1836 24 Oct 2012
รูปมันโซร์ สาและขณะพูดคุยกับผู้รายงาน ณ ศูนย์อัลกุรอานและภาษา QLCC, จะนะ จังหวัดสงขลา ลิ้งได้ที่ https://www.facebook.com/#!/photo.php?fbid=4800276725237&set=t.1245604111&type=1&theater อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) รายงาน หมายเหตุ “อันเนื่องมาจากการทำงานของสภาประชาสังคมดำเนินการมาปีกว่าแล้วและการสร้างกระบวนการสันติภาพเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญ บุคคลที่เป็นแกนหลักในการขับเลื่อนเรื่องนี้คือนายมังโซร์ สาและ จึงได้นำทัศนะของท่านมาเผยแผ่ให้เห็นวิวัฒนการการขับเคลื่อน” หนึ่งในห้ายุทธศาสตร์หลักของสภาประชาสังคมชายแดนใต้คือการหาข้อยุติความรุนแรงทางตรงซึ่นำไปสู่งานเฉพาะหน้าหนึ่งเก้าเรื่องคือการส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการเจรจาระหว่างรัฐกับขบวนการก่อความไม่สงบ(ตามชื่อเรียกของรัฐไทย)หรือกลุ่มที่ทำงานปลดเอกราชปตานี (ตามชื่อเรียกของขบวนการ) เพื่อยุติความรุนแรง ทั้งๆที่เป็นความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวงนัก เกินที่สถานะของสภาที่จะแบกรับได้ แต่เมื่อสภาประชาสังคมชายแดนใต้เป็นองค์ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของตัวแทนองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว มันก็เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ความจริง คำว่า สันติภาพและสันติสุขเป็นวาทกรรมที่ได้ป่าวประกาศจากฝ่ายรัฐในรูปแบบต่างๆอย่างหนักหน่วงในช่วงต้นๆหลังเกิดสถานการณ์ความรุนแรงระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2547 รัฐไทยได้ทุ่มเทงบประมาณอย่างมหาศาล พร้อมๆกับดำเนินกิจกรรมทุกอย่างเพื่อสันติภาพ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่รัฐได้ทำลงไปนั้น รัฐอาจลืมคิดไปว่า บริบท ความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ละ ๔ อำเภอของจังหวัดสงขลานั้น รัฐได้เป็นตัวละครหลักตัวหนึ่งที่สร้างปมปัญหาความขัดแย้งเช่นเดียวกัน สันติภาพเป็นวาทกรรมคู่กับความขัดแย้งหรือสงคราม ดังนั้น ก่อนที่จะขยับไปที่บริบทของสันติภาพ ก็ควรต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับบริบทของความขัดแย้งซึ่งความขัดแย้งถือเป็นลักษณะธรรมชาติที่เกิดขึ้นในหมู่มวลมนุษยชาติอยู่เนืองนิตย์ ความขัดแย้งจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขัดขวาง กดทับหรือบีบบังคับอีกฝ่ายหนึ่ง และอีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่า มันเป็นการคุกคามสิทธิของตนเอง โดยปกติแล้ว การแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้น มักจะต้องใช้คนที่สามหรือคนกลางในการไกล่เกลี่ยเสมอทั้งนี้เพี่อให้เป็นไปตามหลักการสากลที่ถูกต้อง และในหลักธรรมก็เช่นเดียวกัน การเข้าใจบริบทความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป คนในสังคมนั้นจำเป็นจะต้องเข้าใจถึงสาเหตุหรือรากเหง้าแห่งความขัดแย้งนั้นๆเสียก่อน อาทิ เช่น การจำแนกลักษณะ ประเภท ระดับสาเหตุ ปัจจัย และองค์ประกอบเป็นต้น บางครั้งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะของปัจเจกบุคคล ครอบครัว สังคม ประชาชนกับรัฐ รัฐกับรัฐและอื่นๆ เมื่อความขัดแย้งมีลักษณะที่แตกต่างกันเช่นที่กล่าวมาข้างต้น หลักการสร้างกระบวนการสันติภาพในแก้ปัญหาความขัดแย้งเหล่านั้นก็ย่อมแตกต่างไปด้วย ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปตานีเป็นลักษณะความขัดแย้งแนวดิ่งระหว่างประชาชนชาวปตานีชาติพันธุ์มลายู นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่เดิมกับรัฐไทยและกลไกรัฐ นับตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นลักษณะความขัดแย้งอันเกิดจากโครงสร้างอำนาจการเมืองการปกครองที่ไปกดทับและคุกคามสิทธิของพวกเขาที่ควรต้องมีอย่างน้อยที่สุด ก็คือ สิทธิของชนกลุ่มน้อย เป็นต้น ต่อมาความขัดแย้งนี้มันได้ขยายไปในลักษณะแนวราบหมายถึงระหว่างประชาชนชาวพุทธ ชาติพันธุ์ไทยกับประชาชนมุสลิม ชาติพันธุ์มลายู แม้ว่า รัฐและกลไกของรัฐได้พยายามอธิบายว่าความขัดแย้งในพื้นที่นั้นเกิดจากสาเหตุอื่น อันมิใช่โครงสร้างอำนาจการเมืองและการปกครองก็ตามแต่คำถามที่จะต้องถามรัฐและกลไกรัฐก็คือ ทำไมความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายจังหวัดแดนภาคใต้จึงไม่สามารถแก้ไขและสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนได้สักที ทั้งๆที่รัฐได้ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง เสมือนหนึ่งเป็นการเอาอกเอาใจประชาชนในพื้นที่แห่งนี้เป็นพิเศษมากกว่าประชาชนและกลไกรัฐในพื้นที่อื่น ไม่ว่า การจัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค4 ส่วนหน้า) และกลไกอื่นอีกมากมายรวมทั้งการทุ่มงบประมาณด้านการพัฒนาและความมั่นคงจำนวนมหาศาล และแนวโน้มแห่งอนาคตก็ยังไม่มีใครยืนยันและให้หลักประกันได้ว่า ความขัดแย้งครั้งรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2547 จะไม่หวนกลับมาประทุอีกครั้ง ดังนั้น กระบวนการสันติภาพที่เกิดจากความต้องการและการมีส่วนร่วมของประชาชน น่าจะเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่งแห่งอนาคต ตลอดระยะเวลาการดำรงอยู่ของความขัดแย้งในพื้นที่ ทัศนะและมุมมองระหว่างรัฐและกลไกรัฐกับคนมลายูมุสลิมในพื้นที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้ว่า รัฐจะพยายามอ้างว่า ความแตกต่างนี้เป็นเพียงคำกล่าวอ้างจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหรือกลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนก็ตาม แต่ความเห็นแตกต่างกันนี้มีการกล่าวอ้างอยู่ทั่วไปในหมู่ประชาชนทุกระดับ เพียงแต่รายละเอียดและคำอธิบายความแตกต่างนี้ขึ้นอยู่กับความเข้าใจของประชาชนแต่ละคน สำหรับเครื่องชี้วัดง่ายๆต่อประเด็นดังกล่าวคือ ประชาชนมลายูมุสลิมส่วนใหญ่จะตอบว่า พวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนจากประชาชนระดับรากหญ้านั้น แม้เขาเคยได้รับของแจกของแถมจากรัฐผ่านโครงการใดๆก็ตาม หรือการเยียวยาด้วยตัวเงินและสิ่งของ แต่สามัญสำนึกลึกๆของ พวกเขาก็ยังรู้สึกเหมือนเดิม บทบาทภาคประชาสังคมกับกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้เริ่มมีการกล่าวถึงในช่วงกลางปี พ.ศ. 2552 โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลจากการสัมมนาในหัวข้อ ประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพ : การขยายพื้นที่ภาคประชาชนเพื่อแก้ไขความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2552 ซึ่งจัดโดย ศูนย์ศึกษาความขัดแย้งและสันติภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานสันติวิธีและธรรมาภิบาลสถาบันพระปกเกล้า และ มูลนิธิเฟรดดริก ณ โรงแรมหาดใหญ่พาราไดซ์รีสอร์ท อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาโดย มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 153 คน จากตัวแทนองค์กรทั้งในและนอกพื้นที่ พร้อมทั้งได้สรุปผลของการสัมมนาในประเด็นสำคัญดังนี้ 1. การสร้างกระบวนการสร้างสันติภาพ 2. ลักษณะและประเภทของงานที่สภาประชาสังคมจะทำได้ในกระบวนการสร้างสันติภาพ 3. ตัวอย่างงานที่ภาคประชาสังคมทำได้ในกระบวนการสันติภาพ 4. ปัญหาบางอย่างที่ภาคประชาสังคมอาจต้องเผชิญในกระบวนการสสร้างสันติภาพ สิ่งที่เป็นข้อสังเกตสำคัญจากการจุดประเด็นเรื่องนี้ในการประชุมครั้งนั้นพบว่า ไม่มีกลุ่มประสังคมใดสามารถการขับเคลื่อนในเชิงปฏิบัติ ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจาก สภาพการณ์ที่แท้จริงของกลุ่มหรือองค์กรในพื้นที่ไม่มีการพูดคุยทิศทางการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และต่างกลุ่มต่างก็ทำงานตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มหรือองค์กรของตนเองเป็นหลัก นอกจากนั้น การจุดประเด็นบางประเด็นดังกล่าวเกิดจากกลุ่มหรือองค์กรภายนอก โดยไม่มีกลุ่มหรือองค์กรในพื้นที่สืบสานเจตนารมณ์อย่างจริงจัง การก่อตั้งสภาประชาสังคมชายแดนใต้ที่ประกอบด้วยนักเคลื่อนไหวด้านสังคมนักพัฒนาองค์กรเอกชน นักวิชาการ กลุ่มสตรี กลุ่มสื่อและอื่นๆรวม 20 องค์กรในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญในมิติของภาคประชาชนชายแดนใต้ เพราะสภาแห่งนี้จะได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนดูแล ปกป้อง สิทธิต่างๆของประชาชนหลากหลายกลุ่มท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไทยพุทธและมุสลิม การริเริ่มกระบวนการสันติภาพปตานีภายใต้วาทกรรม และนวัตกรรมใหม่ “กระบวนการสร้างสันติภาพปตานีในบริบทอาเซียน ” ( Patani Peace Process in Asean context – PPP ) เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2555 ณ หอประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ โดยสภา ฯ และพันธมิตรนั้น ถือเป็นการริเริ่มโดยประชาชนในพื้นที่จริงๆ และยิ่งได้รับการหนุนเสริมด้านวิชาการจากนักวิชาการด้านความขัดแย้งและสันติวิธีทั้งในและต่างประเทศตลอดจนการช่วยเหลือด้านงบประมาณจากองค์กรภาคี ก็ยิ่งทำให้ บทบาทภาคประชาสังคมในพื้นที่กับกระบวนการสันติภาพมีความชัดเจนมากขึ้น แม้ว่า ณ เวลานี้ประชาชนในพื้นที่ยังไม่สามารถทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อกระบวนการสันติภาพก็ตาม แต่ยุทธศาสตร์และกิจกรรมที่ดำเนินการโดยสภาอาทิ เช่น การจัดเวทีชายแดนใต้จัดการตนเอง การเยียวยา การเรียกร้องให้ทบทวนการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และอื่นๆ ล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่เป็นต้นทุนเพื่อนำไปสู่กระบวนการสันติภาพทั้งสิ้น ถึงกระนั้นก็ตาม แม้คำจำกัดความสันติภาพที่แท้จริงนั้นไม่สามารถที่กำหนดรูปแบบที่ตายตัวและชี้วัดด้วยเครื่องมืออย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ที่สำคัญยิ่งนั้น มันจะต้องอยู่บนพื้นฐานของสัจธรรมหรือธรรมะมิฉะนั้นแล้ว ก็จะเกิดความสับสนในการขับเคลื่อนกระบวนการนี้ ตัวอย่าง สันติภาพและสันติสุขในมิติและความต้องการของรัฐคือ การยุติการใช้อาวุธหรือก่อความรุนแรงต่อประชาชนและต่อกลไกของรัฐ ส่วนในแง่มุมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบอาจคิดว่า การที่ผู้เสียหายและญาติพี่น้องของผู้สูญเสียได้รับค่าชดเชย การเยียวยา หรือการช่วยเหลือจากรัฐและอื่นๆก็อาจจะกล่าวได้ว่า นี่คือสันติภาพก็เป็นได้ ส่วนกลุ่มที่ต่อต้านรัฐก็มีมีทัศนะอีกอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม กระบวนการสันติภาพที่ควรต้องมีในพื้นที่ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นจะต้องตั้งอยู่บนรากฐานที่จะทำให้เกิดความสันติสุข เสมอภาค เที่ยงธรรมและสัจธรรมเป็นสำคัญ05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม