รายงานสถานการณ์ปัญหาเด็กขอทานรอบปี 2556
1081 08 Jan 2014
สถานการณ์ปัญหาเด็กขอทานในรอบปี 2556 นั้น ยังเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงเช่นเดียวกับในหลายปีที่ผ่านมา โดยสถิติการรับแจ้งเบาะแสการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานของโครงการ รณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา มีจำนวนทั้งสิ้น 371 ราย ซึ่งปัญหาเด็กขอทานจะมีการกระจายตัวอยู่แทบทุกพื้นที่ในประเทศไทย เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล, จังหวัดชลบุรี, ระยอง, เชียงใหม่, ลำปาง, นครราชสีมา, ขอนแก่น, สุราษฎร์ธานี, ภูเก็ตและสงขลา เป็นต้น ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมานี้ โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา พบว่าปัจจัยที่ทำให้เด็กต้องเข้าสู่วงจรของการขอทานนั้นมีอยู่หลายสาเหตุ ด้วยกัน อาทิเช่น
- ปัญหาการค้ามนุษย์
สำหรับปัญหาการค้ามนุษย์ในรูปแบบการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานนั้น เด็กที่ตกเป็นเหยื่อร้อยละ 80 ยังคงเป็นเด็กที่มาจากประเทศกัมพูชาเป็นหลัก ซึ่งนายหน้าค้ามนุษย์ยังคงใช้วิธีการซื้อ – ขายหรือเช่าเด็กจากครอบครัวที่มีความยากจนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนระหว่างไทย – กัมพูชา โดยจะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อ – ขายหรือเช่าเด็กประมาณ 1,500 – 3,000 บาท ต่อคน เพื่อนำมาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบเด็กขอทานหรือแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบ อื่นๆ เช่น การนำเด็กมาถือกล่องรับบริจาค เป็นต้น ซึ่งจากการดำเนินงานของโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา พบกรณีการนำเด็กจากประเทศกัมพูชามาสวมชุดนักเรียนและถือกล่องรับบริจาค ในทำนองขอเป็นค่ารักษาพยาบาล โดยกรณีนี้มีเด็กที่ตกเป็นเหยื่อจำนวน 2 ราย ซึ่งรายหนึ่งมีอาการป่วยเป็นโรคทาลัสซีเมียด้วย ซึ่งแต่ละวันนายหน้าค้ามนุษย์จะให้เด็กตระเวนไปถือกล่องรับบริจาคตามหน้า ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ในพื้นที่บางกะปิ โดยนายหน้าจะเรียกรับผลประโยชน์จากเด็กวันละ 200 บาท ซึ่งนายหน้าอ้างว่าเพื่อเป็นค่าเช่าห้องและค่าใช้จ่ายในการทำพาสปอร์ตเพื่อ ให้เด็กใช้ในการเดินทางกลับประเทศกัมพูชา โดยแต่ละวันเด็กจะมีรายได้เฉลี่ยประมาณวันละ 500 - 1,000 บาท ต่อคน ซึ่งกรณีนี้ภายหลังจากที่สามารถช่วยเหลือเด็กได้แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการขยายผลและบุกเข้าตรวจค้นภายในห้องพักของนายหน้าค้า มนุษย์ ซึ่งพบเอกสารการโอนเงิน รวมมูลค่ากว่า 200,000 บาท รวมถึงเศษเหรียญอีกเป็นจำนวนมากภายในห้องพักดังกล่าวอีกด้วย
นอก จากนี้ยังมีข่าวการจับกุมผู้หญิงชาวพม่าคนหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยผู้หญิงคนดังกล่าวนี้ได้เช่าเด็กทารกคนหนึ่ง จากครอบครัวที่มีความยากจนในประเทศพม่า ในราคา 500,000 จ๊าด (ประมาณ 15,000 บาท) โดยมีกำหนดระยะเวลาในการเช่าเด็ก 3 เดือน ซึ่งแต่ละวันผู้หญิงคนดังกล่าวจะตระเวนพาเด็กไปขอทานตามตลาดนัดและถนนคนเดินในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรายได้เฉลี่ยวันละ 800 – 2,000 บาท ต่อวันเลยทีเดียว
ทั้ง 2 กรณี นี้สะท้อนให้เห็นว่าการนำเด็กมาขอทานนั้น สามารถสร้างรายได้ที่สูงมากให้กับขบวนการนายหน้าค้ามนุษย์ และรายได้ในส่วนนี้ย่อมมีโอกาสที่จะถูกนายหน้าค้ามนุษย์ ผันเปลี่ยนไปเป็นค่าตอบแทนในการซื้อเด็กคนใหม่เข้าสู่วงจรของการขอทานหรือ แสวงหาผลประโยชน์ได้เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้กับนายหน้าค้ามนุษย์ได้อย่างเพิ่มเท่าทวีคูณ
- ปัญหาการถูกแสวงหาผลประโยชน์จากคนในครอบครัวของเด็กเอง
นอก จากปัญหาการค้ามนุษย์แล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับปัญหาการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานนั้น โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา พบว่ามีเด็กขอทานจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อจากการถูกแสวงหาผลประโยชน์จาก คนในครอบครัวของเด็กเสียเอง อย่างเช่นกรณีที่ทางโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา สามารถช่วยเหลือเด็กที่ถูกบังคับมาขอทานในพื้นที่ท่าเรือแห่งหนึ่งย่านถนน พระอาทิตย์ ซึ่งกรณีดังกล่าวนั้นมีเด็กที่ถูกบังคับมาขอทานจำนวน 3 ราย ซึ่งเด็กจะถูกบังคับให้หาเงินให้ได้วันละ 400 บาท ซึ่งหากทำรายได้ไม่ครบตามที่พ่อ – แม่ของเด็กกำหนดไว้ ก็จะถูกทุบตีทำร้ายร่างกาย โดยเหตุผลที่พ่อ – แม่บังคับให้เด็กมาทำเช่นนี้ เพราะพ่อ – แม่ของเด็กมีพฤติกรรมติดยาเสพติด จึงใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง
อีกทั้งยังมีอีกหลายกรณีที่ครอบครัวกล่าวอ้างถึงความยากจนของครอบครัว จึงนำบุตร – หลาน ของตนมาทำการขอทานหรือขายสินค้าต้นทุนต่ำต่างๆ เช่น ดอกไม้, พวงมาลัย, ปากกาหรือลูกอม เป็นต้น ซึ่งเด็กบางคนมีลักษณะของการถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เพราะต้องทำการขายสินค้าต่างๆ ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม รวมถึงสถานที่ที่มีความเสี่ยงที่เด็กจะได้รับอันตราย เช่น ตามสถานบันเทิงในช่วงกลางคืนหรือบนพื้นผิวการจราจร เป็นต้น ซึ่งในประเทศไทยมีหลายชุมชนที่มีพฤติกรรมที่เข้าข่ายการแสวงหาผลประโยชน์จาก บุตร – หลานของตนเอง เช่น ชุมชนริมทางรถไฟยมราชที่มีพฤติกรรมในการให้บุตร – หลานมาทำการขายดอกไม้, ชุมชนโรคเรื้อน จังหวัดขอนแก่น ที่มีพฤติกรรมในการนำบุตร – หลานมาขอทาน อีกทั้งยังมีชุมชนในพื้นที่ จังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษที่มีพฤติกรรมในการนำเด็กมาเป่าแคนอีกด้วย
นอก จากนี้บางครอบครัวยังมีทัศนคติว่าการนำเด็กมาขอทานหรือขายสินค้าต่างๆ ในช่วงเวลาหรือสถานที่ที่ไม่เหมาะสมนั้น เป็นอาชีพอย่างหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวของตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าแนวทางในการแก้ไขปัญหาเด็กที่ถูกนำมาแสวงหาผลประโยชน์จากคนใน ครอบครัวของเด็กเองนั้น ย่อมมีความยากลำบากมาก เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการทำความเข้าใจและให้ความรู้กับครอบครัวของเด็ก ที่มีทัศนคติเช่นนี้ รวมถึงการ ส่งเสริมให้ครอบครัวเหล่านี้ได้เข้าถึงระบบสวัสดิการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมหรือการศึกษาสำหรับเด็ก เพราะหากไม่มีการจัดสรรสวัสดิการอย่างเป็นรูปธรรม ย่อมทำให้กลุ่มคนเหล่านี้อ้างถึงความชอบธรรมในการนำบุตร – หลานของตนมาขอทานเพื่อหาเลี้ยงชีพได้อยู่เสมอ
อีก ทั้งหน่วยงานที่มีบทบาทในการคุ้มครองเด็กตามกฎหมาย อาจจำต้องใช้วิธีการแยกเด็กออกจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เพื่อนำเด็กเข้าสู่การคุ้มครองสวัสดิภาพเป็นการชั่วคราวในสถานสงเคราะห์ตาม หลักในพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ใน กรณีที่วิเคราะห์หรือประเมินแล้วว่าครอบครัวมีพฤติกรรมในการเลี้ยงดูเด็กที่ ไม่เหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้เด็กต้องตกเป็นเหยื่อจากการถูกแสวงหาผลประโยชน์จากคนใน ครอบครัวของเด็กเอง
- ปัญหาเด็กที่อพยพมากับแรงงานข้ามชาติ
เด็ก ที่อพยพมากับแรงงานข้ามชาติถือเป็นเด็กอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะกลายมา เป็นเด็กขอทาน เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อน บ้านเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทั้งกลุ่มแรงงานที่มาจากประเทศพม่า, ลาวและกัมพูชา ซึ่งแรงงานข้ามชาติบางกลุ่มใช้วิธีการลักลอบเข้าสู่ประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย เพื่อมาประกอบอาชีพต่างๆ เช่น แรงงานก่อสร้าง, ทำงานตามโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งกลุ่มแรงงานที่อพยพเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมายนั้น ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองในเรื่องสิทธิที่ลูกจ้างพึงจะได้รับตามกฎหมายคุ้ม ครองแรงงานในประเทศไทย ดังนั้นกลุ่มแรงงานเหล่านี้จึงมักถูกนายจ้างให้ค่าตอบแทนอย่างไม่เป็นธรรม และทำให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบมาจนถึงบุตร – หลานของแรงงานอพยพที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาในประเทศไทยได้
เมื่อ เด็กไม่มีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษา เด็กบางคนจึงใช้เวลาว่างในช่วงเวลากลางวันหรือกลางคืนในการออกมาขอทานตาม ข้างถนน จนกลายเป็นพฤติกรรมเลียนแบบกัน และท้ายที่สุดเด็กบางคนก็ถูกบังคับจากครอบครัวให้ทำการขอทานอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากมีรายได้ดีกว่าการประกอบอาชีพของครอบครัว ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับ กลุ่มเด็กที่อพยพมากับแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมให้เด็กข้ามชาติได้เข้าสู่ระบบการศึกษาในประเทศ ไทย เนื่องจากในปัจจุบันแม้จะมีกฎหมายที่เปิดช่องให้เด็กข้ามชาติได้รับสิทธิ เรื่องการศึกษาในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติยังมีโรงเรียนอีกเป็นจำนวนมากที่บอกปัดไม่รับ กลุ่มเด็กข้ามชาติเข้าเรียน เพราะเกรงว่าจะเป็นภาระในการบริหารจัดการ ดังนั้นจึงควรมีการวางแนวทางและกำหนดนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการส่งเสริม การศึกษาของเด็กข้ามชาติ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เด็กกลุ่มนี้สุ่มเสี่ยงต่อการกลายเป็นเด็กขอทานตาม ข้างถนนหรือเข้าสู่วงจรของยาเสพติดและปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ
นอก จากปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้แล้ว โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา ยังพบว่ามีขอทานบางรายที่อาศัยช่องว่างเรื่องศีลธรรมมาใช้ในการแสวงหาผล ประโยชน์ให้กับตนเองอีกด้วย เช่น กรณีที่มีผู้หญิงรายหนึ่งที่มักนำบุตรของตนมานอนตามข้างถนนเพื่อเรียกร้อง ความน่าสงสาร ซึ่งหากคนที่เดินผ่านไป – มา ให้ความสนใจและเข้าไปสอบถาม ผู้หญิงคนดังกล่าวจะบอกว่าบุตรของตนป่วยเป็นโรคร้ายแรงและตนเองไม่มีเงินใน การพาเด็กไปรักษา ซึ่งมีหลายคนที่เห็นใจและมอบเงินให้เป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีผู้ที่พบเห็นคนหนึ่งนำข้อมูลมาบอกเล่าในโซเชี่ยล มีเดีย เพื่อขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการช่วยเหลือผู้หญิงคนดังกล่าวนั้น ได้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางว่าผู้หญิงคนดังกล่าวมี ลักษณะเป็นมิจฉาชีพ เพราะมีหลายคนที่พบว่าผู้หญิงคนดังกล่าวมีการเปลี่ยนเด็กมาหลายคนและมี พฤติกรรมเช่นนี้มานานมากแล้ว ซึ่งท้ายที่สุดเมื่อโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา ได้ทำการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงก็พบว่าเด็กคนดังกล่าวไม่ได้มีความเจ็บ ป่วยแต่อย่างใด ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นอุทาหรณ์ให้กับคนในสังคมไทยบางกลุ่มที่มักให้เงินกับเด็ก ขอทานได้เป็นอย่างดี
แม้ ปัญหาเด็กขอทานจะสามารถพบเห็นได้ง่ายแทบทุกพื้นที่ในประเทศไทย และมีคนในสังคมให้ความสนใจในการแจ้งเบาะแสไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยว ข้องอยู่เสมอ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การไม่ได้รับความใส่ใจใดๆ ในการดำเนินการช่วยเหลือเด็กขอทานออกจากข้างถนน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะเจ้าพนักงานคุ้มครองเด็กตามกฎหมายบางคน ยังคงมีทัศนคติว่าปัญหาเด็กขอทานเป็นความชาชินและเป็นปัญหาที่มีอยู่ในสังคม ไทยมานานแล้ว ดังนั้นเมื่อได้รับแจ้งเบาะแสจึงขาดความกระตือรือร้นในการดำเนินการช่วย เหลือเด็ก หรือบางคนอาจมีการดำเนินการลงมาตรวจสอบ แต่ก็ใช้วิธีการ “ขับไล่” ให้เด็กไปขอทานในพื้นที่อื่น เพื่อปัดความรับผิดชอบของตนออกไป
ด้วย เหตุนี้จึงทำให้ฟันเฟืองของระบบกลไกการคุ้มครองเด็กในประเทศไทย ไม่สามารถหมุนเคลื่อนที่ไปอย่างที่ควรจะเป็นและทำให้คนในสังคมเริ่มหน่าย เหนื่อยที่จะแจ้งเบาะแสเด็กขอทานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้ายที่สุด
และไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่สหรัฐอเมริกาจะจัดให้ประเทศไทยอยู่ในระดับ 2.5 (Tier 2 watch list) เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เป็นปีที่ 4 ติดต่อกันแล้ว ซึ่งภายหลังการจัดอันดับในครั้งนี้ ก็ทำให้ภาครัฐเกิดการตื่นตัวต่อการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อีกครั้ง โดยมีการเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อประชุมหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทย แต่ท้ายที่สุดแล้วภาครัฐมักมุ่งเน้นไปที่การออกนโยบายต่างๆ มากกว่าที่จะทำให้เกิดแนวทางในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปว่าในปี 2557 นี้ สหรัฐอเมริกาจะลดระดับประเทศไทยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ลงไปที่ระดับ 3 (Tier 3) หรือไม่
ท้ายที่สุดเมื่อวิเคราะห์จากสถานการณ์เด็กขอทานในรอบปี 2556 แล้ว โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา คาดว่าในปี 2557 ปัญหา เด็กขอทานจะยังคงมีความรุนแรงอยู่เช่นเดิม หากหน่วยงานภาครัฐยังคงเพิกเฉยและไม่มีมาตรการณ์ในการแก้ไขปัญหาเด็กขอ ทานอย่างจริงจังเฉกเช่นเดียวกับหลายปีที่ผ่านมา.....
โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน
มูลนิธิกระจกเงา