1282 08 Nov 2023
ขอเรียนเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวชุมชนออนไลน์ “เรา” ทางเลือกสำหรับทุกคนที่ต้องการ “เพื่อน” ที่เข้าใจ หลังพบการถูกคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์กระทบต่อสุขภาพจิต พร้อมร่วมรับชมนิทรรศการ 4 มิติ (เสียง ภาพ สัมผัส กลิ่น) “เรา” เข้าใจ เพื่อเรียนรู้รูปแบบการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ด้วยการถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้ที่เคยผ่านพ้นเหตุการณ์การคุกคามทางเพศ พร้อมรับฟังเวทีเสวนาเปิดข้อมูลสถิติสถานการณ์การถูกคุกคามบนโลกออนไลน์ของกลุ่มวัยรุ่นและวัยเริ่มทำงาน และแนวทางในทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ในวันเสาร์ที่ 11 พ.ย. ณ บริเวณ โถง ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 13.30 - 16.00 น.
สืบเนื่องจากเดือนพฤศจิกายนนี้เป็นเดือนยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา ร่วมกับไซด์คิก (Sidekick) องค์กรออกแบบการสื่อสารเพื่อสังคม และเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ทำงานร่วมกับผู้ที่เคยประสบกับเหตุการณ์คุกคามทางเพศในกลุ่มวัยรุ่นและวัยเริ่มทำงานซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อถูุกคุกคามทางเพศและยังเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตมากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ จำนวนทั้งสิ้นกว่า 270 คน จาก 18 มหาวิทยาลัย ในเชิงลึก ผ่านการสัมภาษณ์ การสัมนา การประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการออกแบบสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน (Design Thinking)
เราพบสถิติที่น่าสนใจจากการทำงานตลอดสองปีที่ผ่านมาพบว่าการคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์จากกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการสูงเป็นอันดับสอง (58%) รองจาก การคุกคามในพื้นที่สาธารณะ (75%) โดยเหตุการณ์กระทบกระเทือนที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบันของผู้ร่วมเข้าโครงการ ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นใจในตนเอง การไว้ใจผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นคนรักหรือคนในครอบครัว รวมทั้งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันทั้งด้านการเรียนและการทำงาน
ผู้ที่เคยประสบกับเหตุการณ์คุกคามทางเพศในกลุ่มวัยรุ่นและวัยเริ่มทำงานยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกด้วยว่า บริการของภาครัฐ ยังไม่ใช่ทางเลือกแรกของผู้ประสบปัญหา โดยมีเพียง 20% ที่เลือกใช้บริการดังกล่าว เมื่อเทียบกับการเลือกคุยกับเพื่อนหรือครอบครัว (87%) – แต่ก็ไม่สามารถคุยกับเพื่อนได้ตลอดเวลาในวันที่เหตุการณ์กลับมาทำให้ย้อนคิด
จึงต้องการ ชุมชนออนไลน์ ที่เข้าใจ ซึ่งผู้ที่เคยผ่านเหตุการณ์คุกคามทางเพศหรือเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจในกลุ่มอายุดังกล่าวซึ่งเรียกว่าเป็นกลุ่ม “Digital Native” หรือวัยที่เกิดมาพร้อมกับอินเตอร์เน็ตนั้น จึงต้องการชุมชนออนไลน์ (Online Community) ที่ประกอบไปด้วย คนที่เข้าใจ กล่าวคือ คนที่เคยประสบเหตุการณ์คล้ายกัน มาร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์ อย่างไม่ต้องเปิดเผยตัวตน (Anonymous) และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน โดยชุมชนดังกล่าวต้องสามารถเข้าถึงได้ตลอด 24 ชม.
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ร่วมกับไซด์คิก (Sidekick) องค์กรออกแบบการสื่อสารเพื่อสังคม และเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวชุมชนออนไลน์ “เรา” ทางเลือกสำหรับทุกคนที่ต้องการ “เพื่อน” ที่เข้าใจหลังการถูกคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์ที่กระทบต่อสุขภาพจิต
พร้อมร่วมรับฟังเวทีเสวนาเปิดข้อมูลสถิติการสถานการณ์การถูกคุกคามบนโลกออนไลน์ของเยาวชนไทย และทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และร่วมรับชมนิทรรศการ 4 มิติ (เสียง ภาพ สัมผัส กลิ่น) “เรา” เข้าใจ เพื่อเรียนรู้รูปแบบการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์ด้วยการถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้ที่เคยผ่านพ้นเหตุการณ์การคุกคามทางเพศ ในวันเสาร์ที่ 11 พ.ย. ณ บริเวณ โถง ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 13.30 - 16.00 น. จึงใคร่ขอเรียนเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมงานในวันและเวลาดังกล่าว
โดยสื่อมวลชนจะได้พบกับกิจกรรมที่น่าสนใจในงานเป็นจำนวนมากอาทิ
● การเปิดตัวชุมชนออนไลน์ RAO.ASIA พื้นที่ปลอดภัยที่ถูกสร้างจากความร่วมมือระหว่าง ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต และเยาวชนกว่า 270 ชีวิต โดยทั้งหมดเป็นผู้ที่เคยผ่านเหตุการณ์กระทบกระเทือนทางร่างกายและจิตใจ และได้มาร่วมกันออกแบบนวัตกรรม ที่จะเสริมพลังให้กับผู้หญิงที่เคยผ่านประสบการณ์การคุกคามทางเพศ และต้องการเพื่อนเยียวยาจิตใจ
● กล่าวเปิดงานโดย นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการและรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส.
● ร่วมรับฟังเวทีเสวนา “ เปิดสถานการณ์การคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์ และการสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศที่เหมาะสมสำหรับ “เรา” ” วิทยากรโดย
● ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ สมาคมเพศวิถีศึกษา
● ภัสรนันท์ อัษฎมงคล หรือคุณเบียร์ ที่จะมาแบ่งปันประสบการณ์และเรื่องราวส่วนตัวที่เป็นประโยชน์กับผู้อื่นที่ต้องเผชิญกับ Trauma หรือบาดแผลทางใจ รวมทั้งความสำคัญของเพื่อน คนรัก และครอบครัวแวดล้อมที่เข้าใจ ในการช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤติทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
● รศ.ดร.สมพร รุ่งเรืองกลกิจ นักวิชาการอิสระด้านสุขภาพจิตและเพศภาวะ
● คุณทิพย์เกษร สุตันคำ ตัวแทนผู้ร่วมใช้แพลตฟอร์ม RAO.ASIA
● คุณเรืองริน อักษรานุเคราะห์ นักจิตบำบัดเจ้าของเพจ Beautiful Madness by Mafuang
● คุณตุลย์ ปิ่นแก้ว ผู้ก่อตั้ง ไซด์คิก (Sidekick)
● ดำเนินรายการโดย พรรณภิดา เพรชรัตน์
● ชวนรับชมนิทรรศการ 4 มิติ (เสียง ภาพ สัมผัส กลิ่น) “เรา” เข้าใจ เพื่อเรียนรู้รูปแบบการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์ด้วยการถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้ที่เคยผ่านพ้นเหตุการณ์การคุกคามทางเพศ
● พบกับการถ่ายทอดเคล็ด (ไม่) ลับ การอยู่กับปัจจุบัน ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อแนะนำจากผู้ที่ผ่านเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ มาจริงๆ ทั้งประชาชนทั่วไปและศิลปิน นักแสดง จัดทำเป็น นิทรรศการศิลปะการจัดวาง หรือ Installation Art แนวตั้ง
● ชวนร่วมกิจกรรม “เคล็ดลับทำกับเพื่อน” ซึ่งเป็นกิจกรรมการสร้างสรรค์งานศิลปะ การเล่นเกม กีฬา รวมไปถึงกิจกรรมเสริมพลังต่างๆ เช่น เทคนิคการแต่งตัวเพื่อเพิ่มความมั่นใจ ให้กับผู้ที่เคยผ่านการคุกคามทางเพศ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและยืนยันการเข้าร่วมงานโทร 0925350219
อีเมล์ raoandus@gmail.com
05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม