แนะนำหนังสือใหม่ “วิถีมุสลิมอาเซี่ยน ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประชาคมอาเซี่ยน”

1424 03 Sep 2013

แนะนำหนังสือใหม่ “วิถีมุสลิมอาเซี่ยน ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประชาคมอาเซี่ยน” อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) รายงานจากขอนแก่น กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา Shukur2004@chaiyo.com http://www.oknation.net/blog/shukur "มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอาลา) ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความจำเริญและสันติจงประสบแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน" เป็นหนังสือใหม่อีกเล่มหนึ่งที่ผู้เขียนตั้งใจเขียนเพื่อรองรับประชาคมอาเซี่ยนในปี2558 นี้ วิถีมุสลิมอาเซี่ยน ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประชาคมอาเซี่ยน : :เพื่อนใหม่อีก 300 ล้านคนของเรา ซึ่งผู้เขียนให้ทัศนะว่า ก่อนที่จะมีมนุษย์เกิดขึ้นก็มีความหลากหลายในธรรมชาติเป็นพื้นฐานมาก่อน มนุษย์ก็เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ในที่แต่ละแห่งมนุษย์ก็ย่อมเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน และอยู่ร่วมอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ จึงมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน เรียกว่าเป็นความหลากหลายทางชีวภาพ กับความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน เพราะว่าชีวิตต้องเกิดขึ้นในที่ต่างๆ ศาสนาก็เป็นอีกฐานะหนึ่งคือเป็นวัฒนธรรมร่วม ศาสนาพุทธเป็นวัฒนธรรมส่วนใหญ่ของคนไทย ลาว พม่า เวียดนาม ในขณะที่ ศาสนาอิสลามก็เป็นวัฒนธรรมส่วนใหญ่ของคนของคนมาเลเซีย อินโดนีเซีย บูรไน และศาสนาคริสต์เป็นวัฒนธรรมส่วนใหญ่ของคนของคนฟิลิปินส์ อีกส่วนหนึ่งของแต่ละประเทศพบว่า มีความหลากหลาย ทางเชื้อชาติ หลากหลายศาสนา มีทั้งไทย จีน ญวน ลาว เขมร มอญ มาลายู ศาสนาก็มีทั้ง พุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู ซิกส์ ที่ใดที่มีการเข้าถึงความหลากหลายทางธรรมชาติ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมย่อมจะมีสันติสุขหากมีการจัดการทางวัฒนธรรมที่ดี แต่ที่ไหนที่มีความขัดแย้งก็เกิดความรุนแรงขึ้น ยกตัวอย่างประเทศพม่าเป็นที่อยู่ของชนหลายเผ่า ที่อพยพมาอยู่รวมกันที่ลุ่มแม่น้ำอิรวดี ก็เกิดการกระทบกระทั่งขัดแย้งกันมาเรื่อยๆ เคยมีการรวมตัวกันแต่สุดท้ายก็ไม่สามารถที่จะตกลงกันได้ มีการรวมตัวกันยากมาก มีความขัดแย้งเรื้อรังมาเรื่อยจนถึงบัดนี้ ที่มาเลเซียและอินโดนีเซียเคยมีการทะเลาะกันระหว่างชาวมลายูกับชนเชื้อสายจีน โลกปัจจุบันกำลังเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า "สงครามวัฒนธรรม" (Culture Wars) หรือ"ความขัดแย้งระหว่างระหว่างอารยธรรม" (The Clash of Civilizations )ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์ 2 แบบที่กำลังต่อสู้กันอยู่ ความขัดแย้งระหว่างโลกทัศน์ที่แตกต่างทั้งสองนี้ กำลังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมโลกทั้งมวล รวมทั้งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ "การปะทะระหว่างอารยธรรม"ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยอคติ และความคลางแคลงใจระหว่างศาสนาและเชื้อชาติ ฮันติงตัน เชื่อว่า "ความแตกแยกระดับมหาภาคระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และที่มาของความขัดแย้งต่างๆ จะมาจากด้านวัฒนธรรม การปะทะกันระหว่างอารยธรรม จะครอบงำการเมืองโลก ... การปะทะที่สำคัญที่สุดจะเป็นการปะทะกันระหว่างอารยธรรมตะวันตก กับ "อารยธรรมที่มิใช่ตะวันตก" แต่เขาใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ในบทความและหนังสือ บรรยายความขัดแย้ง ทั้งที่เกิดขึ้นจริงและมีแนวโน้มว่าจะเกิด ระหว่างอารยธรรมที่เขาเรียกว่า ตะวันตกข้างหนึ่ง และอารยธรรม "อิสลามและขงจื๊อ" อีกข้างหนึ่ง. ในแง่รายละเอียด ฮันติงตันให้ความสนใจอย่างไม่เป็นมิตรเอามากๆ กับอิสลาม มากกว่าอารยธรรมอื่นใดทั้งหมด ซึ่งภาพสะท้อนดังกล่าวนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน สำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลามจะเรียกว่ามุสลิม การจะเป็นมุสลิมที่ศรัทธาและถูกยอมรับจากพระเจ้าและสังคมมุสลิมนั้น ผู้นั้นจะพร้อมที่จะยอมจำนนต่อพระเจ้าที่มีพระนามว่าอัลลอฮ (ซุบหานะฮูวตะอาลา) ในคำสั่งใช้และคำสั่งห้าม ผู้ใดที่ยอมจำนนทั้งกาย วาจา และใจในทุกๆ สิ่งต่ออัลลอฮ (ซุบหานะฮูวตะอาลา) ทรงสั่งใช้โดยเฉพาะการปฏิบัติตามกฎหมายอิสลามซึ่งเป็นธรรมนูญชีวิตของมุสลิม สำหรับหลักศรัทธาในศาสนาอิสลามนั้นประกอบด้วย ๖ ประการด้วยกัน ๑. การศรัทธาว่าอัลลอฮ์เป็นพระเจ้า ๒. การศรัทธาในบรรดามลาอิกะฮ์ ๓. การศรัทธาในบรรดาคัมภีร์ของพระองค์ ๔. การศรัทธาในบรรดาศาสนทูต(รอซูล)ของพระองค์ ๕. การศรัทธาในวันสิ้นโลก (อาคิเราะฮ์) หรือวันพิพากษา ๖. การศรัทธาในกฎกำหนดสภาวะการณ์ ว่ามาจากอัลลอฮ์ทั้งสิ้น นั่นคือศรัทธาว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นและดำเนินไปนั้นมาจากการกำหนด และอยู่ภายใต้การควบคุมของพระองค์ ในทางตรงกันข้ามหากพระองค์ไม่ประสงค์ในสิ่งใดหรือยับยั้งในสิ่งใด สิ่งนั้นก็จะไม่มีวันเกิดขึ้นเช่นกัน ในขณะที่หลักปฏิบัติประกอบด้วยหลักพื้นฐาน ๕ ประการ คือ ๑. การกล่าวคำปฏิญาณตนว่า “ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ. มุฮัมมัด รอซูลุลลอฮ.” ซึ่งแปลว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ถูกเคารพภักดีอย่างเที่ยงแท้นอกจากอัลลอฮ.และมุฮัมมัดเป็นศาสนฑูตของพระองค์. ๒. การนมาซหรือละหมาด วันละ 5 เวลา ๓. การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ๔. การจ่ายซะกาตหรือทานบังคับ ๕. การประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครมักกะฮสำหรับผู้ที่มีความสารถ แต่ทั้งห้าประการนี้ในหมวดการประกอบศาสนกิจ เพราะหลักนิติศาสตร์ แบ่งออกเป็น 2 หมวดใหญ่ ๆ คือ 1. หมวดการประกอบศาสนกิจตามที่กล่าวมาแล้ว 2. หมวดปฏิสัมพันธ์ (อัลมุอามะลาตฺ) อันหมายถึงบรรดาหลักการเฉพาะ ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน อาทิเช่น การซื้อขาย, การทำธุรกรรมในรูปแบบต่าง ๆ การสมรส และการตัดสินข้อพิพาท เป็นต้น ในส่วนของนักวิชาการ สังกัดมัซฮับอัชชาฟิอีย์ ได้แบ่งหมวดของกฎหมายอิสลาม ออกเป็น 4 หมวด คือ 1. หมวดการประกอบศาสนกิจ (อัลอิบาดาตฺ) 2. หมวดปฏิสัมพันธ์ (อัลมุอามะลาตฺ) 3. หมวดลักษณะอาญา (อัลอุกูบาตฺ) 4. หมวดการสมรส (อัซซะวาจฺญ์) หรือกฎหมายครอบครัว (อะฮฺกาม – อัลอุสเราะฮฺ) * จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า ประเภทหมวดของกฎหมายอิสลาม มีความครอบคลุมถึง เรื่องราวทางศาสนา และทางโลก ในขณะที่หลักนิติธรรมอิสลาม ตั้งอยู่บนหลักพื้นฐาน ของการจัดระเบียบ ที่ครอบคลุมกิจกรรมทุกมิติ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางจิตวิญญาณ, จริยธรรม และวัตถุ หลักพื้นฐาน ๕ ประการเปรียบเสมือนเสาห้าต้นของอิสลาม ซึ่งเสหมือน “บ้าน” หรืออาคารที่ประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ ที่สำคัญบ้านจะต้องสร้างขึ้นมาจาก “เสา” โดยเสาทั้ง 5 ต้นได้เล่นบทบาทในการค้ำจุนสังคมมุสลิมในมิติที่แตกต่างกัน การปฏิญานตนนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่เข้ามาเล่นในบทบาทของอุดมการณ์ ตามด้วยการละหมาดวันละ 5 เวลา เข้ามาเล่นบทบาทในสองด้าน ด้านหนึ่งคือการสร้างสัมพันธ์เริ่มต้นกับอัลลอฮฺ ในอีกด้านหนึ่งเป็นการก่อร่างชุมชนมุสลิมพื้นฐานโดยมีมัสญิดเป็นศูนย์กลาง ส่วนการจ่ายซะกาตทุกปีเข้ามาเล่นบทบาทการกระจายความมั่งคั่งทางวัตถุและการสถาปนาพื้นฐานความยุติธรรมในสังคม และการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนได้เข้ามาเล่นบทบาทเป็นโรงเรียนของการฝึกอบรมผู้ศรัทธาในหลากหลายมิติ สำหรับฮัจญ์ที่กำหนดให้ผู้มีความสามารถกระทำอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิตได้ เข้ามาเล่นบทบาทชุมชนโลกของอุมมะฮฺอิสลามที่ยอมจำนนต่ออัลลอฮฺ องค์ประกอบหลักทั้งสองจะต้องสะท้อนจากความบริสุทธิใจซึ่งในศาสนาอิสลามเรียกว่า หลักคุณธรรม (อัลเอียะฮฺซาน) หลักทั้ง 3 ประการนี้ได้มาจากคำสอนของ ท่านนบีมุฮัมหมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้วัจนะไว้ ความว่า "ขณะที่เรากำลังอยู่กับท่านศาสนฑูตในวันหนึ่ง มีชายผู้หนึ่งได้ปรากฎกายขึ้น เขาใส่อาภรณ์ที่ขาวสะอาด มีผมดำขลับ โดยที่ไม่มีร่องรอยของการเดินทางปรากฏให้เห็น ไม่มีผู้ใดในหมู่เราที่รู้จักเขา จนกระทั่งเขาเข้ามานั่งเอาเข่าเกยกับเข่า ของท่านนบี และเอามือทั้งสองวางลงบนหน้าตักของท่านนบีแล้วกล่าวว่า"โอ้..มุฮัมหมัด โปรดบอกฉันเกี่ยวกับอัลอิสลาม" ท่านตอบว่า "คือการปฏิญาณตนว่า ลาอิลาฮ่าอิ้ลลัลลอฮฺ มูฮำหมัดรอซูลุ้ลลอฮฺ และการดำรงละหมาด การบริจาคซะกาต การถือศิลอดเดือนรอมฎอน และการทำฮัจญ์หากมีความสามารถจะไปได้" ชายผู้นั้นกล่าวว่า "ท่านพูดถูกแล้ว" (ท่านอุมัร) กล่าวว่า เราแปลกใจเหลือเกินที่เขาถามแล้วยืนยันในคำตอบเสียเองเขาถามต่อไปว่า "โปรดบอกฉันเกี่ยวอัลอีหม่าน" ท่านนบีตอบว่า "คือการศรัทธาต่ออัลลอฮฺ, ต่อมาลาอิกะฮฺ, ต่อคัมภีร์, บรรดาศาสนฑูตขอพระองค์, วันอวสาน และศรัทธาในเรื่องการกำหนดความดีและความชั่วของพระองค์" ชายผู้นั้นกล่าวว่า "ท่านพูดถูกแล้ว"เขายังถามต่อไปอีกว่า "โปรดบอกฉันเกี่ยวกับอัลเอียะฮฺซาน" ท่านนบีตอบว่า "คือการที่ท่านจะต้องสักการะต่ออัลลอฮฺประหนึ่งว่า ได้เห็นพระองค์ แม้ว่าท่านไม่เห็นพระองค์ก็ตาม แต่พระองค์ก็ทรงเห็นท่าน" หลักทั้ง 3 ประการดังที่กล่าวมา จะต้องสามารถบูรณาการกันได้และเชื่อมสัมพันธ์กันอย่างเชื่อมโยงกันมาตรแม้นผู้ใดผู้หนึ่งปฏิบัติตามหลักปฏิบัติ ได้อย่างครบถ้วนแต่หลักศรัทธาผิดเพี้ยน ฉะนั้นการปฏิบัติของเขาก็ไร้ผล หรือคนที่หลักศรัทธาถูกแต่ปฏิบัติไม่ถูก ก็ไร้ผลเช่นเดียวกัน หรือคนที่มีหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติสมบูรณ์ แต่ขาดความบริสุทธิ์ใจในความเชื่อหรือในการปฏิบัตินั้น งานของเขาก็ไร้ผลเช่นเดียวกัน จากหลักการอิสลามดังกล่าวทำให้ศาสนาอิสลามคือแนวทางการดำเนินชีวิตหรือธรรมนูญชีวิต (Code of Life) ของมุสลิมทุกคนที่จำเป็นจะต้องปฏิบัติตามจนเป็นวิถีวัฒนธรรม ถึงแม้จะมีกฎหมายของแต่ละประเทศรองรับหรือไม่รวมทั้งประเทศไทย ถึงแม้มุสลิมจะมีอัตลักษณ์และวัฒนธรรมที่เป็นของตนเองแต่เมื่อสู่ประชาคมอาเซี่ยนก็ต้องอยู่ท่ามกลางความหลากหลาย และความหลากหลายทางวัฒนธรรมว่าเป็นธรรมชาติหากมีปัญหาก็ต้องแก้ปัญหาให้ตก ดังนั้นการจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรมจึงมีความสำคัญและมีสองวิธีคือ การจัดการด้วยวิธีใช้ความรุนแรงและการจัดการด้วยสันติวิธีหากใช้ความรุนแรงในการเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ และสำหรับผู้มีอำนาจเหล่านี้ความสำเร็จก็คือ "อำนาจ" ที่มากขึ้นและเด็จขาด และนี่คือลักษณะการใช้ความรุนแรงของผู้ที่เข้มแข็ง เพื่อให้คนสังคมที่อยู่ในรัฐเดียวกัน พรมแดนเดียวกันถืงแม้จะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมยอมรับและปฏิบัติวัฒนธรรมของผู้มีอำนาจและอาจถึงขั้นปฏิเสธและยกเลิกวัฒนธรรมท้องถิ่นอันนำไปสู่ความปึกแผ่นของวัฒนธรรมชาติในขณะเดียวกันวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีความหลากหลายในแต่ละประเทศก็จะใช้ความรุนแรงในฐานะของผู้ที่อ่อนแอ (The Weak)เช่นกันเพื่อต่อสู้วัฒนธรรมของตน เป้าหมายของการใช้ความรุนแรงส่วนใหญ่กลับไม่ได้เป็นอำนาจ แต่บางครั้งเป็นแค่ การเรียกร้อง (Demand) การประท้วง (Protest) การแสดงความไม่เห็นด้วย (Disagreement) หรือการอยากให้สังคมรับรู้ (Recognition) เราจะเห็นสิ่งเหล่านนี้ในชนกลุ่มน้อยในแต่ละประเทศ ไม่ว่าภาคใต้ของไทย หรือภาคใต้ของฟิลิปินส์ โรฮิงยาในพม่า สุดท้าย การจัดการด้วยความรุนแรง ถึงแม้อาจทำเกิดความรู้สึกที่เป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้นแต่ท้ายสุดก็จะเกิดแรงต้านและอาจสู่การล้มตายแต่ถ้าการจัดการดังกล่าวด้วยสันติวิธีก็จะเป็นวิธีที่ดีกว่า การใช้สันติวิธีมีเหตุผลสำคัญตรงที่ว่า เป็นวิธีการที่น่าจะมีการสูญเสียน้อยที่สุด ทั้งระยะสั้น ระยะยาว ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ผิดกับการใช้ความรุนแรง ซึ่งทุกฝ่ายอ้างว่าเป็นวิธีการสุดท้าย ลักษณะสำคัญของสันติวิธี คือ ไม่ใช่วิธีที่เฉื่อยชาหรือยอมจำนน หากเป็นวิธีที่ขันแข็งและต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่ยุทธวิธีที่เลือกใช้ในบางโอกาส หากเป็นยุทธศาสตร์ที่ปฏิบัติได้อย่าสม่ำเสมอ เป็นสัจธรรมที่น่าเชื่อถือไม่ใช่วิธีที่ดีในเชิงกระบวนการเท่านั้น หากเป็นวิธีที่หวังผล ที่กลมกลืนกับวิธีการด้วย สำหรับกระบวนการส่งเสริมสันติวิธีในการจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรมนั้นมีดังนี้หนึ่ง การยอมรับการคงอยู่ของความหลากหลายทางวัฒนธรรม สอง การศึกษาเรื่องความหลากหลายของวัฒนธรรม สามการสานเสวนา สำหรับในศาสนาอิสลามได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี่โดย อัลลอฮฺเจ้าได้โองการในคัมภีร์อัลกุรอานความว่า “ท่านทั้งหลายจงสานเสวนาด้วยวาจาที่สุภาพยิ่งด้วยเหตุและผล (โปรดดูอัลกุรอานซูเราะฮอัลอันนะห์ลุ” 16 : 125) และอัลลอฮฺเจ้ายังได้โองการในคัมภีร์อัลกุรอานอีกความว่า “....ไม่มีการบังคับในเรื่องศาสนา” (โปรดดูอัลกุรอานซูเราะฮอัล บะกอเราะฮฺ 2 : 256 ) หากจะเปรียบเทียบการสานเสวนาหรือศาสนเสวนาน่าจะตรงกับแนวคิด ชูรอของศานาอิสลาม ชูรอ เป็นคำภาษาอาหรับ โดยรากศัพท์คำนี้มีความหมายว่า ปรึกษาหารือหรือให้คำแนะนำ อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า “และบรรดาผู้ตอบรับต่อพระเจ้าของพวกเขา และดำรงละหมาด และกิจการของพวกเขา(หมายถึงเรื่องส่วนรวม)มีการปรึกษาหารือระหว่างพวกเขา และเขาบริจาคสิ่งที่เราได้ให้เครื่องปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา” (อัชชูรอ 38) อัลลอฮฺได้ตรัสอีกไว้ความว่า “ดังนั้นจงอภัยให้แก่พวกเขาเถิด และจงขออภัยให้แก่พวกเขาด้วย และจงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการทั้งหลาย” (โปรดดูอัลกุรอาน ซูเราะฮอาละอิมรอน 159) การที่อัลลอฮฺใช้ให้ศาสนฑูตมุฮัมมัดปรึกษาอัครสาวกของท่านนั้น บ่งชี้ถึงความสำคัญของการให้คำปรึกษา(ชูรอ) เพราะถ้าหากศาสนฑูตได้รับคำสั่งจากอัลลอฮฺอันเป็นทางนำสำหรับท่านอยู่แล้ว คำปรึกษาของมนุษย์ย่อมไม่มีประโยชน์เลย หรือถ้าหากความคิดของท่านศาสนฑูตเพียงพอสำหรับท่าน การปรึกษากับอัครสาวกจะไร้ประโยชน์เช่นเดียวกัน สมัยท่านศาสนฑูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้คัดเลือกผู้นำจากบรรดาเผ่า หมู่บ้าน และสายตระกูลต่างๆ โดยแต่ละคนศาสนธรรมที่สูงส่งในหมู่ชนของเขา และมีความรับผิดชอบมากกว่าผู้อื่น สำหรับประชาชนทั่วไป คอยตรวจสอบผู้นำของพวกเขา เพราะการเรียกร้องสู่ความดีปราบปรามความชั่วเป็นสิทธิและหน้าที่ของทุกๆคนในสังคม ดังที่ท่านศาสฑูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลฮุอะลัยฮิวะซัลลัม วจนะ ความว่า “ใครก็ตามในหมู่พวกท่านได้เห็นความผิดใดๆ ก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยมือ(หมายอำนาจถ้ามี) หากเขาไม่มีความสามารถก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยลิ้น(หมายถึงตักเตือนคัดค้าน) หากเขาไม่มีความสามารถก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยหัวใจ(หมายถึงการเกลียดความผิดนั้น) และนั่นคืออีมานที่อ่อนแอที่สุด” บันทึกโดยอิมามมุสลิม สำหรับหลักการในการทำการเสวนาระหว่างศาสนาหรือวัฒนธรรมที่ต่างกัน 1.ยืนหยัดในความศรัทธาและรอบรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาและวัฒนธรรมของตน 2.เปิดใจกว้างสู่การเรียนรู้เกี่ยวกับประสบการณ์ ความเชื่อ ศาสนาและวัฒนธรรมของผู้อื่น 3.แสวงหาความจริง 4.มีจิตสำนึกลึกถึงความร่วมมือกันเพื่อดำรงซึ่งความดี การสานเสวนาระหว่างศาสนา 1.) ศาสนเสวนาในชีวิตชาวบ้าน(โดยเฉพาะเยาวชน) บทบาทการสร้างศาสนเสวนาในชีวิตจริงยังไม่บรรลุผลเท่าที่ควร จำเป็นต้องจัดให้มีการเสวนาและดำเนินชีวิตร่วมกับพี่น้องความเชื่ออื่นในทุกมิติ โดย 1. กระตุ้นเตือนให้ศาสนิกต่างๆโดยเฉพาะมุสลิมเปิดตัวและมีท่าทีความเป็นพี่น้องต่อผู้มีความเชื่ออื่น 2. ส่งเสริมให้ศึกษาเพื่อเห็นคุณค่าของหลักธรรมของแต่ละศาสนา 3. เตรียมประชาชนทุกระดับให้พร้อมที่จะร่วมกิจกรรมประเพณีต่างๆ(ในกรอบของแต่ละศาสนา) 4. ศึกษาปัญหาและอุปสรรคของกิจกรรมศาสนสัมพันธ์ไม่บรรลุวัตถุประสงค์และนำเสนอวิธีการแก้ปัญหา 5. ร่วมรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะศาสนิกที่ดี ด้วยการแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 2.) การเสวนาระหว่างนักวิชาการ ผู้นำศาสนา เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกันภายใต้เสรีภาพในการนับถือศาสนาและร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ของประชนชนจึงควรกำหนดให้ 1. มีการสานเสวนาของผู้นำศาสนาต่างๆ ทั้งในระดับชาติ ชาติและท้องถิ่นอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง 2. สนับสนุนให้ศึกษาการปฏิบัติศาสนธรรมในท้องถิ่น 3. ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาท้องถิ่นจัดสานเสวนาระดับนักวิชาการอย่างต่อเนื่อง อาทิ ปอเนาะโรงเรียนและมหาวิทยาลัย 4. เชื้อเชิญวิทยากรและผู้รู้จากศาสนาต่างๆ มาร่วมกันแบ่งปันเมื่อจัดโครงการอบรมพัฒนาผู้นำ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้อีกขั้นคือการสร้างยุทธศาสตร์การจัดการทางวัฒนธรรม ยุทธศาสตร์การจัดการทางวัฒนธรรมดังนี้ (1) จัดการให้เป็นส่วนหนึ่งของปัจจุบัน เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบันให้เข้าถึงคนอย่างทั่วถึง ทุกกลุ่มอายุ ทุกกลุ่มอาชีพ ทุกถิ่นอาศัย (2) จัดการให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบการเรียนรู้ ของประเทศ ทั้งที่เป็นระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการ และระบบการเรียนรู้ที่อยู่ในวิถีชีวิต ระบบนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าระบบการจัดการความรู้ (3) จัดการให้เป็นระบบสร้างความรู้ผ่านการปฏิบัติ ผ่านวิถีชีวิต ผ่านการวิจัย ให้ทั้งนักวิชาการและทุกคนในสังคมมีส่วนในการสร้างความรู้เชิงวัฒนธรรม (4) จัดการให้เข้าไปในโรงงาน สถานประกอบการ โรงเรียน โรงพยาบาล ลานบ้านลานเมือง ถนนคนเดิน รถไฟ รถประจำทาง รถใต้ดิน รถลอยฟ้า คือให้เข้าไปในวิถีชีวิตของผู้คน (5) จัดการให้ปูทางสู่อนาคต สู่การสร้างสังคมที่มีสมดุล มีสมดุลอยู่ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย สร้างสังคมที่ผู้คนมีจิตใจอ่อนโยน เห็นคุณค่าของตนเองและของเพื่อนร่วมสังคม ร่วมโลก ด้วยสโลแกนแสวงกาจุดร่วม สงวนจุดต่าง ท้ายสุดควรมีกลไกลส่งเสริมสันติวิธีจากทุกภาคส่วน สรุป สังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมกำลังเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า "สงครามวัฒนธรรม" (Culture Wars)หรือ"ความขัดแย้งระหว่างระหว่างอารยธรรม" (The Clash of Civilizations )ซึ่งเป็นผลมาจากกระแส"การปะทะระหว่างอารยธรรม"ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยอคติ และความคลางแคลงใจระหว่างศาสนา เชื้อชาติและวัฒนธรรม ดังนั้นการจัดการวัฒนธรรมบนความหลากหลายทางวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นธรรมชาติของสังคมที่ควรกำหนดวิธีดำเนินการหากใช้ทฤษฎีการจัดการด้วยวิธีใช้ความรุนแรง ก็จะทำให้ปัญหายิ่งทวีความรุนแรงถึงแม้จะดูภาวะข้างนอกว่ามีเอกภาพขงคนในชาติและรัฐของตน ในขณะเดียวกันการใช้สันติวิธีผ่านกระบวนการต่างๆอย่างเป็นขั้นเป็นตอนอย่างมีอารยะไม่ว่าจะเป็นการยอมรับการคงอยู่ของความหลากหลายทางวัฒนธรรม การศึกษาความหลากหลายทางวัฒนธรรม การสานเสวนาน่าจะเป็นทางออกในการอยู่ร่วมอย่างสันติและสมานฉันท์และที่สำคัญคือการทำการวิจัยและนำผลวิจัยไปปฏิบัติ หากจะศึกษาเพิ่มเติมหนังสือเล่มนี้ได้ที่ http://www.chaidentai.net/?name=report&file=readreport&id=24

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม