ใครอยู่เบื้องหลังเร่งรัดผลักดันวาระต่ออายุเหมืองหินปูนเข้าสภา อบต. ดงมะไฟ ?

1500 14 Feb 2020

( ขอบคุณภาพ จาก อีสานเร็คคอร์ด : https://isaanrecord.com/2019/12/10/seminar-25-years-mining-in-dong-ma-fai/ )
.
จดหมายจากนายธีรสิทธิ์ ตรีวัฒน์สุวรรณ ถึงประธานสภา อบต. ดงมะไฟ เรื่องขอให้จัดการประชุมสภา อบต. ดงมะไฟ เพื่อพิจารณาวาระการขอต่ออายุใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลาง เพื่อทำเหมืองหินปูน ของบริษัท ธ. ศิลาสิทธิ จำกัด ไปอีกสิบปี (ตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 - กันยายน 2573) ลงวันที่ 28 มกราคม 2563 บ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่าใครอยู่เบื้องหลังบรรจุวาระต่ออายุเหมืองหินปูนเข้าสภา อบต. ดงมะไฟ
.
แต่จะบอกว่าเป็นใครที่อยู่เบื้องหลังก็ไม่สอดคล้องความเป็นจริงนัก เพราะจดหมายฉบับดังกล่าวเป็นเอกสารเปิดเผยที่ประธานสภาแนบส่งไปกับหนังสือเชิญประชุมสภา อบต. ดงมะไฟ สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก ประจำปี 2563 ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ให้แก่สมาชิก อบต. ทุกคน และส่งมาให้กับผู้ใหญ่บ้านและลูกบ้านหลายคนเพื่อเชิญชวนประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุมสภา เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นถึงความโปร่งใสตรวจสอบได้ในการบริหารและพัฒนาท้องถิ่นของสภา อบต. ดงมะไฟ
.
จดหมายฉบับดังกล่าวทำถึงประธานสภาเพื่อขอให้บรรจุวาระการขอต่ออายุใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลาง เพื่อทำเหมืองหินอุตสาหกรรม ชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง (สำหรับประทานบัตรเลขที่ 27221/15393) เนื้อที่ 175 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวา ไปอีกสิบปี ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2563 – 3 กันยายน 2573
.
ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่นายธีรสิทธิ์ได้หยิบยกข้อ 8 (5) ของระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2548 ขึ้นมาไว้ในจดหมายฉบับนี้ด้วย ด้วยความเข้าใจว่าการขอต่ออายุใบอนุญาตดังกล่าวต้องปฏิบัติตามระเบียบนี้ แต่นายธีรสิทธิ์กลับกระทำไม่สอดคล้องกับเนื้อหารายละเอียดของข้อ 8 (5) ตามระเบียบนี้ที่ว่า พื้นที่ที่จะพิจารณาอนุญาตได้ต้อง "ไม่มีปัญหากับราษฎรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง และต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลท้องที่ที่ป่านั้นตั้งอยู่”
.
ซึ่งต้องดำเนินการตามระเบียบกฎหมายเป็นสองขั้นตอน กล่าวคือ ก่อนที่สภา อบต. จะบรรจุวาระการพิจารณาขอต่ออายุใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลาง เพื่อทำเหมืองหินอุตสาหกรรม ชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง (สำหรับประทานบัตรเลขที่ 27221/15393) เนื้อที่ 175 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวา ไปอีกสิบปี ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2563 – 3 กันยายน 2573 นั้น จะต้องจัดทำประชาคมหมู่บ้าน 6 หมู่บ้าน ที่ตั้งอาศัยอยู่รอบเหมืองในรัศมีผลกระทบตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ขึ้นมาก่อน
.
แต่จดหมายฉบับนี้ของนายธีรสิทธิ์กลับเร่งรัดให้สภา อบต. ดงมะไฟ บรรจุวาระการขอต่ออายุใบอนุญาตดังกล่าวโดยไม่สนใจว่ามีการจัดทำประชาคม 6 หมู่บ้านไปแล้วหรือไม่
.
กลับขู่บังคับประธานสภาว่า เคยขอให้สภา อบต. ดงมะไฟกำหนดวันและเวลาจัดประชุมสภาเพื่อพิจารณาลงมติวาระการขอต่ออายุใบอนุญาตดังกล่าวไปแล้วถึง 2 ครั้ง จนถึงขณะนี้ทางสภายังไม่มีการดำเนินการประชุมตามคำร้องขอแต่อย่างใด ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ตน จึงทำจดหมายฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อขอให้ประธานสภาจัดประชุมสภาเพื่อลงมติตามที่ร้องขอโดยด่วน มิฉะนั้นแล้ว หากประธานสภาไม่ดำเนินการหรือดำเนินการใด ๆ ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ตน ก็จะดำเนินการทางกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญาต่อประธานสภา และสมาชิก อบต. ดงมะไฟอย่างแน่นอนและถึงที่สุด
.
ดังนั้นแล้ว การที่ประธานสภา อบต. ดงมะไฟจัดให้มีการประชุมสภาสมัยประชุมสามัญ สมัยแรก ประจำปี 2563 ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อพิจารณาวาระดังกล่าว จึงเป็นการประชุมสภา อบต. ที่ข้ามหัวชาวบ้าน เพราะไม่มีผลของการประชาคม 6 หมู่บ้านรองรับ
.
ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งกับสถานภาพของประธานสภา, รองประธานสภา, ปลัด อบต. และสมาชิก อบต. หนุนเหมืองทุกคน ที่ได้รับฉายาจากชาวบ้านในพื้นที่ว่า 'อบต. โรงโม่' (ส่วน อบต. อีกฝ่ายหนึ่งที่อยู่ข้างประชาชน ได้รับฉายาว่า 'อบต. ประชาชน') ว่าการประชุมสภาครั้งนี้น่าจะเป็นการประชุมสภาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากยังดันทุรังจัดให้มีการประชุมสภาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้เพื่อยกมือให้นายธีรสิทธิ์ทำเหมืองต่อไปอีกสิบปี จะส่งผลให้มีการดำเนินคดีเพื่อเอาผิดทางกฎหมายหลังการประชุมสภาอย่างแน่นอน
.
เหตุที่นายธีรสิทธิ์และประธานสภา, รองประธานสภา, ปลัด อบต. และ อบต.โรงโม่ ต้องเร่งรัดให้มีการประชุมสภาครั้งนี้ก็เพราะประทานบัตรทำเหมืองหินปูนและใบอนุญาตการใช้พื้นที่ป่าสงวนฯเพื่อทำเหมืองหินปูนของนายธีรสิทธิ์จะหมดอายุลงในเวลาไล่เลี่ยกันภายในเดือนกันยายน 2563 ซึ่งพระราชบัญญัตแร่ พ.ศ. 2560 กำหนดให้ต้องดำเนินการต่ออายุก่อนที่ประทานบัตรจะหมดอายุลง 180 วัน เดือนมีนาคมนี้จึงเป็นเส้นตายที่นายธีรสิทธิ์จะต้องดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตการใช้พื้นที่ป่าสงวนฯเพื่อทำเหมืองหินปูนและใบประทานบัตรใหม่ให้ได้
.
น่าจะเป็นด้วยเหตุนี้ที่ทำให้ประธานสภา, รองประธานสภา, ปลัด อบต. และ อบต.โรงโม่ ทั้งหลายเร่งเดินหน้าดันทุรังจัดประชุมสภา อบต. ดงมะไฟ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ให้ได้โดยไม่สนใจว่าจะมีการทำประชาคม 6 หมู่บ้านแล้วหรือไม่
.
แล้วยังมีเรื่องหมกเม็ดอีกเรื่องหนึ่ง คือ จดหมายฉบับนี้ของนายธีรสิทธิ์ส่งถึงประธานสภาเพื่อขอให้จัดการประชุมสภา อบต. ดงมะไฟ เพื่อพิจารณาวาระ ‘การขอต่ออายุใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลาง เพื่อทำเหมืองหินปูน’ เท่านั้น แต่ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องเพื่อโปรดพิจารณา ข้อ 2. ของการประชุมสภาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้กลับเขียนกำกวมว่า ‘เรื่องพิจารณาต่อใบอนุญาต เพื่อทำเหมืองแร่’ จึงมีความเป็นไปได้ว่าการประชุมสภาในวันดังกล่าวจะมีการพิจารณา 2 เรื่อง ทั้งเรื่อง ‘ต่ออายุใบอนุญาตการใช้พื้นที่ป่าสงวนฯเพื่อทำเหมืองหินปูน’ และ ‘ต่ออายุใบประทานบัตรใหม่’ ในคราวเดียวกัน
.
ซึ่งเป็นการกระทำผิดซ้ำซ้อนสองครั้งสองคราของประธานสภา, รองประธานสภา, ปลัด อบต. และ อบต. โรงโม่ ที่แอบซ่อนนำวาระการพิจารณาลงมติอนุญาตต่ออายุประทานบัตรใหม่เข้ามาโดยไม่ทำประชาคม 6 หมู่บ้านที่อยู่ในรัศมีผลกระทบตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ขึ้นมาก่อน

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม