ทำไมต้องคัดค้านการรังวัดปักหมุดเหมืองโปแตซ ทำไมต้อง SEA

878 17 Jul 2012

ความขัดแย้งในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีซึ่งเกิดขึ้นมานานร่วม 10 ปี และสถานการณ์มีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น ตัวการสำคัญคือหน่วยงานของรัฐ และบริษัทฯ ทำให้เกิดเงื่อนไขการเผชิญหน้าและปะทะกันกับประชาชนฝ่ายคัดค้านโครงการใน พื้นที่หลายครั้ง แม้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่จะชุมนุมเรียกร้องนับครั้งไม่ ถ้วน แต่ปัญหาต่างๆ ก็ไม่มีการแก้ไข แถมบางกรณียังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในชั้นศาล เช่นกรณีแกนนำสตรีแม่ลูกอ่อนที่โดนข้อหาบุกรุกทำลายทรัพย์สิน จึงต้องหอบลูกฝาแฝดไปนอนในห้องขัง แต่แล้วศาลก็พิพากษายกฟ้องให้ชาวบ้านชนะคดี เพราะชาวบ้านกระทำไปโดยบริสุทธิ์ใจเพื่อปกป้องไว้ซึ่งฐานทรัพยากรของชุมชน ท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ แม้เหตุการณ์นี้จะผ่านไปหลายปี แต่หน่วยงานรัฐ และบริษัทฯ กลับไม่เรียนรู้ ไม่ใส่ใจใยดี มีแต่จะเดินหน้าทำโครงการให้ได้แต่ฝ่ายเดียว ประชาชนในพื้นที่ โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีต้องเผชิญหน้ากับความยาก ลำบากที่ยืดเยื้อยาวนานเรื่องใดบ้าง พอจะเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญๆ และสรุปคร่าวๆ ได้ดังนี้ 1) เรื่องรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านความเห็นชอบในปี 2543 ทั้งๆ ที่กฎหมายแร่ใต้ดินออกมาบังคับใช้ในปี 2545 ชาวบ้านก็คัดค้านความไม่ชอบธรรมของ EIA ฉบับนี้จนนำไปสู่การนำรายงาน EIA ไปพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านโดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ชุดพิเศษที่แต่งตั้งโดย รมว.สิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2546 และมีข้อสรุปในประเด็นสำคัญคือ เป็นรายงานที่ผิดขั้นตอนที่ควรจะเป็นและเป็นรายงานที่ไม่มีคุณภาพทางวิชาการ มากพอ มีความบกพร่องถึง 26 ประเด็น ภายหลังรายงานฉบับนี้ถูกยกเลิกไปเพราะบริษัทฯ ทนรับแรงกดดันจากสังคมไม่ได้ 2) สัญญาสิทธิการสำรวจและผลิตแร่ที่ทำไว้ระหว่างรัฐบาลไทยและบริษัทเหมืองแร่ ตั้งแต่ปี 2527 เป็นสัญญาที่ผูกขาดเอื้อประโยชน์อย่างยิ่งต่อบริษัทต่างชาติ ทำให้รัฐบาลไทยและคนไทยเสียเปรียบ ชาวบ้านเรียกร้องให้มีการเปิดเผยสัญญา และทบทวนสัญญา ต้องเรียกร้องขอข้อมูลอยู่นานจึงได้สัญญาทั้งฉบับมาศึกษา และสภาทนายความได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นสัญญาอัปยศอย่างไม่น่าเชื่อว่าคน ไทยจะทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของต่างชาติอย่างมากมาย จึงมีการเสนอให้ทบทวนสัญญาในปี 2546 แต่เรื่องนี้เงียบหายไปไม่มีใครพูดถึง ทั้งๆ ที่เป็นประเด็นสำคัญ 3) ชาวบ้านเรียกร้องให้มีการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากโครงการ และได้ช่วยกันศึกษาผลกระทบทางสุขภาพจากโครงการเหมืองแร่โปแตซร่วมกับนัก วิชาการหลากหลายสาขาในปี 2548 และกระบวนการนั้นได้ทำให้เกิดข้อมูลและองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการ พัฒนาระบบการประเมินผลกระทบทางสุขภาพของไทย และนำไปสู่การกำหนดเรื่องการประเมินผลกระทบทางสุขภาพไว้ในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรค 2 4) ในปี 2547 แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกทำลายทรัพย์สิน เมื่อไปขัดขวางการรังวัดปักหมุดเหมืองแร่ จากการที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ร่วมกับบริษัทฯ ทำการรังวัดโดยไม่ได้ชี้แจงต่อประชาชนในพื้นที่ ชาวบ้านไปขัดขวางจึงถูกดำเนินคดี และต้องสู้คดีนานถึง 3 ปี ศาลจึงยกฟ้องโดยให้เหตุผลว่าชาวบ้านได้กระทำไปเพื่อปกป้องทรัพยากรของชุมชน อันเป็นสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2540 5) ปี 2551 ได้มีความพยายามในการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหมือแร่โปแตซทั้งในระดับ จังหวัดและระดับชาติ แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ เพราะทัศนคติของส่วนราชการมีแนวโน้มที่จะต้องทำให้กระบวนการดำเนินโครงการมี ความก้าวหน้า ซึ่งกำหนดเป็นวัตถุประสงค์ของกรรมการ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ในพื้นที่โครงการจึงมาสามารถเข้าร่วมได้ และมีความพยายามหลายครั้งของคณะกรรมการที่จะจัดเวทีในพื้นที่เพื่ออ้างถึง ความจำเป็นที่จะต้องรังวัดปักหมุด โดยเสนอแต่งตั้งนายอำเภอ ผู้กำกับฯ ทุกอำเภอเป็นกรรมการ เพื่อใช้บทบาทของกรรมการที่กุมกลไกอำนาจและกำลังคน เข้าคุ้มกันและมีแนวโน้มว่าจะสลายฝ่ายต่อต้านหากมีการจัดประชุม ต่อมากรรมการชุดดังกล่าวก็ยุติบทบาทไป เพราะไม่เป็นที่ยอมรับ 6) เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นมายาวนาน ชาวบ้านในพื้นที่โครงการจึงเสนอให้มีการศึกษาสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environment Assessment: SEA) ในปี 2552 เพื่อเสนอทางเลือกในการพัฒนาพื้นที่โปแตซอุดรธานีอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักคิดที่เอาพื้นที่อันมีศักยภาพและทรัพยากรอันหลากหลายเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาโครงการเป็นตัวตั้ง ซึ่งที่ผ่านมาการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่มักมีแนวความคิดที่คับแคบเอาโครงการ ที่กำหนดมาจากภายนอกชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง และไม่ได้มองถึงศักยภาพในการพัฒนาของฐานทรัพยากรอื่น หรือไม่ได้ศึกษาถึงศักยภาพและองค์ความรู้ของชุมชนในการจัดการและพัฒนาตนเอง ตามฐานทรัพยากรและนิเวศวัฒนธรรมในแต่ละพื้นถิ่น ซึ่งเป็นที่มาของความขัดแย้ง ข้อเสนอนี้อยู่ระหว่างการเตรียมนำเข้าไปพิจารณาในคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหา ของเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง กรณี ปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ แต่ก็ถูกช่วงชิงโอกาสจาก กพร. ที่เสนอทำ SEA เสียเอง โดยอ้างมติกรรมคณะการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อปี 2549 และอ้างว่าเป็นหน่วยงานโดยตรงที่ดูแลเรื่องทรัพยากรแร่ จึงมีความชอบธรรมจะทำ SEA 7) ปี 2553 หลังจากมีข้อถกเถียงเรื่องมาตรา 67 วรรค 2 เรื่องโครงการที่อาจจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จะต้องทำการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก่อนดำเนินโครงการ และต้องให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นประกอบ ก็มีคณะกรรมการเกิดขึ้นชุดหนึ่งที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทำหน้าที่จัดทำบัญชี ประเภทโครงการรุนแรง ซึ่งได้ข้อสรุปว่ามี 19 โครงการ ในนั้นเหมืองแร่ใต้ดินก็เป็นกิจการรุนแรงด้วย และคณะกรรมการชุดนี้ก็เสนอไปยังรัฐบาล แต่สุดท้ายคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็ตัดออกเหลือ 11 โครงการ และในนั้นโครงการเหมืองแร่ใต้ดินที่ออกแบบอุโมงค์ให้มีเสาค้ำยันและมีการถม วัสดุกลับก็ไม่ใช่โครงการรุนแรง เหมืองแร่โปแตซอุดรธานี จึงหลุดประเภทโครงการรุนแรง และไม่ต้องทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) ไม่ต้องให้องค์การอิสระฯ ให้ความเห็น นับเป็นความสำเร็จชิ้นโตของนักล็อบบี้ยิสต์ที่แผงตัวอยู่ในคณะกรรมการสิ่ง แวดล้อมฯ และนับเป็นความเจ็บปวดอีกครั้งหนึ่งของพี่น้องชาวอุดรฯ ที่ติดตามตรวจสอบเรื่องโปแตซมานับ 10 ปี เขาพิจารณาความรุนแรงกันแค่จะขุดอุโมงค์อย่างไร จะมีค้ำยัน หรือถมอะไรกลับหรือไม่ กรรมการพวกนี้ไม่มองความรุนแรงบนดินเลย เช่น ฝุ่นเกลือจากการแต่งแร่ น้ำเกลือ-น้ำเสีย การแย่งน้ำใช้ชาวบ้าน การจัดหาพลังงานไฟฟ้ามาให้ การขนส่งแร่ สภาพสังคมเปลี่ยน การใช้ที่ดินเปลี่ยน ฯลฯ ซึ่งรุนแรงทั้งนั้น แต่ไม่สนใจ สนใจแต่เรื่องใต้ดิน จากเหตุการณ์นี้ทำให้บริษัทฯ คึกคักมีชีวิตชีวา และโหมโฆษณากระหน่ำทุกช่องทางว่าโครงการรเหมืองแร่โปแตซใกล้จะเกิดเต็มที แล้ว คนอุดรฯ จะได้กลับบ้าน จะมีงานทำ จะร่ำรวย ... อ่าน แถลงการณ์ - ทำไมต้องคัดค้านการรังวัดปักหมุดเหมืองโปแตซ ทำไมต้อง SEA และข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ฉบับเต็ม ที่นี่ อ่าน รายงานพิเศษ สงครามชาวบ้าน - รัฐทาสนายทุน ความรุนแรงรอบใหม่พื้นที่เหมืองแร่โปแตช อุดรธานี ที่นี่ อ่าน ประมวลสถานการณ์เหมืองโปแตซอุดรฯ และข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ที่นี่ ภาพประกอบ : http://www.prachatham.com

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม