สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ดันการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้

1002 30 Jul 2013

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา Shukur2004@chaiyo.com http://www.oknation.net/blog/shukur "มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอาลา) ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความจำเริญและสันติจงประสบแด่นบีมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน" เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ณ สำนักงาน LDI อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี สภาประชาสังคมชายแดนใต้ นำโดยนายประสิทธิ เมฆสุวรรณ นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ผู้เขียนและคณะได้ประชุมด่วนในการพิจารณาร่างระเบียบ “กองทุนส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ " เรียกโดยย่อว่า “กพชต” และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า " Foundation for Promoting Rehabilitation and Development of Southern – Border Provinces " เรียกโดยย่อว่า "FRDS" การเสนอการจัดตั้งกองทุนครั้งนี้ทางสภาประชาสังคมชายแดนใต้มีทัศนะว่า “ด้วยเหตุที่การดำรงอยู่ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะทางสังคมที่เป็นสังคม “พหุวัฒนธรรม” ที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ มีความเป็นพลวัตและการเปลี่ยนแปลงสูง ทั้งในมิติศาสนา มิติวัฒนธรรม มิติประวัติศาสตร์ ภาษาและชาติพันธุ์ ส่งผลให้ประชาชนมีชีวิต ความเป็นอยู่ที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งหากไม่มีการสร้างความเข้าใจที่ดีซึ่งกันและกัน ย่อมนำไปสู่ ความขัดแย้งระหว่างชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ในที่สุด ดังนั้น ในการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพประการหนึ่ง นั้นคือ การแสวงหาแนวคิดและแนวทางปฏิบัติ เพื่อการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะทางสังคมดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ร่วมมือ-ร่วมใจกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สามารถขยายบทบาทและการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ร่วมกันได้อย่างหลากหลาย เกิดศักยภาพสูงสุดต่อการพัฒนาพื้นที่ และทำให้สังคมเกิดความสงบสุข ในการนี้ จำเป็นต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชนท้องถิ่น องค์กรภาคประชาสังคมและสมาชิกของสังคมระดับต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม และสามารถกำหนดตนเองและชุมชนของตนเองให้มากที่สุด ซึ่งหน่วยงานราชการตามปกติ มีข้อจำกัดในการดำเนินการในบทบาทดังกล่าว นอกจากนั้น ด้วยลักษณะทางสังคม วัฒนธรรม และสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทำให้การรวมตัวจัดตั้งกลุ่มของประชาชนขึ้นเป็นองค์กรชุมชนแบบเดียวกับพื้นที่อื่นของประเทศมีความเป็นไปได้ยาก ประชาชนเกิดความหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน และไม่ร่วมมือ-ร่วมใจกันพัฒนาพื้นที่อย่างแท้จริง การแก้ไขปัญหาที่มีความเป็นไปได้ จำเป็นจะต้องมีกลไกกลางทำหน้าที่ในการบริหารจัดการและบูรณาการให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการทำหน้าในการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชนอย่างแท้จริง ให้เป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และลดข้อจำกัดการดำเนินงานทางราชการ ดังนั้น จึงสมควรจัดตั้งกองทุนเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมตัวกันเป็นลักษณะองค์ชุมชน เพื่อเปิดให้ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมในการฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ อย่างเต็มศักยภาพ อันจะส่งผลดีต่อชุมชนที่มีลักษณะเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมได้อยู่ร่วมกันโดยสันติสุข เข้มแข็ง และยั่งยืน จึงจำเป็นต้องออกระเบียบกพต.ฉบับนี้” สำหรับการจัดตั้งครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ (๑) ส่งเสริมการฟื้นฟูสิ่งที่ดีงามของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปสู่การสร้างความมั่นคงของมนุษย์ความเป็นอยู่ของประชาชน และคืนความเข้มแข็งสู่ชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (๒) ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ความยุติธรรม การศึกษา คุณภาพชีวิต สิทธิสตรีและเด็กเยาวชน วัฒนธรรมและการเมืองการปกครองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน (๓) ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการของประชาชน ชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคมที่มีเป้าหมายเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ที่ดีงามของพื้นที่ (4) ส่งเสริมและสนับสนุนกิจการทางศาสนาของทุกศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรือง รวมถึงส่งเสริม การจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อธำรงไว้ซึ่งสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (5) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมตัวกันเป็นองค์กรชุมชนที่มีความหลากหลายและมีศักยภาพเพียงพอต่อการทำงาน ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับในการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับการที่จะให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้นั้นให้กองทุนมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย (๑) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรูปแบบที่หลากหลาย (๒) ส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชนและองค์กรชุมชน ให้สามารถเข้าถึงความจำเป็นและความต้องการของกลุ่มประชากรเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรม (๓) ให้บริการฝึกอบรม หรือ สัมมนา ในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจเป็นอย่างดีในอัตลักษณ์เฉพาะของประชาชนในพื้นที่ รวมถึง ศาสนา วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชุมชนท้องถิ่น อันจะนำไปสู่การปรับตัวอย่างเหมาะสมขององค์กร หรือ บุคคลที่จะเข้าไปปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (๔) ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การจัดการความรู้ในมิติการวิจัยและพัฒนา การวิจัยสถานการณ์ปัญหาในมิติการพัฒนาที่นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ตลอดจนการประมวล วิเคราะห์เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายทั้งในด้านการป้องกัน การเฝ้าระวัง การบำบัดแก้ไข การควบคุมสถานการณ์ และการบริหารจัดการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างสันติภาพ การฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่และประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (๕) จัดหาเงินทุนเพื่อใช้ในการดำเนินงานของกองทุน (๖) จัดให้ได้มา จำหน่ายไป ทำนิติกรรมแทนศอ.บต. หรือดำเนินการอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย จากกพต. กล่าวโดยสรุปหากดูทั้งหลักการเหตุผลวัตถุประสงค์จะพบว่าประชาชนช่วยรัฐทำงานแทน อันจะนำไปสู่นโยบายพระราชทานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นหลังจากเก้าปีที่รัฐทำงานลงสู่ประชาชนจากบนสู่ล่างแต่จะเป็นการปฏิรูปการทำงานที่มาจากฐานรากหรือจากล่างสู่บนซึ่งสอดคล้องกับความต้องการมากกว่าซึ่งจะเป็นจริงหรือไม่อย่างไร ก็คงดูบทบาทของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาต้อีกทีว่ามีพลังพอหรือไม่ในการผลักดันกองทุนครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ง่ายกว่าและเป็นการรองรับ หากต่อไปจะผลักดันกองทุนนี้ ให้เป็นองค์กรอิสระคล้ายๆหรือเทียบเท่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) หมายเหตุ (ฉบับรับฟังความคิดเห็น) ระเบียบกพต. ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ... ........................................................... ........................................................... ........................................................... ........................................................................................................ ............................................. โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบกพต.ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕..." ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป ข้อ ๓ ในระเบียบนี้ "การฟื้นฟู" หมายความว่า การรื้อฟื้นสิ่งที่ดีงามของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปสู่ การสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น และสังคมวัฒนธรรมให้กลับขึ้นมางอกงาม “พัฒนา” หมายความว่า การดำเนินการต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ประชาชน ชุมชนท้องถิ่น และพื้นที่มีความเจริญ ยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองการปกครอง “จังหวัดชายแดนภาคใต้” หมายความว่า จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา “ชุมชน” หมายความว่า กลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันกัน และมีการติดต่อสื่อสาร ระหว่างกันอย่างเป็นปกติและต่อเนื่อง โดยเหตุที่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน หรือมีอาชีพเดียวกัน หรือประกอบกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน หรือมีวัฒนธรรม ความเชื่อ หรือความสนใจร่วมกัน “ชุมชนท้องถิ่น” หมายความว่า กลุ่มคนที่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันและมีการติดต่อสื่อสารระหว่างกันอย่างเป็นปกติ “องค์กรชุมชน” หมายความว่า กลุ่มคนที่มีระบบการจัดการที่สมาชิกของชุมชน จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพ พัฒนา อาชีพ เพิ่มรายได้ พัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม หรือพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในกลุ่ม “ผู้นำองค์กรชุมชน” หมายความว่า ประธานหรือกรรมการหรือผู้ประสานงานขององค์กร “องค์กรภาคประชาสังคม” หมายความว่า กลุ่มของประชาชนซึ่งมีจิตสำนึกคุณธรรม เพื่อส่วนรวมที่รวมตัวกันเป็นคณะบุคคล องค์การพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาชนหรือองค์กรเอกชนอื่น ด้วยความสมัครใจ เพื่อดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมเป็นสำคัญ “ผู้นำองค์กรภาคประชาสังคม” หมายความว่า ประธานหรือกรรมการหรือผู้ประสานงานขององค์กร “กองทุน” หมายความว่า กองทุนส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ "คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการกองทุนส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ "กรรมการ" หมายความว่า กรรมการกองทุน "ผู้อำนวยการ" หมายความว่า ผู้อำนวยการกองทุน "เจ้าหน้าที่" หมายความว่า เจ้าหน้าที่กองทุน "ลูกจ้าง" หมายความว่า ลูกจ้างกองทุน ข้อ ๔ ให้ประธานกพต.เป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้ หมวด ๑ การจัดตั้ง วัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่ ข้อ ๕ ให้จัดตั้งหน่วยงานย่อยขึ้นภายในศอ.บต. เรียกว่า “กองทุนส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ " เรียกโดยย่อว่า “กพชต” และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า " Foundation for Promoting Rehabilitation and Development of Southern – Border Provinces " เรียกโดยย่อว่า "FRDS" ข้อ ๖ ให้กองทุนมีที่ตั้งอยู่ในศอ.บต.จังหวัดยะลา และอาจตั้งสำนักงานสาขาได้ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร ข้อ ๗ ให้กองทุนมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ (๑) ส่งเสริมการฟื้นฟูสิ่งที่ดีงามของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปสู่การสร้างความมั่นคงของมนุษย์ความเป็นอยู่ของประชาชน และคืนความเข้มแข็งสู่ชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (๒) ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ความยุติธรรม การศึกษา คุณภาพชีวิต สิทธิสตรีและเด็กเยาวชน วัฒนธรรมและการเมืองการปกครองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน (๓) ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการของประชาชน ชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคมที่มีเป้าหมายเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ที่ดีงามของพื้นที่ (4) ส่งเสริมและสนับสนุนกิจการทางศาสนาของทุกศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรือง รวมถึงส่งเสริม การจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อธำรงไว้ซึ่งสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (5) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมตัวกันเป็นองค์กรชุมชนที่มีความหลากหลายและมีศักยภาพเพียงพอต่อการทำงาน ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับในการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้อ ๘ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๗ ให้กองทุนมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย (๑) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรูปแบบที่หลากหลาย (๒) ส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชนและองค์กรชุมชน ให้สามารถเข้าถึงความจำเป็นและความต้องการของกลุ่มประชากรเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรม (๓) ให้บริการฝึกอบรม หรือ สัมมนา ในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจเป็นอย่างดีในอัตลักษณ์เฉพาะของประชาชนในพื้นที่ รวมถึง ศาสนา วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชุมชนท้องถิ่น อันจะนำไปสู่การปรับตัวอย่างเหมาะสมขององค์กร หรือ บุคคลที่จะเข้าไปปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (๔) ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การจัดการความรู้ในมิติการวิจัยและพัฒนา การวิจัยสถานการณ์ปัญหาในมิติการพัฒนาที่นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ตลอดจนการประมวล วิเคราะห์เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายทั้งในด้านการป้องกัน การเฝ้าระวัง การบำบัดแก้ไข การควบคุมสถานการณ์ และการบริหารจัดการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างสันติภาพ การฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่และประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (๕) จัดหาเงินทุนเพื่อใช้ในการดำเนินงานของกองทุน (๖) จัดให้ได้มา จำหน่ายไป ทำนิติกรรมแทนศอ.บต. หรือดำเนินการอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายจากกพต. หมวด ๒ ทุน รายได้ และทรัพย์สิน ข้อ ๙ ทุนและทรัพย์สินในการดำเนินกิจการของกองทุน ประกอบด้วย (๑) เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนมา (๒) เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ผ่านศอ.บต.อย่างน้อยปีละหนึ่งร้อยล้านบาทหรือตามความเหมาะสมเป็นรายปี (๓) เงินบริจาคของประชาชนทั่วไป เงินอุดหนุนจากภาคเอกชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งจากต่างประเทศ หรือ องค์การระหว่างประเทศ โดยการสนับสนุนเงินทุนจากองค์การระหว่างประเทศจะต้องไม่ขัด หรือ ฝ่าฝืน หรือ เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. 2556 รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ (๔) ผลประโยชน์ที่เป็นรายได้จากทรัพย์สินของกองทุนและการดำเนินงานต่างๆ ข้อ ๑๐ การใช้จ่ายเงินอุดหนุนทั่วไปตามข้อ๓(๒) ให้เป็นไปตามข้อตกลงและระเบียบเฉพาะของศอ.บต.ที่สำนักงบประมาณเห็นชอบ ข้อ ๑๑ บรรดารายได้ของกองทุนตามข้อ๓(๓)ไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง ตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ข้อ ๑๒ การใช้จ่ายของกองทุนให้ใช้จ่ายไปเพื่อกิจการของกองโดยเฉพาะ การเก็บรักษาและเบิกจ่ายเงินของกองทุน ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด ข้อ ๑๓ เงินสำรองของกองทุน ให้ประกอบด้วยเงินสำรองธรรมดาซึ่งตั้งไว้เผื่อขาด เงินสำรองเพื่อไถ่ถอนหนี้ เงินสำรองเพื่อขยายกิจการ และเงินสำรองอื่นๆ เพื่อความประสงค์แต่ละอย่างโดยเฉพาะตามแต่คณะกรรมการจะเห็นสมควร เงินสำรองนี้จะนำออกใช้ได้ก็แต่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ หมวด ๓ การบริหารและการดำเนินกิจการ ข้อ ๑๔ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการกองทุนส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ " ประกอบด้วย (๑) ประธานกรรมการ ซึ่งกพต.แต่งตั้งจากบุคคลที่ได้รับการสรรหาและรับรองจากสภาที่ปรึกษาศอ.บต.ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์การทำงานอันเป็นที่ยอมรับเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หลากหลาย เช่น สถานการณ์ปัญหา สภาพเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา วัฒนธรรม การศึกษาและชุมชนท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (๒) กรรมการโดยตำแหน่งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนสามคน ได้แก่ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับมอบหมาย ผู้อำนวยการสศช.ภาคใต้และประธานสภาที่ปรึกษาศอ.บต. (๓) กรรมการผู้นำชุมชน ผู้นำภาคประชาสงคม จำนวนห้าคน ซึ่งกพต.แต่งตั้งจากบุคคลที่ได้รับการสรรหาจากผู้นำองค์กรชุมชน และผู้นำองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จังหวัดละหนึ่งคน (๔) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนสองคน ซึ่งกพต.แต่งตั้งจากบุคคลที่ได้รับการสรรหาซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีประสบการณ์จนเป็นที่ยอมรับในเครือข่ายองค์กรชุมชน องค์กรภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ผู้อำนวยการเป็นเลขานุการโดยตำแหน่ง และให้ผู้อำนวยการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่หนึ่งคน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ องค์ประกอบของคณะกรรมการตาม (1) ถึง (4) ให้คำนึงถึงสัดส่วนของชายหญิงที่ใกล้เคียงกันตามวรรคสุดท้ายของมาตรา 87 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาประธานกรรมการและกรรมการตาม (๑) (๓) และ (๔) ให้เป็นไปตามระเบียบที่ศอ.บต. เป็นผู้กำหนดโดยการเสนอแนะของสภาที่ปรึกษา ศอ.บต. หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาประธานกรรมการและกรรมการตามวรรคข้างต้น ให้คำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ ข้อ ๑๕ ประธานกรรมการและกรรมการตามข้อ ๑๔ (๓) และ (๔) ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (๑) มีสัญชาติไทย (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์ (๓) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (๔) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ (๕) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือ ผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งรับผิดชอบการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง (๖) ไม่เป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสถาบันหรือที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญที่มีสัญญาจ้างกับสถาบัน (7) เป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ มีประสบการณ์จนเป็นที่ยอมรับในเครือข่ายองค์กรชุมชน องค์กรภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้อ ๑๖ ประธานกรรมการและกรรมการของกองทุนจะต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับกองทุนหรือในกิจการที่ขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ของกองทุน ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ข้อ ๑๗ ให้ประธานกรรมการและกรรมการตามมาตรา ๑๔ (๓) และ (๔) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการขึ้นใหม่ ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่าประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้ ข้อ ๑๘ นอกจากการพ้นจากราชการตามวาระ ประธานกรรมการและกรรมการตามข้อ ๑๔ (๓) และ (๔) พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) กพต.ให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ (๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๑๕ หรือกระทำการอันมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖ ข้อ ๑๙ ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการตามข้อ ๑๔ (๓) และ (๔) พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้ทำการสรรหาและเสนอกพต.แต่งตั้งผู้อื่นดำรงตำแหน่งแทน เว้นแต่วาระที่เหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวัน จะไม่แต่งตั้งกรรมการแทนก็ได้ และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนเข้าไปแทนที่ ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการตามข้อ ๑๔ (๓) และ (๔) พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการทั้งหมดที่มีอยู่จนกว่าจะมีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการตามความในวรรคหนึ่ง และในกรณีที่ประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระให้กรรมการที่เหลือเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานกรรมการเป็นการชั่วคราว ข้อ ๒๐ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (๑) กำกับดูแลการดำเนินงานของกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ (๒) กำหนดนโยบายการบริหารงาน และให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานของกองทุน (๓) อนุมัติแผนการลงทุนและแผนการเงินของกองทุน (๔) ควบคุมดูแลการดำเนินงานและการบริหารงานทั่วไป ตลอดจนออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับกองทุนในเรื่องดังต่อไปนี้ (ก) การบริหารงานทั่วไปของสำนักงานกองทุน การจัดแบ่งส่วนงานของสำนักงานกองทุน และขอบเขตหน้าที่ของส่วนงานดังกล่าว (ข) การกำหนดตำแหน่ง คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง และเงินอื่นของเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง (ค) การคัดเลือก การบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอน วินัยและการลงโทษทาง วินัย การออกจากตำแหน่ง การร้องทุกข์และการอุทธรณ์การลงโทษของเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง รวมทั้งหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการจ้างลูกจ้าง (ง) การบริหารและจัดการการเงิน การพัสดุ และทรัพย์สินของกองทุน รวมทั้งการบัญชีและการจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญ (จ) การจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นแก่เจ้าหน้าที่และลูกจ้าง (ช) ขอบเขตอำนาจหน้าที่และระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายใน (๕) กระทำการอื่นใดที่จำเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุน ระเบียบเกี่ยวกับการจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญตาม (๔) (ง) ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ศอ.บต.กำหนด ข้อ ๒๑ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ข้อ ๒๒ คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเชี่ยวชาญให้เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการ และมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมายให้ การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ และอนุกรรมการตามข้อ 22 ให้คำนึงถึงสัดส่วนของชายหญิงที่ใกล้เคียงกันตามวรรคสุดท้ายของมาตรา 87 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ให้นำบทบัญญัติข้อ ๒๑ มาใช้บังคับกับการประชุมของคณะกรรมการด้วยโดยอนุโลม ข้อ ๒๓ ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ที่ปรึกษา อนุกรรมการได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามหลักเกณฑ์ที่ศอ.บต.กำหนด ข้อ ๒๔ ให้กองทุนมีผู้อำนวยการคนหนึ่ง คณะกรรมการเป็นผู้มีอำนาจสรรหา แต่งตั้ง และถอดถอนผู้อำนวยการ หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้อำนวยการ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของคณะกรรมการ ข้อ ๒๕ ผู้อำนวยการต้องเป็นผู้สามารถทำงานให้แก่สถาบันได้เต็มเวลาและต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (๑) มีสัญชาติไทย (๒) มีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีบริบูรณ์ในวันที่ได้รับการแต่งตั้ง (๓) มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เหมาะสมในการบริหารกิจการของสถาบันตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๗ และมาตรา ๘ (๔) ไม่มีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๑๕ (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) (๕) ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับสถาบัน (6) มีประสบการณ์ทางการบริหารงานอย่างสูงในองค์กรภาครัฐ และหรือ องค์กรภาคเอกชน และหรือ องค์กรภาคประชาสังคม และหรือองค์กรชุมชน ข้อ ๒๖ ผู้อำนวยการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน ข้อ ๒๗ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) ออกตามกรณีที่กำหนดไว้ในข้อตกลงระหว่างคณะกรรมการกับผู้อำนวยการ (๔) คณะกรรมการให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือ หย่อนความสามารถ (๕) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๒๕ มติของคณะกรรมการให้ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่งตาม (๔) ต้องประกอบด้วยเสียงคะแนนไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ โดยไม่นับรวมผู้อำนวยการ ข้อ ๒๘ ผู้อำนวยการมีหน้าที่บริหารกิจการของกองทุนให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่ของกองทุน ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย ประกาศ และมติของคณะกรรมการ และเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และลูกจ้างทุกตำแหน่ง เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจสอบภาย รวมทั้งให้มีหน้าที่ดังต่อไปนี้ (๑) เสนอเป้าหมาย แผนงาน และโครงการต่อคณะกรรมการเพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนบรรลุวัตถุประสงค์ (๒) เสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านต่างๆ ของกองทุน รวมทั้งรายงานการเงินและบัญชี ตลอดจนเสนอแผนการเงินและงบประมาณของปีต่อไปต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา (๓) เสนอความเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงกิจการและการดำเนินงานของกองทุนให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ต่อคณะกรรมการ ผู้อำนวยการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการบริหารกิจการของกองทุน ข้อ ๒๙ ผู้อำนวยการมีอำนาจ (๑) บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยเจ้าหน้าที่และลูกจ้างตลอดจนให้เจ้าหน้าที่และลูกจ้างออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด แต่ถ้าเป็นพนักงานหรือลูกจ้างตั้งแต่ตำแหน่งที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการฝ่าย หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไป จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน (๒) วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุนโดยไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย ประกาศหรือมติที่คณะกรรมการกำหนด ข้อ ๓๐ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้แทนของสถาบัน เพื่อการนี้ ผู้อำนวยการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด ข้อ ๓๑ ให้คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้อำนวยการ ตามหลักเกณฑ์ที่ศอ.บต.กำหนด หมวด ๔ ผู้ปฏิบัติงานของกองทุน ข้อ ๓๒ ผู้ปฏิบัติงานของกองทุนมีสามประเภท คือ (๑) เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง ได้แก่ ผู้ซึ่งปฏิบัติงานโดยได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างจากงบประมาณของกองทุน (๒) ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ผู้ซึ่งกองทุนจ้างให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญโดยมีสัญญาจ้าง (๓) เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมาปฏิบัติงานของกองทุนเป็นการชั่วคราวตามข้อ ๓๕ ข้อ ๓๓ เจ้าหน้าที่ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ (๑) มีสัญชาติไทย (๒) มีอายุไม่ต่ำว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ และไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์ (๓) สามารถทำงานให้กองทุนได้เต็มเวลา (๔) มีคุณวุฒิหรือประสบการณ์เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของกองทุน (

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม