“ภาวะผู้นำ” ในทัศนะของศาตราจารย์ ดร. ฏอริก รอมฎอน

1579 26 Jul 2022

ขอบคุณ ภาพจาก : https://themomentum.co/momentum-feature-negative-views-that-europeans-think-about-muslim-immigration/

 

 

 

อิมรอน  โสะสัน[1]

 

“ความเข้าใจ” “ความมั่นใจ” “ความมีอิสระ” “ความคิดเชิงวิพากษ์” เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับความรับผิดชอบต่อตัวเองในมิติด้านจิตวิญญาณและต่อชุมชนในมิติการทำงานร่วมกันที่ชุมชนพึงมี จากนั้นจึงจำเป็นต้องเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่เรียกว่า “ความตระหนักในการลำดับความสำคัญต่อภารกิจของทุกคน”

 

อิสลามเป็นรากฐานที่สำคัญ

ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอนมีความเชื่อว่า ไม่มีอะไรเป็นที่น่าสงสัย คำสอนอิสลามคือรากฐานความเชื่อของเรา แต่กระนั้นการเปิดกว้างก็มีความจำเป็น เราควรเปิดรับความรู้ต่างๆจากวัฒนธรรม ศาสนาอื่นๆ ไม่ว่าจะมาจากศาสนาคริสต์ ศาสนายิว ไม่เพียงเท่านั้น ท่านบอกว่า ยังมีค่านิยมทางปรัชญาต่างๆหรือแม้แต่นักคิดที่สามารถช่วยให้เราเข้าใจหลักคำสอนของเราได้ เราเองก็ควรจะเรียนรู้จากพวกเขาด้วยเช่นกัน

“ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องรู้ว่า เรามาจากไหน? เรากำลังใช้ชีวิตร่วมกับใคร? และเรามีอะไรที่จะร่วมแลกเปลี่ยนกับพวกเขา? คำถามเหล่านี้ไม่ได้หมายถึงว่า เรากำลังหลงลืมหลักการของความเชื่อที่เรายึดมั่น แต่หลักการของเราจะต้องไม่เป็นหลักการที่ปิดกั้น” ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน เน้นย้ำหลักการนี้อีกครั้ง

 

ความเป็นอิสระ และเป็นตัวของตัวเอง

เมื่อเราพยายามที่จะพูดเกี่ยวกับผู้นำและภาวะผู้นำจากมุมมองของอิสลาม ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน  กล่าวว่า เราจะต้องมีความเข้าใจต่อการมีอิสระ (independence ) และการเป็นตัวของตัวเอง (autonomy) โดยทั้งสองสิ่งได้นำเราให้กลับไปสู่การพิจารณาหลักการของอิสลามอย่างมีนัยสำคัญอีกครั้ง เช่น ขณะที่เราสอนลูกๆ เพื่อให้พวกเขามีการศึกษา ในทางกลับกัน เรากำลังสอนตัวเอง เพราะว่าวันหนึ่งเราจะต้องกลับไปพบกับพระผู้เป็นเจ้าเพียงลำพัง ผมพยายามให้การศึกษาแก่ลูกชาย ลูกสาวของผม เพราะพวกเขาจะต้องกลับไปสู่เบื้องหน้าพระผู้เป็นเจ้าโดยลำพังเหมือนๆกับเรา ผมกำลังหมายถึงว่า เราจะต้องเผชิญกับภาระความรับผิดชอบของเราเองในฐานะปัจเจกบุคคลหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในบางกรณี “ภาวะผู้นำ” มีความหมายรวมกับสิ่งที่กล่าวมา  “ภาวะผู้นำ” จะต้องตระหนักถึงความเป็นอิสระและการเป็นตัวของตัวเอง วันหนึ่งเราต้องตอบสนองการเรียกร้องจากผู้ทรงสร้าง “โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย” มันเป็นการเรียกร้องที่ส่งผลต่อมโนธรรมสำนึกของเรา ส่งผลถึงสติปัญญาและหัวใจของเราอย่างถึงที่สุด

 

วุฒิภาวะ มีอิสระ และสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง

ในทางปรัชญา เราควรเป็นผู้ซึ่งเปี่ยมไปด้วยวุฒิภาวะ มีอิสระ และสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ภาวะผู้นำหมายถึงสามสิ่งนี้ ย้อนกลับไปสู่สมัยของท่านศานทูตมูฮัมมัด (ขออัลลอฮ์โปรดประทานเมตตาและสันติแก่ท่าน) ทำไมท่านคือผู้นำ? หากพิจารณาจะพบว่าบรรดากัลยาณมิตร (ซอฮาบะฮ์) ของท่าน (ทุกคนคือผู้นำที่ตามผู้นำของพวกเขา) จะพบว่า คนที่พวกเขาตามนั้นมีคุณลักษณะของครู/ผู้ถ่ายทอดอยู่ในตัวของผู้นำ ใครก็ตามหากปราศจากความเป็นตัวเองทางด้านปัญญา เขาจะขาดคุณลักษณะความเป็นครู/ผู้ถ่ายทอด บรรดาซอฮาบะฮ์จึงเป็นผู้นำเพราะพวกเขามีคุณลักษณะเหล่านั้น พวกเขามีความรู้ สติปัญญาที่เป็นตัวของตัวเอง พวกเขาสามารถคิด วิเคราะห์จากสติปัญญาที่พวกเขามีผ่านการถ่ายทอดจากครูของพวกเขา ด้วยเหตุนี้ เราจึงให้ความเคารพและให้เกียรติพวกเขา

 

บ้านของเรา

ครั้นเมื่อศาสนทูตมูฮัมมัด (ขออัลลอฮ์โปรดประทานเมตตาและสันติแก่ท่าน) ถูกต่อต้านและปฏิเสธจากบรรดาพวกพ้องของท่าน เฉกเช่นเดียวกันกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัยในบรรดาศาสนทูตก่อนหน้าท่าน ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะมันสื่อถึง “อะไรก็ตามที่พวกเขากล่าวถึงฉัน พวกเขาคือประชาชนของฉัน” นั่นคือแนวคิดของผู้นำ แนวคิดที่ได้มาจากชีวประวัติของบรรดาศาสนทูตของผู้ทรงสร้าง

            ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน เสริมในประเด็นนี้ว่า บรรดาพวกประชานิยม กลุ่มขวาจัด หรือแม้แต่บรรดาคนที่กลัวอิสลามโดยที่ไม่ได้ศึกษาอิสลามอย่างถ่องแท้ อะไรก็ตามที่พวกเขากล่าวหามุสลิม (ในโลกตะวันตก) จงบอกพวกเขาไปว่า “นี่คือบ้านของเรา” มุสลิมต้องคิดบวกและเป็นผู้ให้กับสังคมอย่างสร้างสรรค์  หากว่าเรายังปลูกฝังความคิดในการแบ่งแยก “พวกเขา” “พวกเรา”ให้เกิดขึ้นในสังคมที่เราอาศัยอยู่ ความคิดเชิงบวกย่อมเกิดขึ้นได้ยาก กล่าวในทางจิตวิทยา เราจะค้นพบว่า ระหว่างการช่วยเหลือเกื้อกูล (ลงมือทำ) กับวิสัยทัศน์เพียงอย่างเดียวย่อมต่างกันอย่างสิ้นเชิง

             ขณะที่เรากำลังฝึกอบรมผู้นำ ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน ได้ตั้งคำถามสำคัญๆแก่ผู้นำไว้ว่า ท่านจงบอกข้าพเจ้าถึงความเป็นตัวของตัวเองว่าเป็นอย่างไร? อะไรบ้างที่ท่านต้องการนำเสนอให้แก่สังคม? มีแนวทางใดบ้างที่ผู้นำต้องการมอบให้เป็นขวัญแก่สังคมนี้ ? (ท่านอธิบายว่า...ผู้นำคือของขวัญที่ดีที่สุดของสังคม) มีใครบ้างที่ท่านกำลังนึกถึง? ท่านจะเชื่อมโยงกับสังคมที่ท่านอาศัยอยู่อย่างไร?  แน่นอน ไม่ใช่แค่การเชื่อมโยงเฉพาะเพื่อนบ้านใกล้เคียง แต่จะต้องคิดถึงการเชื่อมโยงที่กว้างไกลออกไปด้วยเช่นกัน ท่านกล่าวต่อไปว่า “เราไม่สามารถที่จะเชื่อถื่อข่าวสารข้อมูลที่ได้มาจากสื่อทางโทรทัศน์ หรือวิทยุเพียงอย่างเดียว แต่เราจะต้องค้นหาความจริงจากชุมชน สังคมรอบๆตัวด้วย”

 

ใช้คุณภาพให้ถูกที่ถูกเวลา

เมื่อกล่าวถึงคุณลักษณะและคุณภาพของผู้นำ ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน เน้นย้ำว่า ผู้นำไม่ใช่ผู้ให้เท่านั้น แต่ผู้นำจะต้องสามารถรับฟังผู้อื่น (รับฟังชุมชนและสังคมด้วย)  ในมิติหนึ่งจากภาวะผู้นำของศาสนทูตของเรา ท่านได้ยอมรับคุณภาพของบรรดากัลยาณมิตรของท่านเพื่อนำมาปรับใช้ให้ถูกที่ถูกเวลาเสมอ หากท่านต้องการมอบหมายภารกิจท่านจะพิจารณาถึงภารกิจและมองหาบุคคลที่เหมาะสมต่อภารกิจเหล่านั้น เช่น เมื่อท่านต้องการผู้ที่มีคุณลักษณะที่เข้มแข็ง น่าเกรงขาม  ท่านอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ  คือตัวเลือกที่สำคัญ หรือคนที่เปิดกว้างและเข้าใจความรู้สึกของประชาชน ท่านอบูบักร อัศศิดดีก คือตัวเลือกที่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้ ควรใช้ “คุณภาพ” ในการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมให้เข้ามาทำหน้าที่รับใช้สังคม เพราะท่านศาสนทูตของเราจะคัดเลือกบุคคลด้วย“คุณภาพของพวกเขา”

แน่นอน....เรารู้ดีว่าสังคมของเรากำลังเผชิญกับปัญหาอะไร (context) และเราก็รู้ดีว่าบุคคลที่มีคุณลักษณะแบบใดที่เหมาะสมสำหรับภารกิจ ท้ายที่สุด เราจะรู้ว่าใครในสังคมของเราที่มีคุณภาพเพียงพอต่อความรับผิดชอบเพื่อให้ภารกิจของเราลุล่วงไปได้

“ผู้นำคือผู้รับใช้ หากผู้นำต้องการนำ เขาต้องรับใช้  ผู้นำต้องใช้ความรู้ ความสามารถ เข้ามาช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาของประชาชน” ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน  กล่าวไว้

 

 

เมื่อความเป็นส่วนตัวปะทะกับเรื่องส่วนร่วม

เมื่อผู้นำถูกร้องถามให้รับใช้ พวกเขาจะต้องพิจารณาทั้งในส่วนมิติความเป็นส่วนตัวและมิติส่วนรวมอย่างเคร่งครัด มิติความเป็นส่วนตัว หมายถึง ประการแรกที่ผู้นำจะต้องรับใช้คือตัวของผู้นำเอง ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เราขอพร แบบอย่างท่านศาสนทูตได้สอนเราว่า เราจะต้องขอพรให้กับตัวเองก่อนและหลังจากนั้นเราจึงขอพรให้กับผู้อื่น เราเริ่มจากตัวเรา เพราะเราต้องมีความระมัดระวังในสิ่งที่เราขอจากพระผู้เป็นเจ้า หากเราเริ่มจากชุมชน อาจเป็นไปได้ว่าเรารับใช้ผู้อื่นโดยที่เราลืมดูตัวของเราเอง เรามีความเกี่ยวพันกับกิจกรรมมากมายก็จริงแต่มันทำให้เราลืมดูแลหัวใจของเราด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผู้นำจะต้องมีความเข้าใจในประเด็นนี้ก่อนเป็นอันดับแรก ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน เสริมว่า “ในมิติด้านจิตวิญญาณ เราต้องเริ่มต้นจากตัวของเราก่อน เราขอพรจากพระผู้ทรงสร้างให้ประทานพรเพื่อช่วยให้เราขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ ด้วยเหตุที่ว่า เราสามารถหลงลืมตัวตนของเราได้ สิ่งนี้นำมาสู่การละเลยต่อมิติอื่นๆอีกมากมาย”

การชำระล้างหัวใจให้บริสุทธิ์

ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน กล่าวว่า ท่านศาสนทูตได้แนะนำพวกเรา “ให้ขอพรในยามค่ำคืนและเปลี่ยนโลกในตอนกลางวัน แต่ทว่า เราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้เลย หากเราหลงลืมบางอย่างในเวลากลางคืน เราไม่สามารถไปถึงความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ ถ้าเราไม่ได้รับการช่วยเหลือจากพระผู้ทรงอภิบาลของเรา”

ด้วยเหตุนี้ อาจกล่าวในเชิงเปรียบเทียบได้ว่า ระหว่างกลางคืนนั้น เราต้องเรียนรู้ที่จะปลีกวิเวกเพื่อคิด ทบทวนตัวของเรา ภารกิจที่เราได้รับ เนื่องจากว่า “ภาวะผู้นำ” ไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่าประสิทธิภาพการทำงานที่เห็นเป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่มันหมายถึงประสิทธิภาพภายในจิตใจของเรา มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “จริธรรม” “ความบริสุทธิ์ของจิตใจ” และ “อารมณ์” ดังนั้น จงเริ่มต้นจากตัวของเราก่อนเสมอ

 

ระหว่างมุสลิมที่กระตือรือร้นกับมุสลิมที่คอยก่อกวน

ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน ได้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างมุสลิมสองจำพวก ได้แก่ มุสลิมที่กระตือรือร้น (Active Muslim) กับมุสลิมที่คอยก่อกวน (Agitator Muslim) ท่านให้นิยามว่า มุสลิมที่กระตือรืนร้นพวกเขาจะรู้ว่าพวกเขากำลังจะไปไหน (รู้ทิศทางที่ชัดเจน) ซึ่งต่างจากกลุ่มหลังที่ไม่มีความแน่นอน พวกเขาทำสิ่งต่างๆมากมาย แต่พวกเขาขาดวิสัยทัศน์ และสูญเสียการกำหนดทิศทางเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน มุสลิมที่กระตือรือร้นมีวิสัยทัศน์เป็นของตนเอง มีความอิสระ สามารถยืนหยัดด้วยตัวของตัวเอง และมีความมั่นใจในตัวเอง

 

ความเป็นตัวของตัวเอง การช่วยเหลือ และประชาชนของเรา

ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน ได้เน้นว่า เราต้องพิจารณาสามมิติต่อไปนี้ คือ 1) ความเป็นตัวของตัวเอง        2) การช่วยเหลือ และ 3) ประชาชนของเรา ท่านกล่าวว่า “ประชาชนของเราหมายถึงผู้คนที่เราร่วมอาศัยอยู่กับเขา คนที่เราต้องคำนึงถึงว่า เราจะมีแนวทางการบริจาคซะกาต (ศาสนบริจาค) ให้กับพวกเขาอย่างไร? เพราะต้องตระหนักว่า  คนจน คนยากไร้เหล่านั้น วันหนึ่งเขาต้องกลับไปสู่พระผู้เป็นเจ้า และจะถามเราถึงสิทธิ์ของพวกเขา เพราะเราอยู่กับเขา” ท่านศาสนทูตบอกเรา “นี่คือประชาชนของเรา เรามีคนจน คนยากไร้อยู่ที่นี่ พวกเขาต้องการความช่วยเหลือจากเรา” ด้วยเหตุนี้ อิสลามสอนถึงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ให้พิจารณาสิ่งรอบตัวที่ใกล้ชิดกับเราก่อน หลังจากนั้นค่อยคิดถึงมิติอื่นๆต่อไป

 

 

ชุมชนมุสลิมในอังกฤษ

ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน ได้ยกตัวอย่างชุมชนมุสลิมในอังกฤษเป็นกรณีศึกษา เมื่อเราพูดถึงการรับใช้ชุมชนมุสลิมในอังกฤษ ท่านได้ตั้งคำถามว่า เราจะรับใช้ชุมชนมุสลิมของเราอย่างไร? ท่านบอกว่า จุดเริ่มต้นในการรับใช้ประชาชน คือ “การรู้จักพวกเขาอย่างถ่องแท้ โดยเข้าใจในสองประการดังนี้ 1) รู้จักลำดับความสำคัญของความรู้ในอิสลาม ซึ่งมีความหมายและมีความเฉพาะในตัวของมัน และ 2) ต้องรู้จักประเทศและเข้าใจบริบทของชุมชนที่เราอาศัยอยู่” สองสิ่งนี้จะช่วยให้เรารู้จักประชาชนในประเทศของเรา

เราต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

“เราต้องการประชาชนของเราในหลากหลายสาขาวิชาชีพ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และเราต้องการคนของเราเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Specialist) ด้วยเหมือนกัน ดังนั้น อย่าเป็นผู้รู้เพียงผิวเผิน (superficial) ท่านจงเลือกสาขาที่ท่านจะอยู่กับมัน เราทุกคนต้องทำงานหนักเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เราเลือก ซึ่งมันสื่อถึงทักษะความเชี่ยวชาญในระดับที่สูงขึ้น” ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน กล่าวเน้นถึงความสำคัญ

 

ประเด็นพหุวัฒนธรรม

ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน กล่าวว่า นักประชานิยม (Populist) กำลังทำเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง พวกเขามีแนวทางสำหรับประเด็นพหุวัฒนธรรม ได้แก่ 1) มีคำตอบง่ายๆต่อคำถามที่ซับซ้อน 2) “สร้างความเป็นอื่น”ให้กับคนอื่น (creation of others) ความเป็นอื่นในวันนี้ หมายถึง “มุสลิม” พวกเขาทำให้อิสลามมีความเป็นอื่น โดยบอกว่า “อิสลามไม่ใช่ศาสนาของยุโรป” “อิสลามไม่ใช่ศาสนาของชาวอเมริกัน” อิสลามเป็นอื่นในสังคมของพวกเขา กล่าวคือ มุสลิมกลายเป็นเหยื่อของอาณานิคมที่พวกเขาสร้างขึ้นมา พวกเขากำลังก่อตั้งอาณานิคมให้กับมุสลิมอีกครั้ง และกำลังปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นเหยื่อให้มุสลิม นี่คือ การเมืองว่าด้วยเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก (This is emotional politics.)

 

การบูรณาการเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน ย้ำเตือนเสมอ “การบูรณาการหรือการผสมผสานชาวมุสลิมในยุโรปได้สิ้นสุดลงมานานแล้ว” (Integration is over) มุสลิมในปัจจุบันคือ ผู้ให้ และผู้สนับสนุนการเจริญเติบโตในยุโรป อิสลามคือศาสนาของชาวยุโรป และศาสนาของชาวอังกฤษ เพราะแผ่นดินนี้เป็นบ้านของมุสลิม นี่คือจุดยืนที่ชัดเจนและเป็นจุดยืนเชิงบวก (positive position) ที่จะต้องตระหนัก คำว่า “บูรณาการ” มันจบไปนานแล้ว “ความสำเร็จของการบูรณาการคือการหยุดพูดถึงการบูรณาการ” เราต้องเดินไปข้างหน้า และอย่าคิดสร้างวิธีการนี้ขึ้นมาอีกเลย

“พึงรู้ไว้เถิด! สิ่งที่พวกเขาประชาสัมพันธ์ในเวทีระหว่างประเทศมีความต่างอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่พวกเขาทำในชุมชนของพวกเขา”........ “จงปล่อยให้พวกเขาทำและพูดต่อไป มุสลิมไม่ควรเสียเวลาในการตอบโต้ บางครั้งคำตอบที่ฉลาดที่สุดคือ...การนิ่งเงียบ” ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน ฉายภาพการบูรณาการในยุโรปและกล่าวเตือนสติมุสลิม.....

 

[1] PhD Candidate, School of Social Sciences and Public Policy, AUT University, New Zealand/ บทความนี้แปลและเรียบเรียงจากเนื้อหาที่ Dr Mozammel Haque เขียนสรุปไว้จากการบรรยายของ Professor Dr Tariq Ramadan ศาสตราจารย์ด้านอิสลามศึกษาร่วมสมัย มหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษ เรื่อง Vision and Leadership in the Muslim Communities of Britain ในการประชุมที่ the Muslim Council of Britain’s MCB LDP Alumni Dinner, จัดขึ้น ณ the Muslim Cultural Heritage Centre, London เมื่อวันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน 2011

 

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม