กลุ่มอนุรักษ์ฯ ยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯ ถึง คนร. คัดค้านการจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับใหม่ ร้องให้จัดทำแผนแม่บทฯ ตามเจตนารมณ์ของ พรบ.แร่

975 26 Jan 2023

 

           24 พ.ย. 2565 เวลาประมาณ 09.45 น. นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ประมาณ 15 คน ได้เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อยื่นหนังสือให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู ในนามเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ถึงคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.)  เรื่อง ขอคัดค้านการจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 และขอเรียกร้องให้การจัดทำแผนแม่บทฯ ตามเจตนารมณ์ของ พรบ.แร่ แต่เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดและรองผู้ว่าราชการจังหวัดออกไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ จึงให้กลุ่มทำการยื่นหนังสือกับ นายสยาม จิตตะโณ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู

           โดยหนังสือระบุว่า หลักการบริหารจัดการแร่นั้นเป็นการจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรแร่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งต้องเป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างยั่งยืน ภายใต้ดุลยภาพด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน โดยต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนทราบ รวมทั้งในการจัดสรรผลประโยชน์ต่าง ๆ ระหว่างรัฐ ผู้ประกอบการ และชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ทำเหมืองและพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบต้องครอบคลุมและเป็นธรรม

           แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่าแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับแรก (พ.ศ. 2560 - 2564) มีความพยายามในการลดความซับซ้อนของขั้นตอนกระบวนการ เพื่อเอื้อประโยชน์ในการยื่นขอสำรวจและทำเหมืองแร่และการขออนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ เน้นการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ และตัดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างชัดเจน อีกทั้งยังจงใจไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 อย่างชัดเจน เพราะตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้การจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ อย่างน้อยต้องประกอบด้วยการสำรวจทรัพยากรแร่ แหล่งแร่สำรอง การจำแนกเขตพื้นที่ศักยภาพแร่ พื้นที่หรือชนิดแร่ที่สมควรสงวนหวงห้ามหรืออนุรักษ์ไว้ และพื้นที่ที่มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง โดยพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่สงวนหวงห้ามตามมาตรา 17 วรรคสี่ ดังนั้น การกำหนดพื้นที่เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง หน่วยงานรัฐต้องดำเนินการจำแนกพื้นที่ศักยภาพแร่ และต้องกันเขตพื้นที่หวงห้ามที่กำหนดไม่ให้มีการทำเหมืองตามมาตรา 17 วรรคสี่ ออกก่อนการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง แต่การจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ตั้งแต่ฉบับแรกเป็นต้นมาจนถึง (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) กรมทรัพยากรธรณีและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ยังไม่มีการดำเนินการตามกฎหมายแต่อย่างใด  เมื่อไม่มีการสำรวจพื้นที่จริง และไม่มีการกันพื้นที่หวงห้ามตามกฎหมายก่อน ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยว่าการบริหารจัดการแร่จะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

           โดยพื้นที่เหมืองหินดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ที่ชาวบ้านไม่ต้องการให้เกิดการทำเหมือง มีการต่อสู้คัดค้านของชาวบ้านจนเกิดการสูญเสียชีวิตถึง 4 ศพ ตลอด 28 ปีที่ผ่านมา และกระบวนการขั้นตอนการยื่นขอประทานบัตรก็ไม่ถูกต้อง ศาลปกครองชั้นต้นอุดรธานีได้พิพากษาชี้ว่า ขั้นตอนการขอประทานบัตรไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่บริษัทเหมืองได้ยื่นอุทธรณ์จนสามารถทำเหมืองได้ทั้งๆที่คดียังอยู่ในชั้นศาลปกครองสูงสุด คดียังไม่สิ้นสุดแต่บริษัทสามารถระเบิดภูเขาอันเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารและแหล่งฟอกอากาศของชุมชน ให้กลายเป็นแหล่งมลพิษทางอากาศแก่กับชาวบ้าน ในเขตพื้นที่ประทานบัตรนั้นก็ยังมีถ้ำน้ำลอดที่เป็นแหล่งน้ำซับซึมที่ชาวบ้านได้อาศัยแหล่งน้ำในการหล่อเลี้ยงชีพ  อีกทั้งแหล่งโบราณสถานก็ห่างจากเขตประทานบัตรไม่ไกล โบราณสถานภูผายามีภาพเขียนสีโบราณอายุราว 3,000 ปี อีกทั้งหลายๆถ้ำมีโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นถ้ำเสือ ถ้ำพระ ถ้ำศรีธน และมีพิพิธภัณฑ์เก็บโบราณวัตถุสำหรับให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษา  ซึ่งตามพระราชบัญญัติแร่ปี 2560 ตามมาตรา 17 วรรคสี่ หากเข้าเงื่อนไขข้างต้นจะต้องเป็นพื้นที่ไม่สามารถทำเหมืองได้ อีกทั้งพื้นที่ดงมะไฟมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงโบราณคดีและวิถีชุมชน ถ้าให้ยึดหลักการบริหารจัดการแร่ นั้นเป็นการจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรแร่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งต้องเป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างยั่งยืน ภายใต้ดุลยภาพด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน โดยต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ประชาชนในพื้นที่ดงมะไฟยืนยันตลอด 28 ปีว่าไม่เอาเหมือง ประชาชนในพื้นที่เห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจ ต้องอยู่เคียงคู่กับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การพัฒนาโดยการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

           และแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 ก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การจัดทำแผนแม่บทฉบับนี้ยังคงให้ความสำคัญกับ “มูลค่าแร่” มากกว่าชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เน้นการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการอนุมัติ/อนุญาตให้มีการทำเหมืองที่สะดวกรวดเร็วและเพิ่มพื้นที่ทำเหมืองให้มากที่สุด โดยไม่คำนึงว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมต่อการทำเหมืองหรือไม่ เป็นพื้นที่เปราะบางหรือควรสงวนหวงห้ามไม่ให้ทำเหมืองหรือไม่ หน่วยงานรัฐยังคงเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 เฉกเช่นเดียวกันกับแผนแม่บทฯ ฉบับแรก ที่อ้างการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองในระยะเริ่มแรกโดยหลักการให้เป็นไปเพื่อให้กิจการเหมืองแร่ที่เปิดดำเนินการอยู่ก่อนหรือได้รับอนุญาตอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ และมีความจำเป็นเร่งด่วน จึงมีการกำหนดพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ พื้นที่ตามประทานบัตร คำขอต่ออายุประทานบัตร คำขอประทานบัตร และพื้นที่ตามอาชญาบัตรที่ได้ออกให้ก่อนวันที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ รวมถึงพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดแหล่งหินอุตสาหกรรม และพื้นที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีการทำเหมืองประเภทที่ 1 หรือกรณีการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ให้ถือเป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ โดยไม่มีการสำรวจและกันพื้นที่หวงห้ามตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 17 วรรคสี่ ออกก่อนแต่อย่างใด

           ในขั้นตอนกระบวนการจัดทำแผนแม่บทฯ ก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นโดยเฉพาะผู้ไม่สนับสนุนโครงการเหมืองแร่ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบและอาจจะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองอย่างครอบคลุมและเพียงพอ ทั้งนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ มีข้อมูลเกี่ยวกับความเห็น ข้อร้องเรียนของประชาชน ที่เคยยื่นหนังสือไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนหลายครั้ง แต่หน่วยงานรัฐไม่เคยนำมาพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม หรือจัดทำแผนแม่บทฯ ให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและเป็นระบบ อีกทั้ง ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อ้างถึงการมีส่วนร่วมยังไม่มีความจริงใจอย่างเห็นได้ชัด ผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ สมควรที่จะเป็น “ผู้ไม่สนับสนุนโครงการเหมืองแร่” ไม่ใช่กลุ่มที่มีข้อวิตกกังวล เพราะผู้ที่สนับสนุน หรือหน่วยงานราชการและสถาบันทางวิชาการ ก็มีข้อวิตกกังวลด้วยเช่นกัน การกำหนดผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่ชัดเจนดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าคณะทำงานจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ไม่ได้เห็นว่าการทำเหมืองแร่สร้างผลกระทบมากมายและมีประชาชนจำนวนมากต้องการเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นในนามผู้ไม่สนับสนุนโครงการเหมืองแร่

           นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐยังหลีกเลี่ยงปัญหาที่แท้จริงของการทำเหมืองแร่ ว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือกระบวนการตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางของการประกอบกิจการเหมืองแร่ การปล่อยปละละเลยของหน่วยงานรัฐจนทำให้เกิดการทำเหมืองในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ความอ่อนแอของมาตรการตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การไม่ตรวจสอบการทำเหมืองว่าเป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนหรือไม่ การไม่ติดตามว่ามีชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบหรือไม่ และกระบวนการฟื้นฟูทั้งในระหว่างและหลังทำเหมืองแร่  ความล้มเหลวในการปฏิบัติงานเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่คณะทำงานจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ไม่เคยนำมาพิจารณา และด้วยเหตุนี้ปัญหาจึงไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด เมื่อไม่แก้เรื่องนี้ย่อมไม่ต้องพูดถึงเรื่อง การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)  โมเดลเศรษฐกิจ BCG  โดยเฉพาะเรื่องธรรมาภิบาล จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นเพียงเรื่องหลอกลวง

           ดังนั้น จึงขอให้ชะลอการใช้บังคับ (ร่าง) แผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) เอาไว้ก่อน และขอให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติสั่งการให้คณะทำงานจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กลับไปเริ่มกระบวนการสำรวจพื้นที่ใหม่ เพื่อดำเนินการจำแนกพื้นที่ศักยภาพแร่ และต้องกันเขตพื้นที่หวงห้ามที่กำหนดไม่ให้มีการทำเหมืองตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 17 วรรคสี่ ออกก่อนจะนำพื้นที่มาพิจารณาตามหลักดุลยภาพ และกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง โดยต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันทั้งผู้สนับสนุนโครงการ และผู้ไม่สนับสนุนโครงการ ประกอบกับต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการตัดสินใจของประชาชนในพื้นที่อย่างครอบคลุม

           ด้าน นายสยาม จิตตะโณ ได้กล่าวหลังรับหนังสือ ว่า จะนำเรื่องที่ร้องเรียนในวันนี้ยื่นให้ผู้ว่าฯในลำดับต่อไป

           ขณะที่ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ก็ได้กล่าวว่า จะเฝ้าติดตาม แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับนี้อย่างใกล้ชิด เพราะผลกระทบที่ได้รับไม่ใช่คนเขียนแผน แต่เป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเสียหาย หากมีการดำเนินการปล่อยให้ร่างแผนแม่บทฯฉบับนี้ผ่าน ทางกลุ่มอนุรักษ์ขอยืนยันว่า จะคัดค้านไม่ให้แผนแม่บทฯฉบับนี้ให้ถึงที่สุด

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม