ระบอบทักษิณจริงใจหรือหลอกใช้สถาบันวิชาการ ช่วยฉีกรัฐธรรมนูญ?

1020 24 Jan 2013

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ศาสตราภิชาน มหาวิยาลัยรังสิต ขณะที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ให้จงได้ ไม่ว่าจะผ่านประชามติแก้ทั้งฉบับหรือแก้ไขเป็นรายมาตรา โดยไม่สนใจเสียงท้วงติงว่าการแก้รัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้นส่อว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของพรรคพวกตนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะผลประโยชน์แห่งคดีทุจริตโกงกินของทักษิณ ชินวัตร มิได้อยู่บนพื้นฐานการดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกมาเปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับผู้แทนจากคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยรามคำแหง เรื่องการทำประชามติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยตนได้ขอให้คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่ง ไปศึกษาประเด็นเกี่ยวกับการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ตามรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐสภาสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เพื่อให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่? หากได้ มีขั้นตอนในการดำเนินการอย่างไร? 2.คำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการทำประชามติก่อนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ มีผลทางกฎหมายอย่างไร? การให้ออกเสียงประชามติหลังจากยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สำเร็จแล้ว ตามกระบวนการที่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดไว้ สอดรับกับคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่? 3.การจัดออกเสียงประชามติว่าควรให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ก่อนรัฐสภาลงมติวาระที่ 3 ของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ค้างอยู่กระทำได้หรือไม่ ทั้งในกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ริเริ่ม และรัฐสภาประสงค์ให้ ครม.ดำเนินการให้? หากจะจัดให้มีการออกเสียงประชามติดังกล่าว ควรจัดแบบให้มีข้อยุติ หรือแบบให้คำปรึกษาต่อ ครม.? แต่ละแบบมีข้อดี-ข้อเสีย และมีประเด็นทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้ออย่างไร? โดยมีผลต่อสมาชิกรัฐสภาในการลงมติวาระที่ 3 อย่างไร ทั้งนี้ หากมหาวิทยาลัยมีข้อคิดเห็นในประเด็นอื่นใด ก็สามารถเสนอแนะมาได้อย่างเต็มที่ ในการนี้ นายพงศ์เทพได้เปิดเผยด้วยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะทำหนังสือแจ้งไปยังอธิการบดีมหาวิทยาลัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์และคณะนิติศาสตร์ ของทั้ง 3 มหาวิทยาลัย เพื่อให้ช่วยทำการศึกษาประเด็นเหล่านี้ กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการ 60 วัน นี่จะเป็นความจริงใจหรือกลวิธีหลอกใช้สถาบันทางวิชาการเพื่อเป้าหมายทางการเมือง? 1) พิจารณา “โจทย์” ที่นายพงศ์เทพอ้างว่าได้กำหนดเป็นแนวทางให้ธรรมศาสตร์ จุฬา และรามคำแหง ช่วยไปดำเนินการศึกษาหาคำตอบมาให้นั้น จะเห็นว่า ทั้งหมดล้วนอยู่บนพื้นฐานความต้องการที่จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 (ฉบับปัจจุบัน) ไม่ว่าจะประเด็นเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ การลงมติวาระ 3 ในรัฐสภา ฯลฯ สรุปความสั้นๆ คือ ให้ช่วยดูว่า จะทำอย่างไรรัฐบาลจึงจะแก้รัฐธรรมนูญได้สำเร็จนั่นเอง! 2) โจทย์ทั้ง 3 ข้อ ที่นายพงศ์เทพโยนไปให้สถาบันวิชาการทั้ง 3 แห่ง พิจารณาให้ละเอียดลึกลงไปอีก จะพบว่า เป็นเพียงโจทย์ลวง ลวงล่อให้นักวิชาการช่วยหาคำตอบ ทั้งหมดเพื่อนำไปสู่โจทย์ใหญ่ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง นั่นก็คือ จะฉีกรัฐธรรมนูญปัจจุบันได้อย่างไร? จะร่างใหม่ให้สำเร็จได้อย่างไร? เป้าหมายแท้จริง ผลประโยชน์แท้จริง ที่จะเกิดจากการกระทำเช่นนั้น ยังคงถูกซ่อนเร้นปิดบังอำพราง ไม่ถูกนำมาเปิดเผยหรืออ้างถึง โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่จะเกิดแก่ทักษิณ ชินวัตร ในคดีทุจริตโกงกิน คดีที่ศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้ยึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาทตกเป็นของแผ่นดิน 3) ในการทำงานวิชาการ นักวิชาการทุกคนย่อมจะทราบดีว่า สิ่งสำคัญเป็นพื้นฐานอันดับแรก คือ การตั้งโจทย์ของการศึกษาวิจัย หากไม่มีเสรีภาพแม้แต่จะตั้งโจทย์ในการศึกษา ก็ต้องระมัดระวังว่ากำลังจะถูกหลอกใช้หรือไม่ ครั้งนี้ ฝ่ายการเมืองโยนโจทย์ 3 ข้อ ให้คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัย 3 แห่ง แม้จะอ้างว่า หากมีข้อเสนอแนะอื่นๆ ก็พร้อมรับฟัง แต่โจทย์ใหญ่ทั้ง 3 ข้อที่ระบุออกมานั้น ปรากฏชัดเจนว่าเป็นโจทย์ที่มุ่งจะหากุญแจเพื่อจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จตามความต้องการของฝ่ายการเมืองให้จงได้ พูดง่าย คือ ก้าวเลยขั้นตอนว่า ควรจะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่? แก้ทำไม? ไม่แก้เพราะอะไร? ผลประโยชน์และผลกระทบของแต่ละทางเลือกแตกต่างกันอย่างไร? ฝ่ายการเมืองตั้งโจทย์ให้เสร็จสรรพแล้วว่า จะแก้รัฐธรรมนูญอย่างไรให้สำเร็จ ไม่ติดขัดปัญหาจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ การลงมติวาระ 3 ฯลฯ เรื่องนี้ หากนักวิชาการทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม มีมาตรฐานทางวิชาการ มีเสรีภาพทางวิชาการ ย่อมจะเริ่มต้นด้วยการตั้งโจทย์ในลักษณะว่า 1.หากประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญ 2550 จะเกิดปัญหาข้อติดขัดหรือเกิดความเสียหายแก่ส่วนรวมในเรื่องใด? บ้านเมืองส่วนรวมจะเดินต่อไปไม่ได้อย่างไร? 2.ถ้าจะแก้ จะแก้ประเด็นใด มาตราใด? 3.จะแก้ด้วยวิธีการอย่างไร? แก้ทั้งฉบับ แก้รายมาตรา ทำประชามติ อย่างไร? จะเห็นว่า การตั้งโจทย์บนพื้นฐานของเสรีภาพทางวิชาการเช่นนี้ แตกต่างจากการทำหน้าที่เยี่ยง “เนติบริกร” ตามใบสั่งของนักการเมืองที่ออกแบบโจทย์และเป้าหมายไว้ให้เสร็จสรรพ 4) ผมเคยเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำหน้าที่นักวิชาการมาค่อนชีวิต ระหว่างเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย เคยมองการเมืองด้วยซื่อใส ไร้เดียงสา ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ว่าเราเป็นนักวิชาการ ไม่ว่านักการเมือง พรรคการเมืองจำพวกใดขอใช้บริการทางวิชาการ ขอคำแนะนำ ขอความคิดเห็น เราก็พร้อมทำการศึกษาค้นคว้า เสนอแนะด้วยจริงใจ ขณะเป็นนักวิชาการ ผมเคยช่วยงานเชิงวิชาการของพรรคการเมืองหลายพรรค ไม่เว้นแม้แต่พรรคที่เข้าร่วมกับระบอบทักษิณในเวลาต่อมาด้วย พูดง่ายๆ ผมเคยถูกหลอกใช้มาแล้ว ผมจึงมีความรู้สึกเจ็บช้ำมาก เมื่อเห็นนักการเมือง พรรคการเมือง พยายามจะใช้สถาบันการศึกษาหรือนักวิชาการเป็นเครื่องมือทางการเมืองของตนเอง โดยเจตนาเพียงต้องการตราประทับรับรอง หวังสร้างความชอบธรรมให้กับวาระทางการเมืองแอบแฝงของพรรคพวกตนเอง ในการจะฉีกรัฐธรรมนูญ เสมือนหนึ่งต้องการ “เนติบริกร” อาศัยมือ แรงงาน และความสามารถของนักวิชาการที่อาจจะใสซื่อ สุจริตใจ เป็นเครื่องมือรับใช้ ช่วยให้ตนเองบรรลุซึ่งเป้าหมายทางการเมือง ในข่าวเรื่องนี้ ปรากฏรายชื่อและความเห็นของนักวิชาการที่เข้าไปร่วม อาทิ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์, นายศักดา ธนิตกุล นิติศาสตร์ จุฬา, นายอัครเดช ไชยเพิ่ม รัฐศาสตร์ จุฬา, นางสาวฐิติพร ลิ้มแหลมทอง คณะนิติศาสตร์ รามคำแหง และนายบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รัฐศาสตร์ รามคำแหง เป็นต้น ยิ่งได้อ่านความเห็นของอาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ บอกว่า “การขอให้ 3 สถาบันช่วยกันหาคำตอบในเรื่องนี้ ถือเป็นบทบาทของสถาบันการศึกษาที่ต้องใช้ความรู้ทางวิชาการ ช่วยเสนอทางเลือกให้สังคมอยู่แล้ว” ก็ยิ่งทำให้ผมมองเห็นตัวเองในสมัยที่ยังไร้เดียงสา โง่เขลา พร้อมจะเข้าไปช่วยนักการเมือง โดยลืมมองเจตนาและพฤติการณ์ข้อเท็จจริงของฝ่ายการเมืองที่เสนอมา 5) คณะรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และมหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่ง พึงย้อนกลับไปมองกรณีที่สถาบันพระปกเกล้าฯ กรณีศึกษาแนวทางปรองดอง ซึ่งเคยตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้กับฝ่ายการเมืองกลุ่มเดียวกันนี้เองมาแล้ว ครั้งนั้น พลเอกสนธิ บุญรัตกลิน ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ใช้สถาบันพระปกเกล้าไปศึกษาว่าปัจจัยที่จะทำให้การปรองดองสำเร็จ ปรากฏว่า เมื่อสถาบันพระปกเกล้ารายงานผลวิจัยเข้าสู่กรรมาธิการฯ มีข้อเสนอบางส่วนให้พิจารณาเรื่องกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. เข้าทางผลประโยชน์ของทักษิณ ชินวัตร ฝ่ายการเมืองก็ทำการรวบหัวรวบหาง รวบรัดตัดตอน นำมาอ้างเพื่อผลักดันในสภาต่อไปทันที ไม่สนใจแม้กระทั่งคำขาดของสถาบันพระปกเกล้าฯ ที่ขู่จะถอนรายงานผลวิจัยแนวทางสร้างความปรองดอง ครั้งนี้ สถาบันวิชาการทั้ง 3 แห่ง มีเกียรติภูมิ มีชื่อเสียง คงจะต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ 6) หากมหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่ง ยังต้องการจะมีส่วนร่วมให้คำแนะนำทางวิชาการแก่ฝ่ายการเมืองในขณะนี้ ก็อาจจะกระทำได้ ด้วยการรักษาเสรีภาพทางวิชาการ การตั้งโจทย์ มาตรฐานการศึกษา ตลอดจนการรู้เท่าทันเล่ห์เลี่ยมทางการเมืองที่เคยพยายามใช้สถาบันวิชาการเป็นเครื่องมือทางการเมืองมาแล้ว แต่ละสถาบันคงจะต้องแยกประชุมพิจารณากันเองอย่างถี่ถ้วน มิใช่ปล่อยให้ฝ่ายการเมืองตั้งโจทย์ที่ซ่อนคำตอบสำเร็จอันเป็นเป้าหมายทางการเมืองของตนเองไว้ตั้งแต่ต้น และยิ่งมิใช่ให้ฝ่ายการเมืองกำหนดตัวนักวิชาการที่ตนเองต้องการจะให้เข้ามาดำเนินการเอง เสมือนให้จำเลยกำหนดตัวผู้พิพากษา หรือพนักงานสอบสวน หรืออัยการ ที่จะทำคดีของตนเอง มหาวิทยาลัยทั้งสามควรจะต้องดำเนินการให้ทั้งคณะนิติศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ในสังกัดของตนเอง เข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ ปรึกษาหารือกันให้ตกผลึกว่าควรจะดำเนินการกันอย่างไร อย่าปล่อยให้นักการเมืองร่วมมือกับนักวิชาการไม่กี่คน อ้างอาศัยสถาบันที่มีความน่าเชื่อ นำมาใช้ประทับรับรองวาระทางการเมืองของนักการเมือง มิเช่นนั้น ระบอบทักษิณก็จะก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่คณาจารย์ นำความอ่อนแอมาสู่สถาบันวิชาการ กลายเป็นจุดอ่อนให้ถูกแบ่งแยกและปกครองอย่างง่ายดาย สรุป หากนักวิชาการหรือสถาบันวิชาการยอมตนเข้าไปช่วยศึกษาหาคำตอบในโจทย์ที่ฝ่ายการเมืองตั้งขึ้นมาเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ในการแก้รัฐธรรมนูญของตนเอง โดยไม่คำนึงว่าโจทย์ดังกล่าวถูกต้องหรือไม่? จะเกิดผลกระทบและความเสียหายต่อส่วนรวมอย่างไร? พฤติการณ์ย่อมไม่ต่างไปจากการไปแนะนำโจรให้รู้วิธีปล้น 1. แนะนำว่า จะมีวิธีลักลอบผ่านระบบป้องกันขโมยที่ติดตั้งไว้รอบบ้านอย่างไร? 2.แนะนำว่า จะมีวิธีเปิดตู้เซฟ เพื่อขนเอาทรัพย์สินของเจ้าบ้านได้อย่างไร สุดท้าย 3.ยังอุตส่าห์แนะนำโจรด้วยว่า จะใช้ปืนสังหารเจ้าบ้านอย่างไร เพื่อมิให้ทิ้งร่อยรอยฆาตกรรมเอาไว้ .....................

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม