ข่าวเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติจัดงานวันผู้ย้ายถิ่นสากล พร้อมเปิดสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ

3331 22 Dec 2018

เรียนพี่ๆ สื่อมวลชนทุกท่านค่ะ เครือข่าย MWG ขออนุญาตส่งรูปและข่าวประชาสัมพันธ์งานวันผู้ย้ายถิ่นสากลปี พ.ศ. 2561 มาให้พี่สื่อมวลชนค่ะ ในงานมีวิทยากรหลายท่านขึ้นพูดเนื้อข่าวเลยยาวหน่อยค่ะ เผื่อพี่ๆสื่อมวลชนจะสนใจท่านใดเป็นพิเศษเราทำซับเฮดข่าวไว้ให้พี่ๆ ในการพิจารณาด้วยค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

===========

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติจัดงานวันผู้ย้ายถิ่นสากล พร้อมเปิดสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ ระบุยังมีแรงงานไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติกว่า 8 แสนคน ซึ่งไม่ตรงกับตัวเลขของรัฐบาลที่มีเพียง 1 แสนคนเท่านั้น  ขณะที่ตัวเลขแรงงานไทยทำงาน ตปท. 4 หมื่นคน  ส่งเงินกลับไทยทะลุ 1.2 แสนล้านต่อปี พร้อมชง 8 ข้อเสนอ แก้ปัญหาแรงงาน ส่วนเวทีเสวนา แกะรอยแรงงานผีน้อยเกาหลี สู่คนขายโรตีที่ไทย เราจะอยู่ในบทบาทไหนเมื่อแรงงานหมุนรอบตัวคุณ”  งานวิจัยเผย แรงงานไทยในเกาหลีทะลุ 1.6 แสนคน ถูกกฎหมายแค่ 14 เปอร์เซ็นต์ ระบุคนภาคอีสานไปทำงานที่เกาหลีเยอะสุด เผยชะตากรรมแรงงานขึ้นอยู่กับนายจ้าง ชี้ความเหลื่อมล้ำในประเทศเป็นแรงผลักสำคัญ ขณะที่นักวิชาการเชื่อ แรงงานข้ามชาติช่วยค้ำจุนเศรษฐกิจไทย แนะรัฐ หาจุดสมดุลระหว่างความมั่นคง - เศรษฐกิจในการเคลื่อนย้ายแรงงาน ด้านนายจ้างไทยเรียกร้องรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำกัดนิยามคำว่า ห้ามขายของหน้าร้านใหม่เหตุเป็นช่องว่างให้เกิดการจับกุมแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม ส่วนศิลปินจัดวางชื่อดัง อดีตแรงงานข้ามชาติ วอนให้โอกาสการจดทะเบียนการเกิด  โอกาสทางการศึกษาจนจบปริญญาตรี สิทธิในการได้รับสัญชาติไทยของลูกหลานแรงงานข้ามชาติเพื่อประโยชน์ของไทยเองในอนาคต

 

                เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group-MWG) ได้จัดงานวันผู้ย้ายถิ่นสากลปี พ.ศ. 2561 (International Migrants Day 2018) พร้อมทั้งจัดเสวนาในหัวข้อ “MIGRANT IS AROUND” แกะรอยแรงงานผีน้อยเกาหลี สู่คนขายโรตีที่ไทย เราจะอยู่ในบทบาทไหนเมื่อแรงงานหมุนรอบตัวคุณ เนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากลปี  2561

                นายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานในรอบปีที่ ผ่านมาว่า นโยบายการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ตามมติคณะรัฐมนตรี 16 มกราคม 2561 มียอดแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมายจำนวนทั้งสิ้น 1,187,803 คน ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จในการปิดฉากมาตรการผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายสามารถอยู่และทำงานในประเทศไทยได้นับตั้งแต่ปี 2535   อย่างไรก็ตามก็ยังมีข้อกังขาถึงความสำเร็จในการดำเนินการครั้งนี้ ทั้งในเรื่องการจัดการศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จที่มีภาพความแออัด และความวุ่นวายในการดำเนินการ  นอกจากนั้นยังพบว่ารัฐบาลมีการเสนอตัวเลขแรงงานที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการพิสูจน์สัญชาติที่ไม่ตรงกัน และรัฐบาลไม่สามารถยืนยันได้ว่ากลุ่มเป้าหมายของจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ต้องผ่านการพิสูจน์สัญชาติแท้จริงเป็นจำนวนเท่าใด  ซึ่งความไม่ชัดเจนในการนำเสนอตัวเลขของรัฐบาล ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าอาจมีแรงงานข้ามชาติที่ตกหล่นและยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติมากถึง 811,437 คน ไม่ใช่จำนวน 132,232 คน ตามที่เป็นข่าว

                รัฐได้แถลงยืนยันว่าจะดำเนินการจับกุม ดำเนินคดีและส่งกลับกลุ่มแรงงานที่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ตามกำหนด และเริ่มมีข่าวการกวาดล้างจับกุมแรงงานมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา  โดยไม่ได้ตรวจสอบสาเหตุของการที่แรงงานไม่สามารถเข้าถึงระบบการพิสูจน์สัญชาติได้ตามที่นโยบายได้ขีดเส้นตายไว้  โดยพบว่ามีชาวเมียนมามุสลิมพบกับอุปสรรคไม่สามารถผ่านการพิสูจน์สัญชาติได้    เพราะมีสาเหตุจากการไม่มีเอกสารจากประเทศเมียนมา เช่น บัตรประจำตัวประชาชน  ทะเบียนบ้าน  และทางการเมียนมาไม่ออกเอกสารให้ ดังนั้นจึงมีสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมาย และมีความเสี่ยงต่อการถูกจับกุมส่งกลับ ซึ่งยังมีข้อกังขาถึงความปลอดภัยสำหรับคนกลุ่มนี้ หากประเทศไทยมีการดำเนินการส่งกลับไปยังประเทศต้นทางจริงนายอดิศรกล่าว

                นายอดิศร กล่าวว่า ยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือ อุบัติเหตุในการเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศตามนโยบายของรัฐ ในช่วงปี 2561 มีการนำเสนอข่าวการเกิดอุบัติเหตุจากการเดินทางขนส่งแรงงานข้ามชาติ อย่างน้อย 5 ครั้ง โดยส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุทางรถยนต์ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางเข้ามาทำงาน หรือเดินทางกลับไปยังชายแดน  สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ปลอดภัยในการเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย เฉพาะในพื้นที่จังหวัดตาก ได้เกิดอุบัติเหตุไปแล้วถึง 3 ครั้ง ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติกลุ่มที่นำเข้ามาทำงานกับนายจ้างตามระบบ MoU 

          บินขายแรงงานเมืองนอก เงินเข้าประเทศ1.2 แสนล.ต่อปี

                ขณะที่การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ เป็นนโยบายที่ต่อเนื่องของกระทรวงแรงงาน ปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศประมาณ 155,356 คน ซึ่งในปี 2561 ได้จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 40,000 คน ในประเทศที่เป็นตลาดแรงงานที่สำคัญ อาทิ ไต้หวัน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น อิสราเอล และสิงคโปร์ รวมถึงประเทศแถบตะวันออกกลาง และยุโรป คน ซึ่งสามารถส่งเงินกลับประเทศปีละกว่า 120,000 ล้านบาท แต่พบว่ายังมีแรงงานไทยจำนวนมากที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ผ่านกระบวนการจัดส่งของรัฐบาล ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการหลอกลวงแรงงานไทยให้ไปทำงานต่างประเทศของนายหน้า  เช่น กรณีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้

                ทั้งนี้จากข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าปัจจุบันมีคนไทยทำงานอยู่ในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมายมากกว่า 100,000 คนซึ่งถือว่าเป็นจำนวนสูงสุดเมื่อเทียบกับชาติอื่น ๆ ในขณะที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของเกาหลีได้ระบุว่าจำนวนคนไทยที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตัวเลขเดือนพฤษภาคมปีนี้สูงกว่าปีที่แล้วถึง 57 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ต้องมีมาตรการแก้ไขอย่างเข้มข้น จากมาตรการที่ดำเนินการอย่างเข้มงวดของประเทศปลายทาง ส่งผลให้แรงงานไทยที่เข้าไปทำงานอย่างผิดกฏหมายต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการถูกจับกุม ส่งกลับ หรือมีคุณภาพชีวิตที่เลวร้าย มีความเสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบและสภาพการจ้างงานที่เลวร้าย

นายอดิศร กล่าวว่า ยังพบปัญหาการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ และการเสียชีวิตของแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศเกิดขึ้นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุจากการทำงาน และการเจ็บป่วยจากสภาพการอยู่อาศัยที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งไม่ได้รับการดูแลคุ้มครองตามสัญญาจ้าง ซึ่งกระทรวงแรงงานได้พยายามที่จะออกมาตรการต่าง ๆ มาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ก็ยังเป็นเพียงมาตรการตั้งรับ และยังคงต้องทำงานอย่างต่อเนื่องในส่วนของมาตรการเชิงรุกในระยะยาว

เปิดงานวิจัยผีน้อยเกาหลี

                นายดนย์ ทาเจริญศักดิ์ เจ้าของงานวิจัยเรื่อง "แรงงานผีน้อยไทยในเกาหลี" (A Study of Thai ‘Illegal worker’ in South Korea) เปิดเผยข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่คลุกคลีกับแรงงานไทยในเกาหลีนานกว่า 1 ปี 7 เดือนว่า ที่มาที่ไปของงานวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ เป็นเพราะได้เรียนปริญญาโทที่ประเทศเกาหลี และมีความสนใจ เรื่องแรงงานไทยในเกาหลี จึงตั้งใจตั้งแต่ก่อนไปว่าจะทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเหตุผลส่วนตัวมีข้อกังวลเกี่ยวกับ แรงงานผิดกฎหมายที่ขาดสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยจุดที่น่าสนใจคือ แรงงานส่วนใหญ่ทราบในความเสี่ยงทั้งหมดนี้ จึงต้องการหาเหตุผลของการเกิดแรงงานผิดกฎหมาย   ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่า แรงงานไทยในเกาหลีมีมานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยมีจำนวนแรงงานไทยในเกาหลีประมาณ 168,711 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย 24,022 คน คิดเป็นร้อยละ 14 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างจำนวน 28 คน แบ่งเป็นชาย 10 คน หญิง 18 คน โดยมีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด จำนวน 11 คน รองลงมาคือ ภาคเหนือ 6 คน ภาคตะวันออก และกรุงเทพฯ ภาคละ 2 คน ภาคใต้และภาคกลางภาคละ 1 คน ที่เหลือ 5  คนไม่ระบุภูมิลำเนา

                 “แรงงานไทยในเกาหลีมีมานานแล้ว แต่เพิ่งมาบูมในยุคหลัง เพราะมีคนไทยได้แต่งงานกับคนเกาหลีในภาคแรงงาน คนกลุ่มนี้จึงเป็นผู้ดึงให้แรงงานไทยไปเป็นแรงงานที่เกาหลี  ซึ่งในมุมมองของตน เห็นว่าแรงงานไทยที่เกาหลี จะพึ่งพาอาศัยและช่่วยเหลือกันดี  ส่วนรูปแบบของการไปเป็นแรงงานผิดกฎหมายนั้น มีลักษณะเดียวคือ วีซ่าท่องเที่ยวและอยู่เกินเป็นโอเวอร์สเตย์ บางคนอยู่นาน 4-5 ปี  ซึ่งงานที่ไปทำส่วนใหญ่ จะเป็นงานที่คนเกาหลีไม่อยากทำ งานโรงงาน งานภาคเกษตร แต่ปัจุบันการจ้างงานเปลี่ยนไป คือ คนไทยสามารถทำงานที่ดีขึ้นได้ ถ้าอยู่นานๆ บางคนก็เป็นล่าม หรือ ร้านสะดวกซื้อก็นิยมจ้างแรงงานผิดกฎหมายมาทำงาน รวมไปถึงร้านอาหารของเกาหลีด้วย"นายดนย์กล่าว

                นายดนย์ กล่าวว่า  ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงานผิดกฎหมายนั้น ส่วนตัวเห็นว่า ทุกคนต่างก็มีปัญหา  ไม่ว่าจะเป็นแรงงานถูกกฎหมายหรือไม่  ต่างก็เจอปัญหาที่หนักไม่แพ้กัน ในบางครั้งสถานะของแรงงานผิดกฎหมายยังมีสถานภาพที่ดีกว่าแรงงานถูกกฎหมายเสียอีก หากได้เจอนายจ้างดีๆ  ที่ดูแลเหมือนคนในครอบครัว พาไปกินข้าวในร้านอาหารไทย แต่ถ้าเจอนายจ้างไม่ดี แม้เป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย มีประกันสุขภาพ แต่เมื่อไม่สบายนายจ้างไม่พาไปหาหมอก็ไปไม่ได้  ดังนั้นปัจจัยสำคัญจึงขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างด้วย

                การโยกย้ายเพื่อทำงานเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ คนบางกลุ่มก็ตามหาโอกาส ในขณะที่เกาหลีก็มีความต้องการแรงงานในระดับที่สูง จริงๆ แล้วเกาหลีเองก็ปิดตาข้างหนึ่ง ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องมองเป็นภาพใหญ่ เพราะไม่ใช่เฉพาะประเทศเราประเทศเดียว แต่เป็น Globalization  หน่วยงานต่างๆ ควรที่จะยอมรับและส่งเสริมมากกว่า  เพราะเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานเกิดขึ้นตามธรรมชาติ และ คนเกาหลีก็ต้องการ ต้องมองอยู่บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ก่อน ไม่ใช่มองว่าเป็นแรงงานผี แล้วจะทำอะไรยังไงกับเขาก็ได้" นายดนย์กล่าว

                วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ยังมีข้อบ่งชี้ด้วยว่า การมาทำงานแรงงานนอกประเทศนั้นจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น หากปัญหารากเหง้าทางการเมืองในไทยไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุดคือความเหลื่อมล้ำหรือปัญหาความยากจน ต่อให้แรงงานเหล่านี้ไม่สามารถหางานได้ในเกาหลี เขาเหล่านี้ก็จะมองหาโอกาสในการทำงานที่ประเทศอื่นๆต่อไป 

สำหรับปัญหาแรงงานผิดกฎหมายในความจริงเกิดขึ้นทั่วโลก โดยส่วนมากจะเป็นแรงงานจากประเทศที่สาม เดินทางไปยังประเทศที่หนึ่งที่พัฒนาแล้ว แสดงให้เห็นว่าตราบใดที่ยังขาดการพัฒนาอย่างเท่าเทียม (inequality development) ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายข้ามชาติก็จะเกิดขึ้นต่อไป โดยที่สถานภาพสังคมปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขได้

          นักวิชาการ ชี้ แรงงานข้ามชาติค้ำจุนเศรษฐกิจไทย

                ด้านศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความสำคัญของแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ว่า แรงงานฐานราก ได้ค้ำจุนสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ซึ่งในสังคมที่มีไม่มีเทคโนโลยี หรือ เทคโนโลยีไม่ทันสมัย ต้องอาศัยแรงงานในการผลิต ในสังคมไทยตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยเติบโตด้วยแรงงานข้ามชาติทั้งสิ้น โดยเฉพาะในรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4  ที่ใช้แรงงาน หรือ กุลีจีน ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น เพราะในขณะนั้นแรงงานไทยถูกตรึงด้วยระบบศักดิ์นา และ การใช้แรงงานในท้องนาท้องไร่ เศรษฐกิจไทยจึงเติบโตด้วยระบอบพหุวัฒนธรรมกลายมาเป็นสังคมไทยจนถึงวันนี้  ถ้าปราศจากแรงงานเหล่านี้ เศรษฐกิจไทย จะไม่เติบโตแบบนี้  

                ศาสตราภิชาน แล กล่าวว่า การจัดการที่เหมาะสมต่อสถานการณ์เคลื่อนย้ายแรงงานนั้น มองว่ามีความขัดแย้งกันระหว่างมุมมองด้านความมั่นคง ที่ไม่อยากให้เคลื่อนย้ายแรงงานมากนัก แต่ถ้าระบบเศรษฐกิจปราศจาก การเคลื่อนย้ายแรงงาน ระบบเศรษฐกิจก็จะพัง เพราะจำนวนประชากรของไทยลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นแรงงานข้ามชาติจึงมีความสำคัญในการค้ำจุนเศรษฐกิจไทย ภาครัฐเองจะต้องหาจุดสมดุล ระหว่างมุมมองเรื่องความมั่นคง และเศรษฐกิจ  โดยรัฐไทย ต้องมีความยืดหยุ่น และต้องมีความคล่องตัว พร้อมเห็นว่า การจดทะเบียนแรงงาน ควรทำให้กระบวนการลักษณะที่ง่าย และคล่องตัวมากกว่านี้ เพราะแม้ว่าจะจัดให้มีจุดวันสต็อปเซอร์วิส แต่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ซึ่งทำให้มีปัญหาในเวลาที่จะต้องแก้ไขปัญหา ต้องขอมติครม.ทุกครั้ง ดังนั้นแทนที่จะต้องขอมติจากครม. ควรเปลี่ยนเป็นการอนุมัติจากหน่วยงานที่มีอำนาจแทนจะดีกว่า

                รัฐบาลแก้ไขปัญหาแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยภาคเอกชน และเอ็นจีโอ เพราะรัฐบาลไม่ทราบถึงความต้องการของเอกชน หรือ ภาคแรงงาน แต่เอ็นจีโอจะรับรู้ว่า พวกผู้ใช้แรงงานต้องการอะไร ดังนั้นมองว่ารัฐบาลควรลดบทบาทในการเป็นผู้ควบคุม ให้เอกชน นายจ้าง ได้แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะยังมีเอกชนที่ยังกล้าๆ กลัวๆ ในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหานี้อยู่ศาสตราภิชานแล ระบุ 

                นายจ้างแฉ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในชั้นตำรวจ

                ขณะที่นางดวงใจ เหมฮีม เจ้าของร้านโรตีฟาติมะห์  ที่ลูกจ้างถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวทั้งที่เป็นแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  ได้กล่าวว่า วันเกิดเหตุมีลูกเขย อยู่กับลูกจ้างที่ร้าน มีตำรวจเข้ามาจับกุม ซึ่งทราบในภายหลังว่าถูกกลั่นแกล้ง โดยร้านข้างๆ ที่เป็นผู้ชี้ตัว โดยในขณะนั้นลูกเขยได้บอกว่าลูกจ้างคนนี้ มีบัตรถูกต้องตามกฎหมาย แต่เอกสารทุกอย่างเก็บไว้ในรถที่จอดอยู่ในลานจอดรถ แต่ตำรวจไม่ให้เดินไปหยิบเอกสาร บอกให้ไปโรงพัก ก่อนที่จะคุมตัวไป ซึ่งตนได้ตามไปที่โรงพัก และนำเอกสารทั้งหมดไปแสดงต่อตำรวจ โดยลูกจ้างคนนี้ เพิ่งเปลี่ยนนายจ้าง และอยู่ระหว่างการดำเนินการออกเป็นบัตรแข็ง ซึ่งมีเอกสารที่รับรองโดยกรมการจัดหางานทุกอย่าง ว่านายจ้างใหม่คือเรา แต่ตำรวจได้โยนเอกสารคืน ทั้งที่ได้อธิบายข้อเท็จจริงทุกอย่างไปแล้ว จากนั้นจับลูกเขยและลูกจ้าง เข้าคุก

                เรารีบไปกดเงินเพื่อมาประกันตัว ตำรวจบอกว่า คนละ  5 หมื่นบาท แต่สุดท้ายประกันได้แต่ลูกเขย เพราะตำรวจบอกว่าลูกจ้างต้องใช้เงินประกัน  2 แสนบาท  ทำให้ลูกจ้างถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำ เพราะติดวันเสาร์ อาทิตย์ และหยุดต่อเนื่องถึงวันจันทร์ ถูกโกนผม และทราบว่าโดนรับน้องด้วย เราสงสารเด็กมาก เพราะอยู่ด้วยกันมานาน เหมือนคนในครอบครัว แต่เรายืนยันจะสู้คดี เพราะทำทุกอย่างถูกต้อง  มีหลักฐานทุกอย่าง ตำรวจยังบอกกับเราด้วยว่าจะสู้ทำไม เสียค่าปรับแค่ 5,000 บาท แล้วส่งลูกจ้างกับประเทศง่ายกว่า แต่เราทำไม่ได้ เขาก็เป็นคนเหมือนกับเรา ทำงานด้วยกันมา ถ้าเขาถูกส่งตัวกลับไปแล้วก็จะไม่ได้กลับมาอีก แล้วคนที่บ้านเขาจะอยู่ยังไงนายจ้างกล่าว

                นางดวงใจ กล่าวถึงการต่อสู้ทางกฏหมายว่า  มีทนายความของกลุ่มนายจ้างผู้ใช้แรงานต่างด้าวให้ความช่วยเหลือในเรื่องเอกสารเวลาขึ้นศาล แต่ค่าใช้จ่ายทางคดีต่างๆ ต้องรับผิดชอบเอง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระบวนในชั้นของตำรวจ ที่ใช้ดุลพินิจแบบนี้ คือไม่ผ่อนปรนให้ไปหยิบหลักฐานในรถ แต่คุมตัวไปโรงพักทันที ทั้งนี้เหตุผลตนเองเลือกใช้แรงงานต่างด้าวนั้น เป็นเพราะคนเหล่านี้มีความขยัน อดทน อยู่ยาว ถ้าจ้างคนไทย นอกจากจะเรียกค่าจ้างสูงทั้งที่ทำอะไรไม่เป็นแล้ว หลายคนทำงานไปได้สักระยะพอที่จะทำเป็นก็จะลาออก บางทีก็หายไปเฉยๆ โดยไม่ร่ำลา

                นางดวงใจ ยังเรียกร้องให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำกัดคำนิยามของคำว่า ห้ามขายของหน้าร้านให้แคบลง ว่าหมายถึงลักษณะใดบ้าง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทั้งตัวนายจ้าง และลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติ รวมถึงการอนุญาตให้ลูกจ้างสามารถจำหน่ายอาหาร ที่หมายถึงทุกขั้นตอนตั้งแต่การผลิต การขาย รวมทั้งรับเงิน ทอนเงินด้วย

                ด้านนายเนติธร ประดิษฐ์สาร  รองกรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เครือซีพี มีศูนย์การผลิต 22 ประเทศ มีพนักงานกว่า 3 แสน5 หมื่นคนทั่วโลก โดยมีการจ้างงานแรงงานข้ามชาติด้วย ซึ่งบริษัทในเครือทำทุกอย่างตามกฎระเบียบและกฎหมายที่กำหนด โดยได้ตรวจสอบว่ามีการละเมิดมาตั้งแต่ต้นทางหรือไม่ โดยได้ตรวจสอบย้อนกลับไปถึงเอเย่นต้นทาง รวมถึงและตรวจสอบย้อนกลับว่าคู่ค้าของบริษัทในเครือใช้แรงงานถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้เครือซีพีฯ กำลังอยู่ระหว่างการออกนโยบายว่าด้วยการจ้างแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้การจ้างงานเป็นไปด้วยความเป็นธรรม

          เปิดเส้นทางสู่การได้สัญชาติ จุดพลิกผัน แรงงานข้ามชาติถึงศิลปินชื่อดัง  

                ขณะที่นายศรชัย พงษ์ศา ศิลปินจัดวางชื่อดัง  อดีตแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า ครอบครัวของตนอพยพหนีภัยการเมืองจากประเทศเมียนมาโดยพ่อกับแม่ เดินทางโดยเกวียนเลาะมาตามสันเขาแนวชายแดน ซึ่งปักหลักที่อ.สังขละบุรี ก่อนที่จะโยกย้ายไปอยู่ที่อ.ไทรโยค โดยตนและพี่สาวเกิดที่ประเทศไทยทั้งหมด โดยคลอดที่บ้านมีหมอตำแยทำคลอดให้ ทำให้ไม่มีใบเกิด ไม่มีหลักฐานอะไร ซึ่งพ่อได้บอกเสมอว่า เมื่อโตขึ้นจะพากลับบ้านที่เมียนมา จนกระทั่งแม่เสียชีวิตลง พ่อของตนติดเหล้า ตนและพี่จึงเริ่มออกไปรับจ้างขุดมันสำปะหลัง

                พ่อไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษา เพราะคิดว่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ วันหนึ่งต้องกลับบ้านที่นู้น ทำให้พี่สาวไม่ได้เรียนหนังสือ แต่เราไม่อยากอยู่บ้าน อยากไปโรงเรียนจึงไปเรียนโดยที่ไม่มีเอกสารอะไร ไม่มีวุฒิการศึกษา จุดเปลี่ยนในชีวิตคือตอนที่ตำรวจประกาศว่าจะส่งผู้อพยพกลับประเทศต้นทาง ทำให้พี่สาวที่ไปเป็นแรงงานในโรงงานมะพร้าว ที่สมุทรสงคราม ติดต่อให้ไปอยู่ด้วย เราจึงไปอยู่ที่นั่น และเริ่มเข้าสู่เส้นทางของแรงงานต่างด้าว ด้วยการรับจ้างขนกากมะพร้าวนายศรชัยกล่าว

                นายศรชัย กล่าวว่า "เมื่อมาอยู่สมุทรสงครามเราจะเห็นความแตกต่างระหว่างคนไทย กับคนต่างด้าวชัดเจนขึ้น แต่เราไม่รู้สึกแปลกแยกกับคนไทย คิดว่าตัวเองก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง หลังจากที่เรียนไปทำงานใช้แรงงานไปจนกระทั่ง ม. 3 ต้องสอบ O-net ซึ่งต้องใช้เอกสาร หลักฐานการเกิด บัตรประชาชน แต่ตนกลับไม่มี จึงคิดได้ว่านี่เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องมีให้ได้ ซึ่งระหว่างนั้นตนเองสอบตรงเข้าที่ม.ศิลปากรได้ แต่ด้วยความที่ไม่มีบัตรประชาชน อาจารย์เลยบอกให้เรียนไปก่อน และระหว่างการเรียนให้ไปทำบัตรประชาชน เมื่อจบจะได้วุฒิการศึกษา โดยหลังจากการต่อสู้เรื่องบัตรประชาชนนานกว่า 2  ปีครึ่ง ในที่สุดก็ได้บัตรประชาชนมา"

                ก่อนหน้านี้ผมและครอบครัว ต้องจ่ายเงินให้นายหน้า ซึ่งทำหน้าที่ในการสำรวจสำมะโนครัว คนละ 5,000 บาท ซึ่งจะต้องจ่าย 2 ครั้งต่อปี มาตลอด ขนาดมาอยู่สมุทรสงครามกับพี่สาวแล้ว ยังต้องกลับไปจ่าย โดยที่เราไม่รู้เลยว่าเงินที่เราจ่ายไปนั้นเป็นค่าอะไร ตอนหลังถึงรู้ว่า การสำรวจสำมะโนครัวประชากรในแต่ละพื้นที่เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เราไม่ต้องจ่ายเงิน แต่นายหน้าอ้างว่าถ้าจ่ายก็จะได้อยู่ในประเทศไทย ไม่ถูกส่งตัวกลับนายศรชัย กล่าว

                นายศรชัย มองว่า การให้โอกาสและการจัดการที่เหมาะสมที่จะเป็นประโยชน์ต่อแรงงานข้ามชาติ และประเทศไทย คือโอกาสที่เด็กๆจะได้รับใบเกิดและได้รับการศึกษาจนจบปริญญาตรี รวมถึงโอกาสที่จะได้รับสัญชาติไทย  รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ที่เท่าเทียมกัน เช่น การให้ทุนการศึกษา หรือ สิทธิพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้เขาสามารถพัฒนาตัวเอง จนมีความสามารถในการพัฒนาประเทศได้ รวมถึงการทำความเข้าใจถึงสิทธิที่พึงมีของแรงงานข้ามชาติด้วย

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม