1617 09 Nov 2012
https://www.facebook.com/#!/photo.php?fbid=4896381247790&set=a.3589519657067.169151.1245604111&type=3&theater https://www.facebook.com/#!/photo.php?fbid=4878112191075&set=a.3589519657067.169151.1245604111&type=3&theater ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัดและผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน หนังสือเล่มนี้เรียบเรียงจากการศึกษาเอกสารเกี่ยวกับระบบซะกาตในอิสลาม การจัดเก็บซะกาตในสมัยอดีต และถอดบทเรียนการจัดเก็บซะกาตในชุมชนมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้อันเป็นแนวคิดหนึ่งในการให้สวัสดิการชุมชน ซึ่งเป็นทุนทางสังคมอันมีค่าในหลักการอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยทุนทางสังคมดังกล่าวทำให้โครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ซึ่งได้รับงบสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) นำแนวคิด สวัสดิการชุมชนด้วยระบบซะกาต มาขับเคลื่อนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552-2555) หนังสือนี้มีด้วยกัน 5 บทคือ บทที่ หนึ่ง บทนำ บทที่สอง แนวคิด ซะกาตกับสวัสดิการชุมชน บทที่สาม การจัดระบบซะกาตในสมัยอดีต บทที่สี่ การนำทฤษฎีสู่ปฏิบัติในชุมชนมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ บทที่ห้า สรุป อภิปรายผลและข้อเสนอแนะจากชุมชนสู่นโยบายสาธารณะ เนื้อหาโดยรวมพอสรุปได้ดังนี้ ดร. อับดุลเลาะ หนุ่มสุขให้ทัศนะว่า ซะกาตเป็นหน้าที่ทางศาสนาของมุสลิมทุกคนที่ครอบครองทรัพย์สินถึงจำนวนและครบรอบปี ซะกาตถูกบัญญัติให้มีการจัดเก็บเเละเเจกจ่ายอย่างเป็นระบบโดยผ่านองค์กรหรือสถาบันที่รับผิดชอบ ท่านศาสนทูต ใด้วางแนวทางที่ชัดเจนในการจัดระบบซะกาตซึ่งต่อมาบรรดาเดาะลีฟะฮฺผู้ทรงธรรม(ผู้นำมุสลิม)ได้เจริญรอยตามแนวทางดังกล่าวและใด้พัฒนาระบบซะกาตให้สอดคล้องกับความความเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรอิสลาม ซะกาตในยุคสมัยดังกล่าว จึงกลายเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งของระบบประกันสังคมและระบบการคลัง(บัยตุลมาล)ในขณะเดียวกัน อย่างไรก็ตามพบว่าเเนวทางสำคัญที่ทำให้การจัดระบบซะกาตในสมัยดังกล่าวมีประสิทธิภาพก็ คือ การมีคุณธรรมและความโปร่งใส ดังนั้นองค์กรใดก็ตามที่มีหน้าที่ในการจัดการซะกาต เจ้าหน้าที่เเละบุคลากรที่เกี่ยวข้องจะต้องเป็นผู้มีคุณธรรมเเละมีความโปร่งใส เพราะมิเช่นนั้นเเล้วการจัดการซะกาตก็จะประสบปัญหาและไม่สามารถเป็นหลักประกันให้สังคมได้ จากการศึกษาการจัดสวัสดิการสังคมในชุมชนมุสลิมจังหวัดภาคใต้ด้วยระบบซะกาตพบว่ามีด้วยกัน สองลักษณะใหญ่ๆคือปัจเจกชนและองค์กร สำหรับปัจเจกชนนั้นพบว่าแม้สวัสดิการด้วยระบบซะกาตจะเป็นระบบการให้ความช่วยเหลือทางสังคมที่ถูกบัญญัติขึ้นตามหลักศาสนาก็ตามแต่ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏพบว่า ประชาชนมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่ดำเนินการในลักษณะปัจเจกชน มากกว่า(โดยเฉพาะการจ่ายซะกาตทรัพย์สินยกเว้นซะกาตฟิตร์ส่วนใหญ่จะจ่ายผ่านคณะกรรมการที่มัสยิดแต่งตั้ง) แจกจ่ายแก่คนที่มีสิทธิรับในวงแคบและเป็นไปอย่างจำกัด ทำให้ระบบซะกาตยังไม่สามารถบรรลุผลสมจุดมุ่งหมายอย่างแท้จริง ความช่วยเหลือทางสังคมที่จะตกแก่คนยากจน ขัดสน ผู้ด้อยโอกาส จึงยังไม่เกิดประสิทธิผลอย่างที่ควรจะเป็น ในขณะขณะเดียวกันมุสลิมส่วนน้อยจะจ่ายผ่านองค์กรที่เป็นระบบ ที่ก่อให้เกิดสวัสดิการแบบพึ่งตนเอง ในชุมชนช่วยเหลือคนภายในชุมชนตนเองตามหลักแนวคิดสวัสดิการชุมชน นำไปสู่การเป็นชุมชนเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ และอยู่ได้อย่างยั่งยืนซึ่งในระบบองค์กรจะดำเนินเป็นระบบนั้นสามารถแบ่งออกได้ดังนี้ มัสยิด สถาบันการเงิน และองค์กรสาธารณประโยชน์ จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติในระบบบซะกาตเพื่อเป็นสวัสดิการชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากสามารถ ทำงานในเชิงรุก ย่อมทำให้เกิดการพัฒนา และเกิดผลดีกับผู้ใช้บริการมากที่สุด สวัสดิการถือเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการลดปัญหาสังคม และการพัฒนาระบบสวัสดิการ คือ กลไกที่ช่วยป้องกันมิให้เกิดปัญหาอื่นๆ อันเนื่องมาจากความจน ระบบซะกาตที่ดำเนินอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากมีระบบบริหารจัดการที่ดีและถูกต้องตามหลักการของศาสนาแล้ว ก็สามารถแก้ปัญหาความเป็นอยู่พื้นฐานในสังคมได้ จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่ ในการบริหารจัดการซะกาตยังทำงานเชิงรับและเป็นผู้ให้ โดยที่ไม่กระตุ้นให้คนเหล่านั้นช่วยตนเองได้ในที่สุด นอกจากการบริหารของมัสยิดบ้านเหนือ ถึงแม้ซะกาตที่มีหลักการที่ดี บนพื้นฐานความศรัทธาในศาสนา แต่ในความเป็นจริง แต่ส่วนใหญ่ประชาชนยังบริจาคทานกันตามใจชอบ หรือปัจเจกชนมากว่า ซะกาต ถ้ามองในแง่การบังคับ คือ ภาระที่ต้องจ่ายทรัพย์สินออกไป แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง คือ ความทะเยอทะยานที่อิสลามวางไว้ให้ทุกคนทำมาหากิน เพราะว่าในหลักการของอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นการปฏิญาณตน การละหมาด การถือศีลอด ไม่ว่ามีหรือยากจน ทุกฐานะมิได้เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติ ในขณะที่ ฮัจญ์ และซะกาตทรัพย์สิน ถูกกำหนดไว้เฉพาะบุคคลที่มีความสามารถ สำหรับกลุ่มคนที่อยู่ใน 8 จำพวก บุคคลเหล่านั้นต้องมีความทะเยอทะยานที่จะต้องทำมาหากิน เพื่อสักวันหนึ่ง เขาจะกลายมาเป็นผู้ให้บ้าง และเมื่อนั้น ความสมบูรณ์ในการปฏิบัติตามหลักศาสนาในเรื่องของซะกาตก็จะครบถ้วน อิสลามไม่ได้ห้ามการแข่งขัน ไม่ได้แนะนำให้อยู่เฉยๆ โดยไม่ต้องทำอะไร ถ้าอยากมี อยากเป็น เหมือนเช่นคนอื่น ต้องขยัน ต้องออม ต้องประหยัด ถึงจะมีเงินหรือทรัพย์สมบัติที่จะจ่ายซะกาต ถ้า ณ วันนี้ เขายังประพฤติปฏิบัติตนเป็นผู้รอรับ แน่นอนเขาย่อมมีโอกาสน้อยกว่าคนอื่นที่จะเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า การให้สวัสดิการซะกาต คือ การให้โอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี และโอกาสที่จะกลับมาเป็นผู้จ่ายซะกาตในวันที่มีทรัพย์สินถึงจำนวน วรรณวดี พูลพอกสิน ให้ทัศนะว่า หลายคนอาจมองว่า ถ้ามีระบบการดูแลเช่นนี้ในอิสลาม จะทำให้กลุ่มคนที่ศาสนาให้รับซะกาตได้เหล่านั้น ขาดความกระตือรือร้นในการทำงานเพื่อช่วยเหลือตนเองหรือไม่ แต่ในความเป็นจริง ผู้รับซะกาตเหล่านั้นต้องพัฒนาตนเองให้มีความกระตือรือร้น ทะเยอะทะยานในเรื่องของความขยัน เพื่อสักวันในอนาคต จะได้เป็นผู้ให้ซะกาตกับผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าบ้าง การเป็นผู้รับซะกาต แม้จะเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการปฏิบัติ แต่มิได้หมายความว่า เขาเหล่านั้นได้ผ่านหลักปฏิบัติข้อสำคัญหนึ่งของศาสนา เพราะคำว่า ซะกาตในหลักการของศาสนา คือ ถ้ามีความสามารถ ต้องจ่ายซะกาตออก มิใช่ความสมบูรณ์จะอยู่ที่การรับเข้า ซึ่งอาจเป็นข้อคิดอีกประการ ที่มุสลิมต้องพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ให้ให้จงได้ นอกจากนี้ศาสนายังพิจารณาและให้ความสำคัญในการให้ มิใช่ผู้รับมีเพียงคุณสมบัติจาก 1 ใน 8 ข้อเท่านั้น อีกประการที่เป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินว่าบุคคลผู้นั้นควรจะได้รับหรือไม่ คือ ความเป็นคนดี ในความหมายของศาสนา ถึงจะมีคุณค่าเพียงพอที่จะได้รับซะกาต นอกเหนือจากการเป็นคนดีแล้ว หากเป็นในกลุ่มคนที่ยากจนและขัดสน พวกเขาต้องทำงาน ถ้ายังสามารถที่จะทำงานได้ แต่ไม่ทำ แม้จะเป็นคนดี ศาสนาก็ไม่ให้ ซึ่งในความจริงความเป็นคนดีของศาสนาดูเหมือนจะรวมความเป็นมนุษย์ที่ดีไว้ด้วยแล้ว จะเห็นได้ว่า ระบบซะกาต มีความสมบูรณ์ทั้งในแง่แนวคิดและวิธีการ แต่ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ในทางปฏิบัติระบบที่สมบูรณ์ลักษณะนี้ เป็นเพียงแนวคิดที่อยู่ในอัลกุรอาน เป็นแนวคิดที่มุสลิมทุกคนรู้จัก แต่ความสมบูรณ์ที่แท้จริงอยู่ที่การนำแนวคิด ความศรัทธานี้สู่การปฏิบัติจริง ในปัจจุบัน มีหลายชุมชนที่ปฏิบัติตามหลักการ หลายชุมชนเฉยเมย โดยมีการบริจาคทานกันตามใจชอบ และตีความเข้าข้างการกระทำและความรู้สึกของตนว่าสิ่งนั้น เรียกว่า ซะกาต ทั้งๆที่การบริจาคเหล่านั้นมีค่าเพียง “ทานอาสา” มิใช่ “ทานบังคับ” แต่อย่างใด การหลีกเลี่ยงเช่นนี้ นอกจากจะทำให้ผู้ด้อยโอกาสในสังคม ชุมชนนั้น ไม่ได้รับการดูแลแล้ว ยังถือว่าเขาไม่ปฏิบัติตามหลักการของศาสนา นั่นคือ การไม่ยึดมั่นในคำสั่งใช้ของพระเจ้า ปัจจัยเสริมอีกอันหนึ่งคือการมีกฎหมายรองรับสำหรับการบริหารจัดการซะกาตที่ปฏิบัติอยู่ซึ่งปัจจุบันนี้ ประเทศไทยยังไม่มีพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต เพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ชุมชนสามารถจัดตั้งกองทุนซะกาต โดยมีรูปแบบและองค์ประกอบของคณะผู้บริหารที่เหมือนกัน มีการบริหารจัดการและการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้มีหน้าที่จ่ายซะกาต รวมทั้งทำให้ทรัพย์สินซึ่งเป็นซะกาตได้ถูกแจกจ่ายไปเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คนยากจน คนขัดสน และบุคคลผู้มีสิทธิได้รับตามศาสนบัญญัติได้อย่างแท้จริง เต็มที่และทั่วถึงเพราะนโยบายจากส่วนกลางคือจากคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย ผ่านสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดไปปฏิบัติกับชุมชนมุสลิมในพื้นที่ใช้อำนาจการสั่งการในการทำหน้าที่จัดการซะกาตได้ในวงที่จำกัดเพราะใน พระราชบัญญัติ การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ไม่มีการระบุถึงกฎหมายหน้าที่การจัดเก็บและบุคคลที่ไม่จ่ายซะกาตผ่านคณะกรรมการดังกล่าวก็ไม่มีผลทางกฎหมายที่จะเอาผิด ตัวอย่างจากการบริหารจัดการของมาเลเซียภายใต้การสนับสนุนรัฐบาลน่าจะเป็นแนวคิดหนึ่งสามารถนำมาปรับใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้หากได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน “รัฐบาลมาเลเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อบทบาทของซะกาตในการแก้ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหากมีระบบบริหารจัดการที่ดีและถูกต้องตามหลักการของศาสนาแล้ว จะสามารถแก้ปัญหาความเป็นอยู่พื้นฐานในสังคมได้ ในอดีตมาเลเซียเองก็มีการปล่อยให้การจ่ายซะกาตเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลที่ทำกันเอง ไม่มีกฎหมายรองรับ หลายชุมชนปฏิบัติตามหลักการ แต่หลายชุมชนเฉยเมย ไม่มีองค์กรกลางบริหารจัดการในการจัดเก็บ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและขาดทิศทาง เงินและทรัพย์สินที่จ่ายเสมือนเบี้ยหัวแตก ต่อมารัฐบาลมาเลเซียได้สนับสนุนงบประมาณอย่างเต็มที่ในการจัดตั้ง "องค์กรอิสระ" เรียกว่า "ศูนย์รวบรวมซะกาต" อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมอิสลามประจำประเทศมาเลเซีย (ในประเทศมาเลเซียรู้จักกันในชื่อย่อ PPZ หรือมีชื่อเต็มว่า Pusat Pungutan Zakat หรือในภาษามาเลเซียเรียกว่า Majlis Agama Islam Wilayah Persekutuan ( MAIWP) ซึ่งศูนย์นี้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1990 โดยนำทรัพย์สินที่ได้รับมาจัดตั้งเป็น "กองทุนซะกาต" มีรูปแบบและองค์ประกอบของคณะผู้บริหาร การบริหารจัดการ และการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้มีหน้าที่จ่ายซะกาต รวมทั้งทำให้ทรัพย์สินซึ่งเป็นซะกาตได้ถูกแจกจ่ายไปเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คนยากจน คนขัดสน และบุคคลผู้มีสิทธิได้รับตามศาสนบัญญัติได้อย่างแท้จริง เต็มที่ และทั่วถึงในขณะเดียวกันรัฐบาลมาเลเซียได้นำระบบการจ่ายซะกาตทางธนาคารและอินเตอร์เน็ตมาใช้ มีระบบการคำนวณการจ่ายซะกาตในประเภทต่างๆ ที่ผู้จ่ายสามารถรู้ได้ทันทีโดยใส่จำนวนทรัพย์สินที่มีและผลของจำนวนในสิ่งที่จะต้องจ่ายโดยไม่ต้องสอบถามผู้รู้ด้านศาสนาเหมือนในอดีต ด้วยระบบการจัดการที่ถูกต้องตามหลักศาสนาและสามารถบูรณาการกับวิทยาการสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว ทำให้ได้รับทรัพย์สินจากซะกาตได้ถึงปีละไม่ต่ำกว่า 700 ล้านริงกิตมาเลเซีย หรือประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งทรัพย์สินจำนวนดังกล่าวสามารถแบ่งเบาภาระของรัฐในการแก้ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ “ซะกาต” จะเป็นรูปแบบเศรษฐกิจชุมชนสำหรับชาวมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีฐานรากจากศาสนา หากการบริหารจัดการมีระบบ ทันสมัย มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและโปร่งใส จะช่วยได้มากในการลดภาระสวัสดิการชุมชน แต่ ข้อแตกต่างระหว่างซะกาต กับภาษีที่ถูกเรียกเก็บจากรัฐ ผู้ที่ไม่จ่ายซะกาต อาจรอดพ้นจากบทลงโทษในโลกนี้ แต่สำหรับโลกหน้า เขาจะได้รับการลงโทษอย่างสาหัสที่ไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งทุกคำสั่งใช้ของพระเจ้าเต็มไปด้วยเหตุผลและความทันสมัยในทุกยุค ทุกสถานการณ์ ที่ถูกกำหนดมาก่อนแล้ว เมื่อประมาณ 1,400 กว่าปี ก่อนหน้านี้ ดังที่อัลลอฮฺ(ซุบหานะฮูวะตะอาลา)ทรงวางโทษของคนมีทรัพย์ที่ไม่ยอมบริจาคในแนวทางของพระองค์ไว้ว่า “และพวกที่สะสมทองคำและเงิน โดยไม่บริจาคซะกาต และไม่นำออกมาใช้จ่ายในวิถีทางศาสนาของอัลลอฮฺ มุฮัมหมัดจงแจ้งข่าวการทรมานอันสาหัสที่เป็นข่าวดีสำหรับพวกนั้น ณ วันที่ไฟนรก “ญะฮันนัม” จะทำให้เกิดความร้อนแรง แล้วมันจะถูกนำมารีดบนหน้าผาก สีข้าง และหลังของพวกนั้น นี้แหละผลร้ายของพวกเจ้าทั้งหลายที่พยายามสะสมไว้สำหรับการส่วนตัวของพวกเจ้า โดยไม่ยอมบริจาคซะกาต ดังนั้น พวกเจ้าจงลิ้มรสทรัพย์ที่พวกเจ้าได้สะสมมันไว้ โดยไม่ยอมบริจาคเถิด” (อัต-เตาบะฮฺ : 35) ข้อเสนอแนะ ก. ข้อเสนอแนะต่อองค์กรการจัดเก็บซะกาต 1. จัดเวทีแลกเปลี่ยนรู้การจัดเก็บซะกาตระหว่างองค์กรต่างๆโดยเฉพาะมัสยิดต่างๆในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2. ถอดบทเรียนการดำเนินงานของแต่ละองค์กรหรือข้ามองค์กรเพื่อปรับปรุงการดำเนินงาน 3. จัดอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาศักยภาพคณะทำงานการจัดเก็บซะกาต 4. ติดตามประเมินผลการจ่ายซะกาตแก่ผู้ได้รับซะกาตในปีที่ผ่านมาเพื่อพัฒนาให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้จ่ายซะกาตในปีถัดไป ข. ข้อเสนอแนะต่อองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 1. หนุนเสริมแก่องค์กรในพื้นที่ที่จัดเก็บซะกาตในข้อเสนอแนะที่ผ่านมา (ข้อ ก ) 2. สนับสนุนงบประมาณในการจัดดั้งกองทุนกลางประมาณ ร้อยละ 10 แก่กองทุนซะกาตเพื่อสวัสดิการชุมชนและกองทุนสวัสดิการอื่นๆที่มีอยู่ในชุมชนเพื่อการจัดการตนเองอย่างยั่งยืนและเป็นการลดภาระองค์การบริหารส่วนตำบลในการเป็นผู้ให้ประชาชน ร้อยละ 100 3. บรรจุข้อบัญญัติว่าด้วยการจัดสวัสดิการ(โดยผ่านวิธีประชาคม/กระบวนการชูในการมีส่วนจากทุภาคส่วน)ให้ผู้มีสิทธิรับซะกาตรวมทั้งครอบกลุ่มเป้าหมายอื่นๆทุกกลุ่มเป้าหมายจากผู้ที่ทอดทิ้ง เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุและผู้พิการ ค. ข้อเสนอแนะต่อศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หนุนเสริมด้านงบประมาณและวิชาการตามข้อเสนอแนะที่ผ่านมา (ข้อ ก และ ข ) ผ่านสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและสมาคมองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (กรรมการที่มาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้) ง. รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร ผลักดันให้มีพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต เพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ชุมชนสามารถจัดตั้งกองทุนซะกาต โดยมีรูปแบบและองค์ประกอบของคณะผู้บริหารที่เหมือนกัน มีการบริหารจัดการและการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพแต่ต้องผ่านเวทีการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านและผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะการนำข้อเสนอแนะจากชุมชนสู่นโยบายสาธารณะ อ. อับดุลสุโก ดินอะ 13 ซุลฮิจญะฮฺ ฮ.ศ. 1433/ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ................................................................ หมายเหตุสามารถดาวน์โหลดหนังสือได้ที่ http://www.pataniforum.com/admin/jquery/ckfinder/userfiles/file/AW%20Zakat%2084%20Page%20and%20cover%20Edit2.pdf05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม