981974 13 Jan 2018
NGOs ย่อมาจากคำว่า Non Governmental Organizations แปลตรงตัว คือ องค์กรที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐ และรู้จักกันในอีกหลากหลายชื่อ เช่น องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร องค์กรสาธารณะประโยชน์ หรือ องค์กรพัฒนาเอกชน (อพช.) โดยคนส่วนใหญ่ที่ทำงานในสายนี้และคนภายนอกจะเรียกกันด้วยอักษรย่อว่า เอ็นจีโอ (NGO) NGOs (Non Governmental Organizations) อยู่ในหมวดขององค์กรเอกชน ซึ่งลักษณะขององค์กรเอกชน ก็คือ เป็นองค์กรที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากแหล่งเงินทุนทั้งจากภายนอกและภายในประเทศที่มีระเบียบวาระ การกำหนดทิศทางและนโยบายขององค์กรเพื่อมุ่งบริการสาธารณะประโยชน์โดยไม่แสวงหาผลกำไร (ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงผู้ที่มาทำงานตรงนี้จะไม่ได้รับค่าตอบแทน เพียงแต่ค่าตอบแทนก็จะขึ้นอยู่กับการบริหารของแต่องค์กรซึ่งจะมีนโยบายแตกต่างกันออกไป) จะเห็นได้ว่าความหมายของเอ็นจีโอนั้นค่อนข้างกว้างและครอบคลุมองค์กรเกือบทั้งหมดที่ทำหน้าที่เพื่อสาธารณะประโยชน์และงานพัฒนาในทุกๆด้านของสังคม มีการศึกษาที่ชื่อ The International Classification of Development NGOs จำแนกประเภท NGOs เป็นกลุ่มต่างๆ ตามรูปแบบกิจกรรม อุดมการณ์และเป้าหมายขององค์กร ไว้ดังนี้[1]
เอ็นจีโอ ในประเทศไทยมีบทบาทในสังคมมายาวนานกว่า 40-50 ปี ทั้งนี้ในสังคมไทยเอ็นจีโอนั้นมีทั้งที่เป็นกลุ่มบุคคลและองค์กร ซึ่งรวมไปถึงมูลนิธิหรือหน่วยงานเอกชนต่างๆที่ทำงานด้านการพัฒนา หากลองยกตัวอย่างองค์กรเอ็นจีโอตัวเก๋าและเป็นที่รู้จักของประเทศไทย ก็เช่น สภากาชาดไทย (สภากาชาดก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน ตั้งแต่ในยุค ร.ศ. 112 หรือ พ.ศ. 2436 นั่นเอง) เพื่อให้เห็นภาพ เคยมีคนจัดกลุ่มประเภทของเอ็นจีโอไทยไว้ดังนี้ กลุ่มแรก เป็นองค์กรเล็กๆ และไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแต่อย่างใด อาจเป็นโครงการที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจเท่านั้น คนที่ทำงานในองค์กรเหล่านี้บางคนอาจมาจากภาครัฐบาลหรือภาคธุรกิจ เพื่อต้องการที่จะช่วยเหลือสังคม เช่น กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในหลายพื้นที่ หลายจังหวัด คนเหล่านี้ส่วนมากจะทำด้วยใจรัก เสียสละทั้งแรงกายและแรงเงิน กลุ่มที่สอง เป็นโครงการ หรือกลุ่ม หรือชมรม แต่เป็นกลุ่มที่ใหญ่กว่ากลุ่มแรก มีเจ้าหน้าที่ประจำ อาจมีสองคน สามคน หรือบางแห่งอาจขออาสาสมัครจากที่อื่นมาช่วยโดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้หรือจ่ายให้บางส่วน เช่น การขออาสาสมัครจากมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมมาช่วย(อาสาสมัครจาก มอส. หรือมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เป็นคนหนุ่มๆ สาวๆ ที่ส่วนมากเพิ่งจบปริญญาตรีและมีอุดมการณ์อยากทำงานช่วยเหลือคนยากคนจนหรือคนที่ด้อยโอกาสในสังคม เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบันก็เคยทำงานในมูลนิธิแห่งนี้มาก่อน) หรือบางหน่วยงานก็จะมีอาสาสมัครจากต่างประเทศมาช่วยทำงานให้โดยไม่รับค่าตอบแทน แต่ระยะเวลามักไม่นานนักเช่น หนึ่งปี หรือสองปี กลุ่มที่สาม เป็นองค์กรที่พัฒนามาจากกลุ่มที่หนึ่งและกลุ่มที่สอง และจะมีเจ้าหน้าที่ประจำมากขึ้น มีโครงการมากกว่า 1 โครงการ มีงบประมาณที่ได้จากการเสนอโครงการและได้งบประมาณมาสนับสนุนการทำงาน มีทั้งได้รับจากภาครัฐ เช่น จากกองทุนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมากได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนนี้ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กองทุนนี้นิยมให้หน่วยงานภาครัฐมากกว่า โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษา) นอกนั้นก็แหล่งทุนจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันนี้หาแหล่งสนับสนุนยากขึ้น เพราะหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนหลายแห่งจะหันไปช่วยประเทศที่พัฒนาน้อยกว่าประเทศไทยมากขึ้น เช่น กัมพูชา ลาว เวียดนาม เป็นต้น กลุ่มที่สี่ เป็นองค์กรที่คนของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐเป็นผู้จัดตั้งขึ้น ซึ่งมีทั้งที่ตั้งเป็นโครงการ เป็นชมรม และที่จดทะเบียนเป็นทางการเป็นมูลนิธิ หรือสมาคม และที่ตั้งขององค์กรเหล่านี้มักอยู่ในหน่วยงานของรัฐนั่นเอง รวมทั้งบางครั้งก็จัดสรรเงินจากหน่วยงานรัฐนั้นมาให้ทำงาน คนของรัฐ ซึ่งส่วนมากมีตำแหน่งสูงๆ จะเข้ามาสวมหมวกอีกใบ เช่น เป็นประธานมูลนิธิบ้าง เป็นนายกสมาคมบ้าง จะอาศัยชื่อเสียงหรือตำแหน่งหน้าที่การงานที่ทำอยู่เป็นเครดิตขอทุนจากต่างประเทศบ้าง จากองค์กรระหว่างประเทศที่มีตั้งอยู่ในและนอกประเทศบ้าง มาทำโครงการเฉพาะกิจ อาจมีการจ้างเจ้าหน้าที่มาทำงานเฉพาะโครงการตามระยะเวลาของโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนมา เช่นหนึ่งปี สองปีหรือมากกว่านั้น เจ้าหน้าที่มาทำงานเต็มเวลานี้มักเรียกว่า ผู้ประสานงาน ซึ่งเอ็นจีโอ ในคราบของรัฐอย่างนี้เห็นได้ในกระทรวงบางกระทรวง เช่น ที่กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น กลุ่มสุดท้าย คือ องค์กรระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็นจีโอ(INGO) องค์กรเหล่านี้มักมีองค์กรแม่อยู่ที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น องค์กร CARE นานาชาติ ประเทศไทย ที่มีองค์กรแม่อยู่สหรัฐอเมริกา มูลนิธิเพิร์ล เอส บัค(Pearl S. Buck สหรัฐอเมริกา) วายเอ็มซีเอ(Young Men Christian Association) เอฟเอชไอ(Family Health International) และที่เข้ามาตั้งในไทยล่าสุด คือ กรีนพีซ(Green Peace) ซึ่งองค์กรเหล่านี้มีทั้งที่เข้ามาสนับสนุนหรือร่วมมือกับเอ็นจีโอ ในประเทศไทยและที่เข้ามาทำกิจกรรมเอง โดยการจัดจ้างคนในประเทศนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ แต่ส่วนมากระดับหัวหน้ายังเป็นชาวต่างประเทศที่ส่งเข้ามา งบประมาณส่วนมากมาจากองค์กรแม่ในต่างประเทศ ซึ่งส่วนมากได้ทุนมาจากการรณรงค์รับบริจาคทั่วไป[2] [caption id="attachment_5813" align="aligncenter" width="768"] ม็อบต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน (ที่มาภาพ https://news.mthai.com/politics-news/549733.html)[/caption] จากข้อมูลพบว่าองค์กรเอ็นจีโอในยุคแรกๆนั้นกลุ่มศาสนามีบทบาทมากที่สุด โดยมีอุดมการณ์ทางศาสนาให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ผู้ตกทุกข์ได้ยาก อีกกลุ่ม คือกลุ่มนักศึกษาตามสถาบันต่างๆรวมตัวกันเป็นกลุ่มอาสาสมัครออกไปช่วยสร้างห้องสมุด สร้างโรงเรียนหรือสอนหนังสือตามพื้นที่ชนบท(จนกลายมาเป็นวัฒนธรรมการออกค่ายอาสาในปัจจุบัน) งานขององค์กรพัฒนาเอกชนในช่วงนี้ เน้นการให้ความรู้และการสงเคราะห์แก่กลุ่ม ผู้ด้อยโอกาส ผู้ที่ขาดแคลน และผู้ที่ประสบปัญหาขั้นพื้นฐาน ซึ่งแน่นอนว่าทิศทางการทำงานของเอ็นจีโอนั้นก็จะแปรผันและปรับเปลี่ยนตามสภาพสังคม เศรษฐกิจและการเมืองในแต่ละยุคสมัย เช่น ใน "ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน" (พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๙) เป็นยุคที่ประชาชนกลุ่มต่างๆ เกิดการตื่นตัวปัญหาที่ที่ดำรงอยู่ในสังคมหลากหลายมากขึ้น จากที่เคยให้ความสำคัญเพียงปัญหาในพื้นที่ชนบทก็เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น และเริ่มมุ่งเน้นไปที่เรื่องสิทธิมนุษยชนและการละเมิดสิทธิมากขึ้น หลังจากนั้นเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มมีความความขัดแย้งและนำไปสู่ความรุนแรง องค์กรเอ็นจีโอหลายกลุ่มก็ได้ลดบทบาทตัวเองลงจากสภาพปัญหาทางด้านการเมืองและการควบคุมจากรัฐบาล ในช่วงนี้เองกลุ่มทางด้านด้านศาสนาก็ได้เข้ามามีบทบาทอีกครั้งโดยการใช้หลักธรรมในการสร้างแนวทางสันติวิธี ก่อนที่องค์กรพัฒนาเอกชนจะกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งอย่างหลากหลายในยุคที่เรียกว่า "ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ" เอ็นจีโอจึงมีหน้าที่การทำงานด้วยกันหลากหลายหน้าที่ตามแต่แนวทางและวิสัยทัศน์ที่แต่ละองค์กรมองเห็น หรือตามแต่ละประเด็นที่องค์กรนั้นๆขับเคลื่อน ซึ่งจะออกมาในรูปแบบของการระดมชาวบ้านเพื่อลุกขึ้นมาต่อต้านความไม่ชอบธรรมบางอย่าง การทำงานวิจัย การทำข่าว การทำสื่อ หรืออื่นๆอีกมากมาย โดยทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวแทนพลังอำนาจของประชาชนเพื่อเข้ามาคานอำนาจและตรวจสอบการทำงานให้เป็นไปอย่างชอบธรรมของทางรัฐบาลหรือองค์กรธุรกิจต่างๆ รวมถึงเป็นกระบอกเสียงให้กับภาคประชาชนในการออกมาร้องเรียนสิทธิของตนเองและความไม่เป็นธรรมในประเทศเพื่อสาธารณะประโยชน์ด้วยเช่นกัน
เรียบเรียงโดย: ลักษณพร ประกอบดี ที่มาข้อมูล: http://www.manager.co.th/mwebboard/listComment.aspx?QNumber=1740&Mbrowse=9 https://gotensum.blogspot.com/2015/03/what-is-ngo.html http://www.ngo.in/types-of-ngos.html http://oknation.nationtv.tv/blog/itsp/2010/07/10/entry-2
16 Jan 2025
05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
16 Jan 2025
16 Jan 2025
16 Jan 2025
16 Jan 2025
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม