ความเห็นของชาวบ้านต่อผู้ว่าฯ อุดร (นายอำนาจ ผการัตน์) กรณีเหมืองโปแตช

1044 13 Dec 2012

นางมณี  บุญรอด  รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ฟัน ธงว่า ผู้ว่าฯ อุดร คนนี้สนับสนุนโครงการเหมืองแร่โปแตช อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะสรุปบทเรียนจากที่ผ่านมาขณะที่นายอำนาจ  ยังเป็นรองผู้ว่าฯ อุดร (นายชัยพร  รัตนนาคะ เป็นผู้ว่าฯ) ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าฯ ให้ดูแลเรื่องโปแตช ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาผลกระทบโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี นายอำนาจ แสดงออกอย่างชัดเจนจากเวทีการประชุม นายอำนาจ ก็มักจะตอบคำถาม หรือพูดข้อมูล แทนเจ้าหน้าที่บริษัทฯ ทุกๆ ครั้ง เมื่อมีการตั้งคำถามของชาวบ้าน กรรมการ หรือแม้แต่สื่อมวลชนเองก็ตาม จนกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ตั้งฉายาให้ว่าท่านรองฯ ปลาไหล “การ เป็นผู้ว่าฯ ของนายอำนาจ ไม่ใช่คนใหม่สำหรับชาวอุดร และโดยเฉพาะกลุ่มอนุรักษ์ฯ ด้วยแล้วยิ่งรู้จักผู้ว่าฯคนนี้มากพอสมควร กับเรื่องเหมืองแร่โปแตช ซึ่งนายอำนาจก็รู้เรื่องโปแตช และรู้ความเคลื่อนไหวของชาวบ้านดีเช่นเดียวกัน ในช่วงขณะของการเป็นรองผู้ว่าฯ และเป็นประธานคณะกรรมการฯ ดูแลเรื่องโปแตช ได้คอยตอบคำถามแก้ต่างให้กับบริษัทฯ พร้อมทั้งอ้างกฎหมาย อ้างขั้นตอนอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่เคยบอกว่ากฎหมายนั้นมันเป็นธรรมสำหรับชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของทรัพยากร หรือไม่ ที่เขียนขึ้นมาเพื่อให้นายทุนมาขุดเอาแร่บ้านเราไปขาย” นางมณีกล่าว   นางมณียังกล่าวต่ออีกว่า “การ ต่อสู้ของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ก็ยังต้องดำเนินไปต่อ และชาวบ้านก็จะคอยติดตามขั้นตอน หรือข้อมูลโครงการฯ อยู่ตลอด แต่ทั้งนี้ โดยตำแหน่งผู้ว่าฯ เองก็ไม่สามารถจะตัดสินใจได้ว่าจะให้ทำหรือไม่ให้ทำเหมือง เพราะเรื่องโปแตชเป็นเรื่องนโยบายรัฐไปแล้ว ฉะนั้นที่สำคัญก็คือชาวบ้านจะต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย” นางมณีกล่าว   นายธีระวัฒน์  พืชผักหวาน  อดีตคณะทำงานเรียนรู้ร่วมกันสร้างสรรค์สังคม (ตัวแทนชาวบ้าน) นาย ธีระวัฒน์ เป็นหนึ่งในอดีตคณะทำงานเรียนรู้ร่วมกันสร้างสรรค์สังคม ซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ โดยขณะนั้นมีอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี (ผศ.จรูญ  ถาวรจักร) เป็นประธาน เปิดเผยว่าตนยังขยาดและฝังใจกับคณะทำงานชุดดังกล่าวมาจนถึงทุกวันนี้ จากการรวบรัด สร้างฉากเปิดเวทีชี้แจงเพื่อไปสู่กระบวนการรังวัดปักหมุด ของข้าราชการกพร. (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) และบริษัทฯ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ พร้อมบอกว่าหากผู้ว่าฯ คิดที่จะตั้งคณะทำงาน หรือคณะกรรมการเหมือนดังเช่นที่ผ่านๆ มาอีกก็เตรียมล่มได้เลย! “เรื่อง โปแตชผู้ว่าฯ ต้องมีความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหา และศึกษาให้ดีๆ เสียก่อน โดยลงมาในพื้นที่เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนของชาวบ้านว่าทำไมเขาจึงลุกขึ้นมา คัดค้าน พื้นที่มันเหมาะสมแล้วหรือ และหากทำเหมืองแล้วชาวบ้านจะทำมาหากินได้ไหม เพราะชาวบ้านเขาอยู่ตรงนี้เขาย่อมเข้าใจดี อย่าพึงรีบร้อนเร่งรัดที่จะตั้งกรรมการชุดนั้นชุดนี้ เพราะจากบทเรียนที่ผ่านมากรรมการนั่นแหละเป็นตัวสร้างปัญหาความแตกแยกให้กับ ชุมชน ดังเช่นชุดที่ผมเคยร่วมเป็นมา”  นายธีระวัฒน์กล่าว   อดีตคณะทำงานฯ ผู้นี้เสนอต่อว่า “หาก จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีก จะต้องเป็นกรรมการระดับชาติโดยตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาโปแตชในเชิงยุทธศาสตร์ คือศึกษาทั้งระบบว่าถ้ามีเหมืองแล้วประเทศไทยจะเจริญขึ้นจริงไหม มีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน หรือกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนควรเป็นอย่างไร เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่กรรมการระดับจังหวัดที่ตั้งขึ้นมาแล้วมีธงเอาไว้ว่าจะต้องทำ เหมือง จะต้องรังวัด ปักหมุด ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาความขัดแย้งอยู่ร่ำไป” นายธีระวัฒน์กล่าว   นางจันทา  สัตยาวัน  แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี ชาว บ้านหนองตะไก้ ซึ่งอยู่ติดกับเหมืองมากที่สุด แต่ก็ไม่เคยเชื่อมั่นต่อเทคโนโลยีการทำเหมืองที่จะมีขึ้นในชุมชนของตนเลย ขณะเดียวกันก็ไม่มีความไว้วางใจต่อการทำหน้าที่ของฝ่ายรัฐ โดยเห็นว่าข้าราชการกับนายทุนมีส่วนสำคัญที่พยายามผลักดันให้เกิดเหมืองโป แตช และเช่นเดียวกันกับผู้ว่าฯ คนนี้ ถึงแม้จะเป็นคนอุดรบ้านเดียวกัน (บ้านเชียง อ.หนองหาน) แต่นางจันทาก็ยังไม่ไว้ใจอยู่ดี “แม่ ไม่ไว้ใจข้าราชการเนื่องจากว่าเรื่องเหมืองแร่โปแตชที่ชาวบ้านต้องแตกแยกกัน อยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะการปฏิบัติราชการที่เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ ซึ่งผู้ว่าฯ ทุกคนที่มาอยู่อุดร รวมทั้งคนนี้ด้วย ก็มักจะบอกกับชาวบ้านว่าให้เชื่อฟังผู้ว่าฯ แล้วจะไม่มีปัญหาใดๆ แต่จากประสบการณ์ที่ต่างประเทศเขาทำเหมืองอยู่ห่างไกลชุมชน ก็ยังมีข่าวเหมืองถล่ม คนตายอยู่เป็นประจำ จะให้ชาวบ้านเชื่อได้อย่างไร เพราะบ้านเราเหมืองอยู่ในชุมชน พื้นที่ไม่เหมาะสม และเป็นพื้นที่ต้นน้ำ ถ้าเกิดผลกระทบขึ้นมา ชาวบ้านทุกข์ยาก ทำมาหากินไม่ได้ผู้ว่าฯ ก็ไม่ได้มาหาข้าวให้เรากิน เราต้องช่วยเหลือตัวเอง หรือถ้าหากผู้ว่าฯ อยากได้เหมืองจริงๆ ล่ะก็ เอาไปขุดที่บ้านผู้ว่าฯ ที่บ้านเชียงก็แล้วกัน ที่นี่พวกเราไม่ต้องการ” แม่จันทากล่าว   นายบุญมี  ราชพลแสน  แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  ต.นาม่วง  อ.ประจักษ์ศิลปาคม  จ.อุดรธานี เล่า ให้ฟังถึงพฤติกรรมของผู้นำในพื้นที่ ซึ่งมักจะเอนเอียงเข้าข้างบริษัทเหมือง และบางคนก็เข้าร่วมกิจกรรมของบริษัทฯ อย่างออกนอกหน้า หรือแม้แต่การขนชาวบ้านไปขอเงินกับบริษัทฯ เพื่อมาจัดงานบุญประเพณี จัดแข่งขันกีฬา เป็นต้น ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ชาวบ้านจนเกิดการต่อว่า ด่าทอกันอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นจึงอยากขอให้ผู้ว่าฯ ได้มีหนังสือกำชับให้ผู้นำในพื้นที่ได้วางตัวเป็นกลาง และอย่าสร้างความขัดแย้งให้กับชุมชน “ยก ตัวอย่างหมู่บ้านผม น้องของผู้ใหญ่บ้านเอาป้ายสนับสนุนเหมืองซึ่งบริษัทฯ ทำให้ มาติดไว้ที่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านก็ทำเฉยไม่ว่าอะไร ก็สร้างความไม่พอใจต่อชาวบ้านด้วยกันเอง ฉะนั้นผู้ว่าฯ จะต้องสร้างความสามัคคีให้กับชุมชน กำชับผู้นำในพื้นที่ จะอ้างแต่กฎหมาย หรืออ้างว่าเจ้าหน้าที่ต้องทำตามขั้นตอน โดยให้มีการรังวัด และทำอีไอเอไปก่อน(รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) แล้วเมื่อถึงขั้นตอนประชาพิจารณ์ชาวบ้านค่อยไปค้านกัน พอไม่ถูกก็แก้ไขใหม่ ซึ่งการแก้ตัวหนังสือมันง่ายอยู่แล้ว แต่ที่ชาวบ้านบอกว่าข้าราชการและบริษัทฯ ไม่ทำตามขั้นตอนปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายแร่ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ ผู้ว่าฯ กลับเมินเฉยทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ผมจึงอยากให้ผู้ว่าฯ หันมามองตรงจุดนี้บ้าง” นายบุญมีกล่าว   นางพิกุลทอง  โทธุโย  แกนนำกลุ่มสตรีอาสาพัฒนาชุมชน  ต.ห้วยสามพาด  อ.ประจักษ์ศิลปาคม  จ.อุดรธานี กล่าว ว่าไม่หวังกับผู้ว่าฯ ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งให้กับชุมชนในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โป แตชได้ ซึ่งเห็นแล้วเมื่อช่วงที่เขาเคยเป็นรองผู้ว่าฯ ก็ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมันหมักหมมมานาน และขอยืนยันว่าชาวบ้านไม่ได้เป็นผู้สร้าง ซึ่งชาวบ้านเขาก็ทำมาหากินกันอยู่ดีๆ ไม่มีเหมืองเราก็อยู่กันได้ แต่พอมาวันนี้สิ่งที่ผู้ว่าฯ จะต้องคิดให้มากก็คืออย่าเป็นตัวเร่งให้เกิดความแตกแยกให้มากไปกว่านี้ “ก่อน ที่ผู้ว่าฯ จะตัดสินใจเซนต์หนังสือเกี่ยวกับเรื่องโปแตช ผู้ว่าฯ จะต้องคิดถึงชาวบ้านในพื้นที่ผู้ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรง อย่าคิดแต่ผลประโยชน์ที่บริษัทฯ หยิบยื่นให้ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมายังเป็นบาดแผลลึกฝังใจชาวบ้าน ที่พี่น้องต้องมาทะเลาะกันเอง คนในชุมชนไม่ทำบุญร่วมกัน ตายก็ไม่เผาผี ซึ่งผู้ว่าฯ ก็เป็นคนอุดรด้วยกันก็น่าจะเข้าใจเรื่องอย่างนี้ได้ดี” นางพิกุลทองกล่าว

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม