กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ ไม่ร่วมกรรมการแก้ปัญหาโปแตช

897 12 Oct 2012

กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ ไม่ร่วมกรรมการแก้ปัญหาโปแตช อุดรธานี  : เมื่อวันที่ 12 มี.ค.52 เวลา ประมาณ 09.00 น. น. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 100 คน สวมเสื้อเขียว มีข้อความคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช อย่างพร้อมเพรียงกัน ได้เดินทางไปพบ เพื่อยื่นหนังสือต่ออุตสาหกรรมจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ในประเด็นการไม่ขอเข้าร่วมเป็นกรรมการแก้ไขปัญหาการดำเนินโครงการเหมืองแร่ โปแตช จ.อุดรธานี ทั้งนี้ สืบเนื่องจากว่าได้มีคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อุตสาหกรรม (นายชาญชัย  ชัยรุ่งเรื่อง) ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี (ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552) โดย มีองค์ประกอบที่มาจากผู้แทนในแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดจนหน่วยงานราชการในพื้นที่ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด (เป็นรองประธานกรรมการ), อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี รวมทั้งผู้แทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ และผู้แทนจากบริษัทเอเชีย แปซิกฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ขออนุญาตรับสัมปทาน โดยมีนายสมพร  ใช้บางยาง  รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมการ ซึ่งจะได้มีการประชุมนัดแรกในวันที่ 19 มี.ค.ศกนี้ ที่ห้องประชุม 2 กระทรวงมหาดไทย การ ยื่นหนังสือของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ต่อนายวิชิต  อาวัชนาการ อุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งมีบทบาทหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี โดย นางมณี  บุญรอด  รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า แต่เดิมกลุ่มชาวบ้านได้ยื่นข้อเสนอในเรื่องกรรมการนโยบายเหมืองแร่โปแตช ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้วว่า ควรเป็นคณะกรรมการ ที่ร่วมกันศึกษากรณีเหมืองแร่โปแตช ทั้งระบบทั่วภาคอีสาน เพื่อจะนำไปสู่ข้อเสนอในเชิงนโยบายให้กับรัฐบาล แต่พอแต่งตั้งออกมาแล้ว กรรมการกลับเป็นคนละแบบกับที่กลุ่มชาวบ้านได้ยื่นเสนอไป “ชาว บ้านมีมติเห็นชอบร่วมกันแล้วว่าจะไม่ขอส่งผู้แทนเข้าร่วมกับคณะกรรมการชุด นี้ เนื่องจากว่าเป็นกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเจาะจงให้การดำเนินโครงการเหมือง แร่โปแตช จ.อุดรธานี เดินหน้าไปได้ เพราะที่ผ่านมาติดปัญหาอยู่ที่การคัดค้านของกลุ่มชาวบ้าน ฉะนั้น กลุ่มอนุรักษ์ฯ จะไม่ยอมเข้าไปเป็นตราประทับ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับคณะกรรมการชุดนี้อย่างแน่นอน” นางมณีกล่าว ด้าน นายวิชิต  อาวัชนาการ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ในฐานะกรรมการ และเลขานุการคณะกรรมการฯ กล่าวว่า ถึงแม้ว่าตนจะยังไม่เคยได้รับทราบถึงข้อเสนอของกลุ่มชาวบ้านต่อกรณีการแต่ง ตั้งคณะกรรมการฯ เนื่องจากว่าพึ่งจะเข้ามารับตำแหน่ง และก็ถูกแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการคณะกรรมการในชุดนี้ แต่ตนก็พร้อมที่จะรวบรวมข้อเสนอทั้งหมดของกลุ่มชาวบ้าน เพื่อนำเรียนต่อคณะกรรมการต่อไป “ผม ก็เข้าใจว่ากลุ่มชาวบ้านคงคิดไตร่ตรองเป็นอย่างดีแล้ว ถึงได้มีหนังสือมาเป็นทางการว่าไม่ขอเข้าร่วม และผมก็เคารพการตัดสินใจของพวกท่าน หากพวกท่านไม่ไปผมก็ไม่ว่าอะไร เพราะมันเป็นสิทธิของพวกท่าน ในส่วนของผมก็ขอยืนยันว่าผมไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรเลยกับโครงการนี้ และ ในฐานะเลขานุการผมก็จะรวบรวมประเด็นข้อเสนอทั้งหมดของกลุ่มชาวบ้านนำเรียนใน การประชุมในวันที่ 19 นี้” นายวิชิตกล่าว หลัง จากนั้น เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. กลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงได้เดินทางต่อไปยังศาลากลางจังหวัดเพื่อยื่นหนังสือต่อนายอำนาจ  ผการัตน์  ผู้ว่าราชการ โดยผู้ว่าฯ ก็ได้เปิดห้องประชุมเพื่อพูดคุยและรับข้อเสนอของกลุ่มชาวบ้าน นาย อำนาจ  ผการัตน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ในฐานะรองประธานกรรมการฯ ได้กล่าวกับกลุ่มชาวบ้านว่า กรรมการชุดนี้ที่ได้ตั้งขึ้นมาก็เพราะการร้องเรียนของพี่น้องกลุ่มอนุรักษ์ฯ เมื่อคราวผู้ว่าฯ คนก่อน จนได้มีการประชุมที่กระทรวงมหาดไทย (27 ก.พ.51) และมีมติร่วมกัน ฉะนั้นเมื่อมีการแต่งตั้งขึ้นมาแล้ว จึงอยากให้ชาวบ้านไปใช้สิทธิ โดยการส่งผู้แทนเข้าร่วมเป็นกรรมการ “เมื่อ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้วก็อยากให้พี่น้องเข้าไปร่วม ซึ่งถ้าเราเห็นว่าองค์ประกอบของกรรมการไม่ครบถ้วน หรือมีจุดยืนและข้อเสนออะไร ก็ควรไปหารือกันในคณะกรรมการ เพราะถ้าเราไม่เข้าร่วมแล้วเขาก็ไม่รู้ความต้องการของเรา เพราะต่อไปการแก้ไขปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ก็จะยึดเอามติของคณะกรรมการฯ เป็นหลัก” นายอำนาจกล่าว ด้าน นายสุวิทย์  กุหลาบวงษ์  ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างภาพ และผลักดันให้กระบวนการตามขั้นตอนขออนุญาตประทานบัตรของบริษัทได้เดินหน้า ต่อ แต่จะทำให้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ที่ยังครุกรุ่นอยู่ ปะทุขึ้นมาอีก ดังจะเห็นได้จากองค์ประกอบที่มีทั้งฝ่ายชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ และบริษัท ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งร่วมเป็นกรรมการ “คณะ กรรมการที่จะแก้ไขปัญหากรณีเหมืองแร่โปแตชได้ จะต้องมีความเป็นอิสระในการทำงาน และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย มีการศึกษาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านครอบคลุมทุกมิติ และที่สำคัญก็คือการมีเป้าหมายที่จะนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ไข ปัญหาแบบองค์รวม เพื่อประโยชน์สาธารณะ” นายสุวิทย์กล่าว /-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/ นายเดชา  คำเบ้าเมือง  สำนักข่าวประชาธรรมอุดรธานี ตู้ปณ.14 อ.เมือง  จ.อุดรธานี 41000  โทรศัพท์ 081-3696266  E-mail: decha_61@yahoo.com

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม