ตอนที่ 8 จิตใจคนอาสา

1321 21 Oct 2021

ค่ายฯร้อยหวัน พันธุ์ป่า ตอนที่ 8 จิตใจคนอาสา
----
        การมาออกค่ายอาสา หลายคนอาจจะมองว่า สิ่งที่มาเรียนรู้ คือสังคม ชุมชน และเพื่อนๆ  นอกจากนั้น ก็เป็นระบบการทำงานค่ายอาสา ซึ่งแต่ละกลุ่ม ชมรมหรือสถาบัน ล้วนมีแนวคิดปรัชญา การให้ความหมาย ผิดแผกแตกต่างกันไป ซึ่งสำหรับ ความคิดแบบนี้ไม่มีใครถูก ใครผิด และไม่มีใครเป็นกฎเกณฑ์ของใคร มีแต่กิจกรรมใด ก่อให้เกิดการเรียนรู้สิ่งใด แบบใด เข้าใจได้ลึกหรือแค่ผิวเผิน  ได้ผลมากน้อยแค่ไหน หรือสร้างมีวิธีมองอย่างไร ที่สำคัญ เมื่อมันผ่านกาลเวลา ผ่านยุคสมัย สู่คนรุ่นหลังๆ วิธีคิด ระบบคุณค่า ความเชื่อหรือความหมายในตัวกิจกรรมนั้นๆ ก็ล้วนแต่เคลื่อนตัวเปลี่ยนแปลง เช่นกัน
        ด้วยเหตุนี้ ผมไม่นึกโทษ หรือนึกเสียใจ กับเรื่องราวมากมายในอดีต ที่ตนเอง “กระทำและถูกกระทำ” ผ่านกระบวนการค่ายอาสาฯ ในห้วงแรก จากรั่วมหาวิทยาลัยรามคำแหง ( ชมรมค่ายอาสาพัฒนา ราม-ชาวเขา2537-2541)  ที่ซึ่งวางกลไก ปลูกฝังแนวคิด การปฏิวัติ การเปลี่ยนแปลงสังคม การถอดรื้อ ระบบความเชื่อ การสร้างอุดมการณ์ทางการเมือง และ การมีหัวใจอุทิศชีวิตเพื่อมวลชน เพื่อคนส่วนใหญ่ ที่ยังยากไร้ ได้รับความไม่เป็นธรรม ทัดเทียม  ความชัดเจนจนตกผลึกนี้ ทำให้ผมไม่เคยโต้แย้งเพื่อนอย่าง นก รัตติกาล ที่มีมุมมองต่างกันลิบลิ่ว เกี่ยวกับงานค่ายอาสา ไม่โต้แย้งเพราะผมคิดเสมอ ว่า บริบททางประวัติศาสตร์และทางสังคมสั่งสมให้เราคิดต่างกัน ยิ่งผ่านกระบวนการเคี่ยวกรำ ทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติ ก็ยิ่งมองเห็นความแตกต่าง แม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้น “ค่ายอาสา ไม่ว่าจะยังไง มันยังสร้างการเรียนรู้ ให้แก่ชาวค่าย และสะท้อนให้เกิดประสบการณ์ ทางสังคมได้ทั้งสิ้น” หัวใจอีกอย่างหนึ่งของค่ายอาสาฯ ที่ลืมมิได้ คือ กิจกรรมค่ายอาสา สอนให้เราขบคิดเป็น แก้ไขปัญหาเป็น รู้วิธีหาทางออกต่อปัญหา ฝึกตนเองให้กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา ฝึกประสบการณ์การทำงานเป็นทีม การเข้าอกเข้าใจคนอื่น และการยอมรับความแตกต่างหลากหลายของคน คนอาสาที่แท้จริง จึงเป็นคนที่เอาใจใส่คนอื่นเสมอ มีเกียรติและปิติสุข  
        “พี่ไนล์ เมื่อกี้ ปิ๊กไปกับพ่อจับ ( นายจับ เย็นทั่ว)  ได้ผักมาด้วย สนุกมากเลย”    ปิ๊กเดินนำเพื่อนๆ ตรงมาที่บริเวณผมหุงข้าว มาพร้อมรอยยิ้มกว้างๆ อย่างน่ารัก และแน่นอน เธอไม่ลืมชูอวดผักพื้นบ้านสดๆ เต็มสองกำมือ 
        ผมเปิดรอยยิ้มกว้างๆ รับผักอย่างดีใจ ที่ดีใจไม่ใช่เพราะผัก แต่เพราะภาพชาวอาสาที่ร่วมเดินเก็บผัก กับพ่อจับ ปราชญ์ชุมชนคนหนึ่ง ซึ่งถ้าย้อนหลังไปไม่กี่วัน คนหนุ่มสาวเหล่านี้ ล้วนนั่งเรียนในห้องแอร์ ในตึกใหญ่หลายชั้นหรูหรา จับจ้องไปที่อาจารย์ใส่สูทซึ่งมีดีกรีอย่างต่ำก็ปริญญาโทหรือเอก ภาพวันนี้ เขาเดินตามพ่อเฒ่าคนหนึ่งในหมู่บ้าน ที่มีการศึกษาอาจจะเพียง ป.4 แต่เขาและเธอ สนใจเรียนรู้คล้ายๆ กัน ต่างกันที่วันนี้เขามีรอยยิ้ม มีความอิสระ เขาชี้นู้น เธอชี้นี่ เรียนรู้ไปเท่าที่ใจอยากรู้ จำเท่าที่ใจอยากจำ รู้ในสิ่งที่กินได้ สัมผัสได้ รู้ในสิ่งที่เลี้ยงดูปากท้อง ลูกหลานสังคมไทยมานมนาน และในยามที่มองไปสู่ผู้สอนก็อิ่มเอิบ เบิกบาน ไม่ต่างกัน ค่ายอาสาจำนวนไม่น้อย ที่พยายามปลูกฝังให้สมาชิก ตื่นตัวและสนใจสังคม แต่กลับมองไม่เห็น คุณค่าและแก่นแกนใกล้ตัว  ทั้งๆ ที่หลายๆ คนเร่าร้อนอยากไปลงชุมชน โดยมองว่า การเข้าไปในชุมชน ไปหาชาวบ้าน นั้นทำให้ตนได้รู้สึกว่า ได้ไปทำงานเพื่อคนจน เพื่อชาวบ้าน เพื่ออุดมการณ์ หรือกิจกรรมโครงงานก็มักถูกให้ความสำคัญเช่นนั้น  การได้โหมแรงจนเหงื่อหลั่งริน มันเสมือนได้อุทิศตนในส่วนที่หนักหน่วงที่สุด 
ในความจริงค่ายอาสากลับลึกซึ้งกว่านั้น และมีภารกิจที่สามารถแก้ไขปัญหาสังคมได้มากกว่านั้น พัฒนากระบวนการให้สร้างสรรค์ได้มากมายกว่านั้น เพียงแต่ต้องชัดเจนในจุดมุ่งหมาย และที่สำคัญ สมาชิกต้องข้ามพ้นฐานะทางความคิดที่สำคัญ  ที่ตนเองเชื่อและหมายมุ่งจะทำ การข้ามพ้นในที่นี้ ก็เพื่อให้ค่ายอาสา ไม่ตอบสนองเพียง ความต้องการของสมาชิกออกค่าย ความต้องการทางความเชื่อขององค์กร สถาบัน ผลักให้กิจกรรมเช่นนี้ ดำรงตนสืบสานตอบสนองจนกลายเป็นงานประเพณีเรียกว่า “ค่ายอาสา” มากกว่า กิจกรรมที่ล้อไปกับสถานการณ์ของสังคม 
ภาพเช่นนั้น คือภาพค่ายอาสา ที่หลุดลอยออกไปจาก ระบบคุณค่า ที่พึงก่อเกิดประโยชน์ต่อสังคมที่สุด
        ในยามเช้าเกือบทุกวัน ผมมักจะเดินไปดูเห็ดโคนกับพ่อจับ ซึ่งระยะแรกๆ มักจะขึ้นที่โคนต้นทุเรียนของพ่อ เป็นความตื่นเต้นที่พ่อเองก็อยากบอกลูกหลาน ว่า นี่ไม่ใช่เกิดขึ้นง่ายๆ ดินต้องดี ป่าต้องสมบูรณ์ ฝนพอประมาณ อุณหภูมิพอดี ก่อเห็ดพุ่มใหญ่จึงจะขึ้นได้
 เรื่องเห็ดนี้ วันแรกๆ  ก็มีคนมามุ่งดูเห็ดกับพ่อจับ แต่วันหลังๆ คนก็น้อยลง เห็ดก็เหือดหาย ไม่มีใครตื่นเต้นในสิ่งที่พ่อจับตื่นเต้น เหลือผมกับด้วง ที่ปักหลัก 24 ชม.บริเวณครัว ที่ซึ่งพ่อจับมักแวะมาหาสนทนาแลกเปลี่ยน และกรึ๊บยาดองให้อุ่นท้อง ก่อนมื้อเย็น  และคำๆ หนึ่งที่หลุดจากปากพ่อในเย็นวันหนึ่ง คือ 
        “พ่อมานั่งตรงนี้แล้วสนุกดี คุยกันรู้เรื่อง มันคอเดียวกัน เน๊อะลูก”


        ชาวอาสา พูดถึงชุมชน อยากไปชุมชน อยากช่วยชุมชน อยากช่วยเด็กๆ แต่ละเลยองค์ความรู้ของพ่อเฒ่าแม่เฒ่า ค่ายอาสาที่ทำโรงเรียนไปมากมายก็จริง ด้านหนึ่งก็ไม่ต่างกับการทำสถานที่คุมขัง แล้วก็ปล่อยให้เด็กๆ หลุดพ้นออกไปจากชุมชน จนเนิ่นนาน อีกด้านก็ทำสถานที่ไว้กดทับความรู้ที่สั่งสมมาจากวิถีของพ่อแก่แม่เฒ่า แล้ววันหนึ่ง คนเหล่านั้นก็กลับบ้าน มาเพื่อดูแคลนองค์ความรู้ของพ่อเฒ่าแม่เฒ่าตนเอง ที่หาอยู่หากินเลี้ยงเราเองแท้ๆ
        ก่อนชาวค่ายมาถึง พ่อจับ ตบแต่งทางเดินรอบๆ โรงเรียนร้อยหวัน เป็นทางเดินไปเก็บผัก ซึ่งมีผักหายาก ผักพื้นบ้าน ผักอร่อยๆ ยอดนิยมรสชาติเยี่ยมประจำปักษ์ใต้ พ่อจับเฝ้ารดน้ำสวนสมรม เพื่อให้ภูมิปัญญาการเกษตรแบบพอเพียงของพ่อ กลายเป็นตำราให้ชาวค่ายได้เรียนรู้  ที่คนแต่โบราณชาญฉลาดหาวิธีปลูกไว้เก็บกินทั้งปี แต่กระนั้น ก็ยังกระตุ้นให้สมาชิกชาวค่าย หันมาสนใจได้น้อยมาก บางครั้งก็อดถามไม่ได้ว่า เราจะพัฒนาชุมชน ไปจนถึงปลดปล่อยได้ยังไง เพราะแม้แต่องค์ความรู้ของชุมชน ที่ร้อยรัดแทรกซ้อน ดำรงให้เป็นวิถีชุมชน ยังไม่มีใครเปิดพื้นที่ให้ได้แสดงตนบ้าง 
        นานมาแล้ว ที่ผมได้แต่หวังว่า “ค่ายอาสา” ที่กล่าวถึงกันนักหนา ไม่ใช่ค่ายอาสาที่หมายถึง ไปใช้แรงงาน ไปเล่นกับเด็กๆ ไปสนุกสนานกันเอง เท่านั้น แต่หมายถึง ไปสร้างมันสมอง ปัญญา คิดวิเคราะห์ มองเห็นความจริง ของสังคม ด้วย 
และสำหรับใครหลายคน เลิกเถียงได้แล้ว ว่า นั่น “ค่ายสร้าง !” นี่  “ค่ายศึกษา !” เพราะค่ายอาสา ธาตุแท้ คือกระบวนการพัฒนาคนหนุ่มสาว ให้มีจิตสาธารณะ ทำหน้าที่พลเมือง ใส่ใจการพัฒนาสังคม ชุมชนบ้านเกิดตนเอง 
ค่ายอาสาฯ เป็นเครื่องมือ สร้างสรรค์คนหนุ่มสาวให้ ดำเนินชีวิตในสังคม อย่างรู้บทบาท หน้าที่พลเมือง หลังพ้นจากมหาลัยไปแล้ว  ก็เท่านั้น

 

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม