934 30 Sep 2013
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์
27 กันยายน 2556
สัญญา ว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง ระหว่าง กรมทรัพยากรธรณี กับ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด และกับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ทำขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2534 เป็น ผลมาจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2530 ที่ได้กำหนดนโยบายว่าด้วยการสำรวจและพัฒนาแร่ทองคำ และตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2532 ที่อนุมัติให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรพิเศษ และประทานบัตร สำหรับการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย และบริเวณใกล้เคียง สัญญาฯ ดังกล่าว เป็นสัญญาให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ขนาดใหญ่มากถึง 545 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 340,615 ไร่ คำถามสำคัญคือการทำสัญญาฯ บนพื้นที่ขนาดใหญ่ระดับนี้กระทำภายใต้บทบัญญัติใดของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ? ที่เป็นกฎหมายหลักในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทุกชนิดและประเภท ตามความเป็นจริงแล้ว พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ได้เปิดโอกาสให้มีการขอ ‘สัมปทานสำรวจแร่’ หรือที่เรียกว่าอาชญาบัตร และ ‘สัมปทานทำเหมืองแร่’ หรือที่เรียกว่าประทานบัตร ในพื้นที่ขนาดใหญ่ได้เช่นกัน ซึ่งปรากฏเนื้อหาอยู่ในมาตรา 6 ทวิ (อ้างอิง 1 ) และ มาตรา 6 จัตวา( อ้างอิง 2) แต่มีเนื้อหาสาระสำคัญที่แตกต่างจากสัญญาฯ ดังกล่าว 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก ‘การสำรวจ’ และ ‘ทำเหมือง’ มีลักษณะต่างกรรมต่างวาระ หรือมีลักษณะเป็น ‘ขั้นตอน’ อันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด หมายถึงว่าผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนในกิจการเหมืองแร่จะต้องขอและได้สัมปทาน สำรวจแร่ก่อน หลังจากที่สำรวจเสร็จและพบว่ามีแร่ในเชิงพาณิชย์ที่พร้อมจะลงทุนก็จะต้องขอ และได้สัมปทานทำเหมืองแร่ในลำดับขั้นตอนต่อไป ไม่ ใช่ทำสัญญาในลักษณะให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ในคราวเดียวกันเพื่อจูงใจนัก ลงทุน หรือทำสัญญาจับจองพื้นที่แหล่งแร่เอาไว้ก่อน ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้รับอาชญาบัตรให้สำรวจแร่และประทานบัตรให้ทำเหมืองแร่แต่อย่างใด ซึ่งการทำสัญญาเช่นนี้ เป็นการขยายอำนาจในการอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานสำรวจแร่และทำเหมืองแร่ของเจ้า หน้าที่รัฐมากเกินไปกว่าขอบเขตที่กฎหมายแร่ได้บัญญัติไว้ โดยใช้อำนาจฝ่ายบริหารผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเอารัฐ--ประชาชนและระบบราชการ--ไป รับประกันความเสียหายไม่ว่ากรณีใด ๆ ว่ารัฐจะเอื้อประโยชน์ให้ถึงที่สุดให้ผู้ประกอบการที่ทำสัญญาไว้ได้รับ อาชญาบัตรและประทานบัตรอย่างแน่นอน หากแม้ยังไม่ได้รับสัมปทานที่เป็นอาชญาบัตรสำรวจแร่หรือประทานบัตรทำเหมือง แร่ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม สัญญาฯ ดังกล่าว ก็จะคุ้มครองพื้นที่แหล่งแร่นั้นไว้ให้กับผู้ประกอบการที่ทำสัญญาโดยไม่ กำหนดวันสิ้นสุดสัญญา ซึ่งส่งผลให้หลักขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดใน กฎหมายแร่ถูกทำลายลงไป จากการกระทำของรัฐ-ราชการที่ต้องเอื้อประโยชน์ให้ถึงที่สุดเพื่อให้ผู้ ประกอบการได้ทำเหมืองแร่ทองคำให้จงได้ ซึ่งจะส่งผลต่อมาให้กระบวนการพิจารณาและตรวจสอบการขอประทานบัตรเพื่อให้ได้ รับการอนุมัติ/อนุญาตซึ่งมีหลายขั้นตอนหละหลวม ไม่รอบคอบรัดกุมเพียงพอ เพราะสัญญาได้ผูกมัดไว้แล้วว่าผู้ประกอบการจะต้องได้ทำเหมืองแร่ทองคำให้จง ได้ ประเด็นที่สอง มาตรา 6 ทวิ และมาตรา 6 จัตวา มีข้อจำกัดเกี่ยวกับพื้นที่ที่เป็น ‘แหล่งต้นน้ำ’ หรือ ‘ป่าน้ำซับซึม’ แม้ปรากฏว่ามีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงก็ไม่สามารถประกาศให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อออก ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรได้ จะต้องคำนึงถึงการเป็นพื้นที่สงวนหวงห้ามก่อนเป็นอับดับแรก แต่ สัญญาฯ ดังกล่าว กลับด้าน คือ ละเมิดหลักการของมาตรา 6 ทวิ และมาตรา 6 จัตวา ด้วยการนำพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมที่พบว่ามีแร่ทองคำมาให้ สัมปทานสำรวจแร่และทำเหมืองแร่แก่ผู้ประกอบการได้ แผนภาพ 1 – เปรียบเทียบระบบสัมปทานของเหมืองทองพิจิตร-เพชรบูรณ์ ของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด กับ เหมืองทองตามสัญญาฯ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด อธิบายแผนภาพ 1 จะเห็นความแตกต่างของระบบสัมปทานของเหมืองทอง/บริษัททั้งสองแห่ง ระบบ สัมปทานของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด เป็นไปตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ ขอสัมปทานสำรวจแร่ก่อน เมื่อพบแร่ทองคำมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ที่จะลงทุนจึงขอสัมปทานทำเหมืองแร่ใน ลำดับขั้นตอนต่อไป ส่วนของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด สัญญาฯ ดังกล่าว ครอบลงไปในระบบสัมปทานปกติตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 อีกชั้นหนึ่ง ถึงแม้จะดำเนินการขอสัมปทานสำรวจแร่ก่อน และขอสัมปทานทำเหมืองแร่เป็นลำดับขั้นตอนต่อไปเหมือนกับบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีสัญญาครอบระบบสัมปทานปกติ ส่งผลให้กลไกและกระบวนการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานสำรวจแร่และทำเหมือง แร่หละหลวม ไม่รอบคอบ รัดกุมเพียงพอ จนถึงขั้นพิกลพิการ ที่ น่าสนใจก็คือสัญญาฯ ดังกล่าว ไม่ได้กระทำภายใต้บทบัญญัติมาตรา 6 ทวิ และมาตรา 6 จัตวา หรือมาตราอื่นใดของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 แต่ กระทำภายใต้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีสถานะเป็นกฎ ระเบียบ และแนวทางปฏิบัติของฝ่ายบริหารเท่านั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่ มติ ครม. จะขัดต่อพระราชบัญญัติ เพราะ มติ ครม. ไม่ใช่พระราชบัญญัติ และ ไม่สามารถอ้าง มติ ครม. เป็นข้อยกเว้นตัวบทกฎหมายในพระราชบัญญัติ ซึ่งมีสถานะหรือศักดิ์สูงกว่า เพราะเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ มติ ครม. ที่เป็นกฎ ระเบียบหรือแนวทางปฏิบัติของฝ่ายบริหารเท่านั้น ในประเทศประชาธิปไตยที่ใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ กฎหมายจะต้องถูกตราหรือยึดโยงจากปวงชนหรือตัวแทนปวงชน ซึ่งคือรัฐสภา แต่สัญญาฯ ดังกล่าว กระทำภายใต้ มติ ครม. คำถามสำคัญก็คือ ‘มติ ครม.’ ที่ขัดหรือแย้งกับ ‘พระราชบัญญัติ’ ซึ่งมีศักดิ์สูงกว่า เพราะยึดโยงกับประชาชนภายใต้การออกกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ-ระบบรัฐสภา จะส่งผลให้สัญญาฯ ดังกล่าว เป็นโมฆะได้หรือไม่ ? เหตุแห่งการสิ้นสุดสัญญาไม่สอดคล้องกับเหตุแห่งการเพิกถอนประทานบัตร ข้อกำหนดเกี่ยวกับการสิ้นสุดแห่งสัญญา ในข้อ 14 หน้า 15 ของสัญญาฯ ดังกล่าว ระบุเหตุแห่งการสิ้นสุดสัญญาไว้ 3 ข้อ คือ (1) บริษัทบอกเลิกสัญญาฯ นี้ได้ ถ้าผลสำรวจไม่พบแร่ทองคำ หรือพบแร่ทองคำในปริมาณและคุณภาพไม่เพียงพอสำหรับการลงทุนทำเหมือง และถ้าบริษัทยังมิได้ยื่นขอหรือยังมิได้รับประทานบัตรใด ๆ (2) สัญญาฯ นี้สิ้นสุดลงเมื่อประทานบัตรของบริษัทตามสัญญานี้สิ้นอายุลง และไม่มีการขอประทานบัตรใหม่เพื่อทำเหมืองในพื้นที่เดิม (3) สัญญาฯ นี้สิ้นสุดลงเมื่อบริษัทได้โอนสิทธิตามประทานบัตร หรือให้รับช่วงการทำเหมืองแก่บุคคลอื่นโดยความยินยอมจากกรมทรัพยากรธรณี (ปัจจุบันคือกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) และยังมีเหตุแห่งการสิ้นสุดสัญญาในข้อ 13 ข้อกำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญา หน้า 14 ของสัญญาฯ ดังกล่าว อีก 2 ข้อ คือ (1) หากรัฐเห็นว่าบริษัทไม่สามารถจ่ายผลประโยชน์พิเศษหรือไม่ดำเนินการให้รัฐได้ รับผลประโยชน์พิเศษตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาได้ รัฐมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ (2) ถ้าบริษัทไม่ปฏิบัติตามข้อใดข้อหนึ่งในสัญญานี้ รัฐมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาได้ แต่ถ้าบริษัทได้ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาแล้วก่อนครบกำหนด 45 วัน นับตั้งแต่วันที่บริษัทได้รับแจ้งการบอกเลิกสัญญาฯ ดังกล่าว ก็ให้ถือว่าสัญญานี้ยังมีผลใช้บังคับต่อไป เสมือนหนึ่งมิได้มีการบอกเลิกสัญญา ดู เหมือนว่าข้อ 13 (2) จะมีฐานของการสิ้นสุดสัญญากว้างและครอบคลุมที่สุด แต่ก็แทบไม่มีผลในทางปฏิบัติ และในความเป็นจริงข้อความเนื้อหาทั้งหมดที่ระบุไว้ในสัญญาอันเป็นเหตุที่จะ บอกเลิกสัญญาได้นั้น ไม่มีเนื้อหาข้อความใดเลยที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกับ ‘เหตุแห่งการเพิกถอนประทานบัตร’ และ ‘เหตุแห่งความเสียหายจากผลกระทบของการสำรวจและทำเหมืองแร่’ ที่มีอยู่ในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 แม้สักนิดเดียวเหตุแห่งการสิ้นสุดสัญญา ตามสัญญาฯ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง | เหตุแห่งการเพิกถอนประทานบัตร ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510* |
(1) บริษัทบอกเลิกสัญญาฯ นี้ได้ ถ้าผลสำรวจไม่พบแร่ทองคำ หรือพบแร่ทองคำในปริมาณและคุณภาพไม่เพียงพอสำหรับการลงทุนทำเหมือง และถ้าบริษัทยังมิได้ยื่นขอหรือยังมิได้รับประทานบัตรใด ๆ (2) สัญญาฯ นี้สิ้นสุดลงเมื่อประทานบัตรของบริษัทตามสัญญานี้สิ้นอายุลง และไม่มีการขอประทานบัตรใหม่เพื่อทำเหมืองในพื้นที่เดิม (3) สัญญาฯ นี้สิ้นสุดลงเมื่อบริษัทได้โอนสิทธิตามประทานบัตร หรือให้รับช่วงการทำเหมืองแก่บุคคลอื่นโดยความยินยอมจากกรมทรัพยากรธรณี (ปัจจุบันคือกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) (4) หากรัฐเห็นว่าบริษัทไม่สามารถจ่ายผลประโยชน์พิเศษหรือไม่ดำเนินการให้รัฐได้ รับผลประโยชน์พิเศษตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาได้ รัฐมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ (5) ถ้าบริษัทไม่ปฏิบัติตามข้อใดข้อหนึ่งในสัญญานี้ รัฐมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาได้ แต่ถ้าบริษัทได้ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาแล้วก่อนครบกำหนด 45 วัน นับตั้งแต่วันที่บริษัทได้รับแจ้งการบอกเลิกสัญญาฯ ดังกล่าว ก็ให้ถือว่าสัญญานี้ยังมีผลใช้บังคับต่อไป เสมือนหนึ่งมิได้มีการบอกเลิกสัญญา | (1) ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของผู้อำนวยการเขตควบคุมแร่ (มาตรา 9 อัฎฐ) (2) ไม่ทำเหมืองตามวิธีการทำเหมือง แผนผังโครงการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในการออกประทานบัตร (มาตรา 57) (3) การปลูกสร้างอาคารเกี่ยวกับการทำเหมือง การจัดตั้งสถานที่เพื่อการแต่งแร่หรือการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทราย นอกเขตเหมืองแร่ (มาตรา 59) (4) ไม่ทำเหมืองโดยมีคนงานทำการและเวลาทำการ (มาตรา 60) (5) ทำเหมืองใกล้ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะภายในระยะ 50 เมตร (มาตรา 62) (6) ปิดกั้น ทำลายหรือทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะ (มาตรา 63) (7) ทดน้ำหรือชักน้ำจากทางน้ำสาธารณะ (มาตรา 64) (8) ปล่อยน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายอันเกิดจากการทำเหมืองออกนอกเขตเหมืองแร่ (มาตรา 67) (9) ไม่ป้องกันมิให้น้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายที่ปล่อยออกนอกเขตเหมืองแร่ไปทำให้ ทางน้ำสาธารณะตื้นเขินหรือเสื่อมประโยชน์แก่การใช้ (มาตรา 68) (10) กระทำการหรือละเว้นกระทำการอันน่าจะเป็นเหตุให้แร่ที่มีหรือสิ่งอื่นที่มีพิษก่อให้เกิดอันตราย (มาตรา 69) (11) ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งให้เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไข วิธีการทำเหมืองหรือแต่งแร่ หรือหยุดการทำเหมือง หรือแต่งแร่ (มาตรา 71) (12) นำหรือยอมให้ผู้อื่นนำมูลแร่หรือมูลดินทรายออกจากเขตเหมืองแร่โดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 74) (13) ยอมให้ผู้อื่นรับช่วงการทำเหมืองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต (มาตรา 76) (14) มีแร่ไว้ในครอบครองโดยแร่นั้นไม่ได้รับการยกเว้นให้มีได้ (มาตรา 105) (15) ขนแร่โดยแร่นั้นไม่ได้รับการยกเว้นให้ขนได้ (มาตรา 108) (16) นำเข้าหรือส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งแร่ที่อยู่ในความควบคุม (มาตรา 129) |
05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม