1066 23 Nov 2012
ชื่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบ: อุดรธานี ... ท่ามกลางการคัดค้านเหมืองแร่ในภาคอีสานยังคุกรุ่น แต่ทว่าเอกชนยังยื่นขอสัมปทานแหล่งแร่โปแตช อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดศูนย์ข้อมูลสิทธิฯ อีสาน เปิดเผยว่าที่จ.กาฬสินธุ์ มีการยื่นขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจ จำนวน 2 แสนไร่ ขณะที่เวทีพับลิค สโคปปิ้งเหมืองทอง จ.เลย ชาวบ้านและภาคประชาสังคมคัดค้านอย่างหนักจนต้องล่มเป็นครั้งที่ 5... เมื่อวันที่ 22 พ.ย.55 เวลาประมาณ 15.00 น. นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน ซึ่งได้ติดตามข้อมูลนโยบายการทำเหมืองแร่และโครงการพัฒนาที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคอีสานมาอย่างต่อเนื่อง ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าขณะนี้กำลังมีการยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจ ประเมินศักยภาพแหล่งแร่โปแตช เพื่อทำการผลิตในพื้นที่จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 12 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 2 แสนไร่ ทั้งนี้ บริษัท แปซิฟิก มิลเดอรัล จำกัด ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ในตำบลโพนทอง, ตำบลเหนือ, ตำบลม่วงนา, ตำบลดอนจาน, ตำบลนาจำปา และตำบลเชียงเครือ อำเภอกมลาไสย และอำเภอดอนจาน โดยยื่นคำขอที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ และส่งต่อไปให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทำเรื่องเสนอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศยกเลิกมาตรา 6 ทวิ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.แร่ 2510 ในเขตพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ได้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อเปิดให้เอกชนสามารถยื่นคำขออาชญาบัตรเพื่อประกอบการเชิงพาณิชย์ และทำการผลิตแร่โปแตช ได้ “จากการติดตามข้อมูลล่าสุดพบว่ามีการยื่นคำขอในจ.กาฬสินธุ์ รวมทั้งในหลายพื้นที่ของภาคอีสานที่ได้มีการยื่นไปแล้ว ซึ่งเห็นได้ว่าจะมีเหมืองแร่โปแตชเต็มแผ่นดินอีสานไม่ว่าจะเป็น นครราชสีมา ขอนแก่น ชัยภูมิ สกลนคร อุดรธานี มหาสารคาม หนองคาย และยโสธร คิดเป็นเนื้อที่รวมกว่า 1.3 ล้านไร่ โดยจะส่งผลกระทบต่อคนอีสานทั้งภาค” นายสุวิทย์ กล่าว นายสุวิทย์กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะในพื้นที่จ.อุดรธานี ที่กำลังอยู่ระหว่างการยื่นคำขอประทานบัตรเพื่อทำการผลิตแร่โปแตช ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) และชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านต่อเนื่องอย่างหนัก แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “คณะกรรมการที่อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ แต่งตั้งขึ้นมาเพื่อติดตามกระบวนการประทานบัตรก็ถูกฉีกทิ้งไปเมื่อเปลี่ยนอธิบดีคนใหม่ หรือแม้แต่ชาวบ้านขอเข้าพบเพื่อชี้แจงให้ข้อมูล กับผู้ว่าฯอุดร คนใหม่ก็ยังเมินเฉย” นายสุวิทย์กล่าวทิ้งท้าย ขณะเดียวกันในวันนี้ (22 พ.ย.) เวลาประมาณ 08.00 น. ชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านเกิดจากพื้นที่ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ร่วมด้วยเครือข่ายประชาสังคมจังหวัดเลย และกลุ่มนักศึกษาเฝ้าติดตามผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ จำนวนกว่า 400 คน ได้เดินทางไปที่ศาลาประชาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย เพื่อคัดค้านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.1) หรือพับลิค สโคปปิ้ง (Public scoping) ซึ่งเป็นขั้นตอนเริ่มต้นแรกสุดของการทำ EHIA เพื่อประกอบการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำส่วนขยายบนภูเหล็ก ตามคำขอประทานบัตรที่ 104/2538 ของบริษัททุ่งคำ จำกัด แต่ทว่าเวทีดังกล่าว ได้ถูกยกเลิกและเลื่อนไปจัดในวันที่ 21 ธันวาคม 2555 ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 5 แล้วที่มีการเลื่อน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าบริษัทฯ ได้จัดเตรียมกำลังมวลชนจากหลายอำเภอในจังหวัดเลย เพื่อจะมาปะทะขัดขวางกับกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านเหมืองไม่ให้เข้าร่วมและให้การจัดเวทีประสบความสำเร็จ หลังจากทราบข่าวการเลื่อนการจัดเวที กลุ่มชาวบ้าน เครือข่ายประชาสังคม และนักศึกษา จึงร่วมกันรณรงค์ให้ข้อมูลถึงผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ให้กับประชาชนในเมืองเลยและผู้ที่สัญจรผ่านไปมา โดยน.ส.วัชราภรณ์ วัฒนขำ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเฝ้าระวังผลกระทบจากนโยบายการทำเหมืองแร่ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เหมืองแร่ทองคำ จ.เลย มีปัญหามาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะบ่อกักเก็บไซยาไนด์แตก จนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่มีคำสั่งปิดเหมือง แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์ของบริษัทผู้ประกอบการ นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาโรงประกอบโลหะกรรมหมดอายุไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผลการไต่สวนการรังวัดอันเป็นเท็จโดยระบุว่าพื้นที่ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำส่วนขยายบนภูเหล็กไม่มีบ่อน้ำสาธารณะ และไม่มีป่าสาธารณะประโยชน์ แต่ในข้อเท็จจริงพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งน้ำซำ น้ำซับ และมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ “บริษัทฯ อยู่ในสถานการณ์หลังชนฝา และถ้าหากจัดเวทีขึ้นก็เท่ากับเป็นการประจานความผิดพลาดของตนเอง อีกทั้งกลุ่มมวลชนที่เตรียมเอาไว้รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของทางจังหวัดก็ต้องไปดูแลเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ เมื่อเห็นท่าจะเพลี่ยงพล้ำเขาจึงเลื่อนเวทีออกไป” น.ส.วัชราภรณ์กล่าว /-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/ นายเดชา คำเบ้าเมือง ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.) ตู้ปณ. 14 อ.เมือง จ.อุดรธานี 41000 โทรศัพท์ : 081-3696266 อีเมล์ : decha_61@yahoo.com ; huktin.ud@gmail.com05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม