วิเคราะห์ 2 เหตุการณ์ที่รัฐถูกตอบโต้แรงเมื่อ 23 รอมฎอนหรือ 1 สิงหาคม

967 02 Aug 2013

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา Shukur2004@chaiyo.com http://www.oknation.net/blog/shukur "มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอาลา) ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความจำเริญและสันติจงประสบแด่นบีมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน" เมื่อ 23 รอมฎอนหรือ 1 สิงหาคม มี ระเบิดวันเดียว 6 จุดกระจาย 3 จังหวัด ยะลาหนักสุดดักบึ้ม ตชด.ยิงถล่มซ้ำพลีชีพ 2 นาย ส่วนจุดอื่นๆ บาดเจ็บอีกนับสิบ ปัตตานีซุ่มยิงรถ ผบ.ร้อย ปล้นปิคอัพชาวบ้านกลางวันแสกๆ สงสัยเตรียมไปทำคาร์บอมบ์(อ้างอิงจากสถาบันข่าวอิศรา) และล่าสุดกลางดึกที่สะบ้าย้อยร้านของชำของคนจีนโดนทำร้าย จากเหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้น่ามาจากสาเหตุหลัก 2 ประการใหญ่ 1. การไม่พอใจในผลของคดีไต่สวนการตายที่ปุโล๊ะปุโยและตากใบ 2. การที่คนของเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติถูกลอบทำร้ายหรือคนของBRN โดนวิสามัญช่วงข้อตกลงลดเหตุรุนแรง นางสาวปัทมา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ(ทำงานกับผู้ได้รับผลกระทบคดีความมั่นคงทั้งในและนอกคุก) ให้ทัศนะผ่านเฟสบุคส่วนตัวว่า “จากกรณีไต่สวนการตายของประชาชนที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหลาย ๆ กรณีไม่ว่าจะเป็น ตากใบ ปูโละปูโย หรือการวิสามัญ ที่ประชาชนต้องการความเป็นธรรม คือการกระทำนั้นไม่ได้สงสัยในแง่ว่าเป็นการกระทำของใคร แต่ การกระทำนั้น เป็นการกระทำที่อยู่ในหลักกฎหมายหรือไม่ เป็นการกระทำที่ยอมรับได้ในความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมหรือไม่ การกระทำนั้น อยู่ในกฎการปะทะหรือไม่ เพราะ ประชาชนอยู่ภายใต้กฎหมายหลายฉบับถึงไม่ใช่ภาวะสงครามอย่างที่หลายฝ่ายกล่าวแต่จากจำนวนกฎหมายที่ใช้อยุ่ไม่ได้แตกต่างจากสภาวะนั้นเลย ข้าพเจ้าเข้าใจผู้ที่เป็นเหยื่อและครอบครัวของผู้สูญเสียทุกกรณี แต่ข้าพเจ้าก็อยากให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรมเช่นกันเพราะข้าพเจ้ารู้ซึ้งถึงภาวะความเป็นเหยื่อทั้งฝั่งผู้ใช้ความรุนแรงและผู้ถูกกระทำรุนแรง แต่ปัญหาคือ เมื่อเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ดินแดน ประชาชนอย่างใหญ่หลวงนั้น เมื่อเกิดความผิดพลาด ความผิดพลาดนั้นไม่ได้ส่งผลเฉพาะหน้าที่การงานของเขาเท่านั้นแต่ส่งผลต่อดินแดนที่เขาปกป้อง ส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนควรเชื่อมั่นและศรัทธา ข้าพเจ้าเข้าใจได้ว่าศาลจะมีคำตอบในเรื่องการไต่สวนการตายว่าผู้ตายคือใคร ใครทำให้ตาย แต่กรณีปุโละปุโย เป็นการทำงานภายใต้กฎอัยการศึก ความตายนี้แสดงถึงอะไร ในมุมข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ นอกกรอบกฎการปะทะ เพราะชาวบ้านหยุด และ ตอบคำถามของเจ้าหน้าที่แล้วแต่ เจ้าหน้าที่กลับยิงใส่อย่างไม่ยั้ง ถ้าเขาเป็นผุ้ร้ายเขาคงถอยรถหนีอย่างเร่งด่วนหรือยิงตอบโต้แล้ว แต่นี้ไม่ และ ผู้ที่รอดชีวิตก็เป็นประจักษ์พยานได้เป็นอย่างดีถึงวิธีการปฎิบัติงานเจ้าหน้าที่ สิ่งที่เราควรจะทำต่อไป ในฐานะประชาชนคือประชาชนควรตรวจสอบ เป็นพยานในเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ใช่เพื่อกล่าวหารัฐแต่เพื่อปกป้องประชาชนไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก ประชาชนควรแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์อย่างตรงไปตรงมาไม่มีเจตนาแอบแฝงเพื่อนำไปสู่การแสดงความรับผิดชอบในการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ ควรตรวจสอบ ประเมินวิธีการปฏิบัติงานที่จะนำไปสู่ความโปร่งใส ยอมรับได้จากประชาชน ควรแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำ ไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิดพลาด และการรับผิดนั้นยิ่งใหญ่ในความรุ้สึกมากและจะได้รับการให้อภัย สำหรับกระบวนการยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมควรตอบโจทย์ความเป็นธรรมของทุกฝ่าย ทั้งประชาชน และ รัฐ ข้าพเจ้าเรียนมาว่าอำนาจ ตุลาการ เป็นอำนาจที่แยกจากฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ดังนั้นข้าพเจ้าเชื่อมั่นในหลักกฎหมาย หลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม ข้าพเจ้าหวังต่อไปว่า เราจะช่วยกันนำความเป็นธรรมมาสู่ประชาชนอย่างแท้จริง และ ต่อไปคือการรณรงค์ ให้ความรุ้ประชาชนในการเข้าถึงความเป็นธรรม และ นำไปสู่การรับผิด เมื่อประชาชนต้องรับผิดในสิ่งที่กระทำผิดกฎหมายแล้ว เจ้าหน้าที่ก็เช่นกัน เพราะ การรับผิดของทุกฝ่ายจะนำมาซึ่ง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม” .ในขณะที่ญาติผู้เสียชีวิตที่ปูโล๊ะปูโยและผู้ช่วยทำคดีซึ่งไปฟังการไต่สวนด้วยกล่าวและแสดงความรู้สึก อย่างน่าเห็นใจเช่น อาอีด๊ะ บือราเฮง ญาติรายหนึ่งกล่าวว่า “ในเมื่อรัฐกระทำต่อประชาชน อยากให้มองว่าประชาชนก็มีศักดิ์ศรีความเป็นคน แม้ไม่ได้ทำหน้าที่หน่วยงานรัฐแต่เรายังเป็นคน ความยุติธรรมเราก็ต้องการเหมือนกันว่าความยุติธรรมความเป็นจริงมันอยู่ยังไงตรงไหน” “ตอนแรกๆก็มีความหวังต้องเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ เงินเจ็ดล้านห้ามันไม่ใช่ค่าของคน ร้อยล้านก็ไม่ใช่” อาอีด๊ะกล่าวด้วยว่า ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของความเป็นธรรมอย่างเดียว แต่ยังเป็นประเด็นในเรื่องของความปลอดภัย “ในสามจังหวัดเราต้องการความอยู่รอด ความปลอดภัย เราเองก็สู้ แต่เราไม่ได้ไปยิงใคร แต่อยากให้มีความเสมอภาคของคนทั่วไป เราไม่ได้ว่ารัฐไม่ดี แต่คนที่ทำงานตรงนี้มันจะมีไหม ได้อ่านมาหลายคดีก็เป็นเหมือนกันแบบนี้ ตบท้ายก็อยู่ระดับนี้ จะทำยังไงให้มันกว้างกว่านี้ คนที่ยังไม่โดน ให้คดีของเราเป็นตัวอย่างก็ได้” “ชาวบ้านน่ะคาดหวังแต่ไม่มีหวัง พวกเราไม่รู้จะพึ่งใคร คนมีหนังสือมีการศึกษาก็ทำอะไรไม่ได้เพราะรัฐอ่อนแอเกิน ก็ไม่ได้โทษว่ารัฐไม่ดีนะ รัฐน่ะดี แต่ทำไมล่ะ คนคนหนึ่งเสียชีวิตแล้วทำเฉยเหรอ มันไม่ใช่ คนอื่นอีกที่ต้องดำเนินชีวิต มันไม่มีหลักประกัน” หลังฟังคำสั่ง คำถามสำคัญสำหรับพวกเขาก็คือ จะทำอย่างไรต่อ ภาวิณี ชุมศรียอมรับว่าทนายความไม่อาจทำอะไรได้มากนักนอกจากติดตามความคืบหน้าจากเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป เพราะพนักงานสอบสวนจะเป็นผู้สานต่อในเรื่องคดีอาญา เส้นทางข้างหน้าคือหากพวกเขาพบว่ามีหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่กระทำเกินเหตุก็จะส่งเรื่องไปยังอัยการ – ซึ่งในกรณีนี้ต้องเป็นอัยการทหารเพราะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแม้จะเป็นทหารพรานแต่ก็ต้องขึ้นศาลทหารตามกฎหมาย ตัวผู้เสียหายไม่มีสิทธิที่จะยื่นฟ้องเอง เธอยอมรับว่า ที่ผ่านมา อย่าว่าแต่ศาลทหาร แม้แต่ศาลพลเรือนปกติ สาธารณะก็ยังไม่ได้เห็นการลงโทษผู้กระทำผิดแม้แต่กรณีเดียว แต่ภาวิณีกับลูกความของเธอยังคิดว่าจะต่อสู้ต่อไป อาอีด๊ะยอมรับว่าเธอยังไม่มั่นใจแต่รู้ว่าต้องสู้ต่อ “ยังไม่รู้จะไปซ้ายหรือไปขวาหรือว่าจะเดินตรง ยังคิดอยู่ ตัดสินใจไม่ถูก ความรู้สึกมันท้อ แต่ว่าต้องก้าวไป" โปรดดูเพิ่มเติมใน http://www.deepsouthwatch.org/node/4574 เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้ผู้เห็นต่างจากรัฐซึ่งจับอาวุธอยู่แล้วทนไม่ได้ที่จะตอบโต้รัฐอย่างรุนแรงเช่นกันเมื่อประชาชนของเขาพึงกระบวนการยุติธรรมปกติไม่ได้ (ซึ่งผู้เขียนก็ไม่เห็นด้วยเพราะจะเพิ่มปัญหาในอนาคต)

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม