ตอนที่ 10 "นายด้วง" นักเล่านิทานประจำค่าย

1069 03 Nov 2021

ค่ายอาสาฯร้อยหวัน พันธุ์ป่า ตอนที่ 10 "นายด้วง" นักเล่านิทานประจำค่าย
          -------
          “บอส บอส เดี๋ยวเล่านิทานให้ฟัง ฟังไหม๊ ?”  
          “ฟังหน่อยสิ บอส” ด้วงมักเรียกผมว่าบอส มาตั้งแต่ค่ายแม่ดึ๊แล้ว
          “ขำน่ะเรื่องนี้ โห้! บอส ! ” ด้วงคะยั้นคะยอผมให้ฟังนิทาน ทั้งๆ ที่มือก็ระวิงระไวกับการคนข้าวในกระทะใบใหญ่ ซึ่งร้อนระอุมือ
          “เรื่องมีอยู่ว่า มีตาแก่คนจีนครอบครัวหนึ่ง แกเป็นพ่อหม้าย แต่แกมีลูกสาว ซ๊วยยย สวย ซึ่งแกผูกพันรักและหวงแหน ลูกสาวคนนี้ มักม๊ากกกก.....
          วันหนึ่งลูกสาวสุดที่รักของแกก็จะแต่งงาน ใจแกหวงก็หวง และยังตัดใจไม่ได้ แกห่วงสารพัด เพราะลูกสาวก็เพิ่งแตกเนื้อสาวมาได้ไม่นาน อ่อนเยาว์ต่อโลกมาก ก็ทั้งกลัวทั้งวิตกนั่นแหละ ส่วนลูกสาวเองก็กลัวเหมือนกัน ไม่รู้ว่าชีวิตการมีสามีเป็นยังไง น่ากลัวไหม๊ เวลานอนกับสามีเขาจะทำยังไงบ้าง ยิ่งคิดก็ยิ่งวิตกไปหมด ก็ไประบายทุกข์ตรมระทมใจ ร้องไห้กับเตี่ย ต่างๆ นานา ตามประสาหญิงสาวที่ไม่เคยแผ้วผ่านมือชายหนุ่ม โดยเฉพาะคืนแรกของการเข้าห้องเข้าหอ 
ตาแก่ก็ปลอบใจลูกสาวไปว่า “ไม่ต้องกลัว มันเป็นธรรมชาติของผู้หญิงผู้ชาย เดี๋ยวก็เป็นเอง เอางี้ก็ได้“ ตาแก่ให้กำลังใจลูกสาว “คืนนี้เตี่ยจะไปแอบเฝ้าคอยฟังเสียงลูก ถ้าลูกลำบากไม่สบายยังไงให้เรียกชื่อเตี่ย แต่ถ้ามีความสุขดีให้ร้องเพลงชาตินะ” ตาแก่ก็จัดแจงบอกลูกสาว ซึ่งลูกสาวก็รับคำ เอาตามนั้น พอตกดึกสงัดคืนเข้าหอนั้นเอง ลูกสาวของตาแก่ก็ร้องลั่นบ้าน !!!!! เป็นเพลงชาติ   “เตี่ย เตีย เตี๊ย เตีย เตี้ย เตี๊ย เตีย เตี๊ยะ เตียยยยย..... อู๊ววว อุ๊ยย ตะ ตะ เตี่ย ตะ เตียยยย..”

          นายด้วง ( การัญ เพิ่มลาภ) เป็นเพื่อนชาวค่ายมาตั้งแต่ค่ายแรก คือค่ายแม่ดึ๊ แม่ฮ่องสอน เป็นชาวค่ายรุ่นเดียวกับ พิ้น แขก และ แจ๋ว  และมีอายุเท่ากันกับผมและแขก แต่เราน้อยกว่า นก รัตติกาล 1 ปี ซึ่งอาจจะด้วยวัย ด้วยประสบการณ์ชีวิต หรืออะไรไม่ทราบ ทำให้เราค่อนข้างคุยกันถูกคอ และสนิทใจ  ที่สำคัญ นายด้วงไม่เคยทำกิจกรรมค่ายอาสาฯ มาก่อนในสมัยเป็นนักศึกษา ดังนั้น จึงติดค่ายติดกิจกรรมเหมือนเด็กๆ นักศึกษาติดค่าย แต่กระนั้น ค่ายนี้ด้วง ไม่ได้มาเพียงเพื่อท่องเที่ยวหาความสำราญ หรือหาประสบการณ์เติมเต็มชีวิตตัวเองเท่านั้น แต่นายด้วงกลับลงมือลงแรง ช่วยงานได้มาก ทั้งในฐานะพ่อครัว ฝ่ายสวัสดิการ ในแง่บรรยากาศเฮฮา เปิดประเด็นสู่การสนทนา และวางบทบาทพี่คอยแนะนำวิธีคิดหรือมุมมองทางสังคม ในแง่การใช้ชีวิต ผมเองไม่ได้เห็นด้วย กับการเลือกทางเดินของด้วง แต่ในแง่มิตรภาพหัวใจผมไม่เคยปฏิเสธ ว่าด้วงเต็มที่เสมอกับเพื่อนๆ น้องๆ โดยเฉพาะผม ชีวิตที่อัตคัดขาดแคลนมิตรสหาย จึงปิติยิ่งนัก เมื่อมีด้วงร่วมค่ายด้วยในครั้งนี้  ในสิ่งที่น่าสนใจสำหรับด้วง ไม่ใช่ในแง่น้ำใจกับเพื่อนกับน้อง หรือมีบุคลิกครื้นเครงเฮฮาเสมอๆ เท่านั้น แต่ด้วงเองก็มีมุมมองทางสังคม มีประสบการณ์ทำงานพัฒนาชุมชนเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วย สำหรับค่ายนี้ผมชื่นชมในฐานะนักเล่านิทานเสียมากกว่า นานมาแล้ว ที่ผมไม่ใคร่เห็นคนรุ่นใหม่ๆ หรือรุ่นผม สนใจเก็บเกี่ยว มุขขำๆ นิทานสนุกๆ เรื่องเล่าปรัมปราไปจนถึง นิยาย หรือเรื่องลามกสองแง่สองง่ามที่นำมาเล่าได้อย่างมีศิลปะ ไม่อนาจาร การเล่าเรื่อง เป็นศิลปะเก่าแก่ก่อนยุคหนังสือ คนทุกคนจึงต้องมีเรื่องเล่า และการเล่าเรื่องเป็นกระบวนการถ่ายทอด อบรม แทบทุกวัฒนธรรม บนโลก ศิลปะการเล่าเรื่อง ให้สนุกนั้น ต้องรู้วางจะหวะจะโคน น้ำเสียง มีการสาธยายบริบท หรือ สภาพแวดล้อม บางฉากเพื่อให้ภาพในเรื่องเล่า ดูเด่นชัด และที่สำคัญ นักเล่าเรื่อง ต้องมองตาคนฟัง ว่าเขาเห็นภาพนั้นไหม  มีอารมณ์ร่วม หรือ สนุกด้วยไหม ฉะนั้น นักเล่าเรื่อง นอกจ่ากจะจดจำทุกรายละเอียดได้ ยังต้องอ่านใจคนฟัง เลือกเรื่องที่คิดว่า สนุก รู้พื้นฐาน สติ ปัญญาของคนฟัง และ ออกท่าทาง สีหน้า กริยาประกอบ ทำให้อรรถรสในการฟัง สนุกสนานมาก ซึ่ง เวลาผมฟังนายด้วงเล่าเรื่อง ผมมักนึกถึง วรรณกรรมที่ชื่อ "เวตาล" ที่ใช้เรื่องเล่า กระตุ้นความคิดของคน  การเล่า คือองค์ประกอบวัฒนธรรมการสนทนา และการละเล่นกัน ของคนไทยในอดีต เพราะการสนทนา การสรวลเสเฮฮาในอดีตนั้น เป็นอะไรมากกว่าการสื่อสาร เป็นเครื่องสร้างความบันเทิง สร้างการปฏิสัมพันธ์กันทางสังคม และเป็นเครื่องมือสอดแทรกความรู้ ประวัติศาสตร์ คติสอนใจ แข่งขันปฏิภาณ และท้าทายอำนาจ ความเชื่อ จารีต หรือพิธีกรรมได้ด้วย ทุกๆ หนึ่งชั่วโมง ถ้าผมจำไม่ผิด นายด้วงจะต้องยื่นหน้าทะลึ่งๆ ทะเล้นมาหาผม พร้อมแววตาเจ้าเล่ห์ใต้กรอบแว่นหนาๆ  ซึ่งสัญชาตญาณผมรู้ทันที นายด้วงมีประเด็น มีมุขขำๆ หรือมีเรื่องเล่าอีกแล้ว
          “บอส ! อิๆ” 
          “ว่าไง ?” ผมส่งเสียงรับรู้ ขณะนั่งหั่นผักมือพัลวัน
          “บอส อิๆ” นายด้วงแอบขำในลำคอ “บอส ผมมีเรื่องเล่า อยากฟังไหม๊บอส ?”
          ...............
          “คิกๆ ...” นายด้วงเริ่มขำหนักขึ้นเมื่อ ภาพมโนนึกปรากฏ บางครั้งคนแก่ๆ อยู่กันตามลำพังก็เหมือนเด็กๆ 
 ค่ายร้อยหวันนี้แปลกและอัศจรรย์หลายอย่าง โดยเฉพาะบรรยากาศการเป็นนักฟัง และนักเล่าเรื่องขำๆ หรือมุขตลกๆ ด้านหนึ่งอาจจะเพราะมีทีมมาจากอีสาน คือมหาสารคามมาร่วมด้วย เนื่องจาก คนชนบทอีสานนั้นยังมีวัฒนธรรมเล่าเรื่องหรือฟังเรื่องขำๆ จึงสั่งสมให้คนรุ่นใหม่ๆ ยังรู้จักเล่นบรรยากาศ หรือจินตนาการร่วมเป็น กระนั้น ก็เห็นว่า คนรุ่นใหม่ไม่น้อย คนกรุงเทพฯ อย่าง นก น้องโบว์ น้องนัส ปุ้ย หรือคนเมืองหลายๆ คน กลับไม่เข้าใจรากฐาน ไม่รู้สึกสนุก มโนภาพไม่ออก  กับวัฒนธรรมบันเทิงในรูปแบบเช่นนี้ ซึ่งไม่แปลก เนื่องจากสังคมเมือง หรือสังคมปัจจุบัน ความสุขของปัจเจกชน คือการหันหลังให้ผู้คน หันหน้าหันหูอยู่กับลำโพง จอมอนิเตอร์ จอทีวี จอหนัง และอยู่กับตัวเองในบางเรื่อง บางอย่าง ด้วยเหตุนี้ การสนทนาที่หมายถึงแบ่งเบาปัญหา แบ่งปันความสุข  ความเรียบง่ายและเปิดเผยตัวเอง ให้กันและกันเรียนรู้ จึงค่อยๆ สูญหาย
 มิแปลกอะไร ที่คนสมัยนี้รู้จัก รู้ใจกันยาก แตกร้าวกันง่าย เพียงถ้อยคำบางคำก็โกรธเกลียดกัน หรือ สนทนากันไม่รู้เรื่อง ไม่ได้ความ คิดต่างกันสุดกู่ หนักกว่านั้น สังคมปัจจุบันใช้ภาษาพูด หรือเขียนเพียงแค่สื่อสารกิจธุระเท่านั้น นิทานและมุขขำๆ ในวิถีชาวค่ายร้อยหวันพันธุ์ป่า จึงมีบทบาทในหลายๆ ฐานะ ซึ่งน้อยนักหรือหายาก ที่ ใครจะสามารถเอารูปแบบวัฒนธรรม การสนทนาแบบดั้งเดิม แบบนี้ มาปรับใช้ ในกิจกรรมค่าย ในกิจกรรมเคลื่อนไหวและพัฒนาสังคมได้ ตลอดหลายวันในค่ายนี้ ผมมีความสุข มีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะตลอด หลายๆ ครั้งอาจจะไม่ใช่เพราะเนื้อเรื่องที่นายด้วงเล่า แต่ความสุขนี้ล้วนมาจากภาพ ภาพที่มีนายด้วงประกอบนำ และคนอื่นๆ สนใจนิ่งฟังรอฮา หรือผลัดกันเล่า อย่างครื้นเครง
          “น๊ามม น้องน้ำ น้องมา” นายด้วงดัดจริตน้ำเสียง ตะโกนเรียกน้องชาวค่ายกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกำลังหน้ามุ่ย รอคิวเข้าห้องน้ำ ข้างๆ ที่ทำการครัว
          “อะไรพี่ด้วง” เจ้าของชื่อหันมา พร้อมรอยยิ้มละไม
ด้วงยื่นหน้าทะเล้นออกไปข้างหน้าเช่นเดิม “น้ำกับมา อยากฟังนิทานไหมจ้ะ เรื่องรถโฟร์คเข้าอู่  คิกๆ”
          อย่างว่า คนเราไม่ได้มีด้านดี ด้านเด่นให้ปลื้มปิติ ชื่นชมถ่ายเดียว แต่คนเรานั้น มักมีด้านด้อย ที่น่าเบื่อ น่ารำคาญ ผสมผสานมาด้วยเสมอๆ อาทิ นายด้วงซึ่งระบบอารมณ์ ประสาท สมองและกล้ามเนื้อปาก ทำงานประสานกันดีมาก สามารถขยับปากพูดหรือบ่น หรือเล่าเรื่อง ได้เฉลี่ยวินาทีละ 3 คำเป็นอย่างต่ำ และเริ่มต้นตั้งแต่ตื่นจนหลับทีเดียว บางทีก็อยากบอกนายด้วง เหมือนที่นายด้วงบ่นให้ผมฟัง ว่า นี่หูคนนะไม่ใช่ไมค์ หรือกระโถน !!!  แต่ผมก็ยอมเงียบไป เพราะนี่คือชีวิต คือความจริง และผมก็ชิน จนทำท่าจะชอบเสียด้วย

บันทึกประจำวันที่ 25 เม.ย.49
          7.30 น. “บอส ผมเพิ่งหุงข้าวกับกระทะใหญ่เป็นกะเค้า โอ้ยดีใจมากเลย”
          7.40 น. “บอส นี่ผมทิ้งลูกเมียมาค่ายนะนี่ บอสรู้ใช่ไหม มาลำบากลำบนแท้ๆ ด้วงนะด้วง”
          7.45 น. “บอสอยากกินเหล้าไหมบอส กลับไปผมเลี้ยงเอง”
          7.48 น. “บอสเป้าหมายค่ายคืออะไรเนี้ย มันไม่ชัดเจนเลยน่ะ”
          7.50 น. “บอสเนี้ยผมเครียดมากเลย ติดหนี้เขาหลายแสนเขาตามเร่ง ตามทวงผมเครียดมากเลย”
          7.52 น. “บอสขอโทษที ผมตื่นสายอีกตามเคย”
          7.59 น. “บอสสมาชิกชาวค่ายไม่สนใจแลกเปลี่ยนปัญหาชุมชน ไม่ไหวนะบอส มาทำไมไม่รู้”
          8.01 น. “บอส ยืมโทรศัพท์หน่อยสิ”
          8.11 น.“บอส”  ........... “บอส”
          8.12 น. “บอส !! ฟังผมไหม๊เนี๊ย ?” ....

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม