วัฒนธรรมศึกษา

1861 26 Oct 2021

ผมชอบคำนี้มาก ตั้งแต่อ่านเจอครั้งแรก เมื่อ 20 กว่าปีก่อน คำว่า “แรงกดเท่ากับแรงต้าน” หมายถึงเมื่อมีการกดขี่เท่าไหร่ ก็จะมีการต่อต้านมากขึ้นเท่านั้น ต่างกันแค่ช้าหรือเร็ว ผลและการเปลี่ยนแปลงนั้นจะตามมา

ในความโชคร้ายที่เราแก้ไข หรือ เรียกร้องอะไรไม่ได้มาก ทำอะไรไม่ได้เลย กับอำนาจต่างๆ ที่ถาโถมประเดประดังมานั้น เราคนเล็กคนน้อยก็ได้ นำพาตัวเอง แสดงออก ยืนหยัด หรือ รักษาไว้ซึ่ง ความเชื่อ ความหวัง เท่าที่มนุษย์ตัวเล็กๆ อย่างเราจะทำได้ หรือ พอได้ระบัดระบายความอัดอั้นตันใจออกไปบ้าง เพราะผู้นำที่ร้าย ก็ยังไม่ร้ายเท่าปากท้อง ที่ต้องหาเติมให้เพียงพอก็ยังยาก

ฉะนั้น ใครที่คิดว่า เรื่องของข้างบน กับ เรื่องของข้างล่าง ไม่เกี่ยวกัน ไม่กระทบ ไม่ถึงกัน วันนี้ คนเริ่มเข้าใจถ่องแท้แล้ว

ผมเรียนจบรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง แม้ว่าจะจบมาแบบ อ่านชีท อ่านเศษกระดาษสรุป บทความเก็บ หนังสือเก่า เป็นบัณฑิตที่ไม่ได้มีครูสอนสั่งให้วิชา แต่ก็ตั้งใจตระหนัก สร้างสำนึก มีความเชื่อมีอุดมการณ์ ต่อสิ่งที่เรียนที่ขนขวาย โดยเฉพาะเรื่องราวการต่อต้าน การต่อสู้ การแสดงออก ต่างๆ เพื่อตอบโต้ “อำนาจ” หรือ ผู้กระทำ และนั่นทำให้ผม ผันตัวเองไปเรียนต่อ
Cultural Study ( วัฒนธรรมศึกษา) คอยสังเกต คอยรหัส อ่านความหมาย อธิบายรูปแบบการเคลื่อนไหว ต่อสู้ ต่อต้านของคนเล็กคนน้อย ของประชาชน ของยุคสมัย

จุดกำเนิดตั้งแต่ยุคกู้ชาติ  รัฐประหาร
2549 ไปจนถึง ยุคล้มระบอบทุนสามานย์ 2557 กลายเป็นการเริ่มต้น ของยุคสิ้นสุด อำนาจรัฐแบบโลกเก่า ที่มี ชนชั้นนำทั้ง ใหม่และเก่า  หรือที่คนเสื้อแดง เรียกว่า พวกอำมาตย์ และ ระบบราชการคอยหนุนนำ รวมถึง นักการเมืองสอพลอ และกลไก ( ที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ)  ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเบี้ย บนกระดานอำนาจ อย่าง ส.ว. ปปช. ศาลธรรมนูญ กม. กกต. ฯลฯ

หลังการเลือกตั้ง ประชาชนเริ่มเห็นความจริง ว่า กฎหมายที่เขียน ที่พยายามถูกบอกว่า “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” แท้จริง ไม่มีอะไรเลย ไม่มีแม้แต่เศษเสี้ยวเดียวในกฎหมาย ในขบวนการที่ลงมือลงแรงทำ แล้วเกิดภาพใหม่ที่เรียกว่า ปฏิรูป กลับกัน เป็นแค่การหยิบยื่น “อำนาจ” ให้คนบางกลุ่มนำไปใช้ ไปบริหาร ควบคุม แบบโง่ๆ และอยู่ได้ ไม่สั่นคลอนด้วย เครื่องมือ หรือ เบี้ยบนกระดานอำนาจ ที่สร้างขึ้น ทั้ง ส.ว. ปปช. ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

มุมมองแบบวัฒนธรรมศึกษา (
Cultural Study) จึงสนุกเมื่อเริ่มเห็นประชาชน คนหนุ่มสาว นักศึกษา ประชาชน ค่อยๆ แสดงออก แสดงสัญลักษณ์ แสดงจุดยืน ต่อต้าน ต่อสู้ ต่อกร และต่อตน มันปะทะกันรุนแรง ร้าวลึก และแทรกลงไปทุกๆมิติ ไปในกิจกรรมประจำวัน ไปในวิถีชีวิต ผ่านดนตรี ศิลปะ เสื้อผ้าอาภรณ์ ฯลฯ มองไปไหน ฟังเสียงใคร ก็ล้วนแต่ได้ยิน ได้เห็น เห็นทุกวัน เห็นทุกที่ ทุกแห่งหน

ผมพูดบ่อยๆ ว่า เกิดมาชาติหนึ่ง อะไรที่ไม่เคยคิด ก็ได้คิด กรณี นิสิต จุฬาฯ มหาวิทยาลัยของชนชั้นนำสยามประเทศ  ยกเลิกประเพณี แบกพระเกี้ยว อะไรที่ไม่เคยได้ยินก็ได้ยิน อาทิ เสียงประชาชนด่าผู้นำประเทศว่า “ไอ้เหี้ยตู่” อะไรที่ไม่เคยได้สัมผัส ก็ได้สัมผัส คลื่นขบวนเด็ก เยาวชน ที่ออกมาเรียกร้อง ต่อต้าน ประณาม และ ชูสัญลักษณ์ ต่างๆ ที่แสดงออกซึ่งสิทธิ เสรีภาพ และ การรื้อสร้างระบอบประชาธิปไตย ในสังคม

แน่นอน วิธีคิด วิธีมอง แบบ
Cultural Study ก็จะหา หรือ เฝ้ามองต่อว่า ระบอบไม่ใช่เรื่องรูปแบบ หรือ ลายลักษณ์อักษร ที่เขียน และยกใส่พาน ว่า รัฐธรรมนูญ แต่ระบอบมาจากความเชื่อ ความปรารถนาอย่างจริงจัง อย่างมีความหมายนัยยะ สำคัญทต่อความเชื่อ ที่จะมีชีวิต มีรูปแบบปฏิบัติ ปฏิสัมพันธ์กัน ในลักษณะ เช่นนี้ ความเสมอภาค การมีส่วนรวมและการเรียกร้องทางเลือก

สำหรับผม การท่อง
Facebook ทุกวัน ไม่ได้ เข้ามาเพื่อส่องดู หาความบันเทิง เท่านั้น เพราะในทุกวัน ที่เปิดอ่าน ผมเห็นึความเคลื่อนไหวของโลก เห็นภาพมนุษย์ เห็นสิ่งที่อาจจะปรากฏทั้งในการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมใหม่ ๆ จะว่าไป ผมชอบยุคสมัย ณ เวลานี้จริงๆ

ยุคแห่งการล้มครืนของ สถาบันหรือเสาหลัก ประเทศนี้ ....

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม