มุมมอง นักพัฒนารุ่นใหม่ ต่อบทบาทรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

2395 05 Oct 2021

ThaiNGO  :  ที่ผ่านมา ตั้งแต่ รัฐประหาร ( 2557) จาการติดตาม คิดว่า มีความคืบหน้า ในการแก้ไข หรือไม่อย่างไร ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ ทั้งในการนำของ คสช. และรัฐบาล ซึ่งนำโดยคนๆ เดียว

We Watch :   we watch  ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาการเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เริ่มทำงานตั้งแต่การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 เราพบว่า การทำงานที่ผ่านมาของ พลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา และองคาพยพ ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ตรงกันข้าม กลับสร้างปัญหา และขัดขวางการแก้ไขปัญหาทั้งสองเรื่องนี้ กล่าวคือ เรื่องการเลือกตั้ง เดิมทีการเลือกตั้งไทยมีปัญหาหลายประการ เช่น การซื้อเสียง ส.ส. ไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนในช่วงการหาเสียง การขาดการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรณรงค์เกี่ยวกับการเลือกตั้งและสังเกตการณ์การเลือกตั้ง และขาดประสิทธิภาพในการตรวจสอบการทุจริตการเลือกตั้ง เป็นต้น แต่ภายหลังการทำงานของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ ปัญหาเหล่านี้ยังคงมีอยู่ และที่สำคัญคือ มีปัญหาใหม่เกิดขึ้น เป็นปัญหาที่กระทบกับอำนาจอธิปไตยของประชาชนอย่างมาก นั่นคือ มีการตรารัฐธรรมนูญที่จำกัดอำนาจของประชาชนในการเลือกนายกรัฐมนตรี ด้วยการกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งมาจากการแต่งตั้งขององคาพยพของ พลเอก ประยุทธ์ สามารถออกเสียงลงคะแนนร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้ ระบบการเลือกตั้งที่ออกแบบขึ้นใหม่ที่จำกัดทางเลือกของประชาชนในการเลือกผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ละเลยมาตรฐานความเป็นตัวแทนด้วยสูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อแบบใหม่ (คะแนนเพียง 30,000 ก็ได้เป็น ส.ส.)  และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยองคาพยพของตนเอง แทน กกต. ชุดเดิม ทำให้มาตรฐานเรื่องความเป็นอิสระของ กกต. ถูกทำลาย และเป็นพื้นฐานของปัญหาความโปร่งใส่ในการจัดการเลือกตั้งซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

ส่วนเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนนั้น ประชาชนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างเสรี เนื่องจากรัฐบาลใช้กลไก ต่าง ๆ ปิดกั้น ทั้งการใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่รับรองอำนาจพิเศษของ คสช. ศาลทหาร รวมถึงกลไกอื่น ๆ ที่ไม่น่าไว้วางใจ 

ขณะที่ความพยายามของประชาชนและพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่เรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ กลับถูกขัดขวางโดยรัฐบาลด้วยกลไกต่าง ๆ ดังที่กล่าวข้างต้น 

ThaiNGO  :  ในกรณี ปัญหา...ที่ทำงานอยู่   ปัญหาสำคัญ คือ อะไร  และ คุณมีแนวคิด หรือ ทางแก้ไข อย่างไร ทั้งในเชิงนโยบาย เร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว

We Watch  :   ปัญหาสำคัญของการพัฒนาการเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน คือ การบ่อนเซาะอำนาจอธิปไตยของประชาชน ประชาชนถูกลดอำนาจในการกำหนดผู้แทนและรัฐบาล รวมถึงอำนาจในการมีส่วนร่วมทางการเมืองด้านต่างๆ การบ่อนเซาะนี้ถูกกระทำโดยกลไกที่มิได้มีที่มาจากประชาชน และรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

กลไกที่มิได้มีที่มาจากประชาชน คือ คสช.  กระทำการยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้กระบวนการประชาธิปไตยหยุดชะงัก ขาดความสม่ำเสมอในการจัดการเลือกตั้ง (ที่ต้องจัดการเลือกตั้งทุกๆ 4 ปี) ออกกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญให้ตนเองใช้อำนาจได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ออกแบบการเลือกตั้งให้เสียงของประชาชนสำคัญน้อยลง และแต่งตั้งกลไกทางการเมืองต่างๆ โดยที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน

รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญปี 2560 รับรองให้ คสช. ใช้อำนาจโดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ กำหนดให้การเลือกตั้งลดทอนอำนาจของประชาชนในการเลือกผู้แทนและรัฐบาล รับรองอำนาจของกลไกทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมากกว่าการรับรองอำนาจของประชาชน และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถคุ้มครองอำนาจของประชาชนจากการใช้กฎหมายอื่นๆ ในการจำกัดสิทธิของประชาชน เช่น มีการใช้ พ.ร.บ. การจราจร โดยเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง

แนวทางเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาคือ แก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราที่สำคัญ เช่น ยกเลิก ส.ว. แต่งตั้ง โดยกำหนดให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งแทนยกเลิกอำนาจของ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส.  ยกเลิกที่มาของกลไกทางการเมืองที่แต่งตั้งโดย คสช. และให้กลไกเหล่านั้นมีที่มาจากการแต่งตั้งของสภาผู้แทนราษฎรแทน ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และต้องกำหนดให้ชัดเจนถึงการจัดการเลือกตั้งที่เกิดความโปร่งใสและมีส่วนร่วมจากประชาชน เช่น กำหนดให้ กกต. เปิดเผยผลคะแนนรายหน่วยแบบเวลาจริง หรือเรียลไทม์ ให้มีการเปิดเผยผลคะแนนรายหน่วยอย่างเป็นทางการ ภายใน 1 สัปดาห์หลังวันเลือกตั้ง ถ่ายทอดสดการนับคะแนนและรวมผลคะแนนรายหน่วยเลือกตั้งและศูนย์อำนวยการการเลือกตั้งแต่ละเขต และกำหนดให้แต่ละหน่วยเลือกตั้ง ศูนย์อำนวยการฯ ประจำอำเภอ และศูนย์อำนวยการฯ ประจำเขต มีผู้สังเกตการณ์ที่เป็นประชาชนทั่วไป ผู้สังเกตการณ์ของพรรคการเมือง และผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้ง

ระยะต่อไปคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การถกเถียงในประเด็นสำคัญ การออกแบบ การเลือกตัวแทนในการร่าง และการลงประชามติ

 

ThaiNGO  :  มองการว่า การเมือง ภาคประชาชน ควรจะมีบทบาท หรือไม่ อย่างไร ในสถานการณ์นี้ ครับ

 

We Watch  :  การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ประชาชนเลือกผู้แทนเพื่อดำรงตำแหน่งในองค์กรทางการเมืองต่างๆ เช่น รัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และอื่นๆ เพื่อใช้อำนาจแทนประชาชนในด้านต่างๆ ขณะเดียวกันประชาชนสามารถตรวจสอบ ส่งเสริม ไล่ออก/เลือกใหม่ และกระตุ้นการทำงานของผู้แทนและองค์กรเหล่านั้น รวมถึงต่อกลไกต่างๆ ของรัฐได้ ผ่านทั้งในระดับปัจเจกและการรวมกลุ่มกัน หรือเรียกว่า “การเมืองภาคประชาชน” เพื่อทำให้การดำเนินการด้านต่างๆ ตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชนให้มากที่สุด

ดังนั้น  หากองค์กรที่เป็นตัวแทนของประชาชน กฎหมาย และกลไกต่างๆ ของรัฐขัดขวางอำนาจอธิปไตยของประชาชน ดังเช่นในปัจจุบัน จึงต้องมีปฏิบัติการที่แข็งขันของการเมืองภาคประชาชน โดยเริ่มจากการสร้างพลังของการเมืองภาคประชาชน ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วประเทศ แลกเปลี่ยนข้อมูล จัดทำแนวทางในการแก้ไขปัญหา และผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหา ทั้งในระดับตัวบุคคล องค์กร และกฎหมาย เช่น หากประชาชนพิจารณาแล้วเห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถรักษาผลประโยชน์ของประชาชน หรือขัดขวางอำนาจอธิปไตยของประชาชน ก็ดำเนินการผลักดันให้รัฐบาลลาออก เพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งมาทำงานแทน และหากประชาชนเห็นว่ารัฐธรรมนูญทำลายอำนาจอธิปไตยของประชาชน ประชาชนสามารถผลักดันให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตามกระบวนการประชาธิปไตยที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอนได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์ปัจจุบัน เราเห็นว่า การปกป้องและขยายเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นใน “พื้นที่สาธารณะ” ที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการถกเถียง/แลกเปลี่ยนนั้น ควรเป็นวาระร่วมกันของทุกปัจเจคและกลุ่มก้อนที่จะประสานความร่วมมือกัน

 

ภูมินทร์  พาลุสุข  (ตึ๋ง) ผู้ประสานงานอาสาสมัคร We Watch

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม