ในโรงงานอิเล็กโทรนิคส์ อันตราย !!ประวัติผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวในการทำงาน
1198 12 Apr 2014
คนงานและกรรมการสหภาพแรงงาน ได้พาคนป่วยมาพบ ที่สภาเครือข่ายฯ 5-6 คน ประวัติการทำงานผู้ป่วย ที่ต้องสัมผัสกับสารซิลิกอน(Silicon) หรือ เยอร์มาเนียม(Germanium) และสารเคมี contact cleaner.
โดยสหภาพเล่าว่าคนในโรงงาน มี 3,500 กว่าคน นายจ้างจ้างรายวัน ทำนานเท่าไหร่ก็ไม่บรรจุเป็นพนักงานประจำ มิหนำซ้ำต่อมาบริษัทยัง ลดวันทำงานลง จากสัปดาห์ละ 6 วันเหลือเพียงสัปดาห์ละ 4 วันและให้คนงานทำงานโอทีแบบบังคับ คนป่วยเล่าว่าเป็นคนพื้นเพจังหวัดสกลนคร โดยครอบครัวมีอาชีพค้าขายของเล็กๆน้อยๆ คนงาน ปัจจุบันพักอยู่ที่จังหวัดนครนายก จบ ปวส.มาเข้าทำงานกับบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ โดยตรวจสุขภาพร่างกายก็แข็งแรงสมบูรณ์เป็นปกติดี เข้าทำงาน 3 กะคือ กะเช้าเวลา 7.00- 15.00 น. บ่ายเวลา 15.00 น.-23.00น. กะดึกเวลา 23.00น.-07.00น.ด้วยค่าแรงวันละ 300 บาทเดือนหนึ่งจะทำงานได้ 20 วัน/เดือน ซึ่งบริษัทมาเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างภายหลังเพราะถูกติติงจากองค์กรระหว่างประเทศ เกรงว่าการทำงานจะยาวนานไปจากมาตรฐานสากลกับการที่คนงานต้องสัมผัสกับสารเคมีอันตรายร้ายแรงตลอดเวลา แต่จริงๆแล้วบริษัทควรให้ค่าจ้างพนักงานเป็นรายเดือน เพราะกับมาผลักภาระให้ตัวคนงานต้องหักโหมทำโอทีเพื่อเพิ่มรายได้ เงินถึงจะพอใช้จ่าย
ประมาณเดือน ตุลาคม 2550 จนถึง ปี พ..ศ. 2554 2555 ปัจจุบันอายุ 31 ปี จนตรวจแพทย์พบว่าเกิดเป็นมะเร็งในไขสันหลังกระดูกทำให้เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว จนต้องให้เลือดทุกสัปดาห์ที่ รพ. เคยทำคีโม 1 ครั้ง อาการแย่ลง แพทย์บอกว่า มีโอกาสจะรอด 3% โรคแบบนี้ไม่มีระยะ ของโรค จึงไม่ขอทำคีโมอีก คนป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะมีอาการ รู้สึกผิดปกติตั้งแต่ทำงานที่ในบริษัท ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2554-2556 ตอนบริจาคโลหิตที่ทางบริษัทจัดขึ้นให้รถเคลื่อนที่มารับบริจาคโลหิตแล้วมี อาการหน้ามืดระหว่างการบริจาคโลหิตแต่ตอนนั้นยังไม่ทราบว่าเป็นมะเร็ง แต่รู้สึกว่าทำอะไรแล้วเหนื่อยง่าย จนเริ่มรักษาตัวเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2557 จากการเจ็บป่วยได้ไปใช้สิทธิ์ โรงพยาบาลในประกันตน และ ศูนย์มะเร็ง อาการที่เป็นอยู่ปัจจุบันจะซีดผมล่วง ประมาณเดือนมิถุนายน 2556 ได้ลาออกมา จากการทำงานโดยทีแลกไม่รู้ตัวว่า ตัวเองป่วยเป็นมะเร็งในเม็ดเลือดขาวจากการทำงาน จึงย้ายมาสมัครเข้าทำงานที่บริษัทรถยนต์ มีอาการเหนื่อยมาก หายใจไม่ทัน เดินไปแค่ 10 ก้าว หน้าและตัวจะซีดหายใจไม่ออก หน้ามืด เวียนหัว
ผู้ป่วยทำงานตำแหน่งช่าง อยู่แผนก Wafer Test (แผนกตรวจสอบชิ้นงาน Wafer) อายุงาน 5 ปี ทำหน้าที่ทำให้เครื่องจักรทำงานได้ตลอด ในระหว่างเวลาที่ปฏิบัติงานอยู่ การทำให้เครื่องจักรทำงานได้ตลอดเวลานั้น แบ่งได้ 3 หน้าที่ คือ
ผู้ป่วยทำหน้าที่
1.Line Maintenance (LM) ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาให้เครื่องทำงานได้ต่อไป ในกรณีที่เครื่องจักรหยุดทำงาน ช่างต้องเข้าไปดู ว่าเป็นปัญหาของ เครื่องตรวจสอบตัวงาน(Tester) ,อุปกรณ์เชื่อมต่อสัญญาณเข้าสู่ตัวงาน(Test head) หรือ เครื่องจักรลำเลียงตัวงาน(Prober) เป็นปัญหาอะไร ตรงจุดไหน แล้วทำการแก้ไข
2.Preventive Maintenance (PM) ทำหน้าที่ ดูแลรักษาเครื่องจักร โดยทำความสะอาด ดูดฝุ่น ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเครื่องจักร เปลี่ยน ชิ้นส่วน(Parts) กรณีชำรุด หรือไม่เหมาะสม และตรวจสอบเครื่องจักรให้พร้อมใช้งานได้ตามมาตรฐานที่กำหนด
- Operate เครื่องจักร ทำหน้าที่เหมือนพนักงาน Operator โดยนำแผ่นชิ้นงานเข้าเครื่องจักรและนำแผ่นชิ้นงานออกหลังจากขบวนการทำงานของเครื่องเสร็จแล้ว กรณีพนักงาน Operator ทำงานหลายเครื่อง แล้วทำงานไม่ทัน ช่างจะเข้าไปช่วยทำงาน
เครื่องจักรที่ช่างรับผิดชอบแต่ละชุด ประกอบด้วย 3 ส่วนดังนี้
1.Tester เป็นเครื่องจักรรุ่น u Flex (ไมโคร เฟล็ก) และ รุ่น J750 ทำหน้าที่ ผลิต ส่ง กระแสไฟฟ้า และสัญญาณทางไฟฟ้า เข้าสู่ตัวงานที่ทำการตรวจสอบ และตรวจสอบตัวงาน ว่าเป็นไปตาม Program ที่กำหนดหรือไม่
2.Test Head เป็นอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ สำหรับส่งผ่าน กระแสไฟฟ้า และสัญญาณ ทางไฟฟ้า ระหว่าง Tester กับตัวงานที่อยู่ใน Prober
3.Prober เป็นเครื่องจักรรุ่น TSK ,EG4090 ทั้งสองรุ่นนี้ทำงานได้ปริมาณงานมาก และรุ่น EG2000 เป็นเครื่องจักรรุ่นเก่าทำงานได้ปริมาณน้อย เครื่องจักรทั้ง 3 รุ่น ทำหน้าที่ลำเลียงแผ่นชิ้นงานที่บรรจุอยู่ในกล่อง(Cassette)แต่ละชิ้นเข้าไปในเครื่อง และจัดตำแหน่งตัวงานที่อยู่บนแผ่นชิ้นงานแต่ละตัวให้ตรงตำแหน่งตรวจสอบ หลังจากตัวงานถูกตรวจสอบแล้วเครื่อง Prober ก็จะลำเลียงแผ่นชิ้นงานออกมาที่กล่องบรรจุแผ่นชิ้นงานขาออก(Cassette)
การทำงานของเครื่องแต่ละชุด
ชุดเครื่องจักร 1 ชุด ประกอบไปด้วย Tester, Test Head และ Prober เมื่อครบ ทั้งสามส่วนนี้แล้ว เครื่องจักรก็พร้อมที่จะทำงานตรวจสอบชิ้นงาน โดย Prober จะลำเลียงแผ่นขิ้นงานที่อยู่ใน Cassette ในตำแหน่งงานเข้า ให้เข้าอยู่บน Chuck Top ซึ่งจะทำหน้าที่จัดตำแหน่งตัวงานที่อยู่บนแผ่นงานให้ตรงกับ Test Head ซึ่งเมื่อตรงตำแหน่งตรวจสอบแล้ว Tester ก็ส่งสัญญาณหรือกระแสไฟฟ้า ผ่าน Test Head เข้าสู่ตัวงาน และวัดค่าว่าเป็นไปตาม Program หรือ ไม่ หลังจากนั้นก็จะรู้ว่าตัวงานดีหรือเสีย เมื่อตรวจสอบตัวงานที่อยู่บนแผ่นงานครบทุกตัวแล้ว เครื่องจักรก็จะลำเลียงแผ่นงานออกจาก Chuck Top มาเก็บไว้ใน Cassette ในตำแหน่งงานออก
1.ภาวะเสี่ยงการแพร่กระจายของสารซิลิกอนหรือเยอร์มาเนียมจากตัวงานมีดังนี้
1.1 ) ขบวนการที่สารจากตัวงานแพร่มากับความร้อนออกมาสุ่อากาศ
ทุกช่วงในขบวนการที่ทำให้เกิดความร้อน หรือในระหว่างตรวจสอบตัวงานโดยเครื่อง Tester ส่ง กระแสไฟฟ้าไหลผ่านตัวงานที่อยู่บนแผ่นงานจะเกิดความร้อนที่ตัวงาน สารที่บรรจุอยู่ในตัวงานจะแพร่กระจายออกมากับความร้อน ออกมาสู่อากาศ ถ้าเราเข้าสัมผัสกับอากาศบริเวณนั้นก็สามารถได้ซึมผ่านผิวหนัง หรือสูดลมหายใจเข้าสู่ร่างกายได้
เครื่อง จักรที่ทำงานนาน ๆ จะสะสมความร้อนอยู่รวมกับสารจากตัวงานที่ถูกแพร่ออกมาสะสมอยู่อยู่ในเครื่อง เมื่อพนักงานเข้าไปทำงานโดยเปิดฝาครอบเอาชิ้นงานออก ความร้อนและสารที่สะสมอยู่จะแพร่ออกมาสู่ตัวคน การหยุดเครื่องจักรทุกกรณี เรามีโอกาสสัมผัสกับสารที่แพร่ออกมาได้
ในช่วงที่ช่างทำหน้าที่แก้ไขปัญหาโดยช่างจะเข้าไปแก้ไขหรือวิเคราะห์งานเพื่อให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้ตามปกติและถูกต้อง(LM) และการเปลี่ยนชิ้นส่วน ซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักร(PM) ซึ่งมีโอกาสสัมผัสกับชิ้นงานโดยตรง หรือเปิดฝาเครื่องทำให้สัมผัสกับความร้อนที่มีสารได้โดยตรงและซึมผ่านร่างกาย
เครื่องจักรที่เรียกว่า Prober นั้น จะทำหน้าที่ลำเลียงแผ่นชิ้นงานเข้า เพื่อตรวจสอบตัวงานที่มีหลายตัวบนแผ่นชิ้นงาน หลังจากตรวจสอบตัวงานจนหมดแผ่นแล้วก็จะลำเลียงแผ่นชิ้นงานออกมา ซึ่งเครื่องจักร Prober จะมีการตรวจสอบตัวงานที่อุณหภูมิต่าง ๆ ด้วย ตามข้อกำหนด อุณหภูมิปกติที่ 25 C อุณหภูมิร้อนที่ 75 C, 85 C, 125 C อุณหภูมิเย็น -35 C, -85 C ซึ่ง ในระหว่างการทำงานความร้อนจะทำให้สารซิลิกอนหรือเยอร์มาเนียมที่อยู่ในตัว งานแพร่ออกมาสะสมอยู่ในห้องเครื่องจักร ไม่ถูกระบายออก มีพัดลมระบายความร้อนตัวเล็กๆ 2 ตัว ซึ่งบางครั้งก็เสียหรือปิดไม่ให้ใช้เพื่อควบคุมอุณหภูมิ แต่ถ้าพัดลมระบายความร้อนออกมาสารซิลิกอนหรือเยอร์มาเนียมจากตัวงานก็จะแพร่ มาหาพนักงานได้ และเมื่อช่างเข้าไปซ่อมเครื่องจักร แล้วเปิดฝาครอบห้องเครื่องจักร ก็จะมีความร้อนที่มีสารซิลิกอนหรือเยอร์มาเนียมที่สะสมอยู่ในเครื่องมาสู่ ตัวช่างได้
1.2 ) ขบวนการสารจากตัวงานสัมผัสโดยตรงกับตัวพนักงาน
ปัญหาชิ้นงานแตก แผ่นชิ้นงานจะมีลักษณะเป็นแผ่นทึบรูปวงกลมบางมาก เป็นกระจกเคลือบ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 นิ้ว ในแผ่นชิ้นงานจะประกอบด้วยตัวงานตัวเล็ก ๆ เป็นลายวงจรเป็นหมื่นหรือแสนตัว ซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น การแตกของชิ้นงานมีหลายสาเหตุดังนี้
การสัมผัสโดยตรงกับแผ่นชิ้นงานที่บรรจุสารซิลิกอน หรือ เยอรมันเนียม เมื่อมีแผ่นชิ้นงานแตก โดยทำความสะอาดบริเวณนั้น
1.แผ่นชิ้นงานแตกบริเวณที่วางแผ่นชิ้นงานตำแหน่งตรวจสอบ(Chuck Top) ช่าง จะหยิบเศษชิ้นส่วนที่แตกชิ้นใหญ่ออกก่อน แล้วจึงหยิบชิ้นส่วนเล็ก ๆ ออก หลังจากนั้นจึงใช้เครื่องดูดฝุ่น ดูดออก แล้วทำความสะอาดพื้นผิวของอุปกรณ์เครื่องจักรบริเวณนั้นด้วยแอลกอฮอล์
2.แผ่นชิ้นงานแตกบริเวณกล่องใส่แผ่นชิ้นงาน(Cassette) ซึ่งบรรจุแผ่นชิ้นงาน 25 ชิ้น ก็ยกกล่องใส่แผ่นชิ้นงานออกมา แล้วทำความสะอาดลักษณะเดียวกับกับบริเวณอื่น
เนื่อง จากแผ่นชิ้นงานมีลักษณะเป็นกระจก ขณะที่เราทำความสะอาดเก็บชิ้นส่วนที่แตก ก็จะบาดมือได้แม้จะสวมถุงมือ ซึ่งข้อกำหนดให้ใช้ถุงมือยาง และแม้หากชิ้นส่วนไม่บาดมือสารจากตัวงานที่เราจับ ก็สามารถซึมผ่านถุงมือเข้าสู่ผิวหนังได้ โดยความชื้นจากตัวเรากับแผ่นชิ้นงาน ชิ้นงานจะแห้งไม่มีความชื้น ส่วนตัวเรามีความชื้น ความชื้นจะวิ่งเข้าหาชิ้นงานที่แห้ง ซึ่งสารจากตัวงานก็จะไหลผ่านมาหาความชื้น และหากเรายิ่งไม่สวมถุงมือก็ยิ่งสัมผัสกับสารที่อยู่กับแผ่นชิ้นงานได้โดย ตรง
- ภาวะเสี่ยงจากการสัมผัส สารเคมี contact cleaner
สารเคมีชนิดนี้บรรจุอยู่ในกระป๋องอัดแก็ส มีคุณสมบัติทำความสะอาดอุปกรณ์ในเครื่องจักร รวมทั้งอุปกรณ์อื่น ๆ ซึ่งช่าง(ผู้ป่วย) ใช้กันมากประมาณวันละ 3 กระป๋อง (ขนาด 1 กระป๋อง บรรจุ NET. 16 OZ.(453 G.)) โดย ฉีดสเปรย์จากกระป๋องไปยังอุปกรณ์ที่ต้องการทำความสะอาด สารเคมีก็จะไปชะล้างทำความสะอาดคราบฝุ่น หรือคราบสิ่งสกปรกออก และเป็นละอองในอากาศ ซึ่งสามารถเข้าสู่ทางร่างกายได้ จากข้อมูลระบุเป็นสารอันตรายดังนี้
- ความรู้สึกของผู้ป่วย ถ้าผมย้อนเวลาได้ผมคงไม่เลือกเข้าโรงงานแห่งนี้ เมื่อผมลองให้คีโมไปหนึ่งครั้ง ผมตัดสินใจรักษาด้วยการให้เลือดไปแบบนี้ดีกว่า เพราะคิดว่าจะสามารถต่ออายุผมไปอีกได้ ดีกว่าการให้คีโม ซึ่งแพทย์บอกว่ามีโอกาสรอดเพียง 3% นั่นหมายความว่าจะยิ่งบีบช่วงเวลาของการมีชีวิตของผมให้สั้นลง ผมไม่เคยมีความรู้มาก่อนเลยว่า เมื่อผมเข้ามาทำงานในโรงงานแห่งนี้แล้วชีวิตของผมจะเป็นแบบนี้ ซึ่งเสมือนการอยู่รอมัชจุราศมาเอาชีวิตผม และเพื่อนๆในโรงงานของผมแห่งนี้นี้อีกหลายคนที่กำลังป่วยเป็นมะเร็งอย่างผม บางคนที่เป็นคนงานหญิง ก็เป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมีคนเป็นมะเร็งปอดเสียชีวิตไปแล้วหลายคน แต่ทางบริษัทไม่เคยที่จะดูแลสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ขบวนการทำงานให้มันปลอดภัยกับคนงานเลย ทั้งๆที่ผมคิดว่าในขั้นตอนขบวนการทำงานมันน่าจะมีการป้องกันได้ การเปิดแอร์หรือการให้คนงานปิดปากจมูกก็ป้องกันผลผลิตทั้งนั้น หากผมต้องเป็นอาไรไปผมก็ห่วงภรรยาผม ห่วงพ่อแม่ผมที่อยู่สกลนคร ผมยังไม่มีโอกาสทดแทนบุญคุณและดูแล พ่อแม่ยามแก่เฒ่าเลยผมก็ต้องมากลายเป็นคนป่วยป่วยที่นอนรอความตาย
- เรื่องการใช้สิทธิเงินทดแทน มันมีข้อจำกัดมาก ถ้าผมมาขอเข้าใช้เงินกองทุนทดแทนที่ป่วยจากการทำงาน ทางประกันสังคมที่ผมรักษาตัวอยู่นี้ก็จพะต้องให้ผมคืนเงินประกันสังคมให้หมดก่อน และ เมื่อผมไม่มีเงินคืนประกันสังคมผมก็จะไปยื่นเรื่องเงินทดแทนเป็นคนป่วยด้วย โรคจากการทำงานไม่ได้ อีกทั้งถ้าสามารถยื่นเรื่องเงินทดแทนได้จริงๆ การรักษาตัวกองทุนเงินทดแทนนี้ก็จะต้องออกค่ารักษาพยาบาลค่ายาไปก่อน แล้วรอจนกว่ากองทุนเงินทดแทนหรือ
คณะกรรมการแพทย์กองทุนเงินทดแทน จะวินิจฉัยออกมาว่าผมป่วยจากการทำงานในเมื่อผมไม่สามารถทำงานได้ต้องใช้เวลาในการรอวินิจฉัยอีก 6-7 เดือนผมจะเอาเงินที่ไหนรักษาตัวเองผมคงตายก่อนแล้ว แต่ครั้นผมใช้สิทธิประกันสังคมเวลาผมเสียชีวิตลงผมก็จะไม่ได้สิทธิเงินทดแทนการเสียชีวิตจากการทำงาน เป็นเงิน 60%ของค่าจ้างรายเดือนเป็นระยะเวลา 8 ปีค่าทำศพ 100 เท่าของค่าจ้างรายวันสูงสุด และเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เพียง 45,000 บาท หากจะเบิกต่อก็ต้องมีเงื่อนไขมากมาย หรือไม่ก็ต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ขยายวงเงิน
แต่ถ้าผมรักษากับประกันสังคมคือการป่วยนอกงาน ถ้าเสียชีวิตก็จะได้ค่าทำศพเพียง 45,000 บาทเท่านั้น แต่การรักษาจะรักษาต่อเนื่องไปโดยไม่ต้องเสียเงิน ชีวิตคนงานที่ป่วยด้วยโรคร้ายอย่างผม มันไม่มีทางเลือกอื่นใดเลย เพราะระยะเวลาที่จะต่อสู้กับโรคร้ายมันมีไม่มาก มันไม่สามารถ ที่จะมีหนทางเลือกทางรักษาและการเข้าถึงสิทธิให้ดีกว่านี้ได้เลยหรือ ? ? ผม รู้สึกเป็นห่วงเพื่อนๆที่กำลังทำงานอยู่ในโรงงานพวกนี้ที่เขาก็กำลังเสี่ยง และรอความหายนะของสุขภาพและการจบชีวิตลงโดยบริษัทไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย กับความตายของคนงานแบบนี้คนแล้วคนเล่า.........และอีกกี่ชีวิตกี่ครอบครัว ที่จะต้องสูญเสีย ซึ่งเงินไม่สามารถชดใช้ได้เลยแต่ถ้าผมไม่ทำอะไรเลย โรงงานก็จะไม่มีการปรับปรุงเพื่อความปลอดภัยของคนงานเลย...
**นี่ คือนโยบายอีกเรื่องที่ต้องแก้ไขเกี่ยวกับเงื่อนไขที่ทำให้คนงานเข้าไม่ถึง สิทธิซึ่งก็เข้าหารือกับสำนักงานกองทุนเงินทดแทน และเลขาธิการประกันสังคมมา 3-4 ปีก็ยังไม่มีการแก้ไขกฏหมายได้ทำให้คนงานที่ป่วยอีกมากมายไม่สามารถใช้สิทธิ กองทุนเงินทดแทนได้มีหนึ่งรายฟ้องกองทุนเงินทดแทนขยายค่ารักษาใช้เวลาต่อสู้ คดีตั้งแต่ปี 2552 -2557 ทางกองทุนเงินทดแทนก็ยังใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาล***และการเข้าเสนอปัญหาก็เพียงรับฟังเฉยๆเท่านั้น
สมบุญ สีคำดอกแค
ผู้สัมภาษณ์