ข้าว

1617 04 Oct 2020

จู่ๆ นึกอยากคุยเรื่องข้าว  พืชเจ้าปัญหา เกือบทุกๆรัฐบาล สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม มาแต่โบราณ ชอบทำนา แต่ไม่ได้หมายความเก่งเรื่องทำนา หรือ รอบรู้เรื่องข้าว นะครับ เป็นแค่เกษตรเชิงพิธีกรรม และเชิงวัฒนธรรม ที่ทำตามๆ กันมา ดังนั้น เรื่องรสชาติ คุณภาพ ราคา ขาดทุน กำไร ไม่อยู่ในเงื่อนไข สำคัญ ว่าจะทำหรือไม่ทำ ส่วนหนึ่ง คนไทย โดยเฉพาะคนชนบท ผู้พันกับวิถีทำนาและผูกพัน ยึดติดกับการกินข้าว รสชาติของข้าวหรือ รสชาติของกับข้าวที่ เข้ากันกับการกินข้าว

ผมหันมาทำนา เพราะอยากมีข้าวกินจากน้ำพักน้ำแรงตัวเอง แรกๆ ก็ลงทุน ขยายพื้นที่ทำ (แบบข้าวไร่) ใหญ่โต แต่พอคำนวน ต้นทุน กำไร ปริมาณผลผลิต ดูแล้ว ขาดทุน ผมจึงลดขนาดเหลือแค่ พอทำได้ เพราะการทำนา ด้วยข้อจำกัดของสภาพพื้นที่ และขนาดของนา เราต้องใช้แรงงานคน เป็นหลัก ทำให้ทั้งต้นทุนแพงและยุ่งยากมากในการจ้างแรงงานมาช่วย

ปัญหาสำคัญอีกอย่างคือ  ปัจจุบันนี้ ระบบแรงงาน (ลงแขก เอาแรง) ในเครือญาติ และในชุมชน เปลี่ยนไป เป็นครอบครัวเดี่ยว เป็นชุมชนที่ตัวใครตัวมันมากขึ้น ไม่นิยมทำงานรับจ้าง หรืองานหนัก งานภาคเกษตร

ทำให้ปัญหาชาวนา มีความซับซ้อน หลายมิติ เรื่องกลไกราคาที่ตลาดกำหนด  หรือรัฐบาลประกัน ก็มีผล เพราะไม่ได้จำแนกจริงจัง ให้เห็นแตกต่าง ว่า ข้าวคุณภาพแบบใด ได้ราคาเท่าไหร่ อีกทั้ง ประกันแค่มะลิ ชาวนาก็เลยหันมาปลูกมะลิ แล้วมะลิก็ ระบาดไปทั่ว ในขณะที่แหล่งกำเนิดมะลิ ก็ทำแบบชุ่ยๆ ทำให้ มะลิเสื่อมสภาพ กระทบไปถึง ความนิยมในตลาด ไม่นับรวม วิชามารจากพวกพ่อค้าข้าวที่แอบผสมข้าวอื่น เพื่อลดต้นทุน

ข้าวไทย ไม่มีอนาคต ชาวนาก็ไม่มีอนาคต ทำให้กระแสชาวนาทางเลือกมาแรง นั่นคือ กลุ่มเกษตรอินทรีย์  ผมยังเชื่อว่า กลุ่มนี้ไปได้ยาก เพราะกระบวนการทำอินทรีย์ให้มีคุณภาพนั้น ผมว่าเราต้องใช้เครื่องมือ เทคโนโลยีและองค์ความสมัยใหม่ เข้ามาช่วยหลายอย่าง ประยุกต์กับภูมิปัญญาดั้งเดิม บางเรื่อง

ปัญหาที่ขยายไม่ได้ มากนัก คือ ราคาข้าวอินทรีย์  ( ไม่พูดถึงเรื่องข้าวอร่อย ไม่อร่อยนะครับ) คือ ราคาแพง หรือ เกินกำลังคนกินข้าว เป็นหลัก ต้องเข้าใจ คนที่มีกำลังซื้อจริงๆ คือ กลุ่มชนชั้นกลางค่อนไปทางรวย แต่คนที่กินข้าวเป็นหลักกินปริมาณที่มาก คือ คนชั้นล่าง เพราะต้องใช้แรงงาน

ผมชอบคิดเรื่อง ต้นทุน ที่เป็นจริง กับกำไร ที่สมเหตุสมผล ข้าวผมจึงมีราคาค่อนข้างไม่แพง ส่วนหนึ่งก็เพราะปณิธาน กับตัวว่า เราจะผลิตสินค้าที่คนจนเอื้อมถึง ผมคำนึงระหว่าง ต้นทุน กำไร และ รายได้ขั้นต่ำ ของคนชั้นล่างที่อยากจะกิน ข้าวคุณธรรม ของผม  กับ การจะพัฒนาหรือยกระดับข้าวอินทรีย์ให้เป็นที่นิยม คุ้นเคย ผุกพัน นอกจากใส่ใจเรื่องคุณภาพ รสชาติแล้ว ใส่ใจเรื่องราคา ก็สำคัญ  

ผมถึงวนเวียนคิด เรื่องต้นทุน กำไร และ ความสมเหตุสมผลในการกำหนดราคา ตลอดเวลา หลายคนไม่เห็นด้วย เพราะบอกว่า เราทำยาก อันที่จริง สำหรับผม มันก็ไม่ได้ยากไปกว่า แบบเคมีมากนัก หรือ ต้นทุนจริงๆ ก็ไม่ได้ สูงกว่า หรือ ต่ำกว่า บางที ผมกลับคิดว่า ในระยะยาวๆ ต้นทุนต่ำกว่า ด้วยซ้ำ เพราะถ้าดินฟื้นฟูดีๆ ใช้แค่น้ำหมัก หรือ สารอินทรีย์เสริมบ้างก็ยังได้



ฉะนั้น ความแพงของอินทรีย์ คือ ราคาของสัญลักษณ์ มากกว่า ราคาของสถานะ หรือ ความสูงส่งที่ชาวนายกฐานะผลิตภัณฑ์ตนเองขึ้นมาได้ อาทิ มีใบรับรอง โน่นนี่นั่น ทั้งๆที่ความจริงก็คือ ใบรับรองที่ได้ ก็ไม่ได้ซื้อมา นะครับ

ทำให้การขายข้าวของผม ถ้าบอกว่า อินทรีย์นี่ คนจนๆ เดินหนีหมด
!!

ภาครัฐ จริงๆ ก็เหมือนจะพยายาม แต่รัฐก็ติดปัญหา คือ เข้าใจวิธีคิดทางการค้าน้อยมาก ทำงานตามนโยบายข้างบนมากกว่า ข้อเท็จจริง แถมติดกับดักใหญ่คือ ต้องวิสาหกิจชุมชน หลายปีมานี่ รัฐอัดเงินไปกับ ปัญหาและทางออกชาวนา มหาศาล อัดเข้าไปแบบ ไม่มีทางออก แล้วก็ประดิษฐ์วาทกรรมทางนโยบายมาละลายงบ ทุกปี ผ่านรูปแบบการเกษตรแบบเพ้อฝัน โลกสวย ของชาวนา ทั้ง เศรษฐกิจพอเพียง นาแปลงใหญ่ และล่าสุดคือ โคกหนองนาโมเดล ตอนนี้ โรงสี หลายรุ่น หลายขนาด โรงแปรรูป โรงปุ๋นอินทรีย์ ถูกทิ้งร้าง แทบทุกตำบล ทุกครั้งที่ผ่านไปเห็น ผมได้แต่เสียดาย เพราะ นี่คือ งบประมาณภาษีมหาศาล ที่เอามาละลาย ผ่านกลไกราชการ และ แนวคิด วิสาหกิจชุมชน ซึ่ง 99% ล้มเหลว

ผมเคยไปขอความช่วยเหลือ ทั้ง อบต. อำเภอ และ ธกส. (เรื่องเงินทุน ประชารัฐ) ผมถูกปฏิเสธกลับมาตลอด เพราะว่า ผมมีสถานะ “บริษัท” ทั้งๆ ที่การจดเป็นบริษัทนั้น สามารถบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว  และ รูปแบบบริษัท ต้องเสียภาษีให้รัฐแบบเติมเม็ดเต็มหน่วย ต้องตรวจสอบบัญชีทุกปี  ที่สำคัญ มีศักยภาพทำตลาด แปรรูป ได้จริง
!!

ชะตากรรม “ข้าว” และ วิบากกรรมชาวนา จึงมืดมนมาตลอด บวกกับ การไม่พัฒนาตัวเองของชาวนา ก็ยิ่งทำให้ ภาระที่รัฐแบกรับ หนักอึ้งมากขึ้นทุกวัน

กลุ่มแปรรูปข้าวเอง ส่วนสนใจและมีทักษะเชิง “พ่อค้าแม่ค้า” มากกว่าธุรกิจ คือ อยากแปรรูปเอง และขายเอง ตี่ข้อจำกัดในการขาย เพราะเครือข่ายทางธุรกิจตัวเองไม่มี กลุ่มเหล่านี้ จึงรอตลาดจากภาครัฐจัด อาทิ งานโอท็อป ต่างๆ ซึ่งก็มีข้าว หลากหลายกลุ่ม มาจำหน่าย ส่วนมากก็ในพื้นที่ของคนทำนา พูดง่ายๆ คือ  มาขายข้าวให้ชาวนา ซึ่งขายยาก

ผมว่า กลไกพ่อค้าคนกลาง ยังไงก็ยังต้องใช้ ที่พูดนี่หมายถึง ว่าขายให้ผม ก็ได้ เพราะผมมีเครือข่ายลูกค้าประจำที่นิยมบริโภค หรือเชื่อมั่นในการคัดสรรข้าวคุณภาพ ราครไม่แพงมาให้บริโภค ปัญหาที่เจอ คือ พวกแกนนำ ประธานกลุ่ม เลือกจะกอดข้าวไว้ หรือถ้าขาย ก็ขายในแพ็คเกจสำเร็จรูปแบรนด์ตัวเองเท่านั้น ผมจึงมัก เรียกว่า การบริหารตลาดแบบพ่อค้าแม่ค้ามากกว่า นักธุรกิจ เพราะนักธุรกิจ จะไม่แบกความเสี่ยงไว้มากเกินไป อาทิ ถ้าจะขาย ข้าวเปลือก หรือ ข้าวสาร ที่ได้จากสมาชิก ได้ในราคาที่พึงพอใจ ก็เทขายเลย อาจจะได้กำไรไม่มาก แต่เดือนเดียวขายหมด เก็บไว้แค่ส่วนที่มั่นใจว่ามีตลาด หรือ ขายได้ ก็พอ

แต่แน่นอน ชาวนา หรือ วิสาหกิจ บางคนมองว่า เขายอมรับไม่ได้ ที่ใครจะเอาข้าวของเขาไปติดแบรนด์ตัวเอง

ทำให้การขยับของกลุ่มชาวนาแปรรูป ที่ตั้งขึ้นในแต่ละชุมชน ล้มไม่เป็นท่า ในปัจจุบันและแตกแยก ไปคนละทาง ประสบกับความเจ็บช้ำ ซ้ำๆ ทุกครั้งที่หันมารวมกลุ่ม และรัฐ ก็ยังเดินด้วยวิธีการเดิมๆ อยากได้เงิน ต้องตั้งวิสาหกิจชุมชน
!!

ส่วนผม นะหรอ ก็ได้แต่นั่งบ่น งึมงำ... เสียดายเงินงบประมาณ!!

จาก เกษตรกรขบถ ไร่ทวนลม

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม