“บุญ” มี แต่ “บุญ” ก็บัง: ก้าวที่หล่นหายของพี่ตูน บอดี้สแลม

2082 24 Nov 2017

“คนดีกับพลเมืองดี ไม่ใช่สิ่งเดียวกันเสมอไป”

-อริสโตเติล

 

 

หลังจากความสำเร็จในโครงการระดมทุน “ก้าวคนละก้าวเพื่อโรงพยาบาลบางสะพาน” เมื่อปี 2559 และในปีนี้จึงเกิดโครงการ “ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ” ที่พี่ตูน Bodyslam หรือ นายอาทิวราห์ คงมาลัย ออกมาวิ่งเพื่อระดมทุนช่วยเหลือโรงพยาบาลทั่วประเทศ 11 โครงการ จาก อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ถึง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ระยะทางรวม 2,191 กิโลเมตร กลายเป็นปรากฏการสังคมที่ถูกพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งกระแสตอบรับในด้านดีและกระแสชื่นชมอย่างหนาแน่น หลายเสียงออกมาให้การสนับสนุนการกระทำของพี่ตูนและยกย่องให้เป็นบุคคลตัวอย่างในด้าน “การทำความดี” และ “การมีจิตอาสา” ในขณะเดียวกันก็มีกระแสออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ออกมาแซะว่าการกระทำของพี่ตูนสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยชอบแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุและไม่ตระหนักถึงสิทธิในการเรียกร้องความชอบธรรม ยังไม่รวมถึงบรรดาพลเมืองออนไลน์ที่เข้ามาร่วมแซะ ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรื่องนี้อีกมากมาย

จิตอาสา = การทำบุญ

กระแสเรื่อง “จิตอาสา” เหมือนจะเป็นกระแสหลักในการโปรโมทโครงการและสามารถดึงประชาชนให้มีส่วนร่วมกับโครงการนี้ได้เป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันเองนั้น “จิตอาสา” ก็กลายเป็น กระแสหลักของประชาชนเช่นกันในการทำความดีและถูกนำไปผูกโยงกับ “การทำบุญ” และ “ผลบุญ” ไว้อย่างกับเป็นเทปม้วนเดียวกัน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แปลกหู แปลกตา ดูจะเป็นเรื่องธรรมดา ตรรกะพื้นฐานในสังคมไทยด้วยซ้ำไป ด้วยพื้นฐานสังคมไทยมีหลักการและเหตุผลอิงกับศาสนาพุทธในหลายๆเรื่อง ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ได้ยินจนคุ้นหูตั้งแต่เริ่มเรียนวิชาสังคมศึกษาว่า ประชาชนไทยมีสิทธิเสรีภาพทางศาสนา ก็ตาม แต่คงปฏิเสธได้ยากจากตัวอย่างที่ทยอยออกมาอวดโฉมให้ประชาชนไทยชื่นชมอยู่ร่ำไป  อย่างการนำศาสนามาผูกกับข้อบังคับใช้ในกฎหมายห้ามซื้อขายเหล้าในวันสำคัญทางศาสนาพุทธ? เป็นต้น

นักวิชาการหลายท่านเองก็ออกมาให้ความหมายเกี่ยวกับคำว่า “จิตอาสา” ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ ให้ความเห็นว่า “จิตอาสา คือจิตที่ต้องการให้ผู้อื่น ตั้งแต่การให้เงิน ให้ของ จนกระทั่งให้แรงงานแรงสมองหรือที่เรามักเรียกว่า อาสาสมัคร เพื่อช่วยให้ผู้อื่นหรือสังคมมีความสุขมากขึ้น การให้หรือเสียสละนี้สามารถทำไปได้จนถึงการเสียสละความเป็นตัวตนหรืออัตตาของเรา ลงไปเรื่อยๆ” จากความหมายที่ดร. มิชิตา ได้ให้ไว้ ผนวกกับ อุปนิสัยในการทำบุญของพุทธศาสนชนชาวไทยที่มักจะเป็นเรื่องของการบริจาคปัจจัยทั้งสิ่งของ และเงินตรา จึงไม่แปลกที่โครงการก้าวคนละก้าวฯ ของพี่ตูนจะกลายมาเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลายในสังคมไทยและ “จิตอาสา” ก็ถูกยกคุณค่าจากเหตุผลทางศาสนาอย่าง “ผลบุญ” มาเป็นคุณสมบัติสำคัญของการเป็นคนดี

แต่หากมองในอีกแง่ การที่ประชาชนออกมาช่วยเหลือแก้ไขปัญหากันเอง นั่นก็เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นถึงปัญหาในการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคมของประชาชนที่ไม่ทั่วถึงและไม่ถูกแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเสียที การทำหน้าที่ที่บกพร่องของหน่วยงานภาครัฐและรัฐบาลที่ไม่สามารถบริหารจัดการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการและได้รับสิทธิทางสังคมที่ครบถ้วนเท่าเทียมกัน ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสวัสดิการและการได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

ในขณะเดียวกันการช่วยเหลือในรูปแบบของจิตอาสาเพียงอย่างเดียวก็เหมือนเป็นดาบสองคมที่แม้จะสร้างให้เกิดความสุขทางจิตใจกับคนทั้งสองฝ่ายทั้งผู้ให้และผู้รับ แต่ในแง่ของการแก้ไขปัญหา รูปแบบของกิจกรรมอาสาส่วนใหญ่จะเป็นการช่วยเหลือในด้านของการบริจาควัถตุและเงินทองเสียส่วนใหญ่ซึ่งพอหมดไปปัญหาก็จะวนกลับมาเกิดอีกครั้ง เป็นการทำให้เกิดวัฏจักรแบบนี้ไปเรื่อยๆ คือ สังคม/พื้นที่/คน ในที่ๆหนึ่งมีปัญหาจากนั้นก็จะมีกลุ่มกิจกรรมหรือประชาชนบางกลุ่มเข้าไปช่วยเหลือวนไปเรื่อยๆ จากข้อจำกัดทางความสามารถและอำนาจในตัวบุคคล อาจรวมถึงการที่ประชาชนไม่มีความรู้ในเรื่องสิทธิที่ตนพึงได้รับอย่างเพียงพอ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “การช่วยเหลือ” ในปลายเหตุของปัญหา มากกว่า “การเรียกร้อง” หรือ มุ่งเน้นไปแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ในสิ่งที่ตนและคนอื่นๆพึงได้รับ

อ่านมาถึงตรงนี้ ขอออกตัวว่าผู้เขียนไม่ได้หมายความว่า “จิตอาสา” นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดีหรือ การออกมาวิ่งของพี่ตูนเพื่อระดมทุนช่วยเหลือโรงพยาบาลนั้นเป็นเรื่องผิด ตรงกันข้ามกลับเห็นว่าการมี “จิตอาสา” ของประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่ดีหากแต่ไม่โดนอะไรมาบดบังเจตนาที่แท้จริงในการทำงานจิตอาสานั้นๆ อย่างกรณีพี่ตูน การที่พี่ตูนออกมาวิ่งเพื่อช่วยระดมทุนนั้นเจตนาที่หวังจะช่วยเหลือโรงพยาบาลและเพื่อนมนุษย์ที่ลำบากกว่าถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการมี “จิตอาสา” แต่นั่นไม่ใช่เพียงสิ่งเดียวที่เห็นได้จากปรากฏการณ์ในครั้งนี้ นอกเหนือจาก “จิตอาสา” นั่นคือการมี “ความเป็นพลเมือง”

ความเป็นพลเมืองคืออะไร?

“ความเป็นพลเมือง” คือ ความสัมพันธ์ของรัฐและประชาชนและประชาชนในแต่ละรัฐก็จะมีบทบาทที่แตกต่างกันออกไปตามเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายร่วมของรัฐ ในฐานะพลเมืองของสังคมประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คงปฏิเสธไม่ได้ว่า    “ประชาธิปไตย” จะสมบูรณ์ไม่ได้หากพลเมืองขาดความเป็นพลเมือง  Keith Faulks (2000) กล่าวไว้ว่า  “ความเป็นพลเมืองเป็นมากกว่าสิ่งอื่นใด สามารถทําให้เราได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน โดย ที่ประชาธิปไตยได้ส่งเสริมให้ประชาชนได้ตระหนักถึงการมีอิสระทางความคิด” หากแต่ความซ้ำซ้อนทางการปกครองอาจทำให้เราหลงลืมและไม่ทันได้ตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ความเป็นพลเมืองมากนัก ด้วย “ความเป็นพลเมือง” เป็นส่วนสำคัญในการดำรงอยู่ของการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เชื่อในสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมของมนุษย์ ความเสรีในการแสดงความคิดเห็น ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็ดำรงอยู่ภายใต้ระบบที่สร้างความแตกต่างทางชนชั้นและสิทธิเสรีภาพอย่างชัดเจน อย่าง ระบบเครือญาติ ระบบอาวุโส และ ระบบกษัตริย์  นั่นทำให้   “ความเป็นพลเมือง” ของพลเมืองไทยและความเข้าใจใน “ความเป็นพลเมือง” ของคนไทยจึงออกมาในรูปแบบที่คลุมเครือและไม่ชัดเจน อย่างที่ปรากฎในปัจจุบัน

อาจจะยังมองภาพไม่ชัดว่า “จิตอาสา” กับ “ความเป็นพลเมือง” แตกต่างกันอย่างไร ลองมาดูที่กรณีของพี่ตูนที่ออกมาวิ่งเพื่อระดมทุนให้กับโรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศ จำนวน 11 โรงพยาบาล จากการกระทำของพี่ตูนในครั้งนี้ ลองมาแตกเป็นข้อๆเพื่อให้เห็นภาพชัดๆ ได้ดังนี้

  1. มองเห็นปัญหาของโรงพยาบาลต่างๆและต้องการช่วยเหลือด้วยการวิ่งระดมทุน (จิตอาสา)
  2. ศึกษาข้อมูลปัญหาของแต่ละโรงพยาบาลเพื่อสำรวจความขาดแคลนของโรงพยาบาลและลงไปสัมผัสกับปัญหาจริงๆ (ติดตามคุณภาพการให้บริการทางสังคมของภาครัฐ, มีความรับผิดชอบต่อสังคม = ความเป็นพลเมือง)
  3. จัดทำโครงการ”ก้าวคนละก้าวฯ” และ หาหน่วยงานสนับสนุนโครงการ (การรณรงค์และเคลื่อนไหวเพื่อสังคม, การตื่นตัวด้วยการใช้สื่อ=ความเป็นพลเมือง)

***ส่วนเรื่องเรียกร้องสิทธิจากรัฐบาลนั้น ด้วยข้อจำกัดของแต่ละรัฐที่แตกต่างกันความเป็นพลเมืองของแต่ละรัฐจึงมีขอบเขตที่ไม่เท่ากัน อย่างในประเทศไทยเป็นรัฐที่จำเป็นจะต้องสร้างความเข้าใจร่วมและการตระหนักร่วมของคนหมู่มากก่อนถึงปัญหาและแนวทางที่สามารถทำได้เสียก่อน ถึงจะเกิดการเรียกร้องอย่างมีประสิทธิภาพและมีน้ำหนักได้

 

ตาราง 1 สิทธิและหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม โดย Marshall and Botamore(1992)

สิทธิพลเมือง ความรับผิดชอบในฐานพลเมืองที่ต้องพึงปฏิบัติ
สิทธิและเสรีภาพ

 

  • เสรีภาพในการเคลื่อนไหว
  • สิทธิของความเป็นส่วนตัว
  • เสรีภาพในการพูด คิด และการนับถือศาสนา
  • สิทธิในการรับข้อมูลข่าวสาร
  • สิทธิในการรับการรักษาและการรักษาที่เท่าเทียม

สิทธิทางการเมือง

  • สิทธิในการเลือกผู้แทน
  • สิทธิในการแสดงจุดยืนทางการเมือง
  • สิทธิในการรวมตัวทางการเมือง

สิทธิทางสังคม

  • สิทธิทางการศึกษา
  • สิทธิในการได้รับความปลอดภัย
  • สิทธิในด้านสุขภาพอนามัย

สิทธิทางเศรษฐกิจ

  • สิทธิในการประกอบอาชีพ
  • สิทธิในการทำข้อตกลง(สัญญา)อย่างถูกต้องตมกฎหมาย
  • สิทธิในการรับสวัสดิการที่ได้จากระบบเศรษฐกิจขั้นต่ำ
  • ความรับผิดชอบต่อสังคม
  • การรณรงค์เพื่อสังคม
  • การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของพลเมือง
  • การเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม
  • เรียกร้องความต้องการที่เป็นไปได้ต่อรัฐบาล
  • ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
  • การเรียกร้องความต้องการความยุติธรรม
  • การได้รับการศึกษา
  • การรู้กฎหมาย
  • การได้รับการศึกษาที่เกี่ยวกับการเมือง
  • ตื่นตัวในการใช้สื่อ
  • จ่ายภาษี
  • ติดตามการให้คุณภาพบริการทางสังคมของรัฐและการใช้จ่ายเงินสาธารณะ

 

การกระทำของพี่ตูนจึงไม่ใช่เพียงเป็นการแสดง “จิตอาสา” ของพี่ตูนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการตระหนักต่อ “ความเป็นพลเมือง” ของตนเองที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างปรากฏการณ์ การรณรงค์เพื่อให้เกิดการตระหนักเห็นปัญหาในประเทศไทยที่มีและไม่ได้รับการแก้ไขจากทางภาครัฐ รวมถึงชื่อเสียงที่โด่งดังของพี่ตูนก็เป็นเชื้อเพลิงในการออกมารณรงค์ในครั้งนี้ให้ประชาชนตื่นตัวและให้ความสนใจเป็นอย่างมาก หากจะสรุปว่า โครงการ “ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ” นั้นประสบความสำเร็จในการปลุกระดมประชาชนให้สนใจตัวโครงการก็คงได้ เพียงแต่ทุกคนจะมองเห็นอะไรหรือเปล่า สักอย่างจากปรากฏการณ์ครั้งนี้ มองโดยปราศจากแว่นของ “ผลบุญ” และ “ความดี” ก้าวที่เกิดจากความเข้าใจไม่ใช่แค่ระยะทาง ก้าวไปสู่ความเป็นพลเมืองอย่างที่พี่ตูนเป็น

ลองเปิดใจให้กว้าง ให้น้ำหนักกับคุณค่าทางด้านเหตุผลมากกว่าคุณค่าทางด้านจิตใจ บางครั้งเราอาจจะพบว่า ตรรกะที่แบกเริ่มสั่นคลอน เมื่อถึงตอนนั้นลองดำดิ่งไปกับปัญหาของเธอ ให้เวลากับความเศร้าจนมันออกดอกผล ก่อนออกมา อย่าลืมเก็บเกี่ยวผลผลิตติดมือมาด้วยหล่ะ

 

…ในเมื่อเธอทำดีได้และสามารถทำให้มันดีได้มากกว่าเก่า ทำไมเธอไม่ทำ?

 

 

/ลักษณพร ประกอบดี

เอกสารอ้างอิง:

– จิตอาสาคืออะไร โดย: ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ [online],http://www.csrcom.com/articles/view/36 .

– รายงานการวิจัยเรื่อง “ความเป็นพลเมืองในประเทศไทย (Citizenship in Thailand),ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รัชวดี แสงมหะหมัด.

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม