กพร. เข้าตรวจสอบเขตเหมืองแร่หินปูน เหตุอาจมีการทำเหมืองนอกประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรม

1245 23 Sep 2020

 

         

          15 กันยายน 2563 เวลาประมาณ 11.07 น. ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ประมาณ 300 คน ได้มีการเจรจาพูดคุยร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดหนองบัวลำภู เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 2 อุดรธานี เจ้าหน้าที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่อำเภอสุวรรณคูหา และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการลงพื้นที่ตรวจสอบการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) และโรงโม่หิน ตามประทานบัตรที่ 27221/15393 ของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด

          ตามหนังสือร้องเรียนของกลุ่มอนุรักษ์ฯ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 โดยขอให้ปิดเหมืองหินปูนและโรงโม่หิน เนื่องจากกลุ่มอนุรักษ์ฯได้พบความผิดปกติและมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการรังวัดกำหนดเขตประทานบัตรว่า มีการอนุญาตให้ทำเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หินนอกเขตประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรมเขาผาจันได ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู และหลักหมุดหมายเขตประทานบัตร หลักที่ 8 มีการวางตำแหน่งอยู่บนถ้ำน้ำลอด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำซับซึมและแหล่งโบราณคดีที่สำคัญของชาวบ้านในพื้นที่ โดยเข้าข่ายพื้นที่สงวนหวงห้ามตามมาตรา 17 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560

          พร้อมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ

          (1) ปิดเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หิน

          (2) ฟื้นฟูภูผาป่าไม้

          (3) พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและแหล่งอารยธรรมโบราณคดี

          เวลาประมาณ 11.20 น. เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ได้เดินทางมาถึงสถานที่ชุมนุมหน้าถนนทางเข้าเหมือง โดยนายกิตติกูล แก้วเปรม เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดหนองบัวลำภู ได้เดินตรงเข้ามายังเต๊นท์ที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯจัดเตรียมไว้สำหรับต้อนรับหน่วยงานต่าง ๆ และได้พูดจาเชิงไม่พอใจที่ชาวบ้านมาปิดถนนทางเข้าเหมือง โดยนายกิตติกูล แก้วเปรม กล่าวว่า “วันนี้จะไปตรวจไหม มันจะไม่เสร็จ ใครจะไปก็รีบไป”

          โดยทางชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้กล่าวว่า “ขอเชิญหน่วยงานต่าง ๆ มาพูดคุยเจรจากันก่อนลงไปตรวจสอบ เพราะมีหลายเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน ขอให้มาฟังความเดือดร้อนชาวบ้านบ้าง” ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ได้เดินเข้ามานั่งในเต๊นท์ที่ชาวบ้านได้จัดเตรียมไว้และร่วมพูดคุยเจรจากับชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ

          โดยนายสมควร เรียงโหน่ง ประธานกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้กล่าวว่า “ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯที่มาชุมนุมกันอยู่ตรงนี้ มีความเดือดร้อนเกี่ยวกับการทำเหมืองหินปูนมานานกว่า 26 ปี วันนี้ที่อยากเจรจาพูดคุย เรามีข้อเสนอ 4 ข้อ 1.ขอให้ตรวจสอบพื้นที่ป่าไม้ที่มีการทำเหมืองหินปูน เนื่องจากมีข้อผิดพลาดและข้อสงสัยหลายประการที่นำไปสู่การออกใบอนุญาตให้ทำเหมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2.ขอพื้นที่ป่าไม้ที่หมดอายุการทำเหมือง เนื้อ 175 ไร่ และโรงโม่หินอีก 50 ไร่ ต้องกลับคืนมาเป็นป่าชุมชนดังเดิม โดยชาวบ้านและชุมชนจะเป็นผู้ดูแลในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ 3.ต้องยกเลิกหรือคืนคำขอต่ออายุใบอนุญาตประทานบัตรและใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และ 4.ต้องให้บริษัทขนย้ายอุปกรณ์ต่าง ๆ ออกไปให้หมดก่อนวันที่ 24 กันยายน 2563 พร้อมทั้งการลงพื้นที่ตรวจสอบในครั้งนี้ต้องมีบันทึกการเจรจาพูดคุยและข้อมูลการสำรวจตรวจสอบพื้นที่ โดยเฉพาะหลักหมุดที่ 8 ที่มีปัญหามากที่สุด ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถ้ำน้ำลอดที่มีลำห้วยไหลลอดภูเขา มีแหล่งน้ำซับซึม”

          ซึ่งนางสาวจุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กล่าวเสริมว่า “การตรวจสอบพื้นที่ครั้งนี้เป็นการตรวจสอบในการเอาผิด หาความผิด ไม่ใช่การตรวจสอบเพื่อให้ต่ออายุในการทำเหมือง ชาวบ้านยืนยันว่าพื้นที่นี้ต้องไม่มีการทำเหมือง ไม่เอาเหมืองหิน ไม่เอาโรงโม่หิน และวันที่ 25 กันยายน นี้ เราจะขอพื้นที่คืน ที่อยากให้มาตรวจนี่ เพื่อหาคนรับผิดชอบ หาคนผิด เพราะที่ผ่านมากระบวนการออกใบอนุญาตต่าง ๆ มันผิดมาตลอด”

          โดยนายอนุชิต สุขเจริญพงษ์ วิศวกรสำรวจชำนาญการ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ชี้แจงว่า “การใช้เครื่องมือในการรังวัดมีการพัฒนาตามยุคสมัย ดังนั้นข้อมูลค่าพิกัดต่าง ๆ ที่เราได้ออกมาในตอนนั้นอาจไม่มีความถูกต้องเท่ากับสมัยนี้ เพราะเป็นเครื่องมือคนละชนิดกับที่รังวัดก่อนหน้านี้ ซึ่งความถูกต้องจะไม่สอดคล้องกันเท่าไหร่ โดยในการตรวจสอบขอบเขตประทานบัตร จึงต้องใช้กล้องรังวัดตรวจสอบทิศ ระยะ ของหมุดต่าง ๆ อยู่ในพื้นที่จริงหรือไม่ โดยทาง กพร. เองก็จะใช้เครื่องมือ GPS เหมือนกันในการตรวจสอบขอบเขตประทานบัตร และนำไปขึ้นแผนที่ดูว่าแหล่งหินที่ประกาศกับประทานบัตรที่เราได้ออกไปมีความเหลื่อมล้ำมากน้อยขนาดไหน หรือทับซ้อนเท่ากันหรือเปล่า”

          “ซึ่งถ้ามีการเหลื่อมล้ำจริงก็ถือว่าผิดใช่ไหม” ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯกล่าวถาม ซึ่งทางนายอนุชิตได้กล่าวเพียงว่า “ตนเองเป็นเพียงแค่ฝ่ายรังวัด ต้องไปถามฝ่ายอนุญาต เพราะทางฝ่ายอนุญาตอาจจะมีข้อตกลงกับบริษัทหรือไม่ เช่น พื้นที่ตรงนี้ห้ามทำ หรือให้ทำได้ ซึ่งต้องไปดูเอกสารการทำเหมืองต่าง ๆ”

          โดยชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯยังคงยืนยันว่า “การตรวจสอบครั้งนี้เป็นการตรวจสอบใบอนุญาตประทานบัตรว่ามีข้อผิดพลาดจริงหรือไม่ มีการทำเหมืองนอกเขตแหล่งหินจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่มันจะดำเนินการต่อไปข้างหน้าในการขอต่ออายุประทานบัตรที่ทางบริษัทได้ยื่นคำขอไว้นั้น ต้องยกคำขอต่ออายุประทานบัตรเท่านั้น”

          โดยนายวีระศักดิ์ สาทรานนท์ นายช่างรังวัดอาวุโส กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า “คำขอแปลงนี้อยู่ในระหว่างขอต่ออายุประทานบัตร เมื่อบริษัทยื่นคำขอมาแล้วไม่ใช่ว่าบริษัทจะได้รับใบอนุญาตได้เลย ซึ่งตามข้อร้องเรียนของชาวบ้านที่พบว่า หมุดที่ 8 ตั้งอยู่บนถ้ำและทางน้ำลอด ซึ่งถ้ามันขัดกับกฎหมายก็ไม่อยู่ในเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาตได้”

          นอกจากนี้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษฯ ยังตั้งคำถามกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดหนองบัวลำภูในการทำรายงานการตรวจสภาพป่าไม้ว่า “ประเด็นสำคัญในรายงานการตรวจสภาพป่าไม้ก็คือการเขียนรายงานว่า ผู้ขออนุญาตได้แก้ไขปัญหาการคัดค้านกับราษฎรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งที่รับรู้เป็นอย่างดีมาตั้งแต่ต้นว่าปัญหาการคัดค้านและความขัดแย้งกับราษฎรมีมาตั้งแต่ปี 2536 โดยหนึ่งในคนลงนามในรายงานการตรวจสภาพป่าไม้ก็คือ นายกิตติกูล แก้วเปรม ที่เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการทำเหมืองหินขึ้น”

          โดยนายกิตติกูล แก้วเปรม ได้โต้แย้งว่า “พูดไม่หมดนิ มาพูดแต่ระเบียบใหม่ แต่เขายื่นคำขอมาตั้งแต่ระเบียบเดิม พอเขายื่นคำขอต่ออายุป่าไม้มา มันขาดอยู่สิ่งเดียว คือ มติของสภา อบต. ยังไม่ถูกต้อง ซึ่งเอกสารต่าง ๆ ของบริษัทครบหมดแล้ว โดยบริษัทเขาก็ยังมีการติดตามการลงมติสภา อบต. อยู่ตลอด มันยกเลิกคำขอไม่ได้” ทั้งนี้ยังบอกอีกว่า “การอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าไม้ครั้งที่ผ่านมา ถ้าสภา อบต. เขาเห็นชอบ ก็หมายความว่าไม่มีความขัดแย้งกับราษฎร โดยใบอนุญาตมันก็หมดอายุลงแล้วก็ถือให้มันจบ ๆ กันไป จะมาตรวจสอบหาความผิดย้อนหลังไม่ได้”

          ซึ่งท่าทีและการชี้แจงข้อมูลของนายกิตติกูล แก้วเปรม ได้สร้างความสงสัยและเคลือบแคลงใจให้ชาวบ้านเป็นอย่างมาก ทำให้ชาวบ้านบางส่วนเกิดความไม่พอใจ เนื่องจากมีข้อมูลและข้อเท็จจริงย้อนแย้งกันกับข้อกฎหมายอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งยังมีการพูดจาก่อกวนปัดความรับผิดชอบ ทั้ง ๆ ที่นายกิตติกูล แก้วเปรม เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการทำเหมืองหินปูนและโรงโม่หินในพื้นที่ได้ โดยทางชาวบ้านจะดำเนินการร้องเรียนเอาผิดทางวินัยร้ายแรงต่อหน่วยงานต้นสังกัดต่อไป

          นอกจากนี้ นายธนารักษ์ พิทักษา เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ได้กล่าวในตอนท้ายว่า “จากข้อเท็จจริงที่ทางชาวบ้านได้ชี้แจงมาจะขอรับไว้ทุกเงื่อนไข แต่วันนี้ขอตรวจสอบขอบเขตเหมืองก่อน”

          เวลาประมาณ 11.54 น. ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ประมาณ 50 คน และเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดหนองบัวลำภู เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 2 อุดรธานี เจ้าหน้าที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ลงสำรวจตรวจสอบขอบเขตพื้นที่ประทานบัตรที่ 27221/15393 ของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ร่วมกัน ซึ่งได้มีการรังวัดตามหลักหมุดหมายเขตเหมืองหินปูนทีละหลัก

          โดยเวลาประมาณ 16.30 น. เจ้าหน้าที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ทำบันทึกการตรวจสอบ โดยมีผลการตรวจสอบ ดังนี้

          1.ได้ตรวจสอบและเก็บข้อมูลค่าพิกัดหลักหมายเขตเหมืองที่ 5/27221, 6/27221, 7/27221, 4/27221, 3/27221 และ 8/27221 ด้วยเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม (RTK) ไว้แล้ว ส่วนหลักหมายเขตเหมืองที่ 1/27211 (หลักพยาน) นั้น ไม่สามารถรับสัญญาณดาวเทียมได้เนื่องจากเป็นพื้นที่รกทึบ และหลักหมายเขตเหมืองที่ 9/27211 ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าได้ถูกเคลื่อนจากการทำไร่จึงไม่ได้ทำการเข้าเก็บค่าพิกัด โดยจะนำข้อมูลที่ได้ไปตรวจสอบตามข้อร้องเรียนและแจ้งให้ทราบต่อไป

          2.หลักหมายเขตเหมืองแร่ที่ 8/27221 และทางน้ำ ซึ่งบริเวณนี้ชาวบ้านเรียกว่า ถ้ำน้ำลอด ได้ทำการเก็บค่าพิกัดโดยใช้เครื่องรับสัญญาณดาวเทียม (RTK) เพื่อนำไปจัดทำแผนที่แสดงตำแหน่งจุดที่ตั้งสถานที่ต่าง ๆ

          ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการแจ้งผลการตรวจสอบให้กลุ่มอนุรักษ์ฯทราบเป็นลายลักษณ์อักษรโดยเร็วต่อไป

 

 

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม