมบ้านพอดีชาวบ้านก็ไม่มีใครเชื่อพวกเขาหรอก ชาวบ้านลือกันว่าหัวหน้าแต่งตัวเหมือนขอทาน เหมือนโจร จะมาขโมยของวัด ชาวบ้านเลยบอกกันว่าอย่าไปเชื่อหัวหน้า ไม่ต้องไปฟังเขา) เช่นเดียวกับคำบอกเล่าของพ่อสมยศ นิคำ อายุ 56 ปีชาวบ้านสังคม ที่เล่าว่า “แรกๆที่หัวหน้าเข้ามาให้ข้อมูลก็ยังบ่ไว้ใจปานใด๋ บ่ฮู้ว่าเพิ่นเป็นไผมาแต่ไส หนวดเครารุงรัง บ่หน้าเซื่อถือ ย่านเพิ่นมาตั๋วเฮา แต่พอเพิ่นลงมาให้ข้อมูลหลายเทื้อเข้าก็เลยลองวิเคราะห์ข้อมูลด้วยตัวเองเบิ่งว่า ขนาดเฮาขุดฮูอีปู แล้วเอาดินถมคืนใส่หลุม หลุมมันยังบ่เต็มคือเก่าเลย ขั่นมีการขุดเจาะเอาแร่ใต้ดินบ้านเฮาขึ้นมาอีหลี บ้านเฮาคือสิหล่มคือฮูปูแท้ เลยเริ่มเซื่อในข้อมูลผลกระทบที่หัวหน้ามาเว้าให้ฟัง” (แรกๆที่หัวหน้าเข้ามาให้ข้อมูลก็ยังไม่ไว้ใจมากนัก ไม่รู้ว่าหัวหน้าเป็นใครมาจากไหน หนวดเครารุงรัง ไม่หน้าเชื่อถือ กลัวหัวหน้ามาหลอกเรา แต่พอหัวหน้าลงมาให้ข้อมูลหลายครั้ง พ่อก็เลยลองวิเคราะห์ข้อมูลด้วยตัวเองดูว่า ขนาดเราขุดปู แล้วเอาดินถมกลับคืนใส่หลุม หลุมมันยังไม่เต็มเหมือนเดิมเลย ถ้ามีการขุดเจาะเอาแร่ใต้ดินบ้านเราขึ้นมาจริงๆ บ้านเราน่าที่จะยุบเหมือนรูปูแน่ พ่อเลยเริ่มเชื่อในข้อมูลผลกระทบที่หัวหน้ามาพูดให้ฟัง) จากนั้นได้ผู้นำชุมชนและสมาชิกอบต. ของบ้านโนนสมบูรณ์และบ้าสังคม สองคนคือพ่อประจวบ อดีตประธานกลุ่มอนุรักษ์ฯ(ขณะนั้นเป็นผู้ใหญ่บ้านโนนสมบูรณ์ หมู่ที่ 3)และแม่มณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์ฯ (ขณะนั้นเป็นสมาชิก อบต.ห้วยสามพาด) ได้เป็นแกนหลักในการระดมเครือข่ายผู้นำชุมชนและนักการเมืองท้องถิ่นในหมู่บ้านต่างๆในเขต ต.ห้วยสามพาด กิ่งอ.ประจักษ์ศิลปาคม เพื่อคัดค้านและติดตามตรวจสอบโครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี (ขณะนั้นยังไม่ได้ตั้งเป็นกลุ่มอนุรักษ์ขึ้นอย่างเป็นทางการ) โดยมีนักพัฒนาเอกชนคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา และออกเคลื่อนไหวยื่นหนังสือประท้วงต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ไปพร้อมกับการพัฒนาองค์กรการเคลื่อนไหวให้มีความเข้มแข็งขึ้นโดยการออกไป “หาหมู่” “หาพวก” เยี่ยมเยือนบอกเล่าข้อมูลผลกระทบโครงการแก่ชาวบ้านในอีกหลายหมู่บ้าน และหลายตำบลของพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากโครงการให้รับรู้ข้อมูลกันอย่างทั่วถึง และสร้างแกนนำในหมู่บ้านต่างๆ เพื่อเป็นแกนหลักในการขยายเครือข่าย ตลอดจนสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันออกไปเรื่อยๆ จากคำบอกเล่าของพี่เนารัตน์ ดาวเรือง ถึงบรรยากาศของการออกแสวงหาแนวร่วมในช่วงนั้นว่า “ตอนนั้นคนยังบ่ได้รวมกันเป็นกลุ่มอนุรักษ์ เฮากะออกไปหาหมู่หาพวกโดยมีการตั้งแกนนำชาวบ้านแต่ละหมู่บ้าน หมู่บ้านละ คนสองคน เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการพาไทบ้านออกไปขยายเครือข่าย ผู้ใด๋มีพี่มีน้อง มีคนฮู้จักอยู่ไส กะให้ไปบอกข่าวกัน ซวนกันมาเข้ากลุ่มนำกัน กะออกไปถามว่า บ้านเจ้าเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับโครงการบ่ มีจั่งซี่จั่งซั่นคือบ้านข้อยบ่ มีไผเข้ามาเว้าหยังบ่ มาเว้าอีหยังแน่ พากันออกไปเทิ้งกลางเวนกลางคือ พอกลางคืนหัวหน้าเพิ่นกะสิพากันไปจัดประชุมหมู่บ้านให้ข้อมูลชาวบ้าน เฮ็ดจั่งซี่สู่มื้อโดนเติบกว่าสิตั้งกลุ่มได้” (ตอนนั้นคนยังไม่ได้รวมกันเป็นกลุ่มอนุรักษ์ฯ เราก็ออกไปหาแนวร่วมโดยมีการตั้งแกนนำชาวบ้านแต่ละหมู่บ้าน หมู่บ้านละ คนสองคน เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการพาชาวบ้านออกไปขยายเครือข่าย ใครมีพี่มีน้อง มีคนรู้จักอยู่ไหน ก็ให้ไปบอกข่าวกัน ชวนกันมาเข้ากลุ่มด้วยกัน ก็ออกไปถามว่า บ้านคุณเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับโครงการไหม มีอย่างนั้นอย่างนี้เหมือนบ้านฉันไหม มีใครเข้ามาพูดอะไรไหม มาพูดอะไรบ้าง พากันออกไปทั้งกลางวันกลางคืน พอกลางคืนหัวหน้าก็จะพาไปจัดประชุมหมู่บ้านให้ข้อมูลชาวบ้าน ทำอย่างนี้ทุกวันกว่าจะตั้งกลุ่มได้) เช่นเดียวกับพ่อประจวบ ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการออกไปขยายฐานมวลชนในขณะนั้น ได้เล่าย้อนถึงบรรยากาศในช่วงนั้น ว่า “ตอนแรกๆนี่พวกเฮาทำงานหนักมาก ต้องออกไปตลอด พ่อแทบบ่ได้อยู่บ้านเลย เพื่อสิได้ระดมคน หาแกนนำแต่ละบ้าน เพราะไทบ้านเขาบ่ฮู้จัก NGO ฮู้จักแต่ซุ่มพ่อ เฮาเลยต้องออกไปนำชาวบ้านเขาเชื่อถือพวกพ่อเด๊ะ ฮู้ว่าเป็นผู้ใหญ่บ้าน ฮู้จักว่าเป็นลูกผู้นั่นผู้นี้ ญาติพี่น้องผู้นั่นผู้นี้ ขั่นสิให้แต่ NGO ไปไทบ้านเขาบ่ให้ความร่วมมือ” (ตอนแรกๆพวกเราทำงานหนักมาก ต้องออกไปตลอด พ่อแทบไม่ได้อยู่บ้านเลย เพื่อจะได้ระดมคน หาแกนนำแต่ละหมู่บ้าน เพราะชาวบ้านเขาไม่รู้จัก NGO ฮู้จักแต่พวกพ่อ เราเลยต้องออกไปด้วย ชาวบ้านเขาเชื่อถือพวกพ่อนะ รู้ว่าเป็นผู้ใหญ่บ้าน รู้จักว่าเป็นลูกคนนั้นคนนี้ ญาติพี่น้องของคนนั้นคนนี้ ถ้าจะให้แต่ NGO ไปชาวบ้านเขาจะไม่ให้ความร่วมมือ) การเคลื่อนไหวของชาวบ้านกับกลุ่มนักพัฒนาเอกชนได้ดำเนินไปในลักษณะนี้อยู่หลายเดือน จากห้าเป็นสิบหมู่บ้าน จากสองเป็นสาม สามเป็นสี่ตำบล จนกระทั่งสามารถสร้างแกนนำชาวบ้านและขยายแนวร่วมชาวบ้านได้ในหลายตำบล และรวมกันจัดตั้งเป็น “กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้ออุดรธานี” อย่างเป็นทางการในวันที่ 17 มกราคม 2545 พร้อมกับการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานีมาอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน พลวัตการต่อสู้ของกลุ่มชาวบ้านกับการหยุดยั้งเหมืองแร่โพแทช การต่อสู้ของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี บนเส้นทางของการปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ปกป้องวิถีชีวิตชุมชน ตลอดจนปกป้องสิทธิตามธรรมชาติบนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ นับได้ว่าเป็นกระบวนการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนาน หลายฉาก หลายช่วงตอน กินเวลากว่าหนึ่งทศวรรษ ทั้งนี้ บนมิติของกาลเวลาดังกล่าวกลุ่มชาวบ้านได้ปะทะสังสรรค์ในหลายรูปแบบกับกลุ่มคน องค์กร และหน่วยงานที่หลากหลายทั้งฝ่ายเผชิญหน้า หรือเครือข่ายพันธมิตร จนส่งแรงสะเทือนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายมิติบนสนามการเมืองเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ที่เลื่อนไหลไปตามสถานการณ์และบริบทแวดล้อมอย่างไม่หยุดนิ่ง ดังนั้น ผู้เขียนจึงพยายามแบ่งช่วงเวลาการต่อสู้ของกลุ่มชาวบ้านออกเป็น 2 ช่วง เพื่อนำเสนอ ดังนี้ ยุคขยายพื้นที่ทางการเมือง (พ.ศ. 2545-2546) การต่อสู้ในช่วงนี้คาบเกี่ยวกับช่วงก่อนที่กลุ่มชาวบ้านจะรวมตัวเป็นองค์กรการเคลื่อนไหวกล่าวคือน้ำหนักของการเคลื่อนไหวยังคงอยู่ที่การยับยั้งกระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 ที่กำลังอยู่ในขั้นพิจารณาร่วมของกรรมาธิการสองสภา เนื่องจากกรมทรัพยากรธรณี (ปัจจุบันคือกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) หน่วยงานที่นำเสนอร่างกฎหมายฉบับแก้ไขดังกล่าว ที่มุ่งหวังปลดล็อคทางกฎหมายให้สามารถทำเหมืองแร่ใต้ดินในแดนกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่นได้ ทั้งนี้ประเด็นเรื่องความไม่ชอบธรรมของกระบวนการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) และความบกพร่องของรายงาน ก็เป็นอีกประเด็นในช่วงนั้นที่กลุ่มชาวบ้านได้หยิบยกขึ้นมาเคลื่อนไหวคัดค้าน ไปพร้อมๆกับการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาสัมปทาน การต่อสู้ในสามประเด็นดังกล่าวได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีต้องคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกในพื้นที่ โดยการแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจากโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี ขึ้นตามข้อเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้าน ทว่าไม่ทันที่คณะทำงานจะมีข้อสรุปใดๆ เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ สภาผู้แทนราษฎรก็ได้มีการลงมติ ในวันที่ 21 สิงหาคม 2545 ผ่านความเห็นชอบร่างกฎหมายแร่ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ที่แก้ไขจากกรรมมาธิการร่วมกัน เมื่อไม่สามารถยับยั้งกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายดังกล่าวได้ ทำให้ในช่วงปลายปี 2545 คาบเกี่ยวถึงช่วงต้นปี 2546 กลุ่มชาวบ้านได้หันมาเน้นเคลื่อนไหวในเรื่องรายงาน EIA และสัญญาสัมปทานอย่างเข้มข้น ทั้งการยื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์) ผลของการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ของกลุ่มชาวบ้านจำนวนกว่าหนึ่งพันชีวิต ที่ปักหลักชุมนุมประท้วงอยู่บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2546 ส่งผลให้ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องเดินทางลงพื้นที่เพื่อเจรจายุติปัญหากับกลุ่มชาวบ้านอย่างเร่งด่วน พร้อมกับยอมรับข้อเสนอ และทำเป็นบันทึกข้อตกลงร่วมกัน(ณัฐวุฒิ สิงห์กุล, 2550) ซึ่งในเวลาต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีคำสั่งที่ 72/2546 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2546 แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาร้องเรียนเกี่ยวกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่โพแทช ขึ้นเพื่อพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในทุกประเด็นใหม่อีกครั้งตามข้อตกลงที่ทำไว้กับกลุ่มชาวบ้าน ระยะเวลาถัดกันไม่นานนัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม(นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ก็ได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาสัญญาระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและบริษัท APPC ขึ้นอีกเพื่อพิจารณาเงื่อนไขในสัญญาทุกประเด็นใหม่ โดยให้มีตัวแทนของกลุ่มชาวบ้านร่วมเป็นคณะทำงานด้วย กระทั่งเข้าสู่ปี 2546 ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และกลุ่มชาวบ้าน ได้พยายามเคลื่อนไหวผลักดันให้รัฐบาลทบทวนและปรับปรุงกลไกการประเมินผลกระทบของโครงการเสียใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมในหลายมิติมากยิ่งขึ้นก่อนที่จะมีการตัดสินใจดำเนินโครงการ โดยเฉพาะการเสนอแนะให้รัฐบาลเพิ่มเติมกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ขณะเดียวกันกลุ่มชาวบ้านยังได้อาศัยช่องทางที่กฎหมายรัฐธรรมนูญเปิดช่องรองรับสิทธิเอาไว้ให้ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2546 ให้เข้ามาดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในชุมชนท้องถิ่นของโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี และกรมทรัพยากรธรณี (ปัจจุบันคือกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่)อย่างเร่งด่วน (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, 2550) ยุคตรึงกำลังในพื้นที่ ปกป้องอู่ข้าวอู่น้ำจากการรุกราน (พ.ศ.2547-2554) หลังจากบริษัทเอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ยื่นขอประทานบัตรการทำเหมืองแร่(แหล่งสมบูรณ์) การเคลื่อนไหวของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและบริษัท ได้พุ่งเป้ามาที่กระบวนการรังวัดเขตคำขอประทานบัตร พื้นที่โครงการเป็นหลักใหญ่ ในระยะนี้เองได้เกิดการเผชิญหน้าขึ้นบ่อยครั้งระหว่างขบวนการรังวัดกับกลุ่มชาวบ้าน จนเป็นเหตุให้แกนนำกลุ่มชาวบ้านรวม 5 คน ถูกบริษัทฟ้องดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ ขณะที่กลุ่มชาวบ้านได้ร่วมสกัดกั้นขบวนการรังวัดปักหมุดกันอย่างแข็งขัน หลังเกิดคดีความสถานการณ์ความขัดแย้งยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ กลุ่มชาวบ้านจึงพยายามแสวงหาพลังจากภายนอก เพื่อเข้าถ่วงดุลอำนาจรัฐและระบบตลาด รวมทั้งแก้ไขสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกในพื้นที่ โดยเฉพาะการร้องเรียนผ่านองค์กรอิสระที่มีอิทธิพลชี้นำการกำหนดนโยบายการพัฒนาของรัฐบาลอย่าง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ซึ่งในวันที่ 9 พฤษภาคม 2549 กลุ่มชาวบ้านได้ทำหนังสือร้องเรียนไปถึงสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อขอให้เข้ามาดำเนินการศึกษาผลกระทบจากเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี และจัดเวทีสาธารณะขึ้น เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำเสนอองค์ความรู้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินการโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานีอย่างทั่วถึง (สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2552) ในระยะเดียวกันการเคลื่อนไหวของนักวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักวิชาการนิเวศวัฒนธรรมอีสาน ที่ได้ร่วมกันทำวิจัยเชิงปฏิบัติการมาตั้งแต่ช่วงปี 2548-2549 ภายใต้โครงการพัฒนากระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อการจัดการเกลืออีสานที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นกระบวนการทำงานที่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรเกลือในทุกภาคส่วน ได้มีผลสรุปของการศึกษาเป็นข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์การจัดการเกลือและแร่ที่เกี่ยวข้องกับเกลือส่งถึงรัฐบาล โดยอาศัยช่องทางการขับเคลื่อนข้อเสนอดังกล่าวผ่านองค์กรอิสระ 3 หน่วยงาน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนการกำหนดนโยบายที่เปิดพื้นที่ให้กับการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ในการบริหารจัดการเกลือและแร่ที่เกี่ยวข้องกับเกลือ ให้เกิดความสมดุลระหว่างวิถีชีวิตของประชาชนในชุมชนท้องถิ่นที่แนบชิดกับฐานทรัพยากร กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการเน้นย้ำให้คืนอำนาจการตัดสินใจกลับสู่ชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนการผลักดันเชิงนโยบายให้มีการส่งเสริมการจัดการทรัพยากรด้วยวิถีทางของภูมิปัญญาแบบพื้นบ้าน ซึ่งจะเป็นหนทางที่จะช่วยคงศักยภาพในการพึ่งพาตนเองของชุมชุนเอาไว้ได้อย่างยั่งยืนบนฐานคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียง (จรัญญา วงษ์พรหมและ ธนะจักร เย็นบำรุง, 2550) ด้านบริษัทเจ้าของโครงการเอง แม้สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่โครงการยังคงคุกรุ่น และเป็นเหตุให้แผนการรังวัดปักหมุดเขตคำขอประทานบัตรโครงการของรัฐกับบริษัทต้องหยุดชะงักงันลง แต่แทนที่บริษัทจะพยายามแสวงหาหนทางเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกที่กำลังบานปลายออกไปเรื่อยๆ บริษัทกลับเดินเครื่องผลักดันโครงของตนเองอย่างไม่ลดละ โดยหันไปเคลื่อนไหวผลักดันการศึกษารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพิ่มเติมจากรายงานฉบับเดิมที่ได้ประกาศยกเลิกไปตั้งแต่แรก เข้าบริหารกิจการแทนบริษัทจากประเทศแคนาดา รวมทั้งการศึกษาผลกระทบในมิติอื่นๆเพิ่มเติม โดยทำสัญญาว่าจ้างบริษัท โกลเด้น แพลน จำกัด เข้าเป็นที่ปรึกษาโครงการเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2549 ซึ่งต่อมาทีมวิจัยของบริษัท ดังกล่าวได้ลงพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี เพื่อดำเนินการศึกษาตามขอบเขตงานอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งเกิดกระแสคัดค้านจากกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน และความโปร่งใสของกระบวนการศึกษา และเป็นชนวนเหตุให้กลุ่มชาวบ้านได้เคลื่อนมวลชนข้ามจังหวัดมุ่งสู่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าชุมนุมปิดล้อมภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในวันที่ 22 ธันวาคม 2549 เพื่อกดดันให้ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตราย ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัยดังกล่าวให้ออกมาชี้แจงข้อมูลกรณีรับจ้างจัดทำรายงานศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้กับบริษัทเจ้าของโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ก่อนกลุ่มชาวบ้านจะมีการเคลื่อนขบวนรณรงค

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม