13 องค์กรระหว่างประเทศส่งจดหมายถึงนายกแสดงความกังวลเกี่ยวกับสิทธิในการชุมนุมโดยสงบในประเทศไทย 

651 17 Sep 2021

 

องค์กรระหว่างประเทศส่งจดหมายถึง พลเอกประยุทธประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แสดงความกังวลเกี่ยวกับมาตรการควบคุมฝูงชนและมาตรการอื่นๆ ที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่มักละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ชุมนุม อีกทั้งละเมิดมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการควบคุมฝูงชน ทั้งที่มีการใช้ความรุนแรงและการใช้กำลังที่เกินสัดส่วน จึงเรียกร้องทางการไทยปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งไม่เพียงแต่ยุติการปราบปรามผู้ชุมนุม แต่ยังต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวยให้ประชาชนได้ใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและการแสดงออกในบริบทการระบาดของโควิด-19 ด้วย 

13 องค์กรระหว่างประเทศอันประกอบไปด้วย Amnesty International, ARTICPE 19,  ASEAN Parliamentarians for Human Rights Asia Democracy Network, Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA),  Asian Network for Free Elections (ANFREL), CIVICUS: World Alliance for Citizen Participation, Civil Rights Defenders, FIDH – International Federation for Human Rights Fortify Rights, Human Rights Watch, International Commission of Jurists, Manushya Foundation ได้เขียนจดหมายเพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงและการใช้กำลังเกินสัดส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการประท้วงที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ระบุรู้สึกเป็นกังวลกับการตอบโต้ที่ไม่ได้สัดส่วนของตำรวจควบคุมฝูงชนต่อการยั่วยุของผู้ชุมนุม และเรายังกังวลกับการคุมขังผู้นำประท้วงตามอำเภอใจ โดยผู้นำการชุมนุมเหล่านี้เพิ่งถูกตั้งข้อหาอาญาเพิ่มเติม ถูกปฏิเสธการให้ประกันตัว และถูกคุมขัง ประเทศไทยจำเป็นจะต้องดำเนินการมากกว่านี้เพื่อปกป้องผู้ประท้วงจากความรุนแรง และทำให้แน่ใจว่าประชาชนสามารถใช้สิทธิการชุมนุมโดยสงบได้อย่างปลอดภัยในช่วงการระบาดของ COVID-19 

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งตำรวจควบคุมฝูงชนและผู้ชุมนุมมีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงในการชุมนุมทางการเมือง ในเดือนสิงหาคมเพียงเดือนเดียว ตำรวจได้ใช้กำลังสลายการประท้วงโดยใช้กระสุนยาง ปืนฉีดน้ำ และแก๊สน้ำตาอย่างน้อยสิบครั้ง โดยที่ผู้ชุมนุมได้ขว้างก้อนหินและระเบิดขวด ยิงพลุ และใช้ไม้ง่ามหนังสติ๊กยิงหัวน็อตใส่ตำรวจควบคุมฝูงชน การปะทะหลายครั้งเกิดขึ้นบริเวณสี่แยกดินแดงใกล้กับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ การชุมนุมเหล่านี้มีเยาวชนเป็นผู้เข้าร่วมหลัก โดยผู้ชุมนุมจำนวนมากมีอายุต่ำกว่า 18 ปี 

ทั้ง 13 องค์ระหว่างประเทศมองว่า มาตรการควบคุมฝูงชนและมาตรการอื่นๆ ที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายมักละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ชุมนุม อีกทั้งละเมิดมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการควบคุมฝูงชน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมแบบไม่เลือกหน้าซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากฟุตเทจวิดีโอจากการชุมุนมเมื่อไม่นานมานี้ แสดงให้เห็นว่าตำรวจควบคุมฝูงชนขึ้นไปยิงกระสุนยางบนทางด่วน ซึ่งเป็นระยะที่ไกลเกินกว่าจะยืนยันได้ว่าบุคคลที่ใช้ความรุนแรงนั้นเป็นเป้าหมายของการควบคุมฝูงชนตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังปรากฏในวิดีโออื่นๆ ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงกระสุนยางใส่บุคคลที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านในระยะกระชั้นชิด อีกทั้งยังมีรายงานว่านักข่าวที่แสดงตัวชัดเจนว่าเป็นสื่อมวลชนถูกยิงด้วยกระสุนยางในการรายงานข่าวชุมนุมด้วย 

ดังนั้นเพื่อบรรลุพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ทั้ง 13 องค์กรจึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยไม่เพียงแต่ยุติการปราบปรามผู้ชุมนุม แต่ยังต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวยให้ประชาชนได้ใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงออกในบริบทการระบาดของโควิด-19 

นอกจากนั้นยังเรียกร้องรัฐบาลไทยให้รับรองว่า เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่ใช้กำลังต่อผู้ชุมนุมต้องปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัดเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่ใช้กำลังเกินสัดส่วนและต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย และต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายมากไปกว่าอันตรายที่พวกเขาพยายามป้องกัน การใช้กำลังใดๆ จะต้องเป็นไปตามสัดส่วนของวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การปฏิบัติการตามระดับของภัยคุกคาม และยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้การประกันว่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายทุกคนที่มีหน้าที่ควบคุมฝูงชนต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสมในด้านกลยุทธ์และยุทธวิธีที่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทางการไทยควรตรวจสอบการละเมิดกฎหมายทั้งภายในประเทศและการละเมิดมาตรฐานสากลอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกลาง และเป็นอิสระโดยทันที และรับรองว่าผู้กระทำผิดต้องถูกนำตัวมาลงโทษ 

ทั้งนี้ยังขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการคุกคามผู้นำการชุมนุมและผู้เข้าร่วมชุมนุมโดยทันที บุคคลที่ถูกคุมขังเพียงเพราะใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ รวมถึงผู้นำการชุมนุมถูกปฏิเสธการให้ประกันตัวเมื่อเร็วๆ นี้ ควรได้รับการปล่อยตัวทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ควรมีบุคคลใดถูกกักขังเพียงเพราะใช้สิทธิของตนเอง เช่น สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบหรือการแสดงออกและเรียกร้องให้รัฐบาลไทยริเริ่มการทบทวนกฎหมายและนโยบายทั้งหมดที่มีผลกระทบต่อสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบในประเทศไทย กฎหมายและนโยบายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกอย่างไม่ชอบธรรมควรได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ 

ท้ายสุด ทั้ง 13 องค์กรระบุว่า ขอขอบคุณที่รัฐบาลไทยให้ความสนใจต่อประเด็นและข้อเสนอแนะในจดหมายฉบับนี้ และยินดีเป็นอย่างยิ่งหากมีโอกาสที่จะได้ช่วยเหลือและสนับสนุนรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย 

รายละเอียดจดหมายฉบับเต็มตามไฟล์แนบค่ะ  

 

 

**********
 
เนาวรัตน์ เสือสอาด
หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร
Naowarat Suesa-ard
Media and Communications Supervisor

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม