3023 08 Nov 2018
โลกปัจจุบันกำลังกลายเป็นโลกที่มนุษย์แยกแยะของจริงของเทียมของแท้ของดี ไม่ดี ไม่ได้เลย เพราะกระแสสื่อ ข้อมูลใหม่ๆ ซึ่งถูกค้นพบ ถูกหหยิบมาใช้ช่วงชิง ยึดครองระบบคิด ความรู้ การวิเคราะห์ของเราตลอดเวลา พูดให้ง่าย เราหนีไม่พ้นการจมในวังวนข้อมูลการบริโภคที่ทุนหรือผู้ผลิต ผู้ขาย กรอกหู ตา เราทุกวัน
นับว่าเป็นยุคสมัยที่ท้าทายคนทำงานด้าน คุ้มครองผู้บริโภคอย่างมาก นายศตคุณ คนไว ผู้ปฏิบัติงานสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่หาได้น้อยมาก ที่สนใจทำงานพัฒนาด้านคุ้มครองผู้บริโภค ที่ซึ่งเชื่อว่างานหล้นมือและปัญหาล้นกำลัง
ThaiNGO : สถานการณ์คุ้มครองผู้บริโภค ในภาคอีสาน ร้อนแรงแค่ไหน ประเด็น อะไรหลักๆ ?
นายศตคุณ : ผมเริ่มเข้ามาทำงานประเด็นงานคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อปี ๒๕๕๖ และไปเป็นทหารเกณฑ์ช่วงปี ๒๕๕๗-๒๕๕๘ หลังจากนั้นก็กลับมาทำงานคุ้มครองผู้บริโภคต่อจนถึงปัจจุบัน (อยู่ระหว่างการเรียนรู้งาน)
ประเด็นปัญหาของผู้บริโภคที่เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนขับเคลื่อนงานกันมาทั่วประเทศ จำแนกออกมาได้ ๗ ประเด็น แต่ประเด็นที่เกิดปัญหาอยู่บ่อยครั้งสำหรับผู้บริโภคคือ ๑.บริการสาธารณะ เรื่องอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เช่น อุบัติเหตุรถทัวร์โดยสารสองชั้นโดยเฉพาะเส้น ๓๐๔ (เขาปักธงชัย) ที่จะเกิดเหตุอยู่ทุกปี ๒. เรื่องการโฆษณาอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่เกินจริงและผิดกฎหมาย กลุ่มเป้าหมายหลักที่ซื้อสินค้าเหล่านี้มาใช้คือ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุที่อยู่ติดบ้าน และปัญหาอื่นๆก็ยังมีอยู่ถึงแม้จะมีหน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่ก็ตาม
ThaiNGO : แล้วเราดำเนินงานอย่างไร บ้าง ได้ผลหรือไม่ ? เพราะว่าปัญหานี้เห็นทุกวัน ทุกสื่อ จนเหมือนว่าการละเมิดสิทธิ์ผู้บริโภคนั้น กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว
นายศตคุณ : บริการสาธารณะ เรื่องอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เดิมทำงานเชิงรับคือ เฝ้าระวังผ่านสื่อ รับเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ไลน์, อีเมล์, เพจและโทรศัพท์ แต่การทำงานแบบนี้ทำให้ผู้ร้องเรียนเข้าไม่ถึงแนวคิดของการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค แก้ไขรายกรณีจบไปแล้วมาแก้ไขปัญหาใหม่ ต่อมาจึงขับเคลื่อนงานเชิงรุกมากขึ้น เช่น การลงพื้นที่แจ้งสิทธิให้กับผู้บริโภคโดยมีการนำแกนนำในพื้นที่ร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกัน การรวมกลุ่มผู้ประสบเหตุเพื่อสะท้อนปัญหาและแก้ไขเชิงนโยบาย ทำให้สิทธิของผู้บริโภคมีมากขึ้นตามกฎหมาย แต่ก็ยังเข้าไม่ถึงสิทธิเนื่องจากขั้นตอนการเรียกร้องสิทธิต้องใช้เวลา
ส่วนเรื่องการโฆษณาอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่เกินจริงและผิดกฎหมายการดำเนินงานที่ผ่านมามีการเฝ้าระวังแบบเชิงรุก เช่น นั่งบันทึกเทปรายการวิทยุ เฝ้าระวังการโฆษณาจนถึงขั้นจับปรับ ในช่วงแรกสถานีวิทยุตื่นตัวอย่างมากเพราะถูกปรับหลายหมื่นบาทและเสี่ยงต่อการถูกยุบสถานีวิทยุ และสิ่งที่ตามมาอีกเรื่องหนึ่งคือ ผู้ประกอบการสถานีวิทยุที่อยู่จังหวัดอื่นๆมีการโฆษณาเหมือนกันแต่ไม่ถูกปรับ เพราะไม่มีคนเฝ้าระวัง ไม่มีผู้ร้องเรียน ซึ่งสะท้อนกลับมาให้เห็นว่าหน่วยงานที่กำกับติดตามของแต่ละพื้นที่ทำงาน หรือขั้นตอนการทำงานของหน่วยงานเหล่านี้ควรดำเนินงานเป็นเครือข่ายเชื่อมร้อยกันทั้งประเทศหากจะแก้ไขปัญหา เพราะหน่วยงานที่กำกับดูแลมีกฎหมายรองรับอยู่เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัย
ผลของการดำเนินงาน เมื่อย้อนกลับมาดูก็จะพบว่าเมื่อขับเคลื่อนที่ไหนผลมันก็จะเกิดที่นั่น หากหยุดเคลื่อนงานการดำเนินงานที่ผ่านมาก็จะหยุดนิ่ง เพราะเราไม่ใช่หน่วยงานที่มีความพร้อมด้านงบประมาณและบุคลากรที่เพียงพอ ซึ่งตนคิดว่าเป็นปัจจัยหลักที่จะสามารถทำให้งานขับเคลื่อนได้
ThaiNGO : มาตรการในการดูแลหรือคุ้มครองผู้บริโภค ในปัจจุบันซึ่งก็อย่างที่เข้าใจ มีกระแสสินค้า โฆษณา มอมเมา หลอกลวงผู้บริโภค เยอะมาก เราคนทำงานจะปรับแผนงานยังไง
นายศตคุณ : ต้องยอมรับความจริง ว่า ปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนหรือ หน่วยงานภาครัฐ ถือว่ายังตามไม่ทันผู้ประกอบการที่จ้องจะเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น การโฆษณาขายสินค้าที่ไม่ปลอดภัยหรือผิดกฎหมาย เมื่อถูกจับปรับก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบการโฆษณาเปลี่ยนรูปแบบสินค้า กฎหมายไม่คุ้มครองบุคลากรหรือองค์ที่ดำเนินงานเพื่อปกป้องสิทธิหรือคุ้มครองผู้บริโภค โดยจะเห็นจากการที่หมอถูกฟ้องจากการออกมาเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาเกินจริง ผิดกฎหมายทำให้ผู้ปฏิบัติงานเสียกำลังใจ การดำเนินงานที่ผ่านมาจึงเป็นแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ คือ เหตุเกิดแล้วจึงค่อยแก้ไข ครับ
ThaiNGO : ปัญหา หลักๆ จริงๆ ที่ทำให้ยังมีการก่อปัญหา มีการกระทำละเมิด หลอกลวงผู้บริโภค ฯลฯ คืออะไร และแนวทางแก้ไข น่าจะเป็นอย่างไร
นายศตคุณ : ปัจจุบันมีหน่วยงานของภาครัฐที่มีบทบาทหน้าที่ในการการคุ้มครองผู้บริโภคแทบทุกจังหวัด เช่น สคบ., สสจ., พาณิชย์จังหวัด เป็นต้น แต่ติดปัญหาคือบุคลากรของหน่วยงานเหล่านั้นมีจำนวนจำกัด ทำให้การขับเคลื่อนงานไม่คล่องตัว การที่มีองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคของภาคประชาชนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนร่วมกันจะทำให้มีเครือข่ายการทำงานเพิ่มมากยิ่งขึ้น และในปัจจุบันการสื่อสารเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัยอย่างง่ายดายไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่เป็นเท็จหรือเป็นจริง การเพิ่มหลักสูตรการคุ้มครองผู้บริโภคเข้าไปเป็นวิชาเรียนหนึ่งเพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ได้รับรู้ช่องทางร้องเรียนหรือช่องทางเรียกร้องสิทธิจะทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าเอาเปรียบผู้บริโภคเพราะผู้บริโภครู้เท่าทัน ครับ
ThaiNGO : เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ มาทำงานรับภาระสังคมเหนื่อยไหม ?
นายศตคุณ : การทำงานคุ้มครองผู้บริโภค หากเปรียบเทียบกับประเด็นงานเคลื่อนไหวอื่นๆทางสังคม ยังถือว่าไม่หนักเท่าไร จะมีแรงบันดาลใจให้ทำงานต่อทุกครั้งเมื่อเราได้ช่วยเหลือผู้ร้องเรียนให้ได้รับการแก้ไขปัญหา ซึ่งการทำงานเรื่องนี้ เหมือนเป็นเรื่องตายตัวอยู่แล้วเพราะมีกฎหมายรองรับปัญหาของผู้บริโภค เพียงแต่ต้องทำให้ผู้บริโภค เข้าถึงสิทธิของและเรียกร้องสิทธิของตน และสิ่งที่เหนื่อย คือ การทำงานกับผู้ ร่วม ขับเคลื่อนงานที่ทำให้ตนเองหมดแรงบันดาลใจ เบื่อหน่ายกับคำพูดที่บั่นทอนจิตใจ ซึ่งตนคิดว่าทุกคนพัฒนาได้โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะพัฒนาตนเองเสมอ
แต่ตอนนี้อายุ ๒๖ ปี และแต่งงานมีครอบครัวแล้ว และมีหนี้สินติดตัวคือ กยศ.ที่ต้องชำระในแต่ ละปี ค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่อาจจะเพิ่มขึ้นอนาคตต้องวางแผนชีวิตครอบครัว วางแผนการใช้เงินอย่างมีระเบียบ การวางแผนครอบครัวจึงเป็นเรื่องหนักใจของผม ซึ่งฐานะทางครอบครัวไม่ใช่คนมีฐานะแต่อยากทำงานรับใช้สังคม ครับ
.
อัฎธิชัย ศริเทศ
ทีมงานไทยเอ็นจีโอ รายงาน
05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม