นโยบายแก้จน

581 22 Mar 2022

 

หากพูดจน กับ แนวทางแก้จน แล้วพูดจนตายก็ไม่จบ เมื่อไม่กี่วัน มีนโยบายนี้ออกมาให้ฮือฮาสนุกสนานกันแถมกำหนดเงื่อนเวลา ว่า ภายในเดือนกันยายนนี้ อีก 5-6 เดือนเราจะรวยแล้วหรือนี่?

ผมตื่นเต้นนอนไม่หลับเลย การเจรจาเรื่อง โครงการทำเบียร์จากข้าว ในอีกไม่กี่วัน น่าจะมาจาก นโยบายนี้ จริงๆเป็นเรื่องที่พูดคุยกันมานาน หัวใจก็คือแปรรูป ซึ่งผมก็พูดตลอด 10 กว่าปีที่มาทำเกษตร เพราะว่า ณ ปัจจุบันนี้ การทำเกษตรแบบขายผลผลิต หลายๆ ชนิด ผลที่ได้ไม่คุ้มทุน ไม่ว่าจะนา มันสำปะหลัง อ้อย ฯลฯ แต่ที่ยังทำอยู่เพราะไม่มีทางเลือกอื่น และไม่อยากให้ผืนดินร้าง ว่างเปล่า บวกกับดีกว่าอยู่เฉยๆ อย่างน้อย กรณีทำนา เหตุผลที่ชาวนายังทำ ก็คือ ได้ข้าวไว้กิน ได้ข้าวไว้ให้ลูกหลาน หรือ ขายในยามขัดสน ดังนั้น การแปรรูป คือการเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิต แต่ ปัญหาคือ มันไม่ง่าย

ประเด็นแรก คือ ทุนและประสบการณ์ ของชาวนา หรือเกษตรกร การจะขยับไปสู่งานการจัดการ การตลาด การเจรจา หาช่องทางต่างๆ ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ รัฐ ที่กาลสมัย คือ โยนไปให้ พช. บ้าง มหาดไทย บ้างซึ่งเป็นส่วนราชการ เป็นคนผลักดัน โดยถมเงินไปตามกลไก ซึ่งเงินก็หายไปตามทาง เพราะระบบราชการไทย มะเร็งร้ายสุดคือ การคอรัปชั่น

ประเด็นที่สอง มาตรการทางกฎหมาย ระเบียบ และ การปรับโครงสร้างการทำงาน ไม่ได้แก้ไขตาม ไม่เอื้อและไม่เกิดขึ้นจริง เพราะราชการ ทำงานเป็นโครงการ มีเริ่ม มีลงมือ แล้วก็ปิดจ็อบ ถ่ายรูป ทำรายงาน จากนั้นก็ทิ้งให้ กลุ่มชาวบ้าน หรือ วิสาหกิจ ผจญความล้มเหลว ส่วนราชการ ปีหน้าก็รอฟังนโยบาย ตัวใหม่จากรัฐบาล ทำแบบนี้มานานและจะทำต่อไป มันจึงไม่ก่อเกิด อานิสงส์ใดๆ ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะระดับฐานราก รายย่อย

ประเด็นที่สาม การพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ควรจะเน้นกลุ่ม องค์กร บริษัท วิสาหกิจ ขนาดเล็กๆ ที่กระจายทั่วประเทศ ที่มีศักยภาพ ที่พร้อมเติบโตพัฒนา เช่น De Simone ซึ่งรัฐแค่สนับสนุนทุนเพียงเล็กน้อย กับการปรับแก้กฎหมาย ให้เอื้อ ก็เท่านั้น

สินค้าบางอย่าง มีอนาคตไปถึงส่งออก ผลิตภัณฑ์บางชนิด ต้องจ้างแรงงาน ต้องพัฒนาทักษะแรงงาน  สินค้าบางประเภท สร้างมูลค่าได้หลายเท่าตัว และสินค้าบางตัว สามารถแปรรูปผลผลิตการเกษตรได้ทีละมากๆ ผลผลิตการเกษตรขายได้ แรงงานในท้องถิ่นมีงานทำ แถมไม่ต้องออกไปรับจ้าง ทิ้งห่างครอบครัว เท่านี้ก็ขึ้นบันไดเศรษฐกิจให้กระเตื้องแล้ว

การเน้น และมุ่งมาที่ ธุรกิจขนาดเล็ก เพราะ เป็นธุรกิจที่เอื้อมไปถึงชุมชน คนเล็ก คนน้อย เกิดการกระจายรายได้ การทำงาน และ ขยับขึ้นทั้งระบบ เพราะเป็นส่วนมาก ไม่ใช่เอื้อแต่ทุนใหญ่ อย่างที่ผ่านๆมา

ประการที่สี่ ประการสุดท้าย ตั้งเป้า กำหนดแผนงาน ระยะสั้น ระยะยาว ไปจนถึงยืนได้ ไม่ใช่ เอาแค่เผาๆ ให้จบโครงการ การตั้งเป้า การทำความเข้าใจ ไม่ใช่เอานักวิชาการ หอคอย มาเป็นที่ปรึกษา แต่ไม่มีพื้นฐานหรือวิสัยทัศน์ ที่สอดคล้องเหมาะสม มาดูแล วิสาหกิจ

การแก้จน ผมเชื่อว่ามันทำได้ แต่คนจะแก้ต้องเข้าใจ และวางแผนได้ ให้อำนาจหรือกระจายอำนาจการตัดสินใจมาที่จังหวัด รวมถึงงบประมาณ ไม่ใช่แค่กรวดน้ำไวน์ หรือ ตรวจอนุมัติฉลาก ก็ยังต้องส่งไปกรุงเทพ แล้วก็รอเป็นเดือน ซึ่งมันไม่ทันกิน ไม่ทันขาย ไม่ทันกระแสการตลาด

Event หรือ กิจกรรมหรือเทศกาล งานขาย คือ รากฐานเศรษฐกิจ ตลาด ความนิยม จะเป็นกำหนดการผลิต การปลูก ใครผลิต อะไรแล้วขายได้ รัฐพร้อมร่วมทุน สนับสนุน หรือ ผลักดัน มันต้องคิดแบบนี้ ไม่ใช่ โครงการไหนลงมา ก็หน้าเดิมๆ แล้วก็ห้อยท้ายเก่าๆ “เศรษฐกิจพอเพียง” 

ก่อนจะแก้จน ควรจะรู้ว่า จนอะไร ..... เพราะในทัศนะผม ผมว่ามัน จนปัญญา อันนี้มากที่สุด ครับ

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม