เชื้อดื้อยา : 1 ใน 10 อันดับภัยคุกคามด้านสุขภาพระดับโลก 

1404 23 Nov 2021

 

“WHOประกาศให้การดื้อยาต้านจุลชีพ  (Antimicrobial Resistance: AMR) เป็นหนึ่งใน 10 อันดับภัยคุกคามด้านสุขภาพระดับโลก ยาปฏิชีวนะและสารต้านจุลชีพอื่นๆ ช่วยชีวิตผู้คนนับล้านในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา น่าเสียดายที่การดื้อยาต้านจุลชีพ (AMR) เกิดขึ้น เมื่อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และปรสิตไม่ตอบสนองต่อยาอีกต่อไป ทำให้การติดเชื้อทั่วไปรักษาได้ยากขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรค การเจ็บป่วยที่รุนแรง และการเสียชีวิต” Dr Lianne Gonsalve, Technical Officer for AMR Awareness and Campaigns in WHO’s AMR Division กล่าว ในการประชุมออนไลน์ Global Media Forum เนื่องใน สัปดาห์ความตระหนักรู้เรื่องยาต้านจุลชีพโลก World Antimicrobial Awareness Week (WAAM) ซึ่งจัดขึ้นกลางเดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี 

 

ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณ 700,000 คน ทั่วโลก หากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง คาดว่าในปี ค.ศ.2050 อัตราการเสียชีวิตจะสูงถึง 10 ล้านคน จากข้อมูลของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข  ในปี 2562 ระบุว่า ประชาชนไทยน้อยกว่า 1 ใน 4 ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพและการใช้ยาปฎิชีวนะอย่างเหมาะสม ช่องทางที่ได้รับยาปฎิชีวนะนั้นมาจากกบุคลากรทางการแพทย์ร้อยละ 98 แต่ก็ยังมีบางส่วนได้รับยาผ่านทางช่องทางอื่นๆ เช่น ร้านขายของชำ สาเหตุในการใช้ยาต้านจุลชีพส่วนใหญ่ ร้อยละ 43 คือ ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ที่ไม่เหมาะสม ร้อยละ 50 ไม่ทราบว่า “ยาปฏิชีวนะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ ไม่สามารถรักษาไข้หวัดได้” และไม่ทราบว่า “ยาปฏิชีวนะ ไม่ใช่ยาแก้อักเสบ”  ร้อยละ 28 ยังเห็นว่าสามารถเก็บยาปฎิชีวนะไว้ใช้เพื่อรักษาการเจ็บป่วยครั้งต่อไปได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน 

 

ช่วงสัปดาห์การให้ความรู้เรื่องยาต้านจุลชีพโลก (18-24 พฤศจิกายน) ปีนี้ องค์การอนามัยโลก เชิญชวนทุกภาคส่วนเข้าร่วมในแคมเปญ GO BLUE for AMR โดยใช้สัญลักษณ์สีฟ้าอ่อนประดับสถานที่ หรือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกาย และ profile ใน Social Media เพื่อร่วมรณรงค์และกระจายความตระหนักรู้เกี่ยวกับการดื้อยาต้านจุลชีพ ภายใต้ธีม “ส่งต่อความรู้ สู่วิถีใหม่ หยุดภัยเชื้อดื้อยา” หรือ Spread awareness, stop resistance  ในส่วนของประเทศไทย นอกจากจัดงานสัปดาห์ความตระหนักรู้เรื่องยาต้านจุลชีพโลก 2564 แล้ว ในปีนี้  ยังเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในยกร่างแผนปฏิบัติการแห่งชาติด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ (พ.ศ. 2566-2570) ร่วมกันอีกด้วย 

#StopResistance #HandleWithCare #WorldAntimicrobialAwarenessWeek #WAAW

J. Jantanamalaka - CNS รายงาน

 

Global Media Forum จัดโดย Citizen News Service (CNS), Asia Pacific Media Alliance for Health and Development และ Media Action Nepal  

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม