นโยบายสาธารณะ: การศึกษาชายแดนใต้ที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน

3229 12 Dec 2012

เรียบเรียงโดย อับดุลสุโก ดินอะ กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนูตมุฮัมมัดและผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้ชมทุกท่าน 1. บทนำ การศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชาติ เพราะการศึกษาเปรียบเสมือนดวงประทีปส่องนำชีวิต เป็นประตูของความสำเร็จ และเป็นกุญแจแห่งอารยธรรม ดังนั้นจึงไม่มีประชาชาติใดในโลกอันกว้างใหญ่นี้ที่ปฏิเสธความสำคัญของการศึกษา เพราะต่างตระหนักดีว่า พวกเขามิอาจจะดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างสงบสุขหากปราศจากการศึกษา ความจริงการศึกษานั้นไม่เพียงแต่จะมีความจำเป็นต่อมนุษย์เท่านั้น หากแต่ยังมีความสำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสรรพสิ่งทั้งมวลไม่ว่า สัตว์ สิ่งของรวมทั้งจักวาลด้วยเพราะอันเนื่องมาจากการศึกษาของมนุษย์นี้แหละทำให้โลกนี้สงบสุขหรือเกิดความหายนะ อัลลอฮฺได้ดำรัสความว่า “ความเสียหายได้เกิดขึ้นทั้งบนบกและในน้ำเป็นผลจากน้ำมือของมนุษย์ เพื่อพระองค์จะให้พวกเขาได้ลิ้มรสในบางส่วนที่พวกเขาได้ก่อไว้ โดยหวังที่จะให้พวกเขากลับเนื้อกลับตัว” (อัลกุรอาน ; 30 : 41) สมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกาศปิดโรงเรียน และยื่นมติ 8 ข้อ ต่อนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2555 ทีปัตตานี ---------------------------------------------------------------------------------------- สำหรับการศึกษาชายแดนใต้นั้นในการแก้ไขปัญหาการจัดการศึกษาในสถานการณ์ความไม่สงบที่กำลังยกระดับความรุนแรงอยู่อย่างต่อเนื่องในขณะนี้นั้นเช่นการเผาโรงเรียนของรัฐ การสังหารครูหลายร้อยศพและล่าสุดกลางเดือน พฤศจิกายน ผู้นำอวยการโรงเรียนบ้านท่ากำชำก็เป็นรายล่าสุด จนทำให้ สมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกาศปิดโรงเรียน และยืนมติ 8 ข้อ ต่อนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไม่เพียงแต่ครูโรงเรียนของรัฐเท่านั้นอุสตาซหรือครูสอนศาสนาก็ถูกสังหารและโดนจับหลายร้อยคนเช่นกัน ดังนั้น จำเป็นที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับงานการจัดการศึกษาในพื้นที่ จะต้องใช้สติ และความรอบคอบในการจัดการกับปัญหามากเป็นพิเศษและต้องเข้าใจ เข้าถึงวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ดังนั้นหากการจัดการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมและไม่ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่เป็นรากเหง้าของปัญหาไม่สงบในพื้นที่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น 2. ระบบการศึกษา ไทย การจัดการศึกษาของประเทศไทยมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยโบราณเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยความเชื่อที่ว่าการศึกษาช่วยกำหนดทิศทางของชาติ เพื่อพัฒนาคนไทยให้มีความพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ความเป็นมาของการศึกษาไทยมีประวัติที่น่าสนใจแบ่งออกได้ 5 ช่วงดังนี้ 1. การศึกษาของไทยสมัยโบราณ (พ.ศ. 1781 - พ.ศ. 2411) (1) การศึกษาสมัยกรุงสุโขทัย (พ.ศ. 1781 - พ.ศ. 1921) (2) การศึกษาสมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893 - พ.ศ. 2310) (3) การศึกษาสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2311 – พ.ศ. 2411) 2. การศึกษาของไทยสมัยปฏิรูปการศึกษา (พ.ศ. 2412 - พ.ศ. 2474) 3. การศึกษาของไทยสมัยการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญระยะแรก (พ.ศ. 2475 - พ.ศ. 2491) 4. การศึกษาไทยสมัยพัฒนาการศึกษา (พ.ศ. 2492 พ.ศ. 2534) 5. การศึกษาสมัยปัจจุบัน (พ.ศ. 2535 ปัจจุบัน) การจัดการศึกษาของไทยมีวิวัฒนาการมาโดยตลอด อาจจะเป็นเพราะมีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศทำให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ ปัจจัยภายในเกิดจากความต้องการพัฒนาสังคมให้มีความเจริญและทันสมัย ส่วนปัจจัยภายนอกเกิดจากกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ตลอดจนการติดต่อสื่อสารกันทำให้ประเทศไทยต้องปรับตัวให้ทันสมัย เพื่อความอยู่รอดและประเทศได้เกิดการพัฒนาให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทำให้การจัดการศึกษาของไทยมีวิวัฒนาการเรื่อยมา ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมความเจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองของชาติให้มั่นคงและเจริญก้าวหน้า สำหรับระบบการศึกษาไทยปัจจุบัน มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้คนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข” ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ในมาตราที่ ๖ ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ดังกล่าว แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) 2545 มีการจัดระบบการศึกษาขั้นประถมศึกษา 6 ปี (6 ระดับชั้น) การศึกษาขั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี (3 ระดับชั้น) และการศึกษาขั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี (3 ระดับชั้น) หรือระบบ 6-3-3 นอกจากนั้นระบบการศึกษาไทยยังจัดเป็นระบบการศึกษาในระบบโรงเรียน การศึกษานอกระบบโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย ในการจัดระบบการศึกษาตามแนวพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะไม่พิจารณาแบ่งแยกการศึกษาในระบบโรงเรียนออกจากการศึกษานอกระบบโรงเรียน แต่จะถือว่าการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นเพียงวิธีการเรียนการสอน หรือรูปแบบของการเรียนการสอนที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า "Modes of learning" ฉะนั้น แนวทางใหม่คือสถานศึกษาสามารถจัดได้ทั้ง 3 รูปแบบ และให้มีระบบเทียบโอนการเรียนรู้ทั้ง 3 รูปแบบ โดยพระราชบัญญัติการศึกษาฯ มาตรา 15 กล่าวว่าการจัดการศึกษามีสามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย คือ (1) การศึกษาในระบบ เป็นการศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและการประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน (2) การศึกษานอกระบบ เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบวิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม (3) การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจศักยภาพ ความพร้อมและโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม หรือแหล่งความรู้อื่นๆ สถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปใดรูปแบบหนึ่งหรือทั้งสามรูปแบบก็ได้ให้มีการเทียบโอนผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ในระหว่างรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบได้ไม่ว่าจะเป็นผลการเรียนจากสถานศึกษาเดียวกันหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งจากการเรียนรู้นอกระบบตามอัธยาศัย การฝึกอาชีพ หรือจากประสบการณ์การทำงานการสอน และจะส่งเสริมให้สถานศึกษาจัดได้ทั้ง 3 รูปแบบ การศึกษาในระบบมีสามระดับคือ การศึกษาระดับปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาระดับอุดมศึกษา 1. การศึกษาระดับปฐมวัยหรือก่อนการศึกษาขั้นพื้นฐานรัฐได้สนับสนุนให้มีการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย โดยกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้พัฒนาการศึกษาระดับปฐมวัยอย่างจริงจัง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ซึ่งขณะนั้นเรียกตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๓๕ ว่าการศึกษา ระดับก่อนประถมศึกษา เพื่อให้การศึกษาในระดับนี้มีมาตรฐานเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการจึงได้มอบหมายให้กรมวิชาการ จัดทำแนวการจัดประสบการณ์และพัฒนาเป็นหลักสูตร ก่อนประถมศึกษา พุทธศักราช ๒๕๔๐ และประกาศให้โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กระดับ ก่อนประถมศึกษาทั่วประเทศใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๑ เป็นต้นไป ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ กระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรระดับก่อนประถมศึกษาขึ้น เพื่อพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคม พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ประชุมพิจารณาปรับปรุงหลักสูตร ก่อนประถมศึกษา พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้ร่างหลักสูตรก่อนประถมศึกษาฉบับปรับปรุงและ นำเสนอเข้าที่ประชุมรับฟังความคิดเห็น ซึ่งผู้เข้าประชุมมีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประชาชนทั่วไป ตลอดจนพ่อแม่และผู้ปกครอง มติที่ประชุมให้เปลี่ยนชื่อหลักสูตรก่อนประถมศึกษาเป็น หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยได้มีการประชุมพิจารณาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้หลักสูตรมีความสมบูรณ์ที่สุด ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือจากคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรระดับก่อนประถมศึกษาและคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ซึ่งประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร นักวิชาการศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครูและผู้เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่างๆ จนได้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช ๒๕๔๖ หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กอายุ ๓ - ๕ ปี มุ่งให้เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ที่เหมาะสมกับวัย ความสามารถและความแตกต่างระหว่างบุคคล จึงกำหนดจุดหมายซึ่งถือเป็นมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ดังนี้ ๑. ร่างกายเจริญเติบโตตามวัย และมีสุขนิสัยที่ดี ๒. กล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็กแข็งแรง ใช้ได้อย่างคล่องแคล่วและประสานสัมพันธ์กัน ๓. มีสุขภาพจิตดี และมีความสุข ๔. มีคุณธรรม จริยธรรม และมีจิตใจที่ดีงาม ๕. ชื่นชมและแสดงออกทางศิลปะ ดนตรี การเคลื่อนไหว และรักการออกกำลังกาย ๖. ช่วยเหลือตนเองได้เหมาะสมกับวัย ๗. รักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และความเป็นไทย ๘. อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขและปฏิบัติตนเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ๙. ใช้ภาษาสื่อสารได้เหมาะสมกับวัย ๑๐. มีความสามารถในการคิดและการแก้ปัญหาได้เหมาะสมกับวัย ๑๑. มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ๑๒. มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ และมีทักษะในการแสวงหาความรู้ 2. การศึกษาขั้นพื้นฐาน นั้นมุ่งพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุขและมีความเป็นไทย มีศักยภาพในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพ จึงกำหนดจุดมุ่งหมายซึ่งถือเป็นมาตรฐานการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ดังต่อไปนี้ 1. เห็นคุณค่าของตนเอง มีวินัยในตนเอง ปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา หรือศาสนาที่ตนนับถือ มีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมอันพึงประสงค์ 2. มีความคิดสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน รักการอ่าน รักการเขียน และรักการค้นคว้า 3. มีความรู้อันเป็นสากล รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ มีทักษะและศักยภาพในการจัดการ การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยี ปรับวิธีการคิด วิธีการทำงานได้เหมาะสมกับสถานะการณ์ 4. มีทักษะและกระบวนการ โดยเฉพาะทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ทักษะการคิด การสร้างปัญญา และทักษะในการดำเนินชีวิต 5. รักการออกกำลังกาย ดูแลตนเอง ให้มีสุขภาพและบุคลิกภาพที่ดี 6. มีประสิทธิภาพในการผลิตและการบริโภค มีค่านิยมเป็นผู้ผลิตมากกว่าเป็นผู้บริโภค 7. เข้าใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ภูมิใจในความเป็นไทย เป็นพลเมืองดี ยึดมั่นในวิถีชีวิตและการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 8. มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ภาษาไทย ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี กีฬา ภูมิปัญญาไทย ทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาสิ่งแวดล้อม 9. รักประเทศชาติและท้องถิ่น มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงาม การศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย การศึกษาซึ่งจัดไม่น้อยกว่าสิบสองปีก่อนระดับอุดมศึกษา การแบ่งระดับและประเภทของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง การแบ่งระดับหรือการเทียบระดับการศึกษานอกระบบหรือการศึกษาตามอัธยาศัยให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง การศึกษาในระบบที่เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานแบ่งเป็นสามระดับ 1.1 การศึกษาระดับประถมศึกษา โดยปกติใช้เวลาเรียน 6 ปี 1.2 การศึกษาระดับมัธยมศึกษา แบ่งเป็นสองระดับ ดังนี้ - การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยปกติใช้เวลาเรียน 3 ปี - การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยปกติใช้เวลาเรียน 3 ปี แบ่งเป็นสองประเภท ดังนี้ 1) ประเภทสามัญศึกษา เป็นการจัดการศึกษาเพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา 2) ประเภทอาชีวศึกษา เป็นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ หรือ ศึกษาต่อในระดับอาชีพชั้นสูงต่อไป 3. การศึกษาระดับอุดมศึกษา มุ่งตอบสนองผู้เรียนในวัยเรียน วัยทำงาน และวัยสูงอายุ เพื่อรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตและสามารถปรับตัวสำหรับงาน ที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบนำไปสู่การพัฒนาประเทศในกระแสโลกาภิวัฒน์ได้ ในขณะที่อุดมศึกษาไทยนั้นควรมีศักยภาพในการสร้างความรู้ และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ บนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการแข่งขันในระดับสากล สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของท้องถิ่นไทย โดยใช้กลไกธรรมาภิบาลเครือข่ายอุดมศึกษา บนพื้นฐาน ของเสรีภาพทางวิชาการ ความหลากหลายและเอกภาพเชิงระบบ การศึกษาระดับอุดมศึกษาแบ่งเป็นสองระดับ คือ ระดับต่ำกว่าปริญญาและระดับปริญญา การใช้คำว่า "อุดมศึกษา" แทนคำว่า "การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย" ก็เพื่อจะให้ครอบคลุมการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรหรืออนุปริญญา ที่เรียนภายหลังที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ทั้งนี้การศึกษาภาคบังคับจำนวนเก้าปีเรียนฟรีอย่างมีคุณภาพโดยให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดเข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจนอายุย่างเข้าปีที่สิบหก เว้นแต่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับหลักเกณฑ์และวิธีการนับอายุให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงการศึกษาภาคบังคับนั้นต่างจากการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่บังคับให้ประชาชนต้องเข้าเรียนแต่เป็นสิทธิ์ของคนไทย ส่วนการศึกษาภาคบังคับเป็นการบังคับให้เข้าเรียนถือเป็นหน้าที่ของพลเมืองตามมาตรา 69 ของรัฐธรรมนูญ 3. การจัดศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3.1 ระบบการจัดการศึกษา การการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่ามีความหลากหลาย พิเศษกว่าพื้นที่อื่นๆ ผู้จัดการศึกษามีในนามของรัฐหรือเอกชน หรือภาคประชาชน จากข้อมูลการจัดการศึกษา นั้นผู้เขียนขอแบ่งการจัดการศึกษา 3 จังหวัดชายภาคแดนใต้ออกเป็น 2 ระบบ 1. สถานศึกษาในระบบ มีสถานศึกษา 1,202 แห่ง มีนักเรียนทั้งสิ้น 503,236 คน สามารถแบ่งได้ 5 ประเภท 1.1 สถานศึกษาก่อนและขั้นพื้นฐาน ( อนุบาล- มัธยมศึกษาปีที่6 ) เป็นของรัฐ 925 แห่งมีนักเรียนทั้งสิ้น 321977 คนส่วนใหญ่เป็นการศึกษาภาคบังคับ( ประถมศึกษาปีที่6) ของเอกชน 172 แห่งแต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่สอนศาสนาควบคู่สามัญ ถึง126 แห่(ส่วนใหญ่ในระดับมัธยมศึกษา) และที่อยู่ภายใต้องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น 32 แห่ง(เป็นการศึกษาภาคบังคับระดับประถมศึกษาปีที่6เช่นกัน) 1.2 สถาบันอาชีวศึกษา ของรัฐ 13 แห่งมีนักเรียน 17331 คน และของเอกชน 4 แห่งมีนักเรียน 2325 คน 1.3 วิทยาลัยชุมชน 3 แห่งนักเรียน 4024 คน 1.4 สถาบันอุดมศึกษา 4 แห่ง มีนักศึกษา ทั้งสิ้น 15424 คน 1.5 โรงเรียนพระปริยัติธรรม แบ่งออกเป็นแผนกสามัญศึกษา 2 แห่งมีผู้เรียน 101 คน แผนกธรรม 43 แห่งมีผู้เรียน 596 คนและแผนกบาลี 4 แห่งมีผู้เรียน 57 คน 2. สถานศึกษานอกระบบซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้ 2.1 สถาบันศึกษาปอเนาะ 303 แห่ง(ที่จดทะเบียน ) มีผู้เรียนทั้งสิ้นประมาณ 17890 คน (อาจจะมีคนที่เรียนสถานบันในระบบมาอาศัยและเรียนด้วยในเวลาว่างจากการเรียนในระบบและคนที่ทำงานแล้วเรียนด้วยหลังจากเวลาทำงาน) 2.2 ศูนย์อบรมศาสนาอิสลามประจำมัสยิดสำหรับผู้ใหญ่และศูนย์ อบรมศาสนาอิสลามประจำมัสยิดสำหรับเด็กเรียกว่าตาดีกา 1605 แห่ง มีนักเรียนทั้งสิ้น 168242 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนประถมศึกษาของรัฐ และศุนย์อบรมเด็ก่อนเกณฑ์แระจำมัสยิด 130 แห่ง มีนักเรียน 7428 คน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 238 แห่งมีนักเรียน 9478 คน 2.3 ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ 6 แห่ง มีนักเรียน 1216 คน 2.4 ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน มี 36 แห่งมีนักเรียน 112194 คน 2.5 ศูนย์การเรียนอัลกุรอานตามบ้านของปราชญ์อัลกุรอานและศูนย์ท่องจำอัลกุรอาน ไม่นับรวมการศึกษาตามอัธยาศัยด้านศาสนาอิสลามสำหรับเยาวชนและผู้ใหญ่ตามมัสยิดต่างๆ โดยเฉพาะมัสยิดกลางทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มัสยิดเราะห์มานียะห์บ้านบราโอ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานีซึ่งดำเนินการสอนโดยปราชญ์ด้านศาสนาอิสลามที่มีชื่อเสียงคือ ชัยค์อีสมาอีล ดาอีละ(อิสมาแอ เสอร์ปัญยัง)และชัยค์ ดร. อิสมาอีลลุฏฟี จะปะกียา โดยมีผู้เข้าฟังไม่ต่ำกว่า ห้าพันคนทุกสัปดาห์ และดำเนินการสอนกว่า สามสิบปี จากข้อมูลการจัดการศึกษาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การศึกษา ใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆมากโดยเฉพาะในประเด็นการให้สำคัญกับการศึกษาด้านศาสนาตั้งแต่เล็กถึงแม้ภาครัฐจะจัดให้มีการจัดการศึกษาหลักสูตรอิสลามศึกษาหลักสูตรเข้มข้น (พ.ศ.2551)ในโรงเรียนของรัฐระดับประถมศึกษาแต่เด็กดังกล่าวยังไปเรียนศาสนาหลักสูตรเข้มข้นวันเสาร์อาทิตย์ในศูนย์อบรมศาสนาอิสลามประจำมัสยิดหรือตาดีกาทั้ง 1605 และเรียนอัลกุรอานตอนเย็นหลังเลิกเรียนตามศูนย์การเรียนอัลกุรอานตามบ้านของปราชญ์อัลกุรอาน ในขณะเดียวกันเด็กมุสลิมส่วนใหญ่เมื่อจบประถมศึกษาปีที่6 จะเข้าเรียนศาสนาและสามัญในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามซึ่งมีมากกว่า 120 แห่ง ในขณะนักเรียนไทยพุทธจะเรียนมัธยมศึกษาในโรงเรียนของรัฐ เมื่อนักเรียนมุสลิมจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะแยกย้ายออกไปศึกษา ตามที่ต่างๆบางคนหากต้องการความรู้เพิ่มเติม ด้านสามัญก็จะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยในประเทศหรือต่างประเทศเช่นมาเลเซีย ด้านอาชีพก็จะเรียนต่อวิทยาลัยชุมชน อาชีวศึกษา สำหรับผู้ที่ต้องการมีความรู้ด้านศาสนาเพิ่มขึ้นก็จะเรียนในสถาบันเดิมหรือต่างสถาบันในระดับชั้นซานาวี เพื่อนำประกาศนียบัตรชั้นซานาวี ดังกล่าวไปต่อด้านศาสนาที่ตะวันออกกลาง มาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่สำหรับบางคนเรียนต่อในสถาบันปอเนาะโดยเฉพาะสถาบันปอเนาะที่มีปราชญ์อิสลามศึกษาหรือโต๊ะครูดังเช่นปอเนาะดาลอ ปอเนาะโต๊ะยง หรือปอเนาะเลาะสาเงาะ 3.2 ปัญหาหลักคือผลสัมฤทธิ์การศึกษาทั้งสามัญและศาสนา ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาผลสัมฤทธิ์ทาง การศึกษา พบว่า เด็กที่จบระดับประถมศึกษาปีที่ 3 ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ คิดเป็นร้อยละ 33.72 (เฉลี่ยทั้ง 3 จังหวัด) ส่วนคะแนนสอบโอเน็ต (การสอบวัดผลทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน) ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ใน 5 วิชาหลัก ปีการศึกษา 2554 พบว่านักเรียนจากโรงเรียนทั้งของรัฐและเอกชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของทั้งประเทศทุกวิชา ได้แก่ ภาษาไทย ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 41.88 โรงเรียนรัฐที่ชายแดนใต้ได้ 40.12 โรงเรียนเอกชน 33.44 คณิตศาสตร์ ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 22.73 โรงเรียนรัฐที่ชายแดนใต้ได้ 20.98 โรงเรียนเอกชน 17.15 วิทยาศาสตร์ ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 27.90 โรงเรียนรัฐที่ชายแดนใต้ได้ 26.71 โรงเรียนเอกชน 23.70 สังคม ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 33.39 โรงเรียนรัฐที่ชายแดนใต้ได้ 32.76 โรงเรียนเอกชน 29.82 ภาษาอังกฤษ ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 21.80 โรงเรียนรัฐที่ชายแดนใต้ได้ 20.11 โรงเรียนเอกชน 16.92 ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดังกล่าวอยู่ในลำดับรั้งท้ายของประเทศ ถึงแม้ผู้เรียนจากทั่วประเทศมีผลสัมฤทธิ์ตกทั่วกัน ในขณะเดียวกันพบว่า นักเรียนจากสามจังหวัด มีอัตราการออกกลางคันและตกหล่นของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานค่อนข้างสูง ขณะที่มีอัตราการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ นอกจากวิชาสามัญมีผลสัมฤทธิ์ไม่ผ่านแล้วพบว่าผลสัมฤทธิ์หลักสูตรอิสลามศึกษา ทั้งสามกลุ่มสาระวิชาคือศาสนา ภาษา (มลายูและอาหรับ) สังคม ทั้งสามระดับ อิบติดาอีย์ มุตาวัสสิต และซานาวี ก็มีผลสัมฤทธิ์ไม่ผ่านร้อยละ 50 ตลอดสามปีที่มีการสอบ I-NETเช่นกัน จากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน O-NET ของการจัดการศึกษาทั้ง 3 ระดับ คือ ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายของสังกัดโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีคะแนนเฉลี่ยในภาพรวมทุกกลุ่มสาระวิชา ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของระดับชาติ รวมทั้งเมื่อเปรียบเทียบความก้าวหน้าของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของปีที่ผ่านมา เกือบทุกกลุ่มสาระวิชามีคะแนนค่าเฉลี่ยสูงกว่าระดับชาติ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรปฏิบัติร่วมกันคือ ทำอย่างไรจะให้ได้ค่าเฉลี่ยที่เกินเกณฑ์มาตรฐานคือ ร้อยละ 50 ด้วยวิกฤติดังกล่าวทำให้ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้มอบแนวทางการพัฒนาการศึกษา โดยทุกภาคส่วนของการศึกษา ต้องเร่งรัดพัฒนาการศึกษาไปสู่คุณภาพ จัดการสอนให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง ให้เด็กเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม สามารถใช้ความรู้ในชีวิตประจำวัน มีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันต้องเตรียมผลักดันการศึกษาให้รองรับสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการเตรียมในด้านทักษะฝีมือ และทักษะภาษา ซึ่งข้อมูลการศึกษาปัจจุบัน จะต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาของนักเรียนให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยดึงเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้กับสื่อการเรียนการสอนให้สามารถนักเรียนมีทักษะความรู้ใกล้กับเกณฑ์มาตรฐานกลางร้อยละ 50 ให้มากที่สุด ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมจะสนับสนุนจัดหาบุคลกรทางการศึกษา โดยจัดหารครูผู้ช่วยสอนวิชาหลัก คือ ภาษาไทย ภาษามลายู วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ จำนวน 100 คน ช่วยสอนในโรงเรียนของรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน เพื่อนำร่องและพัฒนาครูที่สอนอยู่ในโรงเรียนให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น โดยสร้างครูชายแดนใต้ให้เป็น “ครูสายพันธุ์ใหม่”โดยจัดอบรมพัฒนาครู ซึ่งทำการทบทวนบทเรียน ตามสภาพปัญหาที่ได้พบจากการสอนจริง โดยได้รับการสนับสนุนจากวิทยากรจากสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษาที่ 15 สำนักงานการศึกษาเอกชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์โดยตรงและประสบความสำเร็จในการจัดการสอนในพื้นที่ เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับครูช่วยสอน สร้างอนาคตที่ดีให้กับเด็กจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลสัมฤทธิ์ดังกล่าวสอดคล้องการผลวิจัยเมื่อปี 2544 คุณภาพการศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามเกณฑ์คุณภาพของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ควรปรับปรุงโดยเร่งด่วน ในขณะเดียวกันจากผู้ประเมิน ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ได้ให้ข้อมูลว่าความเป็นจริงการประเมินผลสัมฤทธิ์เป็นเพียงหนึ่งในหลายมาตรฐานที่ใช้วัดคุณภาพสถานศึกษาด้านการบริหารจัดการ บุคลากรและผู้เรียนซึ่งส่วนใหญ่ด้านการบริหารจัดการ และบุคลากรผ่าน แต่ผลสัมฤทธิ์กับการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียนจะอยู่ในระดับปรับปรุงถึงพอใช้ สำหรับผลสัมฤทธิ์ ที่ไม่ผ่าน ดังกล่าวมีผลมาจาก การที่ชุมชนยังรู้สึกว่าโรงเรียนที่จัดการศึกษาโดยรัฐนั้นไม่ใช่ของเขา กรรมการสถานศึกษาซึ่งประชาชนและคนในชุมชนเป็นกรรมการนั้นยังไม่ทราบบทบาทและอำนาจในการบริหารสถานศึกษาว่าเป็นของเขาทำให้ความร่วมมือจึงน้อย ทำให้เด็กขาดเรียนส่วนหนึ่งและบางโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ปัญหาความไม่สงบส่งผลต่อการจัดกระบวนการเรียนการสอน ปัจจัยเหล่านี้คือปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนคือนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและในอนาคตจะพบในนักเรียนของโรงเรียนรัฐที่ใช้สองหลักสูตรที่แยกส่วนคือการศึกษาขั้นพื้นฐานและอิสลามศึกแบบเข้มเพราะจะทำให้นักเรียนเรียนหนักเกินไป จากการดำเนินโครงการปฏิรูปหลักสูตรโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ส่วนของประเทศไทย (CRP-Project), (ซึ่งผู้เขียนเป็นคณะทำงานร่วมอยู่ด้วย)ตลอดระยะเวลา ๓ ปี(ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐-๒๕๕๒) ได้สรุปผลต่อที่ประชุม ว่า“ สังคมมุสลิมยังมีความคิดแยกส่วนในการเรียนวิชาศาสนาและสามัญ โดยเฉพาะวิชาสามัญนั้นมุสลิมยังมองว่าเป็นวิชาการทางโลก ดังนั้นการแก้ปัญหาคือการใช้หลักสูตรบูรณาการอิสลามสำหรับมุสลิม” คำว่าบูรณาการอิสสลามไม่ใช่มีหลักสูตรอิสลามศึกษาในสถานศึกษาแต่ เป็นความพยายามการจัดการศึกษาที่นำเอาหลักการของศาสนาอิสลามมาใช้เป็นปรัชญาออกแบบการจัดการศึกษาและกำหนดวิธีการในกระบวนการจัดการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนเกิดศรัทธายึดมั่นและปฏิบัติตนตามหลักศาสนา โดยนำองค์ความรู้ต่างๆ ที่หลากหลายทุกสาระวิชา มาหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันสอดคล้องตามหลักของศาสนาอิสลามและสำหรับประเทศไทยควรนำไปสู่การดำรงชีวิตในพหุสังคมได้อย่างเหมาะสม สาเหตุที่ต้องจัดการศึกษาบูรณาการ อันเนื่องมาจากว่าการบูรณาการการศึกษาที่สมบูรณ์แบบค่อนข้างที่จะเป็นไปได้ยากในสังคมปัจจุบัน เพราะหลักสูตร หนังสือ แบบเรียน วิธีการสอน ตลอดจนบุคลากรทางการศึกษาจะต้องวางอยู่บนพื้นฐานของอิสลาม แม้ว่าจะสามารถปฏิบัติได้ในบางระดับ แต่ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างรอบคอบ เพราะการบูรณาการที่หละหลวมจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี อย่างไรก็ตาม เมื่อเราตระหนักว่าหลักสูตรการศึกษาในอิสลามเป็นหลักสูตรบูรณาการ ความพยายามที่จะต้องบูรณาการการศึกษาจึงควรได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จากการจัดการศึกษานั้นควรมีจุดมุ่งหมายเพื่อการเจริญเติบโตอย่างสมดุลของบุคลิกภาพมนุษย์ โดยการฝึกฝนทางจิตวิญญาณ ความคิด เหตุผล ความรู้สึก และประสาทสัมผัส ควรมุ่งเน้นให้มนุษย์เจริญเติบโตไปในทุกๆ ด้าน เช่น ด้านจิตวิญญาณ สติปัญญา การจินตนาการ สรีระ วิทยาศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ทั้งปัจเจกบุคคล และส่วนรวมแล้วโน้มน้าวด้านต่างๆ เหล่านี้ ไปสู่ความดีงาม และการบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบ ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของการศึกษาตามทัศนะอิสลามคือ การยอมจำนนต่ออัลลอฮฺอย่างสิ้นเชิง ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล สังคม และ มนุษยชาติซึ่งสอดล้องกับจุดมุ่งหมายการศึกษาของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ในมาตราที่ ๖ “การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อให้คนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข” ความสมดุล และ ความสมบูรณ์ของมนุษย์เป็นประเด็นหลักของจุดมุ่งหมายทั้งสองนี้จะเกิดขึ้นได้นั้นควร มุ่งเน้นการจัดการศึกษาภายใต้แนวคิดอิสลามานุวัตรองค์ความรู้( Islamization of Knowledge) ซึ่งสามารถบูรณาการอิสลามในทุกองค์ความรู้ผ่านการทบทวนรายวิชาที่จัดสอนในหลักสูตร ปฏิรูปหลักสูตร โดยยึดหลักการข้างต้นพร้อมกับจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาตามแนวคิดดังกล่าว ในขณะเดียวกันทางโครงการได้เสนอรูปแบบหรือ Model ต้นร่าง การบูรณาการโครงสร้างหลักสูตร ตามแนวคิดของ CRP-PROJECT ดังนี้ บูรณาการอิสลามทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ - กลั่นกรองเนื้อหาทุกกลุ่มสาระ โดยครูผู้สอนสามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนวิเคราะห์เนื้อหา และ แยกแยะได้ว่าส่วนใดที่ไม่ตรงกับหลักการศาสนาอิสลาม และความจริงที่ถูกต้องเป็นอย่างไร - บูรณาการบรรยากาศในโรงเรียนและในห้องเรียนเป็นบรรยากาศแบบอิสลามเต็มรูปแบบ - บูรณาการโครงสร้างหลักสูตร - บูรณาการเนื้อหาวิชา - บูรณาการตำราเรียน/และสื่อการจัดการเรียนรู้ - บูรณาการกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ ถ้าสามารถสร้างรูปแบบการศึกษาบูรณาการที่สมบูรณ

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม