รายงานสังคมและการเมือง ฉบับที่ ๕

1909 20 Nov 2019

อำนาจรัฐและบริษัท

ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

 

ในกระบวนการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสำหรับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ประเภทต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดให้ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้ง EIA และ EHIA นั้น  มักถูกบิดเบือนเจตนารมณ์อยู่เสมอ  ซึ่งมีทั้งการไม่เปิดเผยข้อมูลที่เหมาะสม  รูปแบบการจัดเวทีไม่เอื้อต่อการแสดงความคิดเห็นของประชาชน  เวลาในเวทีรับฟังความคิดเห็นไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมต่อผู้ได้รับผลกระทบ  กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียไม่ได้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นครอบคลุมทุกกลุ่ม  และเจ้าภาพจัดเวทีซึ่งเป็นเจ้าของโครงการพยายามทำทุกวิถีทางให้ผู้เข้าร่วมเวทีที่มีความคิดเห็นอันหลากหลายทั้งเห็นด้วย  ไม่เห็นด้วย  หรือเป็นกลาง ๆ ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย  หรือบุคคลที่มีความเห็นอื่น ๆ กลายเป็นฝ่ายสนับสนุนโครงการทั้งหมดให้ได้  ฯลฯ 

แม้กระทั่งการแจกเงินเพื่อจูงใจให้เข้าเวทีก็ส่งผลอย่างมากต่อกระบวนการตัดสินใจที่เปลี่ยนไป  หรือไม่สนใจที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างไม่ตรงไปตรงมาเสียแล้วจากแรงจูงใจดังกล่าว

การบิดเบือนโดยจงใจนับจำนวนประชาชนที่เข้ามานั่งในเวทีทั้งหมดว่าเป็นผู้สนับสนุนโครงการได้ทำให้เจตนารมณ์ของการรับฟังความคิดเห็นไร้ค่าไร้ความหมายไปเสีย  เพราะโดยเนื้อแท้แล้วเจตนารมณ์ของการรับฟังความคิดเห็นแปรผันโดยตรงกับอำนาจของประชาชน  เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี  โดยไม่ตกอยู่ในบรรยากาศของความกลัว  เช่นเอาตำรวจทหารและอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนเข้ามาในเวที  และใช้กลยุทธถ่วงเวลาให้กลุ่มประชาชนที่เจ้าของโครงการไม่อยากรับฟังความคิดเห็นเข้าสู่เวทีล่าช้า  หรือตั้งแถวปะทะโดยตรงเพื่อไม่ให้กลุ่มประชาชนที่เจ้าของโครงการไม่อยากรับฟังความคิดเห็นเข้าสู่เวทีเลย  หรือพูดจาข่มขู่คุกคามกลุ่มประชาชนที่เจ้าของโครงการไม่อยากรับฟังความคิดเห็นตลอดเวลาเพื่อให้สลายตัวไปเสีย  เป็นต้น

ทั้งหมดนี้  กลับกลายเป็นว่าการรับฟังความคิดเห็นขึ้นอยู่กับอำนาจรัฐและบริษัทแทน  เพื่อจะออกแบบให้เกิดการปิดกั้นการรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มประชาชนที่ไม่ต้องการให้อยู่ในบันทึกการรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำรายงาน EIA หรือ EHIA ให้จงได้  เพราะเกรงว่าจะส่งผลทำให้ EIA หรือ EHIA ไม่ผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานที่พิจารณาได้  

หรือแม้กระทั่งหลายโครงการที่มีกลุ่ม/องค์กรประชาชนแสดงออกอย่างชัดเจนถึงการคัดค้านโครงการ  รัฐและบริษัทเจ้าของโครงการก็ควรตระหนักอย่างลึกซึ้งในการออกแบบการประชุมรับฟังความคิดเห็นโดยให้มีสัดส่วนระหว่างฝ่ายคัดค้านและฝ่ายสนับสนุนให้เกิดสมดุลย์ให้ได้  ไม่ให้ฝ่ายใดเสียเปรียบ/ได้เปรียบฝ่ายใด 

หรือหากไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้  ก็ควรที่จะยกระดับจากการรับฟังความคิดเห็นไปเป็นประชามติ  โดยออกแบบกระบวนการประชามติให้โปร่งใส รอบคอบ รัดกุม สะดวก ง่าย ต่อการลงประชามติ  ดังเช่นรูปแบบการเลือกตั้ง  หรือรูปแบบที่ชอบธรรมอื่น ๆ  เป็นต้น

แต่กลับกลายเป็นว่าสิ่งที่รัฐและบริษัททำคือการปิดกั้นการรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มประชาชนที่ไม่ต้องการรับฟังความคิดเห็นทุกช่องทางแทน        

ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่อำเภอปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด  ในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น (ครั้งที่ 2) สำหรับโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในวันที่ 29 และ 31 พฤศจิกายนที่ผ่านมาตามลำดับของบริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด  ที่ปิดกั้นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยตำรวจควบคุมฝูงชนหนึ่งกองร้อยจัดแถวปะทะไม่ยอมให้ประชาชนในนามภาคีเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาเข้าร่วมเวทีในวันที่ 29 พฤศจิกายน  และพอวันที่ 31 พฤศจิกายนกลับยื่นเงื่อนไขให้เข้าร่วมได้ 5 คน

ซึ่งในเวทีมีประชาชนที่ถูกเกณฑ์มาและจูงใจโดยให้ค่าเสียเวลาคนละ 300 บาท เข้าร่วมเวทีประมาณ 1,000 คน  จึงกลายเป็นสัดส่วนผู้เข้าร่วมที่คัดค้านโครงการกับสนับสนุนโครงการ 5 ต่อ 1,000  หรือ 1 ต่อ 200  ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม  มิหนำซ้ำทางเดินเข้าสู่เวทีมีเชือกพลาสติคกั้นแบ่งแยกระหว่างประชาชนในนามภาคีเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาที่แสดงเจตจำนงค์คัดค้านโครงการกับผู้ที่ถูกต้อนเข้าไปนั่งเป็นผู้สนับสนุนโครงการอยู่ในเวทีแล้ว  และมีตำรวจชุดควบคุมฝูงชนตั้งแถวสกัดอยู่หลายทิศทาง  ล้อมหน้าล้อมหลัง  จำนวนหนึ่งกองร้อย  สร้างบรรยากาศความไม่เป็นมิตรและทำให้กลัวขึ้น

กระบวนการการรับฟังความคิดเห็นเช่นนี้ได้ทำให้หลักประกันของสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นเพื่อมีส่วนร่วมกับรัฐในการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองสั่นคลอนเพราะถูกกดให้ต่ำลง 

ซึ่งเป็นการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายเพื่อพัฒนาบ้านเมืองโดยปิดกั้นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน  เยี่ยงที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนชาว อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด  และในพื้นที่อื่น ๆ อีกหลายแห่งทั่วประเทศ  ซึ่งเป็นการพัฒนาบ้านเมืองที่ยืนอยู่บนทิศทางที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม

 

เดิน-ปิด-เหมือง บอกเล่าปัญหาเหมืองหินปูน

จากภูผาฮวกสู่ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู

 

กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได  ซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่รอบเหมืองหินปูน 6 หมู่บ้านในเขต ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู  ที่ต่อสู้กับการให้สัมปทานเหมืองหินปูนตลอด 25 ปีที่ผ่านมา  ได้เผยแพร่ข่าวสารลงในเฟซบุ๊ก ‘เหมืองแร่หนองบัว’  เพื่อเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนออกมาแสดงพลังคัดค้านการให้สัมปทานเหมืองหินปูนด้วยการเดินเท้าจากหมู่บ้านถึงศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู  ระหว่างวันที่ 7-12 ธันวาคม 2562 นี้  เพื่อเรียกร้องหน่วยงานรัฐให้หยุดการต่อใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้เพื่อกิจการเหมืองแร่หินปูนอีกต่อไป

กิจกรรมดังกล่าวจะใช้การเดินและจัดเวทีทุก ๆ เย็นหลังการเดินเสร็จสิ้นในแต่ละวันเพื่อบอกเล่าเรื่องราวผลกระทบและความสูญเสียจากการทำเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หินบนภูผาฮวก  เนื้อที่กว่า 175 ไร่  ซึ่งปัจจุบันนายทุนกำลังจะยื่นขอต่อใบอนุญาตการใช้พื้นที่ป่าไม้เพื่อกิจการเหมืองแร่หินปูน  โดยให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลดงมะไฟมีมติเห็นชอบให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเพื่อทำเหมืองแร่ออกไปอีก 10 ปี (จนถึงปี 2573)

พร้อมกันนี้ได้ออกแบบตราสัญลักษณ์การเดินครั้งนี้  โดยอธิบายความหมายไว้ว่า  ภูเขาและต้นจันไดบนพื้นสีเขียว-ขาว  หมายถึงความอุดมสมบูรณ์และงดงามของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่  โดยมีภูเขาและป่าไม้ซึ่งเป็นต้นกำเนิดก่อเกิดทุกสรรพสิ่ง  โดยมีต้นจันได  หรือจันผา  เป็นต้นไม้ประจำถิ่นที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ  เป็นต้นไม้ที่ทนต่อสภาพแวดล้อมในทุกฤดูกาลบนภูมินิเวศเขาหินปูนที่ค่อนข้างขาดแคลนเนื้อดินอันอุดมสมบูรณ์  สามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามภูเขาหินปูนบริเวณนี้  เปรียบดั่งความอดทนและกล้าแกร่งต่อสู้ด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์ของพี่น้องประชาชนที่คัดค้านเหมืองแร่หินปูนมาอย่างยาวนานตลอด 25 ปีที่ผ่านมา

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม